happy on November 08, 2013, 06:42:42 PM
โตแล้วไปไหน :   A-Chieve Shadow มีคำตอบ

มูลนิธิสยามกัมมาจล



               เด็ก ๆ มักคุ้นกับคำถาม "โตแล้วอยากเป็นอะไร"

               บางคนอยากเป็นหมอ หลายคนอยากเป็นครู บ้างอยากเป็นตำรวจ และมีไม่น้อยที่บอกว่า "อยากเป็นคนดี"

               แต่เมือถึงช่วงเวลาหนึ่ง ปัจจัยเงื่อนไขรอบตัว ทั้งการเลี้ยงดู กลุ่มเพื่อน ๆ ที่เด็ก ๆ สังกัด การอบรมสั่งสอนจากครูบาอาจารย์ทำให้การ "อยากเป็น" ในวัยเด็กต้องปรับเปลี่ยนไป

               ณ วันนี้ , เด็กหลายคนเมื่อเรียนจบระดับมัธยมแทบไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเอง "อยากเป็นอะไร"  เด็กมัธยมปลายจำนวนไม่น้อยถึงเวลาต้องที่เลือกเรียนคณะในมหาวิทยาลัยและคงจะเกิดความสับสนไม่รู้ว่าตนเองชอบอะไร ในอนาคตอยากทำอาชีพอะไร หรือคณะที่กำลังจะเลือกเรียนเกี่ยวกับอะไร หรือ "โตขึ้น...จะไปไหน"

               ตอนนี้ A-Chieve Shadow มีคำตอบมาให้แล้ว

               A-Chieve Shadow เป็นกิจกรรมทางสังคมที่ต้องการช่วยให้เยาวชนไทยค้นพบตัวเองและค้นพบเส้นทางในอนาคตของตนให้เร็วที่สุด  เพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจและเห็นความสำคัญของการพัฒนาตนเองอันจะนำพวกเขาเหล่านั้นไปสู่อนาคตที่ประสบความสำเร็จและมีความสุขกับการได้ประกอบอาชีพที่ตนเองรัก และเติบโตขึ้นไปเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ สามารถใช้ศักยภาพของตนเองเพื่ออาชีพการงานและแบ่งปันให้ผู้คนรอบข้างต่อไป

               นรินทร์  จิตต์ปราณีชัย หรือ “วิน” หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ “A-Chieve Shadow  โตแล้วไปไหน” เล่าว่า ที่มาของโครงการนี้เกิดจากมองเห็นปัญหาของเยาวชนสมัยนี้ที่อยู่ในช่วงมัธยมปลาย และยังหาตัวเองไม่เจอว่า โตแล้วอยากเป็นอะไร  โดยเฉพาะกลุ่มที่ตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเลือกเรียนคณะอะไร อนาคตอยากทำอาชีพอะไร


ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ “A-Chieve Shadow 

              “ ซึ่งก่อนที่เราเริ่มต้นทำโครงการ มีเพื่อนในทีมคนหนึ่งมีน้องชายที่กำลังเรียนอยู่มอปลายแล้วเลือกไม่ได้ว่าอยากจะเรียนอะไร  เพราะถ้าเลือกไปแล้วเขาไม่รู้ว่าอนาคตจะไปทำอาชีพอะไรต่อ พอเราเห็นปัญหาที่ไม่ได้เกิดแค่น้องชายของเพื่อนแต่เป็นปัญหาของพี่เรา เพื่อนเรา หรือรุ่นน้องในปัจจุบัน ซึ่งเราก็เห็นว่าปัญหานี้ชัดเจนมาก เราเลยมานั่งคิดวิธีแก้ปัญหานี้ครับ เลยเกิดขึ้นมาเป็น A-CHIEVE ขึ้น”

              วินเล่าว่า กิจกรรม A-Chieve Shadow โตแล้วไปไหน ? จัดมาแล้ว 5 ครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่  6 โดยการอนุเคราะห์ด้านสถานที่ของมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)  และมีน้อง ๆ ที่ต้องการหาคำตอบให้กับตัวเองมาสมัครเข้ากลุ่มเป็นจำนวนมาก

              "เกณฑ์การคัดเลือกก็มีไม่มากส่วนใหญ่จะเน้นให้ตอบคำถามเพื่อให้น้อง ๆ ดึงตัวตนและความต้องการของตัวเองออกมา  ทั้งความชอบ บุคลลิก ลักษณะนิสับ  เช่น บางคนยิ้มเก่ง เข้ากับคนอื่นง่าย  มีความกระตือรือร้น  เพราะข้อมูลเหล่านี้จะนี้จะใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินและคัดเลือก อาชีพ และคณะที่น้อง ๆ ต้องการเข้าศึกษาต่อ"

              กนกวรรณ  เมืองงาม หรือ "น้องแป้งร่ำ" นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนศึกษานารีวิทยา เล่าว่ารู้จักโครงการ A-chieve shadow จากเพื่อนในห้องเรียน จึงเกิดความสนใจและอยากเข้าร่วม เนืองจากเห็นว่าเป็นโครงการที่ช่วยให้กำหนดเส้นทางการเรียน และอาชีพได้ชัดเจนขึ้น


"น้องแป้งร่ำ"

              “ได้ยินเพื่อนคุยกันเกี่ยวกับโครงการนี้ เลยถามว่าเป็นโครงการเกี่ยวกับอะไร เพื่อนบอกว่าเป็นโครงการที่ทำให้เรารู้ว่า สิ่งที่เราอยากเป็นคืออะไร  และเราจะต้องไปเรียนในสาขาวิชาอะไรถึงจะเป็นในสิ่งที่อยากเป็นได้"

              สำหรับแป้งร่ำ...ไม่ได้ชี้ชัดว่าต้องการเป็นอะไร รู้แต่ว่าบุคลิกเป็นคนช่างพูดช่างคุย เข้ากับคนง่าย กระตือรือร้น บางครั้งก็ใจร้อนและหงุงดหงิดง่าย...เธอจึงได้ทดลองเป็นผู้ประกาศข่าว 

              "ที่มาเข้าร่วมในโครงการนี้ เผื่อว่าเราจะได้เจอตัวตนของเราจริงๆ เพราะไม่รู้ว่าอยากทำอาชีพอะไรกันแน่ ซึ่งตอนแรกไม่ได้เลือกผู้ประกาศข่าวแต่เลือกคอนเสิร์ต ที่เลือกเพราะดูจากลักษณะนิสัยของตัวเองที่ไม่ชอบอยู่นิ่ง และที่เลือกผู้ประกาศข่าวเป็นอันดับสองเนื่องจากพ่อบอกว่าผู้ประกาศข่าวเท่ ดูดีนะ ซึ่งหนูเรียนสายวิทย์แต่งานทำกิจกรรมของหนูจะเยอะมากกว่าวิชาการ และก็คิดว่าผู้ประกาศข่าวได้ออกไปลงภาคสนาม เลยคิดว่าน่าจะไปออกไปลุยๆข้างนอก และมีข้อสุดท้ายที่ถามว่าทำไมพี่ต้องเลือกน้อง หนูก็ตอบไปว่าถ้าพวกพี่เห็นความพยายามของหนูพี่ก็คงจะเลือกหนูเข้าไปและหนูก็จะได้ค้นหาตัวเองให้เจอ"   

              หลังเข้าร่วมในโครงการ แป้งร่ำสะท้อนว่า ความชัดเจนในการมองอนาคตเริ่มชัดขึ้น ภาพเบลอ ๆ ของ "โตขึ้นอยากเป็นอะไร" ก็ชัดเจนตามมา

              "คิดว่าที่นี้ให้อะไรกับเราเยอะมาก อย่างแรกเลยคือได้เพื่อนใหม่ ได้แลกเปลี่ยนความคิดกับเพื่อน แล้วได้มิตรภาพ นอกจากจะได้เพื่อนแล้วยังได้แนวคิดใหม่ๆ อย่างวันแรกพี่เขาให้ทำกิจกรรมอยู่กับตัวเอง แล้วพี่พูดว่าถ้าให้อยู่กับตัวเองน้องคิดว่าน้องเป็นคนอย่างไร แล้วหันไปคุยกับเพื่อนเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน ทำให้เราได้แนวคิดใหม่ ๆ กลับมา อย่างแนวทางการใช้ชีวิต เราควรที่จะไปแค่ไหน..... 

              การทำอะไรในชีวิตแต่ละอย่าง บางทีไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลก็ได้ รู้แค่ว่ามันถูกผิดไหมแล้วเราทำให้ใครเดือดร้อนหรือเปล่าแล้วเรามีความสุขไหมที่เราทำ เราสามารถเอาแนวคิดที่เพื่อนๆเล่ามาปรับใช้ในชีวิตของตัวเองได้" แป้งร่ำสรุป       


น้องๆที่เข้าร่วมกับโครงการโตแล้วไปไหน ครั้งที่ 6


รูปเจ้าของโครงการพร้อมน้องๆ