MSN on November 04, 2013, 02:16:31 PM
กระทรวงวิทย์ฯ เปิดเวทีแสดงความคิดเห็น เพื่อต่อยอดพัฒนาระบบสำรวจโลกด้วยดาวเทียมของประเทศ 

ประเทศไทยได้มีการใช้ข้อมูลจากดาวเทียมทั้งของประเทศไทยและประเทศอื่นๆ เพื่อการติดตามและสำรวจทรัพยากรธรรมชาติมากว่า 30 ปี ซึ่งการใช้งานระบบดังกล่าว สามารถลดเวลา และค่าใช้จ่ายของประเทศ อีกทั้งยังได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ เช่น การวางแผนการเพาะปลูก การติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำท่วม ไฟป่า ภัยแล้ง การบุกรุกพื้นที่ป่า ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้ผู้ใช้งานมีความต้องการข้อมูลที่หลากหลาย ทันต่อเหตุการณ์ และง่ายต่อการเข้าถึง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาระบบสำรวจโลกด้วยดาวเทียมระยะที่ 2 ขึ้น

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงได้จัดงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นโครงการระบบสำรวจโลกด้วยดาวเทียมของประเทศขึ้น ในวันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายน 2556 ณ ห้องแซฟไฟร์ 1-2 โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ โดยมี ดร.วีรพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวรายงาน และ ให้เกียรติเป็นประธานในงาน

การจัดสัมมนาในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาที่มาจากทุกภาคส่วน ร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับระบบสำรวจโลกด้วยดาวเทียมของประเทศ เพื่อนำข้อมูลที่เป็นประโยชน์มาถ่ายทอดและพัฒนาระบบ และตอบสนองต่อภารกิจที่สำคัญของประเทศไทย 5 ด้าน คือ ด้านการจัดการน้ำและภัยพิบัติ ด้านการเกษตร ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านการวางแผนพัฒนาและจัดการพื้นที่เมือง และระบบโครงสร้างพื้นฐานความมั่นคงและการทหาร โดยระบบสำรวจโลกด้วยดาวเทียมนี้ จะต้องเข้าถึงข้อมูลต้นน้ำที่หลากหลายเช่น ข้อมูลชั้นความสูงภูมิประเทศ, แหล่งน้ำและระดับน้ำ, ข้อมูลด้านอุตุนิยมวิทยา, แผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดิน, ขอบเขตพื้นที่เมือง, พื้นที่ป่า, ข้อมูลโครงสร้างพื้นฐาน ข้อมูลภาคสนาม ฯลฯ รวมถึงการมีระบบบูรณาการข้อมูลและผลิตภัณฑ์ประยุกต์ต่างๆและจะต้องมีระบบบริการ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างครบถ้วนต่อไป
« Last Edit: November 04, 2013, 02:27:10 PM by MSN »

MSN on November 04, 2013, 02:28:19 PM
การพัฒนาโครงการระบบสำรวจโลกด้วยดาวเทียมระยะที่ 2 ของประเทศไทย (Thailand Earth Observation System Phase 2, THEOS-2) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

   ประเทศไทยได้เริ่มโครงการสำรวจทรัพยากรธรรมชาติของโลกด้วยดาวเทียมมาตั้งแต่ พ.ศ. 2514 โดยในระยะแรกยังไม่มีสถานีรับสัญญาณเองแต่เป็นการรับภาพถ่ายที่ส่งมาให้จากต่างประเทศเพื่อการแปลผลและตีความ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2525 สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติได้จัดสร้างและเริ่มดำเนินการสถานีรับสัญญาณดาวเทียมที่ลาดกระบัง ซึ่งเป็นสถานีรับสัญญาณจากดาวเทียมสำรวจโลกแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงถือว่าระบบสำรวจโลกด้วยดาวเทียม (Earth Observation System) ของประเทศไทยได้เริ่มมีโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นรูปธรรมตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และสถานีรับสัญญาณลาดกระบังก็ได้มีการปรับปรุงให้รับสัญญาณจากดาวเทียมของประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น อินเดียและแคนาดา เพื่อขยายประสิทธิภาพของระบบสำรวจโลกของประเทศและทดแทนดาวเทียมที่หมดอายุการใช้งานลงไป

   ต่อมาในปี พ.ศ. 2551 ดาวเทียมสำรวจโลกดวงแรกของประเทศไทย (Thailand Earth Observation Satellite—THEOS) ถูกส่งเข้าสู่วงโคจร โดยดาวเทียมดวงนี้ได้รับพระราชทานชื่อในภายหลังว่า
ดาวเทียมไทยโชต และเป็นดาวเทียมถ่ายภาพเชิงแสงรายละเอียดสูงที่เป็นกำลังสำคัญดวงหนี่งของระบบสำรวจโลกด้วยดาวเทียมของประเทศในปัจจุบัน ร่วมกับดาวเทียมของต่างประเทศอีกกว่า 20 ดวง ที่ประเทศไทยรับสัญญาณได้เองหรือมีสัญญากับเจ้าของดาวเทียมในการเข้าถึงข้อมูลภาพจากดาวเทียมเหล่านั้น

   เนื่องจากเทคโนโลยีอวกาศนั้นก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ประกอบกับผู้ใช้งานภาพและภูมิสารสนเทศจากดาวเทียมมีความต้องการผลิตภัณฑ์และบริการต่อยอดที่มีความซับซ้อนแต่สะดวกในการใช้งานและรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการปรับปรุงระบบสำรวจโลกด้วยดาวเทียมของประเทศให้ทันต่อเทคโนโลยี รวมทั้งต้องมีการบูรณาการข้อมูลและภูมิสารสนเทศจากแหล่งอื่นนอกเหนือจากดาวเทียม ตลอดจนมีระบบประยุกต์และบริการผลิตภัณฑ์เพิ่มค่าที่สอดคล้องกับเงื่อนไขและความต้องการของผู้ใช้งานในแต่ละด้าน

   จากการรวมรวมความคิดเห็นจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ทำให้ได้ข้อสรุปว่าระบบสำรวจโลกด้วยดาวเทียมของประเทศจะต้องสนับสนุนและตอบสนองต่อภารกิจที่สำคัญอย่างน้อย 5 ด้าน คือ ด้านภัยพิบัติ การเกษตร การจัดการน้ำ การวางแผนและบริหารพื้นที่ และด้านความมั่นคง โดยระบบสำรวจโลกด้วยดาวเทียมนี้จะต้องเข้าถึงข้อมูลต้นน้ำที่หลากหลาย มีระบบบูรณาการข้อมูลและผลิตภัณฑ์ประยุกต์ต่างๆ รวมทั้งจะต้องมีระบบบริการและตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างครบถ้วน

   เป็นที่ชัดเจนว่าระบบสำรวจโลกด้วยดาวเทียมระยะ 2 ของประเทศไทยนั้นไม่สามารถพึ่งพาดาวเทียม เพียงดวงใดดวงหนึ่ง แต่จะต้องสามารถเข้าถึงและเชื่อมโยงกับดาวเทียมที่หลากหลายที่มีคุณสมบัติอุปกรณ์ถ่ายภาพ วงโคจร และนโยบายการให้บริการข้อมูลที่แตกต่างกัน อีกทั้งจะต้องมีระบบประยุกต์ใช้งานที่เป็นระบบเปิด สามารถพัฒนาปรับปรุงให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้งานในเองในอนาคต มีการพัฒนาขีดความสามารถของหน่วยงานและบุคลากรที่มีส่วนร่วมในระบบอย่างครบถ้วน ทั้งในส่วนต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ

   ในปี พ.ศ. 2555 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้จัดตั้งอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศขึ้นที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เพื่อเป็นฐานเชื่อมโยงระบบภาคพื้นดินของดาวเทียมต่างๆ เข้ากับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการวิจัยพัฒนานวัตกรรมอวกาศ หน่วยบ่มเพาะเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงศูนย์ถ่ายทอดความรู้ด้านอวกาศ ซึ่งอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศนี้จะสามารถรองรับการพัฒนาและการดำเนินการระบบสำรวจโลกด้วยดาวเทียมระยะที่ 2 ของประเทศไทยในอนาคตได้เป็นอย่างดี

   เนื่องจากเทคโนโลยีด้านดาวเทียมสำรวจโลก ระบบประยุกต์ใช้งานตามภารกิจต่างๆ ตลอดจนรูปแบบการให้บริการทั้งในเชิงสาธารณประโยชน์และในเชิงพาณิชย์ต่างๆ นั้นมีการพัฒนาที่รวดเร็วและหลากหลาย การที่จะคัดเลือกเทคโนโลยีและรูปแบบการดำเนินการที่เหมาะสมกับประเทศไทยจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนจะเริ่มกระบวนการจัดหา ดังนั้นกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะเจ้าของโครงการระบบสำรวจโลกด้วยดาวเทียมระยะที่ 2 ของประเทศ จึงได้จัดจ้างบริษัทที่ปรึกษา เพื่อดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้และจัดทำแผนธุรกิจของระบบสำรวจโลกด้วยดาวเทียมระยะที่ 2

   นอกจากนี้กระทรวงฯ ยังได้เชิญชวนให้ประเทศที่มีศักยภาพทางเทคโนโลยีสูงจากทั่วโลกให้เสนอกรอบแนวคิดของระบบดังกล่าว (Request for Conceptual Model—RCM) เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา ทั้งในด้านของการประเมินความเป็นไปได้ (Feasibility) ในแง่มุมต่างๆ อีกด้วย

   เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างครบถ้วน กระทรวงฯ จึงจัดงานสัมมนาครั้งนี้ขึ้น เพื่อที่จะได้รับฟังข้อเสนอแนะและความคิดเห็นในด้านต่างๆ อาทิ
•   การประยุกต์ใช้ หรือ Applications ในการจัดการภัยพิบัติ น้ำ เกษตร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังการใช้ประโยชน์ในกรณีน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 และเหตุการณ์คราบน้ำมันที่จังหวัดระยองเมื่อเดือนกรกฎาคม 2556
•   Applications ในด้านการวางแผนพัฒนาและบริหารจัดการพื้นที่ เมือง และระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อการวางแผนพัฒนาที่เป็นระบบ ลดปัญหาความซ้ำซ้อนของการดำเนินงาน
•   Applications ความมั่นคงและการทหาร ซึ่งหมายรวมถึงการจัดการกับปัญหายาเสพติด การเคลื่อนย้ายทรัพยากรที่ผิดกฎหมาย และการควบคุมการระบาดของโรคต่างๆ
•   การบริหารจัดการระบบในระยะยาว แผนธุรกิจ และแผนการเพิ่มขีดความสามารถของประเทศในด้านเทคโนโลยีอวกาศและการประยุกต์ใช้ ทั้งในส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น
•   และ Applications ในด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

                โดยท้ายที่สุดความต้องการ Applications ทั้งหลายเหล่านี้ จะนำสู่การกำหนดขอบเขตการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและระบบภาคพื้นดินที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ระบบสำรวจโลกด้วยดาวเทียมของประเทศระยะที่ 2อาจจะรวมถึงการจัดหาดาวเทียมเพิ่มเติมหรือไม่ก็ได้

MSN on November 04, 2013, 09:17:04 PM
"การสัมมนารับฟังความคิดเห็นโครงการระบบสำรวจโลกด้วยดาวเทียมของประเทศระยะที่ 2"


ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ


1. Mr.Douglas Kinsella, COO, บริษัทที่ปรึกษา เอดับเบิ้ลยูอาร์ ลอยด์
2. คุณปิยพงศ์ มติธนวิรุฬห์, Director,  บริษัทที่ปรึกษา เอดับเบิ้ลยูอาร์ ลอยด์
3. Mr. Alexander Wood, CEO,  บริษัทที่ปรึกษา เอดับเบิ้ลยูอาร์ ลอยด์
4. นายวีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และทคโนโลยี
5. Mr. Andrew Witts, Senior Consultant,  บริษัทที่ปรึกษา เอดับเบิ้ลยูอาร์ ลอยด์
6. Mr. David Hoard, Associate Director,  บริษัทที่ปรึกษา เอดับเบิ้ลยูอาร์ ลอยด์
« Last Edit: November 05, 2013, 09:02:36 AM by MSN »

MSN on November 11, 2013, 03:29:43 PM
ภาพข่าว: กระทรวงวิทย์ฯ เปิดเวทีแสดงความเห็น โครงการสำรวจโลกด้วยดาวเทียมของประเทศระยะที่2



          ดร.วีรพงษ์ แพสุวรรณ(ที่ 3 จากขวา) ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน การสัมมนารับฟังความคิดเห็นโครงการระบบสำรวจโลกด้วยดาวเทียมของประเทศ ระยะที่ 2โดยมีวัตถุประสงค์ให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาจากทุกภาคส่วน ร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อนำข้อมูลที่เป็นประโยชน์มาต่อยอดพัฒนาระบบ และตอบสนองภารกิจที่สำคัญทั้ง 5 ประการได้อย่างครบถ้วน โดยมี นายอเล็กซ์ซานเดอร์ เจมส์ วู๊ด (ที่ 3 จากซ้าย)ประธานฝ่ายบริหาร, นายดักลาส คินเซลล่า (ซ้ายสุด)ประธานฝ่ายปฏิบัติการและเหล่าวิทยากร จากบริษัทที่ปรึกษา เอดับเบิ้ลยูอาร์ ลอยด์ กล่าวนำเสนอผลการศึกษาความเป็นไปของโครงการฯ ณ ห้องแซฟไฟร์ 1-2 โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้