MSN on July 23, 2013, 09:16:47 PM
สื่ออ่านเพื่อเด็ก LD สร้างสังคมดีได้อย่างไร?









เป็นที่ทราบกันดีว่าเด็ก LD คือ เด็กที่มีความบกพร่องในการเรียนรู้ ซึ่งมีอยู่ 3 ด้าน ได้แก่ ความบกพร่องด้านการอ่าน การเขียนสะกดคำ และความบกพร่องทางด้านคณิตศาสตร์ ซึ่งที่พบบ่อย คือด้านการอ่าน พบว่าเด็กมีความยากลำบากในการอ่าน อ่านช้า และไม่ค่อยชอบอ่านหนังสือ หนังสือทั่วไปจึงไม่อาจตอบสนองการเรียนรู้ที่ดีได้ แล้วสื่อเพื่อเด็ก LD ควรจะเป็นอย่างไร และจะสามารถสร้างสังคมให้ดีได้อย่างไร

วันนี้ (18 กรกฎาคม 2556) แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. และองค์กรเครือข่าย ร่วมกันจัดงานแถลงข่าว โครงการ “สื่ออ่านสร้างสุขเพื่อเด็ก LD” ประจำปี 2556 โครงการประกวดสื่อการอ่านสร้างสุขสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ (Learning Disabilities: LD) ขึ้น ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 2 อาคาร ดร.ศิโรจน์ ผลพันธิน ศูนย์พัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต

LD (Learning Disabilities) เป็นความบกพร่องของกระบวนการเรียนรู้ที่แสดงออกมาทางด้านปัญหาการอ่าน การเขียนสะกดคำ การคำนวณ และเหตุผลเชิงคณิตศาสตร์ ความบกพร่องส่วนใหญ่ที่พบในเด็ก มักเป็นเรื่องของการอ่าน เด็กมักมีความยากลำบากในการอ่าน อ่านช้า ไม่ชอบอ่านหนังสือ อีกทั้งยังมักเขียนสะกดคำง่ายๆ ผิดบ่อยๆ อาจสับสนตัวเลข หรือตัวอักษรที่คล้ายกัน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องจัดแนวทางการเรียนการสอน โดยสร้างสื่อการสอนที่เหมาะต่อการเรียนรู้ เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสพัฒนาตามศักยภาพของตนเอง ดังนั้น การจัดโครงการ “สื่ออ่านสร้างสุขเพื่อเด็ก LD” ครั้งที่ 2 นี้ จึงมุ่งหวังที่จะช่วยกระตุ้น และสร้างเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์สื่ออ่านที่ส่งเสริมพัฒนาการตามวัย

ภายในงานแถลงข่าว มีการปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “สถานการณ์และทิศทางสื่ออ่านสำหรับเด็ก LD ในบ้านเรา” โดยได้รับเกียรติจาก พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงาน พร้อมกับมีการเสวนาในหัวข้อ “สื่ออ่านเพื่อเด็ก LD สร้างสังคมดีได้อย่างไร?” โดย พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กล่าวถึงการสร้างสรรค์สื่ออ่านสำหรับเด็ก LD ว่า “สำหรับการสร้างสรรค์หนังสือสำหรับเด็ก LD ต้องมีความเข้าใจธรรมชาติของเด็ก และมีความเข้าใจภาวะของเด็ก LD ซึ่งการสร้างสรรค์หนังสือสำหรับเด็ก LD มีส่วนอย่างยิ่งในการช่วยพัฒนาเด็ก ซึ่งผู้ที่สร้างสรรค์หนังสือต้องคำนึงถึงเนื้อหาสาระที่ควรให้เด็กเข้าถึงง่าย มีรูปลักษณ์ของตัวหนังสือ ที่มีความดึงดูด น่าสนใจ เช่น มีภาพนูนสูง มีช่องให้วาดรูป ระบายสี และมีการลากเส้นประ เป็นต้น รวมทั้งมีบรรยากาศของการเรียนรู้ที่เหมาะสม จึงจะมีส่วนอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเด็ก LD ได้”
 
นอกจากนี้ มีตัวแทนคุณแม่ที่มีประสบการณ์ดูแลลูกที่เป็นเด็ก LD คุณณัฐวรรณ กิติเวช ที่มาบอกเล่าว่า “ลูกมีปัญหาเรื่องการอ่าน มีแสงสะท้อนคาดบนตัวหนังสือ ทำให้ปวดหัว อ่านได้ลำบาก กะระยะช่องไฟไม่ได้ ทำให้เขียนได้ช้า แยกพยัญชนะบางตัวไม่ออก ความจำระยะสั้นไม่ค่อยดี ทำงานได้หน้าลืมหลัง แต่ลูกก็มีพรสวรรค์ด้านศิลปะ ดนตรี งานประดิษฐ์  จึงให้ลูกได้ทำงานที่ชอบ สร้างความภาคภูมิใจ ต่อยอดเป็นงานจิตอาสารู้จักให้คนอื่น ให้ลูกอ่านหนังสือที่สนใจ ตอนเล็กจะอ่านให้ลูกฟัง เล่นเกมถามตอบตัวละครในหนังสือ ได้มีจินตนาการ มีสมาธิในการฟัง รู้จักการวิเคราะห์เรื่องราว ช่วงที่ฝึกลูกอ่านจะสลับกันอ่าน เล่นเกม วาดรูป หนังสือที่ลูกชอบ คือ หนังสือของครุสภา เป็นธรรมชาติความรู้รอบตัว เนื้อหาสั้นกระชับ ทำให้มีกำลังใจที่จะอ่านได้จบ ถ้ามีลูกเป็นเด็ก LD แม้ว่ามีปัญหาการอ่าน แต่เด็กล้วนมีข้อเด่น มีพรสวรรค์ที่น่าสนใจ ขอแค่มีความเข้าใจ มีคำพูดที่สร้างสรรค์ให้กำลังใจ โอกาสเด็กได้ใช้ความพยายามในการเรียนรู้ อาจเป็นวิธีที่แตกต่างจากคนอื่น แต่ในสุดท้ายเด็กก็สามารถสร้างผลงานที่น่าอัศจรรย์ได้”

สำหรับ คุณสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านกล่าวว่า “การช่วยเหลือเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อที่ว่า เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาได้  หากพ่อแม่ ตลอดจนครูผู้สอนมีความรู้ ความเข้าใจ จะทำให้สามารถช่วยเหลือนักเรียนได้ และยิ่งได้ผลเร็วขึ้นโดยเฉพาะเด็กที่ได้รับโอกาสในการเรียนรู้ที่เหมาะสม และมีสื่อที่ช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ การพัฒนาที่เข้าถึงได้ จึงเป็นที่มาที่ไปของการจัดประกวดในครั้งนี้ ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมช่วยเหลือเด็กที่มีความบกพร่องทางด้านการเรียนเรียนรู้ให้อยู่ในสังคมได้อย่างเป็นสุข”

   แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านและองค์กรเครือข่าย ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี , สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ , ศูนย์วิจัยการศึกษาเพื่อเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา  , กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ,  สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร และ นิตยสาร Mother&Care ร่วมกันจัดโครงการประกวด “สื่ออ่านสร้างสุขเพื่อเด็ก LD”  เพื่อกระตุ้นและสร้างเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์หนังสือที่ส่งเสริมพัฒนาการตามวัย และคุณลักษณะอันพึงประสงค์สำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ โดยมุ่งเน้นให้เด็กได้ใช้การอ่านไปสู่การสร้างสุขในชีวิต และนำศักยภาพที่สำคัญของการอ่านสร้างความสุขเพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ในโรงเรียนต่อไป

โครงการสื่ออ่านสร้างสุขเพื่อเด็ก LD เชิญชวน คุณครู พ่อแม่ และผู้ที่สนใจ ร่วมส่งสื่อประเภทหนังสือ เข้าร่วมประกวด โดยเปิดรับผลงานตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค. - 30 ก.ย. 56 ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.happyreading.in.th , www.motherandcare.in.th หรือโทร. 02-241-8000 ต่อ 327
« Last Edit: July 23, 2013, 09:36:43 PM by MSN »