MSN on August 20, 2013, 08:28:32 AM
กระทรวงวิทย์ฯ โชว์เทคโนโลยีในงานเทคโนมาร์ท เปิดตัวแชมป์สิ่งประดิษฐ์ดีเด่น “มีดกรีดยางพาราแบบเปลี่ยนใบมีดได้”
 

 
          กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจัดงานเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทยหรือเทคโนมาร์ท เนื่องในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2556 พร้อมประกาศผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้นทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ได้รับรางวัลประจำปี 2556 โดย ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศได้แก่ นายเกรียงศักดิ์ งามแสน นักประดิษฐ์สิ่งประดิษฐ์ดีเด่นประจำปีนี้ “มีดกรีดยางพาราแบบเปลี่ยนใบมีดได้” โดยประโยชน์ของสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ คือ ใช้กรีดยางได้สะดวกรวดเร็ว หน้ายางไม่เกิดความเสียหาย ช่วยให้ต้นยางพาราของเกษตรกรรักษาสภาพที่สามารถให้ผลผลิตที่สม่ำเสมอและยาวนานยิ่งขึ้น มีอุปกรณ์ช่วยป้องกันการบาดลึกเกินไปของคมลึกได้โดยตรง สามารถปรับความลึก ความหนาบางของการกรีดลำต้นยางพาราได้และใช้งานง่าย ไม่ต้องฝึกนาน ณ เวทีกลาง ลานกิจกรรมหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัล เวิลด์กรุงเทพมหานคร

MSN on August 20, 2013, 08:57:13 AM
งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี 2556 สาระสำคัญต่างๆ ของ สทน.






 
           สทน.ได้จัดนิทรรศการเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องของการเกษตร ซึ่งมีการนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาใช้ในเรื่องของการเกษตรมากมาย เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกษตรกรพบ เช่น ปัญหาโรคพืช ปัญหาแมลงวันผลไม้รบกวนผลผลิตจำพวกผลไม้ พืชให้ผลผลิตน้อย พืชไม่เจริญเติบโต ดูดซึมไม่ดี และพืชคาดการดูแล หากเกษตรกรหรือผู้ดูแลไม่สะดวกในการดูแล เป็นต้น สทน.จึงค้นคว้างานวิจัยทางการเกษตร จนสามารถนำเอาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ มาช่วยในการสร้างงานวิจัย ให้สามารถแก้ไขปัญหาที่ประสบเหล่านั้นได้ และได้ถ่ายทอดออกมาให้เข้าใจง่ายในรูปแบบของนิทรรศการเรียนรู้และจับต้องได้ “นิวเคลียร์กับการเกษตร” ที่จะเกิดขึ้น ในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในปีนี้ ได้แก่

          1. ไคโตซาน เราอาจจะทราบโดยทั่วไปว่า ไคโตซาน เป็นสารช่วยกระตุ้น การดูดซึมของพืชสกัดได้จากเปลือกกุ้ง เปลือกปูและแกนของหมึกทะเล ซึ่งมีจำหน่ายมากมายในท้องตลาด แต่ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ที่พบทั่วไปนั้น มีโมเลกุลที่มีขนาดใหญ่มาก เป็นปัญหากับพืชตรงที่ พืชไม่สามารถดูดซึมนำไคโตซานนี้ไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือยากกว่าที่พืชควรจะได้รับ สทน. จึงมีการนำเอาไคโตซานนี้มาทำการฉายรังสี เพื่อให้รังสีนั้นทำขนาดของโมเลกุลในไคโตซานปกตินี้ย่อยเล็กลง เมื่อพืชดูดซึมนำไปใช้ให้เป็นพลังกระตุ้นการดูดซึม ก็จะทำให้พืชนั้นใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด จึงทำให้ไคโตซานของ สทน. ที่ผ่านการฉายรังสีนี้ พืชมีการตอบสนองได้ดีกว่า และพืชเจริญเติบโตได้ดีว่า ไคโตซานท้องตลาดมาก(มีของจริงให้เห็นและสัมผัส)

          2. สารละลายไหม เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา สทน.ได้นำเอา เศษไหมแทบจะไร้มูลค่ามาสกัดเอาสารละลายโปรตีนไหมโดยผ่านการฉายรังสีเพื่อทำให้สะอาดปลอดเชื้อจุลินทรีย์มาผสมกับ เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ทางผิวพรรณมากมาย เช่น สบู่ไหม แชมพูสระผม ครีมนวด ครีมทาผิว ซึ่งช่วยให้ผิวพรรณของเรานั้นได้รับสารอาหารที่มีความจำเป็นต่อผิวได้อย่างเต็มที่ ผิวพรรณจึงมีความเนียนนุ่ม ชุ่มชื่น เป็นที่นิยมของคุณแม่บ้าน พ่อบ้านทั้งหลาย ในปีนี้ เรานำสารละลายไหมนี้ หมักบ่มจนได้ที่ เป็นสูตรเฉพาะของ สทน. มาแก้ไขปัญหาให้เกษตรกร เพราะเนื่องจาก โปรตีนในไหมมีมาก และหลายชนิดมีความจำเป็นกับพืช เป็นที่ต้องการของพืชสูง เปรียบเสมือนเป็นฮอร์โมนบำรุงชั้นดี ที่ทำให้พืชเจริญงอกงามแข็งแรง ให้ผลผลิตดี ดก ใหญ่ สดอยู่ได้นานขึ้น เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรมากขึ้น ไม่เป็นอันตรายต่อพืชและผู้ใช้ เพราะไม่ใช่สารเคมี โดยใช้กับพืชต่างๆ หลากหลายชนิดเช่น มังคุด เงาะ เห็ด ข้าว มันสำปะหลัง กล้วยไม้ หรือแม้แต่สามารถนำมาผสมในอาหารสัตว์ได้อีกด้วย เช่น อาหารกุ้งแม่น้ำ อาหารจิ้งหรีด เป็นต้น(ผสมอาหารกุ้ง ทำให้กุ้งตัวโต น้ำหนักดี ราคาดี, ผสมในน้ำดื่มจิ้งหรีด ทำให้จิ้งหรีดตัวอวบโต มันอร่อย ขายดี)(มีของจริงให้เห็นและสัมผัส)

          3. พอลิเมอร์อุ้มน้ำ ในยุคของความเร่งรีบ มีเวลาน้อยและจำกัด ต้องมีสิ่งที่อำนวยความสะดวกให้ชีวิตของเรามากขึ้น เราจึงอาจจะไม่มีเวลาที่จะดูแลพืชที่เราปลูกเอาไว้ เมื่อเวลาผ่านไปพืชอันแสนรักอาจจะตายไปอย่างน่าเสียดาย สำหรับท่านที่ชอบปลูกต้นไม้เป็นงานอดิเรกนั้น คงมีความสุขกับการเห็นพืชได้เจริญเติบโตงอกงามดี ออกดอกสวยๆ ออกผลงามๆให้ได้ชื่นชม แต่ก็อาจจะไม่ดีแน่หากต้องไปอยู่ที่อื่นไกลๆ นานๆ แล้วไม่มีเวลาพอที่จะดูแลพืชเหล่านี้ สทน. จึงคิดค้นพอลิเมอร์อุ้มน้ำนี้ขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ไม่มีเวลาดูแลต้นไม้ กล่าวคือ พอลิเมอร์นี้ผลิตจากมันสำปะหลังที่ได้จากธรรมชาติ แล้วนำมาฉายรังสีเพื่อให้เกิดปฏิกิริยาบนสายโซ่ของแป้งมันสำปะหลัง ซึ่งจะทำให้ตัวมันเองอุ้มน้ำได้ดี ถึง 500 เท่า เปรียบเสมือนเป็นแหล่งเก็บกักน้ำเอาไว้ เมื่อผสมคลุกเคล้าเข้ากับดินแล้ว พอลิเมอร์อุ้มน้ำนี้ จะทำหน้าที่ให้ดินมีความชื้นได้นานแม้ไม่รดน้ำให้กับดินหรือพืชเป็นระยะเวลานับเดือน แล้วพืชก็สามารถอยู่เพราะมีความชิ้นตากพอลิเมอร์ที่ผสมกับดินนี้และด้วยคุณสมบัติของพอลิเมอร์อุ้มน้ำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้นยังสลายไปกับดินได้ เมื่อมันละลายเสื่อมสภาพลง ไม่เป็นอันตรายต่อพืชและดินอีกด้วย(มีของจริงให้เห็น สัมผัสและสามารถร่วมกิจกรรมเพื่อนำต้นไม้พอลิเมอร์กลับบ้านได้)

          4. แมลงวันผลไม้ เกษตรกรผู้ค้าผลไม้ไทยมีปัญหาเกี่ยวกับผลผลิตน้อย มีผลกระทบทางการส่งออกผลไม้ไทยไปต่างประเทศ ส่วนหนึ่งมากจากการที่ เกษตรกรปลูกผลไม้นั้นถูกรบกวนจากแมลงวันผลไม้ จนทำให้ผลผลิตตกต่ำลง สทน. จึงมีงานวิจัย การทำหมันแมลงวันผลไม้โดยการฉายรังสีขึ้น เพื่อกำจัดต้นตอของเจ้าตัวร้ายที่ทำให้ผลผลิตของผลไม้ไทยลดลง วิธีง่ายๆ โดยการดักจับแมลงวันผลไม้ตามธรรมชาติมาคัดสายพันธ์ที่มีมาก มีการแพร่ระบาดสูง แล้วทำการเพาะเลี้ยงเพื่อสังเกตพฤติกรรม เมื่อได้แล้ว เราจึงเลี้ยงเพื่อนำเอาดักแด้ของมันมาฉายรังสีแกมมาเพียงแค่ชั่วระยะเวลาหนึ่งทำให้มันเป็นหมัน แล้วทำการรอฟักออกจากดักแด้ ซึ่งช่วงระหว่างรอนี้ เราจะทำการย้ายดักแด้เหล่านี้ ไปไว้ในพื้นที่สวนผลไม้ โดยคำนวณสัดส่วนของพื้นที่ ต่อแมลงวันผลไม้เป็นล้านตัว แล้วเมื่อแมลงวันผลไม้เหล่านี้ฟักเป็นตัว มันจะบินไปจับคู่กับแมลงวันผลไม้ในธรรมชาติ แต่ไม่สามารถที่จะฟักไข่ได้ ผลไม้ของเกษตรกรก็ไม่เน่าเสีย สามารถที่จะเพิ่มผลิตผลได้มากตามที่ตลาดต้องการ และวิธีนี้ยังทำให้เกษตรกรไม่ใช้ยาฆ่าแมลงอีกด้วย โดยได้ทำสำเร็จไปแล้วในหลายพื้นที่ของประเทศ เช่น นครนายก จันทบุรี แพร่ เป็นต้น(มีของจริงให้เห็นและสัมผัส)

          จากงานวิจัยต่างๆ เหล่านี้ สทน. ได้ทำการช่วยเหลือเกษตรกรไทยให้มีความกินดีอยู่ดีมีสุข รายได้เพิ่มพูน ผลผลิตมีคุณภาพยิ่งขึ้น เกษตรกรไทยก็ยิ้มได้ สนใจขอเชิญที่งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ปี 2556 ณ ศูนย์นิทรรศการ ไบเทค บางนา วันนี้ถึง 21 สิงหาคม 2556 เวลา 09.00 น. – 20.00 น.

MSN on August 21, 2013, 08:46:36 AM
ผู้เข้าชม ประสานเสียง มหกรรมวิทย์ฯ 2556 “สุดยิ่งใหญ่ ประทับใจ”









          งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ปี 2556 นี้ จัดยิ่งใหญ่พร้อมกัน 2 แห่งคือ ไบเทค บางนา วันที่ 6-21 สิงหาคม 2556 และ ลานหน้าเซนทรัลเวิลด์ วันที่ 14-18 สิงหาคม 2556 ภายในงาน มีสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม การแสดงด้านเทคโนโลยีที่น่าตื่นตา ได้ทั้งความรู้ ได้ทั้งความสนุกสนาน มีนักเรียน นักศึกษา และประชาชนเข้าชมงานวันละนับหมื่นคน ทุกคนล้วนกล่าวว่า งานมหกรรมวิทย์ฯ ในปีนี้ จัดได้อย่างยิ่งใหญ่และน่าประทับใจในทุกนิทรรศการจริงๆ
 
          “ได้ไปดูนิทรรศการเรื่องแสง เรื่องภาวะโลกร้อน ได้ความรู้เยอะเลยค่ะทั้งเรื่องพลังงาน เรื่องการหักเหของแสง ชอบเรื่องภาวะโลกร้อนค่ะ เป็นเรื่องใกล้ตัว ทำให้ได้รู้ว่าควรจะใช้พลังงานอะไรอย่างไรจึงจะประหยัดและเหมาะสม”
          ณัฐวิภา บุนนาค ม.2 ร.ร.พระโขนงวิทยาลัย

          “ไปดูนิทรรศการการแพทย์ค่ะ แล้วก็เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง นิทรรศการก็น่าสนใจทุกส่วนเลย อย่างเรื่องการแพทย์ พวกหนูเรียนสายวิทย์ก็เอาไปใช้ประโยชน์ได้ เพราะอย่างที่พวกหนูเรียนตอนนี้ก็มีเรื่องกล้ามเนื้อเรื่องกระดูก ซึ่งเทคโนโลยีทางการแพทย์ก็มีข้อมูลตรงกับที่เรียน ก็ได้ความรู้เยอะค่ะ”
          รัตนพร อินทรัตน์ และประทุมทิพย์ ผดุงทด ม.5 ร.ร.พระโขนงวิทยาลัย

          “งานปีนี้ก็ได้ดูเกือบจะทุกส่วนแล้ว แต่ว่าไม่ได้ดูนาน จะได้ดูแค่ส่วนละนิดละหน่อย แต่ส่วนที่คิดว่าเด็กได้ประโยชน์จริงๆ ก็จะเป็นส่วนของ อพวช.ที่มีการทดลองให้เด็กได้ทำกิจกรรม เพราะว่าที่โรงเรียนบางเรื่องก็สอนแต่ไม่ได้มีการทดลอง พอมาตรงนี้เด็กก็ได้ทดลอง ได้รู้ด้วย หลายๆ นิทรรศการที่เปิดโอกาสให้เด็กได้ทำ ก็จะพยายามให้เด็กๆ เขาได้เข้าไปร่วมกิจกรรมด้วย เราก็คิดว่า เด็กๆ เขาน่าจะได้ความรู้ หรือเอาไปใช้ประโยชน์ได้ต่อไป งานปีนี้คิดว่า มีเนื้อหาเยอะกว่าปีที่ผ่านมา ทั้งนิทรรศการ แล้วก็กิจกรรมต่างๆ น้องๆ เขาก็ชอบส่วนของ อพวช. แล้วก็ สสวท. คืออะไรที่เด็กๆ เขาได้ร่วมกิจกรรมเขาก็จะชอบค่ะ”
          สปีน๊ะ ยีปาโละ ร.ร.บ้ายยือโระ อ.รามัญ จ.ยะลา

          “ทราบข่าวการจัดงานจากโทรทัศน์ค่ะ ก็เลยมา ก็ชอบนิทรรศการในส่วนของแสงค่ะ ใส่แว่น 3 มิติแล้วก็ได้เห็นการหักเหของแสง เห็นแสงแยกออกเป็นหลายๆ สี มันก็เป็นความมหัศจรรย์ของแสง แล้วก็ชอบในส่วนนิทรรศการอุตสาหกรรม ที่มีการแสดงเรื่องรถยนต์ แล้วก็เรื่องพลังงานทดแทน มันก็ตรงกับที่เรียน แล้วก็เกี่ยวกับชีวิตประจำวันของเราด้วยค่ะ”
          สุภัทรา คำเทพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร

          “ชอบนิทรรศการเทคโนโลยีทางการแพทย์ แล้วก็นิทรรศการเรื่องพลังงานครับ รวมทั้งนิทรรศในส่วนของการทหารด้วยครับ ชอบตรงที่ได้ทำแผลปลอมครับ เหมือนจริงมากๆ เลย”
          ยุทธนา พฤกษการ ร.ร.พลาธิการทหาร

          “ตั้งใจจะพาลูกชายมาเที่ยว เพราะว่าลูกชายเขาชอบ พอเข้ามาในงานก็ตรงมาที่เรื่องเทคโนโลยีด้านพลังงานเลย เพราะลูกชายเขาสนใจ เขาชอบเรื่องรถ แล้วก็เรื่องดาราศาสตร์ เรื่องดวงจันทร์ คือผมจะสอนให้เขาดูพระจันทร์ตอนกลางคืน ว่าเคลื่อนที่ไปทางไหน หรือปรากฏการณ์อย่างจันทรคราสก็จะสอนเขาว่ามันเป็นอะไร อย่างไร คือตัวผมเองก็สนใจเรื่องพลังงาน กับเรื่องการนำงานวิทยาศาสตร์มาใช้ประโยชน์ ว่าจะนำมาใช้ได้อย่างไร
          “ผมมักจะสอนลูกโดยดูจากสิ่งที่เขาสนใจก่อน เขาจะชอบเรื่องเครื่องยนต์กลไก สิ่งที่เคลื่อนไหวได้ แล้วก็ชอบดูพระจันทร์ ดูดวงดาวตอนกลางคืน เราก็จะค่อยๆ สอนเขา เขาก็จะถามอยู่เรื่อยๆ เช่น ดาวมันเคลื่อนที่ได้ยังไง เคลื่อนไปทิศไหน อย่างเรื่องรถหรือเรือ เขาก็จะดูว่ามันเคลื่อนที่ได้ยังไง มันทำงานยังไง มีใครบังคับสั่งการ เขาก็จะค่อยๆ เรียนรู้ไป ผมว่ามันเป็นธรรมชาติของเด็กที่รักการเรียนรู้นะ ผู้ใหญ่ก็ต้องพยายามที่จะให้คำตอบเขา หรือถ้าหาคำตอบไม่ได้ ก็ควรจะพาเขามาเดินหาคำตอบในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์นี่แหละ”
          พีรกร กาญจน์วีระโยธิน สถาปนิก และ ด.ช.กร กาญจน์วีระโยธิน อายุ 4 ขวบ

          “ได้ไปชมนิทรรศการหลายๆ ส่วนครับ ที่ชอบก็จะมีนิทรรศการที่เป็นพระราชกรณียกิจของเชื้อพระวงศ์ และนิทรรศการเรื่องพลังงาน ผมประทับใจในนิทรรศการพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ เพราะผมเรียนโรงเรียนจุฬาภรณ์ฯ ซึ่งเป็นโรงเรียนด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ฯ ท่านก็เป็นนักวิทยาศาสตร์ พวกผมก็ได้มีโอกาสไปชมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ด้วย มีโอกาสได้เห็นเครื่องมือต่างๆ ซึ่งการมางานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ครั้งนี้ พวกผมก็จะได้นำความรู้ที่ได้ ไปต่อยอดทำโครงงานวิทยาศาสตร์ต่อไป เพราะมีหลายสิ่งที่น่าสนใจ น่าจะนำไปคิดค้นต่อครับ”
          วทัญญู รักษาธรรมวงศ์ ชั้น ม.4 จาก ร.ร.จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงราย

          “ ชอบนิทรรศการเรื่องพลังงานค่ะ เพราะได้ความรู้เรื่องการประหยัดพลังงาน แล้วก็ในส่วนที่ได้ใส่แว่น 3 มิติได้เห็นการหักเหของแสง ชอบการจัดวางของแต่ละนิทรรศการ แล้วก็การจัดแสดงข้อมูลความรู้ค่ะ ทำให้น่าอ่าน แต่บางเรื่องก็เข้าใจยาก บางเรื่องก็เกี่ยวกับที่เราเรียนเช่น เรื่องระบบนิเวศ เรื่องสัตว์ เรื่องแสง เรื่องพลังงาน เรื่องคลื่น คิดว่าได้ความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์จากงานเพิ่มขึ้น”
          พรพรหม ศรศิริ ชั้น ม.3 ร.ร.พระโขนงวิทยาลัย

          “ได้ไปดูนิทรรศการของ ปตท. แล้วก็นิทรรศการเรื่องน้ำค่ะ สนุกดี ก็ได้ความรู้เรื่องพลังงาน เรื่องวัสดุ แล้วก็เรื่องเครื่องใช้ไฟฟ้า แต่ที่ชอบที่สุดคือ ซิมูเลชั่นผจญภัยไปกับสายน้ำค่ะ สนุกดี เหมือนได้ไปล่องแก่ง แล้วก็ได้ความรู้ว่า น้ำมายังไง อ่างเก็บน้ำเป็นยังไง”
กมลฉัตร อ่อนนพพร วิทยาลัยเทคโนโลยีหัตถวิทย์พาณิชยการ

          “มากันทั้งหมด 4 คนค่ะครูสองคน นักเรียนสองคน ตั้งใจมาร่วมกิจกรรมนี้ เพราะทาง สสวท .แจ้งไป วันนี้ ก็ได้ชมในส่วนของพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมวงศานุวงศ์ แล้วก็กิจกรรมของ สสวท. ของ อพวช. ที่ได้ให้นักเรียนได้เข้าร่วมกิจกรรมบนเวที ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ดี เป็นการปลูกฝังนักเรียนสู่ศตวรรษที่ 21 ให้นักเรียนได้คิด ได้รู้จักใช้ความคิดสร้างสรรค์ ได้มีวิจารณญาณ ได้เรียนรู้การใช้สื่อ IT ก็เป็นโอกาสดี เป็นประสบการณ์ใหม่ของเด็กบ้านนอก เด็กจากต่างจังหวัดได้มาเรียนรู้กิจกรรมที่มีในงานส่วนใหญ่ก็เป็นกิจกรรมที่ไม่ยาก เหมาะสำหรับนักเรียนประถม ไปร่วมทำกิจกรรมแล้วสนุกไม่เครียด เช่น ของ อพวช.ของ สสวท. ก็พอใจกับงานมากนะ อย่างช่วงที่ไม่ค่อยมีคน จะรู้สึกว่าจะเดินสบาย เดินเข้าไปดูได้ทุกนิทรรศการ แต่ช่วงเช้าคนเยอะ ก็จะแน่น เข้าชมลำบาก”
          จุฑามาศ สุขเกษม ร.ร.วัดม่วงค่อม อ.หาดใหญ่ จ.หาดใหญ่

          “วันนี้ ผมพาเด็กๆ กลุ่มบ้านเรียนมา 17 คนครับ คือเราก็พยายามสอนด้านวิชาการให้เด็กๆ พอสมควร แล้วก็พยายามพาเด็กๆ ไปทัศนศึกษา ประมาณสามสัปดาห์ต่อเดือน แล้วก็พยายามสอนด้านวิทยาศาสตร์ ให้มีการทดลองทำด้วยตัวเอง เราพยายามทำให้เด็กมีประสบการณ์ติดตัว เพื่อให้เขาจำได้ว่าเขาเคยทำอะไรและเกิดอะไรขึ้น การมางานนี้ เด็กๆ ก็จะได้เรียนรู้มากขึ้น เพราะเขาได้เห็นสิ่งต่างๆ มากขึ้น คือแต่ละนิทรรศการก็มีเรื่องของแต่ละส่วนที่นำมาจัดแสดง ซึ่งถ้าเราอยู่แต่บ้านเรียนเราก็ไม่ได้มาเห็น มางานนี้น้องๆ เขาก็ให้ความสนใจมากนะ วิ่งเข้าไปเล่น เข้าไปทดลอง สนุกสนานเลย ซึ่งจะมีหลายๆ อันที่เขาออกแบบให้เด็กเข้าใจง่าย ทดลองได้ด้วยตัวเอง ซึ่งเด็กๆ เขาก็กระตือรือร้นเพราะปกติเขาก็ชอบเรื่องวิทยาศาสตร์กันอยู่แล้ว ถ้าไม่ได้เป็นโจทย์เป็นการบ้านที่เขาต้องทำ เขาก็จะสนใจตามแบบของเขา เพราะว่ามันเป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับเด็กๆ อยู่แล้ว”
          พงศกร สายเพ็ชร์ กลุ่มบ้านเรียนปฐมธรรม พุทธมณฑลสาย 3

          “ผมตั้งใจจะมาดูผลิตภัณฑ์หลังคาโซลาร์เซลล์ของ SCG คือถ้าหากสามารถใช้ทดแทนพลังงานไฟฟ้าได้มันก็จะประหยัดไปเยอะ ต่างประเทศเขาใช้กันเยอะแต่เมืองไทยยังไม่นิยม คือตอนนี้การทำรีสอร์ทแบบที่ติดแผงโซล์เซลล์ พลังงานมันก็ยังจำกัดนะ ใช้ได้แค่ถึงสามทุ่มไฟก็หมดแล้ว มันก็ไม่คุ้มค่า ตัวผมเองก็สนใจเรื่องพลังงานนะ เพราะเมืองไทยเรายังไม่เปลี่ยนวิธีคิดเรื่องการใช้พลังงาน ต่อไปมันจะมีปัญหา เราซื้อพลังงานจากที่อื่นมาใช้เยอะ ผมว่าน่าจะให้ประชาชนได้เข้ามาดูเยอะๆ แล้วก็อยากให้หน่วยงานของกระทรวงวิทย์ฯ เอางานวิจัยมาใช้ได้จริงแล้วก็นำมาแสดง เหมือนต่างประเทศที่เขาเอางานวิจัยมาสร้างมูลค่า”
          วีรวุธ ภัทรนิธิวาที ธุรกิจส่วนตัว