พาณิชย์ตั้งเป้าดันยอดส่งออกเกษตรอินทรีย์ เผยแชร์ทั่วโลกพุ่งเกือบ 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ
พาณิชย์สบช่องหนุนเกษตรอินทรีย์ไทยลุยตลาดต่างประเทศ หลังแนวโน้มทั่วโลกโตต่อเนื่องเกือบแสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ซุ่มเจรจาออสเตรเลียหวังเปิดตลาดใหม่ควบดึงเป็นแม่แบบผุดชุมชนเกษตรอินทรีย์ ตั้งเป้าปีหน้าดันยอดส่งออกพุงเป็น 5,000 ล้านบาท
ผศ.ดร.วีระศักดิ์ จินารัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สินค้าเกษตรอินทรีย์ได้กลายเป็นสินค้าในกลุ่มกระแสหลักที่มีความสำคัญและมีศักยภาพอย่างมาก เนื่องจากผู้บริโภคทั่วโลกกำลังตื่นตัวเรื่องการดูแลสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้มูลค่าตลาดทั่วโลกในปี 2553 มีแนวโน้มเติบโตถึง 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ จากปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ
ขณะที่ตลาดส่งออกสำคัญของไทย เช่น ยุโรป มีอัตราการขยายตัว ในปี 2550 สูงถึงร้อยละ 17 โดยมีมูลค่าตลาดประมาณ 16,000 ล้านยูโร ประเทศสหรัฐอเมริกา ขยายตัวร้อยละ 18 มีมูลค่าตลาดประมาณ 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ข้าว ผลิตภัณฑ์ผักสดและเมล็ดพันธุ์ผัก ผลไม้แปรรูป น้ำตาล น้ำมันปาล์ม นมและผลิตภัณฑ์ และกุ้ง
"ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ของโลกมีอัตราการขยายตัว ร้อยละ 20 – 25 ต่อปี เห็นได้ว่ายังมีโอกาสสำหรับไทยอีกมาก ดังนั้นผู้ประกอบการต้องเร่งพัฒนาคุณภาพและขยายตลาด จากปัจจุบันสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ไทยผลิตได้ส่งออกร้อยละ 50 และบริโภคในประเทศอีกร้อยละ50 โดยมีมูลค่าการค้าการส่งออก ในปี 51 ประมาณ 3,200 ล้านบาท สำหรับปีนี้คาดว่ายอดส่งออกจะเป็น 3,600 ล้านบาท และเพิ่มเป้าหมายเป็น 5,000 - 6,000 ล้านบาท ภายในปีหน้า” ผศ.ดร.วีระศักดิ์ กล่าว
กระทรวงพาณิชย์ จึงต้องเร่งดำเนินการตามแผนพัฒนาตลาดเกษตรอินทรีย์ไทยทั้งภายในและต่างประเทศด้วย 4 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ การพัฒนาความสามารถผู้ประกอบการ ขยายตลาดในประเทศและเชื่อมโยงตลาดสู่การส่งออก สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและผลิตภัณฑ์ และส่งเสริมให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้าแบบครบวงจร โดยที่ผ่านมาได้จัดให้มีกิจกรรมส่งเสริมการตลาด อาทิ การฝึกอบรมและให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการ ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ นำผู้ประกอบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศ พร้อมเปิดให้ผู้ประกอบการได้มีโอกาสเจรจาการค้ากับคณะผู้แทนการค้าจากต่างประเทศ
ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ล่าสุดยังได้มีการเสนอความร่วมมือไปยังประเทศออสเตรเลียซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์รายใหญ่เพื่อช่วยพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทย อาทิ ข้าว เมล็ดธัญพืชที่ใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารเช้า(ซีเรียล) หน่อไม้ฝรั่ง ข้าวโพดฝักอ่อน กุ้ง น้ำมะพร้าว น้ำกะทิ สับปะรด มะม่วง เป็นต้น ตลอดจนแนะแนวทางร่วมกันพัฒนาตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในกลุ่มประเทศอาเซียนให้มากขึ้น โดยจัดให้มีการจัดประชุมระหว่างอาเซียนและออสเตรเลียเพื่อปลุกกระแสเกษตรอินทรีย์ในอาเซียน เปิดให้มีเวทีเจรจาในการกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ร่วมกัน เพื่อลดขั้นตอนในการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ไปจำหน่ายในตลาดออสเตรเลีย
นอกจากนี้ ยังริเริ่มจัดตั้งศูนย์ข้อมูลสินค้าเกษตรอินทรีย์ ( Australia –Thai Organic Hub )คอยให้ข้อมูลครบวงจรและออนไลน์เพื่อสร้างความรู้ในการพัฒนาด้านการเกษตรแผนใหม่ให้เกษตรกร และผู้ประกอบการ เพื่อให้มีความสามารถในการสร้างรายได้ที่มั่นคงและขับเคลื่อนการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เป็นไปตามข้อตกลงเปิดเสรีทางการค้าระหว่างไทยกับออสเตรเลีย
ทางด้าน นางพิมพาพรรณ ชาญศิลป์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงแนวทางการผลักดันชุมชนเกษตรอินทรีย์ หรือ “ออร์แกนิค คอมมูนิตี้” ว่า หลังจากได้ศึกษาตัวอย่างจากประเทศที่ประสบความสำเร็จในการผลักดันให้เกิดออร์แกนิค คอมมูนิตี้มาแล้ว ทั้งในประเทศแคนาดา สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทย ซึ่งได้เริ่มผลักดันให้เป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้นที่จังหวัดอุบลราชธานีเป็นแห่งแรก เนื่องจากเล็งเห็นถึงศักยภาพความเป็นจังหวัดขนาดใหญ่ ประชากรกลุ่มเป้าหมายมีกำลังซื้อและอยู่ใกล้กับแหล่งผลิต จึงมีความเหมาะสมอย่างยิ่งในการเข้าไปส่งเสริมการค้าการลงทุนด้านเกษตรอินทรีย์อย่างเป็นระบบมากขึ้น
“ขณะนี้ได้เจรจากับเอกชนเพื่อขอพื้นที่จัดแหล่งจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ทั้งหมดที่ผลิตในจังหวัดอุบลราชธานีและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดโอกาสให้สินค้าเกษตรอินทรีย์ได้เข้าสู่ตลาด และอำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคสามารถหาซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น ถือเป็นแนวทางในการขยายตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ และเปิดโอกาสให้สินค้าสามารถเข้าถึงผู้บริโภคภายในประเทศได้กว้างขวาง” นางพิมพาพรรณ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2553-2555 กระทรวงพาณิชย์ยังพุ่งเป้าไปที่การสร้างโอกาสทางการตลาดให้กับสินค้าอื่นๆ ที่นอกเหนือจากสินค้าอาหาร ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวอย่างรวดเร็ว อาทิ ผ้าฝ้าย ของใช้เด็ก สำลี ตุ๊กตา หรือแม้กระทั่งผลิตภัณฑ์เพื่อความงาม ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้สินค้าเกษตรอินทรีย์ได้ประสบความสำเร็จทั้งในประเทศและเวทีการค้าสากล