sianbun on September 12, 2009, 03:11:06 PM
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดตราผลิตภัณฑ์ "ภัทรพัฒน์ PatPat" ของมูลนิธิชัยพัฒนา



วันพุธที่ 9 กันยายน 2552 เวลา 18.00 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดตราผลิตภัณฑ์ "ทรพัฒน์ PatPat" ของมูลนิธิชัยพัฒนา ณ ไลฟสไตล์ ฮอลล์ ชั้น 2 ศูนย์การค้าสยามพารากอน

งานหลักของมูลนิธิชัยพัฒนาเป็นงานพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งเป้าหมายส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่อยู่ในชนบทที่ห่างไกล ดังนั้น การส่งเสริมความรู้ด้านการเกษตรจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้เกษตรกรมีอาหารพอกิน มีรายได้พอใช้ ทรัพยากรที่มีอยู่ในแปลงเกษตรสามารถนำมาขาย หรือผลิตเพื่อเพิ่มรายได้ให้ครอบครัว มูลนิธิชัยพัฒนาได้เข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรรู้จักการนำทรัพยากรมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อออกจำหน่าย โดยผ่านช่องทางการตลาดของมูลนิธิชัยพัฒนาในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ "ภัทรพัฒน์"

การจัดงานเปิดตัวตราผลิตภัณฑ์ "ภัทรพัฒน์" ในครั้งนี้ มูลนิธิชัยพัฒนามีจุดประสงค์ในการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ตราสัญญลักษณ์ "ภัทรพัฒน์" PatPat ซึ่งเป็นตราผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการพัฒนาตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมุ่งมั่นและทรงงานหนักมากว่า 20 ปี เพื่อให้ราษฎรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น 
"ภัทรพัฒน์" จึงเป็นโอกาสและทางเลือกใหม่ให้เกษตรกร หรือผู้ผลิตในการขายผลิตภัณฑ์ของตน ได้มีโอกาสนำความรู้ ความสามารถ และฝีมือเสนอต่อสังคมในมุมกว้างที่ไม่ได้ปิดกั้นแค่ภายในชุมชนที่ตนอาศัยอยู่ ไม่ใช่สำหรับผู้ผลิตเท่านั้น แต่ "ภัทรพัฒน์" ยังถือเป็นโอกาสและทางเลือกใหม่ของผู้บริโภคเช่นกัน ผู้บริโภคที่มองหาและต้องการสินค้าแปลกใหม่ที่ไม่มีขายดาษดื่นทั่วไปตามท้องตลาด ก็สามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ส่งจากแหล่งต้นกำเนิดผลิตโดยตรง โดยไม่ผ่านการแปรรูป หรือดัดแปลงจนทำลายเอกลักษณ์ของสินค้าจากแหล่งกำเนิดนั้นๆ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคที่รักสินค้าจากธรรมชาติมีทางเลือกใหม่ในการเลือกซื้อ ดังนั้น "ภัทรพัฒน์" จึงทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคเพื่อตอบสนองความต้องการทั้งสองฝ่าย โดยมุ่งสร้างความยั่งยืน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทั้งยังสร้างการอยู่ร่วมกันในสังคมบนพื้นฐานแห่งการเอาใจใส่ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เพื่อนำไปสู่สังคมที่ยั่งยืนและมีความสุขต่อไปในอนาคต

การจัดงานดังกล่าวมีตั้งแต่ วันที่ 9-13 กันยายน 2552 ณ ไลฟสไตล์ ฮอลล์ ชั้น 2 ศูนย์การค้าสยามพารากอน

การจัดงานเปิดตราผลิตภัณฑ์ "ภัทรพัฒน์ PatPat" ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ส่วนการจัดแสดงนิทรรศการ ส่วนการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ และส่วนการจัดกิจกรรมบนเวที

ในส่วนการนำเสนอนิทรรศการ แสดงให้เห็นถึงความเป็นมา ที่มาและที่ไปของความคิดว่าเกี่ยวโยงกับการดำเนินโครงการพัฒนาของมูลนิธิชัยพัฒนาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ได้ทรงทำมาเป็นเวลานานกว่า 20 ปี เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวไทย โดยการร้อยเรียงเรื่องราว การถ่ายทอดความรู้ เสริมความคิดแก่เกษตรกร แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการแนวความความคิดของโครงการพระราชดำริ ตั้งแต่เริ่มต้นดำเนินการ จนถึงปัจจุบันที่ออกมาในรูปของผลผลิตและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของมูลนิธิชัยพัฒนา ภายใต้ตราสินค้า ภัทรพัฒน์

ดังเช่น .. เรื่องของ ข้าวกับโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ โรงเรียนสอนควายทำนา เรื่องราวของ แฝก ที่ใครๆ คิดว่าใช้มุงหลังคาได้อย่างเดียว แต่กลายเป็นพืชมหัศจรรย์ช่วยป้องกันพิบัติภัยได้อย่างเหลือเชื่อ เรื่องของ ปลานิลจิตรลดา การเดินทางจากญี่ปุ่นสู่ประเทศไทย กลายเป็นอาหารโปรตีนพระราชทาน เพื่อสุขอนามัยที่ดีของชาวไทยทั้งมวล เรื่องของ ลูกประคบ ปัญญากับป่าไม้ไปสู่ความยั่งยืน และเรื่องราวของ กระเทียม เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศชาติได้อย่างไร ดังนี้เป็นต้น

ซึ่งทั้งหมดนี้ ต่างเกี่ยวพันกับดิน น้ำ ลม ไฟ อันเป็นหัวใจหลักของการดำเนินงานตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จะต้องใช้ปัญญาในการพัฒนา โดยคำนึงถึงการเกื้อกูลระหว่างธรรมชาติกับชีวิต ความผูกพันกับ ภูมิสังคม และการดำเนินชีวิตของผู้คนที่สามารถอยู่กับธรรมชาติได้อย่างมีความสุขและยั่งยืน

ส่วนผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในวันงานนี้ เป็นสินค้าตัวอย่างบางส่วนของมูลนิธิชัยพัฒนาที่ได้รับการคัดสรรและได้รับการตรวจสอบและการควบคุมคุณภาพจนได้รับตราสินค้า ภัทรพัฒน์ แล้วทั้งสิ้น ส่วนผลิตภัณฑ์อื่นที่ยังไม่ได้รับการติดตรา ภัทรพัฒน์ เป็นสินค้าในเครือ หรือที่มูลนิธิชัยพัฒนาได้ให้การสนับสนุนและอยู่ระหว่างการพิจารณาคัดเลือกให้ได้รับตราสินค้า ภัทรพัฒน์ ในลำดับต่อไป

สินค้าตัวอย่างที่นำมาจำหน่าย มีทั้งสินค้าทางการเกษตร ได้แก่ ข้าว ผักไฮโดรโพนิค กระเทียม และฟักทอง สินค้าแปรรูปอาหาร ได้แก่ กะปิ น้ำพริกกุ้งเสียบ ปลานิลแดดเดียว ข้าวแคบ กล้วยตาก ถั่วทองทอด และผลไม้แช่อิ่ม สินค้าหัตถกรรม ได้แก่ ผลิตภัณฑ์แฝก ผลิตภัณฑ์กระจูด เรือจำลองของชาวมอแกน และสินค้าจากโรงเรียนอุดมศาสน์วิทยา จังหวัดยะลา สินค้าพืชสมุนไพร ได้แก่ ลูกประคบ ผงสะเดา ปุ๋ยชีวภาพ แชมพู ครีมนวด น้ำยาล้างจาน โทนเนอร์ น้ำผลไม้ ลูกประคบ ยาหม่อง น้ำมันไพร พิมเสนน้ำ และเจลล้างมือ สินค้าที่ระลึก ได้แก่ แก้วน้ำ เสื้อยืด และกังหันน้ำชัยพัฒนาเซรามิค หนังสือ ?นกแหลมผักเบี้ย? สินค้าจากโรงงานแปรรูปหนังปลานิล และผลิตภัณฑ์จากมูลนิธิข้าวไทย เช่น เค้กข้าว

ส่วนการหาซื้อ ผลิตภัณฑ์ ภัทรพัฒน์ ในโอกาสต่อไป สามารถหาซื้อได้ที่พื้นที่โครงการต่างๆ ของมูลนิธิชัยพัฒนา สอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา โทรศัพท์ : 02-282-4425-8 โทรสาร : 02-282-3341 และสามารถสั่งซื้อทางเว็บไซด์ได้ E-mail Address : patpat@patpat9.com Website : www.patpat9.com
« Last Edit: September 20, 2009, 04:38:12 PM by sianbun »

sianbun on September 13, 2009, 10:52:27 AM
โครงการจัดทำภาพลักษณ์ ตราผลิตภัณฑ์  "ภัทรพัฒน์"

ความเป็นมา
                ด้วย สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ได้ดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ดินของมูลนิธิชัยพัฒนา ทั่วประเทศ ทั้งนี้การดำเนินในพื้นที่ต่างๆ มีผลผลิตทางการเกษตรที่มีความหลากหลายและจำนวนมาก ยากที่จะดำเนินการทำการตลาดของแต่ละพื้นที่เอง สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา  จึงเห็นควรว่าน่าจะจัดทำตราสินค้าเพื่อเป็นการรวมสินค้าในพื้นที่ของมูลนิธิชัยพัฒนาต่างๆ  ทั่วประเทศ และสนับสนุนการรวมกลุ่มเกษตรกรภายในบริเวณรอบๆ พื้นที่โครงการ จึงได้นำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานชื่อตราสินค้าดังกล่าว

พระราชดำริ

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้ สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ดำเนินการโครงการจัดทำภาพลักษณ์ ตราผลิตภัณฑ์ ?ภัทรพัฒน์ หรือ PATPAT?


หน่วยงานรับผิดชอบ                        สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา

ผลการดำเนินงาน

                        สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ได้ร่วมกับคณะอาจารย์ จากศูนย์ศึกษาในเมือง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เพื่อหาแนวทางในการทำแผนสร้างภาพลักษณ์ของตราสินค้า เพื่อให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของกลุ่มลูกค้า  และมีเอกลักษณ์เฉพาะสามารถใช้เป็นกลไกในการพัฒนาด้านการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ของมูลนิธิชัยพัฒนา และผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการขยายผลการพัฒนาไปสู่กลุ่มชุมชนและเกษตรกรในระยะต่อไป  และได้ทำสัญญาบันทึกข้อตกลงร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในการดำเนินการดังกล่าวโดยแบ่งออกเป็น 4 ระยะโดยเริ่มจากขั้นตอนเตรียมการดำเนินงาน  การศึกษา วิจัย วิเคราะห์ข้อมูล การกำหนดแบบร่างของแนวคิด และการพัฒนาแบบและให้คำปรึกษาในระยะยาวต่อไป จากนั้นสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาได้ร่วมประชุมหารือกับ คุณศิริกุล เลากัยกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท The Brandbeing Consultant Co., Ltd. ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านการตลาดให้กับบริษัทชั้นนำหลายแห่ง เพื่อพิจารณาแนวทางการพัฒนาแนวคิดและกำหนดภาพลักษณ์ของตราผลิตภัณฑ์ ?ภัทรพัฒน์? เพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ตรา ?ภัทรพัฒน์? โดยสรุปข้อเสนอ   แนวคิดของคุณศิริกุล เลากัยกุล ดังนี้

-  ขอบข่ายธุรกิจ (Business Concept) : การพัฒนาสินค้าและบริการจากโครงการตามพระราชดำริ ให้มีมูลค่าเพิ่มและมีศักยภาพในการเติบโตด้วยตนเอง

-  ความมุ่งมั่น (Passion) :  ?ทำในสิ่งที่คนไม่คิดจะทำ ทำในสิ่งที่คนไม่มีปัญญาจะทำ? เพื่อการจุดประกาย ต่อยอด สำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืน

-  จุดยืน (Positioning) :  ?สินค้าต้นแบบ สำหรับคนต้นแบบ?

-  คุณลักษณะของภัทรพัฒน์ (Attribute) :

1.  คุณภาพจากแหล่งกำเนิด

2.  พัฒนาตามพลังธรรมชาติ

3.  คุณค่าจากแนวคิด

4.  ไม่สมบูรณ์พร้อมแต่ดีพอ

- คำมั่นสัญญา (Promise) : ?ความภาคภูมิใจ โอกาสไทยพัฒนา? - ความภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างโอกาสเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

โครงการของมูลนิธิชัยพัฒนาจะมุ่งเน้นในการช่วยเหลือราษฎรที่ยากจนและมีปัญหาในการประกอบอาชีพ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการพัฒนา โดยผลผลิตที่เกษตรกรเหล่านี้เป็นผู้ดำเนินการ จะได้รับการพัฒนามาจากจุดเริ่มต้น โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นการถ่ายทอดความรู้จากชุมชนสู่ชุมชน ผลผลิตส่วนใหญ่จะเป็นผลผลิตจากท้องถิ่น โดยจะมีที่มาของผลิตภัณฑ์ อาทิ กระบวนการพัฒนาความคิด กระบวนการเรียนรู้ และกระบวนการพัฒนาการผลิตจากชุมชนอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา มีแนวคิดด้านผลิตภัณฑ์ ดังนี้

-  เป็นผลผลิตที่ผลิตได้จากพื้นที่โครงการของมูลนิธิชัยพัฒนา รวมทั้งพื้นที่ขยายผลการพัฒนา ซึ่งเป็นกลุ่มชุมชนที่มูลนิธิชัยพัฒนา ให้การสนับสนุน

-  การพัฒนาผลิตภัณฑ์จะแบ่งออกเป็น 3 แนวทาง

1.       ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ใช้วัตถุดิบของชุมชนมาพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์

2.   ผลิตภัณฑ์ที่ชุมชนทำเป็นอาชีพอยู่เดิมแล้วนำมาพัฒนาต่อยอด เพิ่มคุณภาพของวัตถุดิบและปรับปรุงในด้านการออกแบบ

3.      ผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาโดยมูลนิธิชัยพัฒนาและจำหน่ายโดยมูลนิธิชัยพัฒนา ในนาม ภัทรพัฒน์


-  ในด้านช่องทางการจัดจำหน่าย จะแบ่งตามประเภทของผลิตภัณฑ์ ดังนี้

1.  จัดจำหน่ายในช่องทางเดิมในชุมชน สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ชุมชนทำเป็นอาชีพอยู่เดิมแล้ว

2.  จัดจำหน่ายโดยผ่านช่องทางของภัทรพัฒน์สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มูลนิธิชัยพัฒนาได้พัฒนาขึ้น

การดำเนินการในระยะต่อไป

                        สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา จะดำเนินงานต่อเนื่องในการประสานงานกับ  ศูนย์ศึกษาในเมือง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พร้อมกับดำเนินงานร่วมกับ คุณศิริกุล เลากัยกุล ในการทำสรุปเรื่องภาพลักษณ์ เพื่อให้สะท้อนการดำเนินงานของมูลนิธิชัยพัฒนา ที่แท้จริง รวมทั้งการเผยแพร่การดำเนินงานที่มีความสอดคล้อง และดำเนินไปในทิศทางเดียวกันทั่วประเทศ โดยสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา มีแผนการดำเนินงานเป็นลำดับขั้นตอนดังต่อไปนี้

1.      ดำเนินการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผลผลิต และผลิตภัณฑ์ ภายใต้การดูแลของโครงการทั่วประเทศ ทำการคัดเลือกและแบ่งประเภทตามที่ได้กำหนดไว้ โดยจะดำเนินการการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของตลาด และผ่านมาตรฐานที่ตลาดรับรอง  พร้อมกับหาช่องทางการตลาดควบคู่ไปพร้อมกัน

2.     วางแผนการดำเนินงานเพื่อเปิดตัวและแนะนำตราผลิตภัณฑ์ ?ภัทรพัฒน์ หรือ PATPAT? ภายในปี 2552

3.     ประสานกับกลุ่มเกษตรกร ในพื้นที่โครงการของมูลนิธิชัยพัฒนา และพื้นที่เครือข่าย เพื่อทำความเข้าใจและวางแผนร่วมกันในการพัฒนาสินค้าภายใต้  ตราผลิตภัณฑ์ ?ภัทรพัฒน์ หรือ PATPAT?
« Last Edit: September 14, 2009, 09:20:12 AM by sianbun »

sianbun on September 14, 2009, 09:20:23 AM
หนังสือนกแหลมผักเบี้ย



ชื่อหนังสือ นกแหลมผักเบี้ย
ISBN 978-974-09-3635-0
วางจำหน่ายหน้าร้านทั่วประเทศ วันที่ 9 กันยายน 2552

พิมพ์4/4 สีทั้งเล่ม ภาพประกอบกว่า 500 ภาพ ปกอ่อนเย็บกี่ จำนวน 300 หน้า

พิเศษสำหรับการจำหน่ายในงานเปิดตัวสินค้าภัทรพัฒน์   ระหว่างวันที่ 9 - 15 กันยายน 2552 ลดราคาจากหน้าปก เหลือเล่มละ 360 บาท   รายได้จากการจำหน่ายหนังสือทั้งหมดเข้าสมทบทุนให้แก่มูลนิธิชัยพัฒนา

รวบรวมโดย ฟิลลิป ดี. ราวด์ ผู้เชี่ยวชาญด้านปักษีวิทยาและการศึกษาโดยติดห่วงขา(นก) ของเมืองไทย และวิเชียร คงทองจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ

ถ่ายภาพโดย สมิทธิ์ สุติบุตร์ และ วิชา นรังศรี นักเขียนสารคดีธรรมชาติและช่างภาพอิสระ

เรื่องย่อ เป็นหนังสือรวมภาพและรายละเอียดนกที่แหลมผักเบี้ย และพื้นที่ใกล้เคียง จังหวัดเพชรบุรี รวบรวมนก 242 ชนิด  ชื่อแหลมผักเบี้ยนี้คือชื่อของพื้นที่โครงการศึกษาและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่อมาจากพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงให้มูลนิธิชัยพัฒนาเข้าไปพัฒนาสิ่งแวดล้อมด้วยวิธีธรรมชาติช่วยธรรมชาติ ทำให้พื้นที่นี้เดิมมีสภาพดินและน้ำเน่าเสีย กลับมาเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ทำให้มีนกกลับเข้ามาหากินในพื้นที่นี้อีก นกบางชนิดพบครั้งแรกในประเทศไทย และนกอีกหลายชนิดที่เคยหายไปหรือคิดว่าสูญพันธุ์ไปแล้วก็กลับมาให้เห็นอีก ปัจจุบันมีนกกว่า 60 สายพันธุ์ ทำให้พื้นที่นี้เป็นที่สนใจของนักดูนก  การจัดพิมพ์หนังสือนี้ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท ปตท. (เคมิคอล) จำกัด

การประชาสัมพันธ์เสวนาแนะนำหนังสือ วันที่ 12 กันยายน 2552 ณ สยามพารากอน

piak on September 15, 2009, 09:43:09 AM
ผมไม่เคยพลาดงานโครงการหลวงครับ ของดีราคาไม่แพง