กสอ. โชว์ผลสำเร็จ “ไทยแลนด์ฟู้ดวัลเล่ย์” อวด 9 นวัตกรรมอาหาร เตรียมสู้ศึก AEC
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกระทรวงอุตสาหกรรมโชว์ความสำเร็จ “โครงการThailand Food Valley” เปิดตัวไฮไลท์9นวัตกรรมอาหารผลผลิตการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารผ่านการเชื่อมโยงภาคการผลิตและการวิจัยจากความร่วมมือระหว่าง กสอ. และสถาบันวิชาการชั้นนำของประเทศอาทิ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฯลฯโดยปัจจุบันได้ดำเนินงานเป็นปีที่2มีผู้ประกอบการในเครือข่ายทั่วประเทศและสามารถพัฒนาผลงานนวัตกรรมทางอาหารรวมกว่า 160 ผลงานทั้งนี้ กสอ.วางพื้นที่เป้าหมาย3แห่งได้แก่ ภาคเหนือเป็นศูนย์กลางในเรื่องผักและผลไม้แปรรูป ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นศูนย์กลางผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ และภาคใต้เป็นศูนย์กลางด้านผลิตภัณฑ์ประมง โดยปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้นำอุตสาหกรรมอาหารในอาเซียนมีมูลค่าการส่งออกกว่า981,000 ล้านบาท และมีอัตราการขยายตัว 1.5%โดยในอนาคตเมื่อก้าวสู่ประชมเศรษฐกิจอาเซียนคาดว่าจะมีสัดส่วนการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการส่งออกในอาเซียนโดยตลาดหลักอยู่ที่ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม อย่างไรก็ตามประเทศไทยจะสามารถเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมอาหารได้ต้องมีแนวทางการพัฒนาอาหารอย่างเหมาะสมและครบวงจรรวมทั้งการยกระดับมาตรฐานและประสิทธิภาพการผลิตพร้อมเชื่อมโยงศักยภาพภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการเข้าด้วยกันเพื่อพัฒนาประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอาหารในภูมิภาคอาเซียนและสามารถผงาดเป็น เบอร์ 1 ของโลกด้านอุตสาหกรรมอาหารได้ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็น“ครัวของโลก” หรือ Kitchen of the world
นายโสภณ ผลประสิทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกล่าวว่าจากสถานการณ์การส่งออกอุตสาหกรรมอาหารไทยในช่วง5ปีที่ผ่านมามีมูลค่าการส่งออกและการขยายตัวอย่างต่อเนื่องกว่าร้อยละ 20 ต่อปี และถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เป็นรายได้หลักของประเทศไทยโดยประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกสูงที่สุดในอาเซียนแต่อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังประสบปัญหาในด้านการรักษามาตรฐานการผลิต และประสิทธิภาพการผลิต อีกทั้งต้นทุนการผลิตยังสูงรวมถึงความทันสมัยของเทคโนโลยี ฯลฯ ซึ่งในอนาคตถ้าประเทศไทยตั้งเป้าให้ตนเองเป็น“ครัวของโลก”หรือ Kitchen of the world รวมถึงเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอาหารในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนภาคอุตสาหกรรมอาหารของไทย จำเป็นต้องเร่งพัฒนาอย่างก้าวกระโดดเพื่อที่จะสามารถผลิตอาหารที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลกได้โดยอาศัยภาควิชาการมาสนับสนุนองค์ความรู้และการทำงานที่เชื่อมโยงกันทั้งในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตลอดจนการพัฒนาสินค้าให้ตรงความต้องการของตลาด ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นแนวคิดที่ได้รับการนำมาใช้อย่างแพร่หลายในประเทศเนเธอแลนด์ อันเป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ “โครงการ Food Valley” ซึ่งเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงจนทำให้ ประเทศเนเธอแลนด์ กลายเป็นประเทศผู้นำด้านการผลิตอาหารแปรรูปจึงเป็นแรงผลักดันให้เกิด“โครงการThailand Food Valley” โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมและได้นำร่องดำเนินงานในประเทศไทยมาตั้งแต่ปลายปี 2555
นายโสภณ กล่าวต่อว่าในขั้นต้น กสอ. นำร่องวาง 3 พื้นที่เป้าหมายของการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอาหาร ได้แก่ ภาคเหนือให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางในเรื่องผักและผลไม้แปรรูป ภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้จังหวัดนครราชสีมาเป็นศูนย์กลางผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ และภาคใต้ให้จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นศูนย์กลางด้านผลิตภัณฑ์ประมง สับปะรดและมะพร้าว นอกจากนี้ ยังได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการสร้างความร่วมมือและสร้างเครือข่าย อาทิ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตลอดจนสถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัย ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องของการค้นคว้าวิจัยในด้านวิทยาศาสตร์อาหารซึ่งในขณะนี้ได้สร้างความร่วมมือกับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ฯลฯในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารใหม่ ๆ พร้อมกันนี้จะยังคงเดินหน้าประสานความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาอีกหลายแห่งให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศไทย
การดำเนินงานของ “โครงการ Thailand Food Valley” ในปี 2556มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการที่สามารถนำผลงานวิจัยไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้กว่า120 รายโดยในปี 2557 ตั้งเป้าจะสามารถเพิ่มจำนวนเครือข่ายผู้ประกอบการอีก 230 ราย โดยมุ่งเน้นไปที่การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าว เนื้อสัตว์ผักและผลไม้ อย่างไรก็ตามสำหรับสถานการณ์อุตสาหกรรมอาหารของไทยในปัจจุบันนั้น ประเทศไทยเป็นผู้นำอุตสาหกรรมอาหารในอาเซียน โดยในปี 2556 มีมูลค่าการส่งออกอุตสาหกรรมอาหารกว่า981,000 ล้านบาทและมีอัตราการขยายตัว 1.5%(ข้อมูลจากสถาบันอาหาร)ซึ่งประเทศส่งออกหลักอยู่ที่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนามตามลำดับสำหรับการเชื่อมโยงนำงานวิจัยไปพัฒนาเพื่อสร้างความแปลกใหม่ของตัวผลิตภัณฑ์อาหารทั้งคุณภาพ รสชาติ นั้นยังได้รวมถึงการพัฒนาที่สอดคล้องกับมาตรฐานระดับสากล อาทิ GMPHACCP และ Halal นายโสภณกล่าวสรุป
นางวันเพ็ญ รัตนกังวาน ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวถึงรายละเอียดตัวอย่าง 9 ไฮไลท์ผลิตภัณฑ์ ที่สร้างมูลค่าเพิ่มจากผลผลิตทางการเกษตรสามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์ของโครงการได้แก่
1. ทุเรียนผงพร้อมดื่ม ที่คงคุณค่าและกลิ่นอย่างครบถ้วน เจาะตลาดมาเลย์ และจีน เอาใจขาหมอนทอง
2. เยลลี่วัยทอง ที่ช่วยปรับสมดุลฮอร์โมน และอุดมไปด้วยคุณค่าที่เหมาะสมกับผู้ที่เข้าสู่วัยทองโดยประมาณ10% ของประชากรในอาเซียน ก้าวเข้าสู่วัยทอง
3. ข้าวลดความอ้วนตอบโจทย์ขาขึ้นของผลิตภัณฑ์สุขภาพในอาเซียน ที่เทรนอาหารเฮลท์ตี้กำลังมาแรง
4. ผักอัดเม็ด การแปรรูปผักแนวใหม่ตอบโจทย์การขยายตัวภาคเกษตรกรรมของไทย กับแนวคิดใหม่ที่สามารถส่ง ขายไกลกว่าที่เคย
5. ไวน์ผงผลิตภัณฑ์ไวน์แปรรูปแนวใหม่ที่สามารถสอดรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมอาหารตอบโจทย์ครัว ไทยสู่ครัวโลก
6. ซุปฟักทอง Instant พร้อมดื่มทันที ครั้งแรกกับการแปลงโฉมซุปฟักทองสุดหอมกรุ่นให้สามารถเก็บได้เป็นปีๆ แต่ ยังคงรักษาคุณค่าทางอาหารได้อย่างสมบูรณ์แบบ
7. พายข้าวหอมมะลิ เบเกอร์รี่ยอดฮิตที่ผสมผสานระหว่างความเป็นไทยและสากลอย่างลงตัว
8. บะหมี่สายรุ้ง ฉีกความจำเจเดิม ๆ ด้วยการเพิ่มสีสันจากผักและผลไม้ลงไปในเส้นบะหมี่ พร้อมคุณค่าทางอาหาร ที่มากขึ้น
9. ซอสฟักข้าว ซอสรูปแบบใหม่เพื่อสุขภาพ อุดมไปด้วยเบต้าแคโรทีนและไลโคปีนจากผลฟักข้าว คุณค่าที่มาพร้อมกับรสชาติที่ถูกใจ
ด้านมร. โรเจอร์ แวน ฮอสเซล ผู้อำนวยการโครงการ Food Valley ประเทศเนเธอร์แลนด์กล่าวว่าโครงการ Food Valleyเกิดจากการมองเห็นศักยภาพที่แข็งแกร่งของประเทศด้านการเกษตรและชีวเทคโนโลยีที่มีแรงงานในภาคอุตสาหกรรมอาหารกว่า 137,000คน และความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการภาครัฐและสถาบันวิจัยต่างๆ ที่ร่วมมือกันพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารโดยมีเป้าหมายในการยกระดับอุตสาหกรรมในภาพรวมของประเทศดังนั้น การทำงานของโครงการ Food Valley จึงเน้นการประสานระหว่างหน่วยงานที่มีองค์ความรู้กับภาคธุรกิจ รวมถึงการสนับสนุนการสร้างเครือข่ายองค์ความรู้โดยเอื้ออำนวยให้ภาคธุรกิจทำงานร่วมกันในการศึกษาข้อมูลเฉพาะด้านเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ที่ต้องการในแขนงต่างๆโดยปัจจุบันในโครงการ Food Valley มีศูนย์วิจัยจำนวน 21 แห่ง มีบริษัทภาคเอกชนทั่วโลกตั้งโรงงานกว่า70 บริษัทมีโรงงานอุตสาหกรรมกว่า 235 โรงงานอาทิ บริษัทคิกโคแมน และบริษัท ไฮนซ์ ฯลฯ ซึ่งประเทศไทยสามารถดำเนินการในลักษณะดังกล่าว เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารได้เช่นกัน
สำหรับผู้ประกอบการ SMEs หรือประชาชนทั่วไป สามารถเข้ารับบริการของกสอ. ได้โดยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ โทรศัพท์ 0 2202 4537 , 4594หรือ
www.dip.go.th