วศ./ก.วิทย์ฯ ลุยพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการปลาส้มหลังรับฟังปัญหาจากผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
กรมวิทยาศาสตร์บริการ ในฐานะผู้ดำเนินการรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ OTOPเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ปลาส้มให้ได้รับมาตรฐาน อีกทั้งการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของรัฐบาลโดยเฉพาะการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส และมุ่งเน้นให้เกิดการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อม รวมทั้งผู้ประกอบการสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ให้ได้พัฒนาศักยภาพและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์เพื่อยกระดับไปสู่ตลาดต่างประเทศได้ในอนาคต นางสาวเสาวณี มุสิแดง อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวว่าจากนโยบายกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯโดยนายพีรพันธุ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯได้ให้ความสำคัญในการนำงานด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ชุมชน สร้างรายได้และส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน กรมวิทยาศาสตร์บริการ(วศ.) จึงลงพื้นที่ภาคอีสานจัดสัมมนาเพื่อพัฒนาคุณภาพและความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ปลาส้ม จุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ปลาส้มในจังหวัดยโสธรให้เป็นสินค้าที่ได้มาตรฐาน และสร้างจุดเด่น รวมถึงการยกระดับสินค้าผลิตภัณฑ์ปลาส้มให้มีความแตกต่างจากผลิตภัณฑ์ของจังหวัดอื่นๆ ซึ่งปัญหาที่พบนั้นคือผู้ประกอบการปลาส้มหลายรายที่ยังไม่ได้รับการรับรองผลิตภัณฑ์ปลาส้ม และกระบวนการผลิตปลาส้มแบบดั้งเดิมนั้นผู้ประกอบการมักประสบปัญหาในการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์และในขั้นตอนของการผลิตยังไม่ได้มาตรฐานเท่าที่ควร หัวใจสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้น เกิดจากความมุ่งมั่นของผู้ประกอบการ ความพยายามที่จะเรียนรู้ เพื่อปรับปรุงผลิตภัณฑ์ของตนเอง กรมวิทยาศาสตร์บริการและคณะวิทยากรจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้เข้าไปให้คำปรึกษาในการปรับปรุงแก้ไขคุณภาพผลิตภัณฑ์ปลาส้มให้ได้เกณฑ์มาตรฐาน และในอนาคตอันใกล้นี้จะมีการจับมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในท้องถิ่นในการให้ข้อมูลกับผู้ประกอบการปลาส้มเพื่อสร้างความครอบคลุมทุกพื้นที่มากยิ่งขึ้น นางอรุณี พรหมสุข รองประธาน OTOP ด้านอาหารภาคอีสาน จังหวัดยโสธร ได้เล่าประสบการณ์เกี่ยวกับการผลิตปลาส้ม และการจัดจำหน่ายสู่ท้องตลาด โดยนางอรุณีแสดงความคิดเห็นว่าถ้าสินค้าปลาส้มได้รับมาตรฐาน จะทำให้ได้รับการไว้ใจจากลูกค้า และสามารถขายปลาส้มได้ในราคาสูงขึ้น นายนิกร สุวรรณดี อาจารย์จากวิทยาลัยชุมชนยโสธร ได้ให้คำแนะนำผู้ประกอบการว่าควรได้รับมาตรฐาน อย. มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) หรือ GMP เพื่อเป็นการยกระดับสินค้าปลาส้มของ จ.ยโสธร และเสนอแนวทางในการใช้โรงเรือนร่วมกัน เพื่อให้ได้มาตรฐานเดียวกันในการผลิตปลาส้ม ผู้ประกอบการปลาส้มแม่น้อย เล่าวิธีการทำปลาส้ม และปริมาณการผลิต 2 ถึง 3 ตันต่อวันแต่ยังไม่ได้รับมาตรฐาน ดังนั้นจึงพร้อมเข้าร่วมโครงการ ทั้งนี้มีผู้ประกอบการอื่นๆ ได้ให้ความสนใจเช่นกันถือเป็นอีกหนึ่งก้าวที่ทางกรมวิทยาศาสตร์บริการประสบความสำเร็จจากการลงพื้นที่เพื่อชี้ให้ผู้ประกอบการได้เห็นข้อดีของการรับรองผลิตภัณฑ์และเข้าร่วมโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ปลาส้มในจังหวัดยโสธรให้เป็นสินค้าที่ได้มาตรฐานและสร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดต่อไป----------------------------------------------------------------------------------------------------
นางสาวจิตลดา คณีกุล ผู้เขียนข่าว
ฝ่ายประชาสัมพันธ์กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทร 0 2201 7097-8 โทรสาร 0 2201 7470e-mail : pr@dss.go.th, walaiporn@dss.go.th