Facebook on August 09, 2013, 07:52:44 AM
มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็กเปิดตัวหนังสือใหม่ ภายใต้ชื่องาน ก็รักน้องซิ้นได้นะ
   



 
          ด้วยความมุ่งมั่นในการนำหนังสือสู่เด็ก นำเด็กสู่หนังสือ เพื่อปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งการอ่าน ให้งอกงามใน หัวใจของเด็กๆ และช่วยสร้างสายสัมพันธ์ให้เกิดขึ้นในครอบครัว มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก และบริษัท แปลน ฟอร์ คิดส์ จำกัด จึงได้จัดทำโครงการ 10 ปี หนังสือดีเพื่อเด็ก โดยมีหนังสือในโครงการที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี อาทิ กลัวจัง กลัวจัง หิวจัง หิวจัง ผลงานเขียนโดยคุณหญิงกษมา วรวรรณ มดมหัศจรรย์ ผลงานของ คุณหญิงรัชนีวรรณ วัฒนชัย แป้งร่ำทำสวน น้ำแข็งไสใส่น้ำหวาน ผลงานของ อ.พรอนงค์ นิยมค้า ไออุ่น ผลงานของ รศ.กุลวรา ชูพงศ์ไพโรจน์ และกระรอกหน้าบึ้งกับผึ้งเบิกบาน ผลงานของ เรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป

          ล่าสุดเปิดตัวหนังสือนิทาน 2 เล่มใหม่ เรื่อง “น้องซิ้น” ผลงานโดย ป้ากุล รศ.กุลวรา ชูพงศ์ไพโรจน์ ผู้คร่ำหวอดในวงการวรรณกรรมเด็กของเมืองไทยมากว่า 30 ปี และ เรื่อง “ก็ ... รักกันได้นะ” ผลงานโดย ตุ๊บปอง เรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป กรรมการผู้จัดการมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก และนักเขียนนิทานคำกลอน โดยมี รศ.กุลวรา ชูพงศ์ไพโรจน์ ตุ๊บปอง เรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป นักเขียนนิทาน และชัยฤทธิ์ ศรีโรจน์ฤทธิ์ บรรณาธิการ ร่วมด้วยสายสวรรค์ ขยันยิ่ง เป็นผู้ดำเนินรายการบนเวทีด้วย

          “จะเป็นใครก็ตามก็รักกันได้ เรามักจะอยู่กับใครที่ต่างจากเราไม่ได้ เรามักจะแปลกแยกทางเรื่องความคิด เรามักจะดูแคลนคนที่อ่อนด้อยกว่าเรา เรามักจะดูแคลนคนอื่นโดยเอารสนิยมของเราเป็นตัวตัดสิน ในเรื่องก็รักกันได้นะ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม เป็นความรักที่ไม่มีประมาณ เป็นความรักที่ไม่ต้องการเป็นเจ้าของ สอนให้รู้จักความรักในทุกระดับชั้นของสังคม” จากมุมมองเรื่องความแตกต่างนี้เอง เป็นแรงบันดาลใจให้ตุ๊บปองเขียนหนังสือนิทาน เรื่อง ก็...รักกันได้นะ โดยถ่ายทอดผ่านเรื่องราวของ ลูกสัตว์น้อยใหญ่ ได้แก่ หนูจี๊ด เหมี่ยวเมี้ยว ผึ้งน้อย กระรอก ช้าง ม้า วัว ยีราฟ หมูตุ้ย และหมาน้อย ที่ต่างนำอาหาร ขนม และผลไม้ เดินทางไปเยี่ยมสัตว์ชราที่อยู่กลางป่า ลูกสัตว์ตัวน้อยช่วยดูแล ป้อนอาหาร บีบนวด ร้องเพลง เต้นรำ ล้อมวงฟังนิทานกับคุณตาคุณยายอย่างสนุกสนาน แม้ทุกตัวจะแตกต่างกัน แต่ก็ยังดูแลเอาใจใส่ด้วยความรักและเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน

          นอกจากนี้ ตุ๊บปอง ยังกล่าวอีกว่า “สิ่งหนึ่งที่เราเห็นมาตลอดในเด็กไทย คือ เด็กไม่เคารพในความแตกต่าง ไม่รู้จักการจัดจังหวะในการอยู่ร่วมกันกับคนที่ต่างจากตัวเอง เรื่องแรกที่เขียน คือเรื่อง เม่นน้อย น้อยใจ คือเม่นไม่สามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ คนอื่นกลัวเม่นจะไปแทง แต่สุดท้ายพอแม่อธิบายให้เข้าใจแล้ว เขาก็อยู่ร่วมกันได้ และสิ่งหนึ่งก็คือเรื่องความต่างทางอายุของคนในสังคม เด็กหลายคนจัดตัวเองไม่ถูก มีสิ่งหนึ่งที่เด็กสมัยนี้เข้าผู้ใหญ่ไม่เป็น ไม่รู้จักวิธีการอยู่กับผู้ใหญ่ ไม่รู้จักวิธีปฏิบัติต่อผู้ใหญ่ ที่สำคัญเห็นผู้ใหญ่เป็นความแตกต่าง ไม่สามารถปฏิบัติตัวกลมกลืนให้เข้ากับผู้ใหญ่ได้ ในสังคมมีระดับชั้นของอายุที่ต่างกันอยู่ เขาก็จะรักกันในระดับเด็ก และเมื่อรักกันแล้วต้องพากันทำดี คือทำดีกับคนอีกอายุหนึ่งที่ต้องการความรักความเอาใจใส่เหมือนกัน เพราะคนไทยเราไม่ค่อยเข้าใจเรื่องความแตกต่าง คนสูงคนเตี้ย คนขาวกับคนดำ มักจะมีช่องว่างที่ต่างกันเสมอ เรื่องนี้ทำให้รู้ว่าถึงแม้จะไม่เหมือนกัน แต่เราก็รักกันได้”

          ทางด้านป้ากุล รศ.กุลวรา ชูพงศ์ไพโรจน์ นักเล่านิทานที่เปี่ยมด้วยจิตวิญญาณของความเป็นครู ที่รักและหวงแหนเอกลักษณ์ของภาษาไทย กล่าวถึงนิทานเรื่องน้องซิ้นไว้ว่า “ด้วยความที่ป้าเป็นครูภาษาไทย สำหรับเด็กเล็กต้องสอนพยัญชนะบวกด้วยสระเสียงยาวก่อน ทีนี้การสะกดได้มันต้องมีมาตราตัวสะกด เลยเขียนเรื่องน้องซิ้น เขียนขึ้นมาให้เป็นคำคล้องจองแฝงทักษะทางภาษาที่เข้าใจง่าย เด็กๆ จะคุ้นเคยกับเสียงสระอา และตัวสะกดแม่เกย เหมาะกับนักเรียนในระดับเล็ก สามารถฝึกอ่านได้อย่างสนุกสนาน ซึ่ง น้องซิ้น เป็นเรื่องราวความรัก ความอบอุ่นในครอบครัวไทยเชื้อสายจีน ถ่ายทอดเรื่องเกี่ยวกับชีวิตประจำวันของเด็ก เช่น การเล่นก่อกองทราย ไปเที่ยวเล่นสวนสัตว์กับครอบครัวในวันหยุด เดี๋ยวนี้ป้าเป็นห่วงภาษาไทยของเด็ก เด็กสะกดผิดสะกดถูก อักขระไม่ชัดเจน การสอนเด็กต้องสอนด้วยมาตราตัวสะกดแม่ยาวก่อน แล้วค่อยไปเป็นสระเสียงสั้น เพราะฉะนั้นเราต้องเริ่มตั้งแต่เด็ก เด็กจะได้เรียนรู้สำนวนภาษาและคำที่ถูกต้อง” ด้วยเนื้อหาที่เรียบง่ายและเสน่ห์ของบรรยากาศทางภาคเหนือ เป็นความงามที่หล่อหลอมให้น้องซิ้น มีความลงตัวทั้งเนื้อหาและภาษา สอดคล้องกับชัยฤทธิ์ ศรีโรจน์ฤทธิ์ บรรณาธิการที่ดูแลหนังสือนิทานเรื่องนี้ที่กล่าวว่า

          “ตอนแรกก็สงสัยเหมือนกันว่าทำไมต้องชื่อน้องซิ้น แต่ตอนนี้เข้าใจแล้วว่าน้องซิ้นเป็นตัวแทนของความงดงามหลากหลายของชาติพันธุ์คนไทย ป้ากุลใส่ความเป็นจีนลงไปให้น้องซิ้นด้วย ไม่ว่าจะไปหาอากง อาม่า ไปตรุษจีน มีอั่งเปา ซึ่งเรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงการอยู่รวมกัน มีสวัสดี ยกมือไหว้ทักทาย นี่คือสิ่งที่ป้ากุลทำออกมา และวิถีของน้องซิ้นก็คือวิถีของเด็กคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตปกติประจำวัน อยู่กับครอบครัวใหญ่ อยู่กับคุณพ่อคุณแม่ อากงอาม่า ป้ากุลใส่ใจรายละเอียดของน้องซิ้นมาก น้องซิ้นบ้านอยู่เชียงราย คนวาดนิทานเรื่องน้องซิ้นเป็นคนเหนือ จะเห็นความงามเล็กๆ ที่มีบรรยากาศพื้นเมืองของทางเหนือซ่อนอยู่ ส่วนภาพประกอบของนิทานเรื่องก็รักกันได้นะ ก็เช่นเดียวกันครับ เราได้นักวาดคนใหม่ที่ทำงานคู่กับพี่ปอง วาดสวยมาก มีสีสันสดใส สามารถดึงเด็กได้ด้วยภาพ เมื่อผู้ใหญ่มาอ่านนิทานสองเล่มนี้ให้เด็กฟัง เชื่อมั่นมากว่าจะทำให้ทั้งผู้ฟังและผู้เล่าอิ่มทั้งคำ และอิ่มทั้งภาพ ครบรสแน่นอน”

          ซึ่งหนังสือในโครงการ 10 ปี หนังสือดีเพื่อเด็ก เป็นเพียงหนึ่งในหลายโครงการของมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก ซึ่งก่อนหน้านี้ทางมูลนิธิฯ ได้เป็นผู้นำในการผลักดันให้เกิดวันหนังสือเด็กแห่งชาติ ริเริ่มโครงการหนังสือเล่มแรก Bookstart ในประเทศไทย จัดกิจกรรมเล่านิทานให้เด็กๆ ฟังตามที่ต่างๆ รวมถึงจัดตั้งโครงการจัดหาหนังสือให้กับสามเณรในโรงเรียนพระปริยัติธรรม เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และอื่นๆ รายได้จากการจัดจำหน่าย มอบให้มูลนิธิฯ เพื่อนำเด็กสู่หนังสือ และนำหนังสือสู่เด็กต่อไป