เกี่ยวกับงานสร้าง
“อ่อนนุ่มและยืดหยุ่นจะสยบความแข็งและความแกร่ง”
--เหลาซู จาก Tao Te Ching
รากเหง้าของคำภาษาจีนว่า “ไทเก็ก” ซึ่งแปลอย่างหยาบๆ ได้ว่า “ความตรงกันข้ามสุดโต่ง” เป็นจุดที่ซึ่งพลังงานอยู่ตรงกึ่งกลางระหว่างการเคลื่อนไหวและความสงบนิ่ง สำหรับคนส่วนใหญ่ที่ฝึกฝนไทเก็ก การเข้าถึงสภาวะหยั่งรู้เช่นนี้มักจะเกียวข้องกับการเคลื่อนไหวแบบสมาธิที่เนิบนาบ ซึ่งให้ความสำคัญกับสมดุล ความอดทน และความนิ่งสงบ แต่กระทั่งผู้ที่ฝึกฝนไทเก็กอย่างจริงจังในซีกโลกตะวันตกก็อาจต้องแปลกใจที่ได้รู้ว่า ไทเก็กมีประวัติศาสตร์ยาวนานในฐานะศิลปะการต่อสู้ที่มีประสิทธิภาพในการแข่งขันเชิงพลกำลัง ดังที่ตำนานเกี่ยวกับนักสู้ นักรบและผู้เข้าแข่งขันได้ใช้หลักการและทักษะของไทเก็กได้เป็นเครื่องพิสูจน์ แม้ว่าหลายคนจะมองว่ามันเป็นศิลปะการต่อสู้ที่ “นุ่มนวล” ซึ่งหลักๆ จะใช้ความคิดและใช้ปกป้องตัวเอง มันก็มีด้าน “แข็ง” ของไทเก็กที่อาจทำให้นักสู้สามารถจู่โจมด้วยความแม่นยำและรวดเร็ว ตอบโต้ความก้าวร้าวของคู่ต่อสู้ด้วยการโจมตีที่เด็ดขาดเพียงครั้งเดียว แต่การต่อสู้ด้วย “ความแข็ง” นั้นเป็นสิ่งที่อาจารย์ไทเก็กบอกศิษย์ทุกคนให้หลีกเลี่ยง เพราะมันอาจนำมาซึ่งการบาดเจ็บทั้งสองฝ่าย ความขัดแย้งระหว่างอ่อนและแข็ง ระหว่างแสงสว่างและความมืดในจิตวิญญาณมนุษย์ เป็นฉากหลังสำหรับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในดรามาศิลปะการต่อสู้เรื่อง MAN OF TAI CHI ภาพยนตร์เรื่องแรกจากผู้กำกับคีอานู รีฟส์ ผู้อุทิศตนให้กับศิลปะการต่อสู้มาโดยตลอด “เฉินหลินฮูเป็นคนทั่วๆ ไปที่มีทักษะและความรู้ที่พิเศษสุดครับ” รีฟส์ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับพระเอกของเรื่อง “เขาเป็นศิษย์คนสุดท้ายของหลิงกงไทเก็ก...แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็ใช้ชีวิตอยู่ในปักกิ่ง และทำงานเป็นพนักงานส่งของ เขาก็เลยเหมือนใช้ชีวิตสองด้าน เขายึดธรรมเนียมดั้งเดิมด้วยศิลปะการต่อสู้แต่เขากลับดำรงชีวิตอย่างสมัยใหม่ ตอนนี้ อาจารย์ของเขาบอกให้เขาเริ่มนึกถึงพลังของตัวเองรวมถึงตัวตของเขา และไทเกอร์ก็อยากจะแสดงออก อยากจะได้รับการยกย่องจากโลกภายนอก แม้ว่าอาจารย์ของเขาจะคิดว่าการใช้ไทเก็กในการต่อสู้ต่อหน้าสาธารณชนไม่สามารถพิสูจน์สิ่งใดได้ ดังนั้น เรื่องราวนี้ก็เลยเป็นเรื่องของการเดินทางผ่านแสงสว่างและความมืดของเขาครับ” ต้นกำเนิดของเรื่องราวนี้เริ่มต้นตั้งแต่เกือบสิบห้าปีที่แล้ว เมื่อนักสู้ศิลปะการต่อสู้ ไทเกอร์ เฉินฮู ได้พบกับคีอานู รีฟส์ ระหว่างทำงานเป็นส่วนหนึ่งของทีมสตันท์สำหรับ The Matrix มิตรภาพของพวกเขาได้เบ่งบานขึ้นในช่วงระหว่างการถ่ายทำภาพยนตร์ทั้งสามภาค โดยที่ท้ายที่สุดแล้วไทเกอร์ก็ได้รับบทสตันท์ที่โดดเด่นยิ่งขึ้น ซึ่งก็ทำให้รีฟส์ประทับใจด้วยคติในการทำงานและจินตนาการของเขา “ผมต้องฝึกกังฟูกับไทเกอร์ และเขาก็จะเล่าเรื่องให้ผมฟังเกี่ยวกับอาจารย์ไทเก็กของเขาและวิธีการฝึกฝนที่พิสดารของเขา” รีฟส์เล่า “มันนำไปสู่การพูดคุยกันที่ลึกซึ้งมากขึ้นเกี่ยวกับลัทธิเต๋า ศิลปะการต่อสู้ ทุกอย่างเลยครับ” จากบทสนทนาเบื้องต้นนี้เองที่ท้ายที่สุดทำให้ทั้งคู่ตัดสินใจร่วมมือกันรังสรรค์บทที่ไม่เพียงแต่จะใช้ไทเก็กเป็นเครื่องมือหรือเป็นเหตุผลเพื่อสร้างซีเควนซ์แอ็กชันและซีเควนซ์ต่อสู้ไฮอ็อคเทน แต่ยังสะท้อนถึงค่านิยมเชิงปรัชญาของศิลปะการต่อสู้ภายในเรื่องราวอีกด้วย “ความขัดแย้งระหว่างธรรมเนียมดั้งเดิมและความร่วมสมัยเป็นไอเดียที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในบท” มือเขียนบทไมเคิล จี. คูนีย์กล่าว “ไทเกอร์ต้องรับมือกับค่านิยมและศีลธรรมดั้งเดิมในสังคมที่ไม่มีที่ทางสำหรับสิ่งเหล่านี้อีกต่อไปแล้ว ถ้าคุณอยากจะประสบความสำเร็จในโลกสมัยใหม่ ซึ่งโดยมากเต็มไปด้วยความโหดเหี้ยม และถ้าคุณเกิดและเติบโตพร้อมกับค่านิยมดั้งเดิมของการเคารพผู้อิ่นและการค้นหาสมดุลในชีวิต คุณก็อาจจะถูกทิ้งไว้ข้างหลังได้ นั่นคือจุดเริ่มต้นของไทเกอร์ของเรา ไม่ว่าเขาจะดิ้นรนแค่ไหน เขาก็ยังดูเหมือนจะถูกทิ้งไว้ข้างหลังครับ” นอกเหนือจากการถ่ายทอดแง่มุมที่เป็นสากลกว่าของเรื่องราวนี้ คูนีย์ยังต้องรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในการเขียนบทภาพยนตร์ที่ตัวละครพูดสามภาษา โดยที่ประมาณหนึ่งส่วนสี่ของเรื่องเป็นภาษาอังกฤษ และส่วนที่เหลือเป็นภาษาจีนกลางหรือจีนกวางตุ้ง แม้ว่าคูนีย์จะไม่ได้พูดภาษาจีนทั้งสอง เขาก็ตอบรับความท้าทายนี้ “ผมเดินทางบ่อยและผมก็เคยสัมผัสกับวัฒนธรรมที่หลากหลายมาแล้ว ผมชอบรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ธรรมดาสามัญในกิจกรรมประจำวัน รวมถึงอากัปกิริยาและพฤติกรรมของคน ผมชื่นชอบการสำรวจเรื่องนั้นครับ” เขากล่าวอย่างตื่นเต้น “สิ่งต่างๆ เหล่านั้นเป็นสิ่งที่เราพยายามจะถ่ายทอด ซึ่งเราก็คุยกับไทเกอร์บ่อยครั้ง 'คุณ‘ะพูดยังไง แม่คุณจะพูดยังไง’ อะไรทำนองนั้นน่ะครับ แล้วเราก็เริ่มร่วมงานกับมือเขียนบทชาวจีนประมาณเมื่อปีครึ่งที่ผ่านมา เพื่อทำการรีไรท์หลายครั้ง มันเป็นกระบวนการกลับไปกลับมาอย่างต่อเนื่อง ระหว่างภาษาจีน อังกฤษสำเนียงจีนและอังกฤษ สำหรับไดอะล็อค แต่เราอยากให้มันถูกต้องตามวัฒนธรรม เราอยากให้มันสมจริง และเราก็ไม่อยากจะทำให้หลายคนไม่พอใจหรือขุ่นเคืองใจด้วการใช้ภาษาของพวกเขาผิดๆ เหมือนอย่างหนังสงครามโลกครั้งทีสอง ที่นาซีทุกคนพูดภาษาอังกฤษด้วยสำเนียงเยอรมัน เพราะเหตุผลบางอย่าง เราอยากให้โดยหลักๆ แล้วมันเป็นหนังภาษาจีน แต่เราก็มั่นใจว่าทุกคนสามารถเข้าถึงเรื่องราวนี้ได้” ไทเกอร์ เฉินฮูเชื่อว่าความลำบากใจของไทเกอร์เป็นสิ่งที่ผู้ชมส่วนใหญ่จะสามารถเข้าถึงได้ แม้ว่าพวกเขาจะไม่มีประสบการณ์กับศิลปะการต่อสู้หรือปรัชญาสำคัญของไทเก็กก็ตาม “มันง่ายมากที่จะติดกับดักของเงินตราและอำนาจ” เฉินฮูกล่าว “คนหนุ่มสาวชื่นชอบเงิน สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า แต่ทั้งหมดนั้นก็มีอยู่อย่างเหลือเฟือในโลก คุณไม่สามารถพูดได้ว่า ฉันถูกห้ามไม่ให้รู้ ถ้างั้นฉันก็จะอยู่ในวัดที่บริสุทธิ์ของฉันต่อไป ถ้าคุณอยากนับถือเต๋าเต็มตัว คุณก็ต้องสัมผัสถึงเรื่องนั้น คุณจะต้องผ่านการเดินทางนั้น ไปให้ทะลุปรุโปร่ง ไม่อย่างนั้น คุณก็ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่สมบูรณ์หรอกครับ” นอกเหนือจากการยืมชื่อเล่นของเขาเองเป็นชื่อของตัวละครและร่วมมือกับรีฟส์และคูนีย์ในการเขียนบท เฉินฮูยังยินดีที่ได้ใช้มุมมองและประสบการณ์ของตัวเองในการขัดเกลาเรื่องราวนี้ “ผมคิดว่าแปดสิบเปอร์เซ็นต์ของไทเกอร์เป็นตัวผม ประสบการณ์ผมและบุคลิกของผม” เขากล่าวในวันนี้ “คีอานูกล่าวว่าเราไม่ต้องสร้างคนอีกคน เราก็แค่ใส่คุณเข้าไปในเรื่องราวเท่านั้น มันก็เลยเป็นเรื่องง่ายสำหรับเขาที่จะถามคำถามผมเช่นว่า ‘คุณจะรู้สึกยังไงในสถานการณ์นี้’ และผมก็สามารถตอบได้” บทสนทนาเหล่านี้มักเกิดขึ้นข้ามมหาสมุทรและทวีปผ่านทางวิดีโอ แชท นำไปสู่ช่วงเวลาแปลกประหลาดให้ไทเกอร์ได้ครุ่นคิดถึงชะตากรรมของตัวละครของเขา “มันเป็นตอนกลางดึกที่ผมจะเริ่มโทรศัพท์ คีอานูและไมเคิลจะคุยถึงเรื่องราว พวกเขาจะถามผมผ่านทางคอมพิวเตอร์ว่า ‘คุณจะรู้สึกยังไง’ แล้วพอผมตอบ พวกเขาก็จะกลับไปคุยกันต่อ แล้วผมก็ผลอยหลับไประหว่างโทรศัพท์ แล้วครึ่งชั่วโมงให้หลัง พวกเขาก็ตะโกนว่า ‘ไทเกอร์!’ แล้วถามอีกคำถามหนึ่งกับผม” เช่นเดียวกับตัวละครของเขาเรื่อง เฉินฮูได้ฝึกฝนไทเก็กตั้งแต่เด็กๆ ก่อนที่เขาจะไปฝึกฝนศิลปะการต่อสู้แขนงอื่นๆ เพื่อพัฒนาตัวเองในฐานะนักแสดงสตันท์และนักแสดงภาพยนตร์อาชีพ “สองปีก่อนหน้าที่เราจะเริ่มถ่ายทำ ผมได้ไปหาอาจารย์ไทเก็กอีกคนเพื่อฝึกฝนสำหรับบทไทเกอร์โดยเฉพาะ” เขาเล่า “ไทเก็กเป็นศิลปะการต่อสู้ที่มีเอกลักษณ์และมีหลักปรัชญาที่แตกต่างกันออกไป นั่นคือคุณมักจะพยายามจะใช้พลังของคู่ต่อสู้ของคุณเสมอ คุณต้องรอให้คู่ต่อสู้ต่อย เตะ หรือโจมตีคุณยังไงก็ได้ เพื่อที่คุณจะได้ส่งพลังนั้นกลับไป คุณไม่เคยโจมตีก่อนเลยล่ะครับ” เนื่องด้วยความซับซ้อนของไทเก็กในฐานะศิลปะการต่อสู้ เฉินฮู, รีฟส์และหยวนวูปิง ปรมาจารย์ผู้ประสานงานคิวบู๊ (อดีตผู้ร่วมงานใน Matrix ผู้ออกแบบท่าต่อสู้ในตำนานและผู้กำกับภาพยนตร์) ต้องถามคำถามที่ไม่ธรรมดากับตัวเองในตอนที่ต้องสร้างซีเควนซ์ต่อสู้สำหรับ MAN OF TAI CHI “ผมคิดว่ามันเป็นครั้งแรกที่คุณมีศิลปะการต่อสู้ผสมมาปะทะไทเก็ก” เฉินฮูกล่าว “และแน่นอนว่าเราต้องทำให้การต่อสู้ทุกครั้งแตกต่างกัน ดังนั้น มันก็จะต้องไม่ใช่ท่าเดิมซ้ำๆ กัน ที่สุดแล้ว คุณก็ต้องบอกเล่าเรื่องราวด้วย และคุณก็ต้องร่วมเดินทางไปกับไทเกอร์ครับ” มันทำให้รีฟส์ถามคำถามที่ไม่คุ้นหูสำหรับนักสู้ส่วนใหญ่ที่เคยชินกับการต่อสู้สตันท์ขั้นพื้นฐานกับเฉินฮู “คีอานูจะถามผมว่า ‘ทำไมคุณต้องเตะด้วย’ มันเป็นคำถามที่ตอบยาก...ทำไมคุณต้องปล่อยหมัดหรือเตะตอนนี้ จังหวะนี้ล่ะ” “ฉากต่อสู้จะต้องถ่ายทอดการเดินทางนั้นออกมาครับ” รีฟส์กล่าวเสริม “ว่าไทเกอร์รู้สึกยังไงในตอนนั้น และมันก็จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งที่คุณกำลังคิดในหัว คุณกำลังสู้กับสไตล์ศิลปะการต่อสู้แบบไน คุณรู้สึกยังไงระหว่างการต่อสู้ และการต่อสู้ครั้งนี้ส่งผลให้คุณเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ทุกฉากจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาของตัวละครที่เข้าฉากการต่อสู้พวกนั้นครับ” ท้ายที่สุดแล้ว รีฟส์ก็ประทับใจอย่างมากกับความสามารถของเฉินฮูในการถ่ายทอดบทไทเกอร์ ไม่เฉพาะแต่เพียงในเรื่องของศิลปะการต่อสู้เท่านั้น แต่ในเรื่องของความเปราะบางทางอารมณ์อีกด้วย “ไทเกอร์เป็นนักแสดงที่มีพรสวรรค์มากๆ” รีฟส์กล่าวชื่นชม พลางตั้งข้อสังเกตว่าแม้กระทั่งตอนที่เขาทำหน้าที่สตันท์แมนในไตรภาค The Matrix เขาก็สามารถเข้าใจทันทีถึงความจำเป็นในการสวมบทตัวละคร ไม่ใช่เพียงแต่การออกท่าทางเท่านั้น “ผมได้เห็นเขาทำงานบางอย่างกับลอว์เรนซ์ ฟิชเบิร์น และผมก็บอกได้ว่าเขารู้ว่าการถ่ายทำฉากหนึ่งๆ การอยู่ในกองถ่ายจะต้องใช้อะไรบ้าง ดังนั้น การแสดงก็เลยไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับเขา และในแง่ของการสร้างตัวละครแล้ว เขาทั้งเปิดกว้างและทุ่มเท และเขาก็เข้าใจบทนี้อย่างถ่องแท้ครับ” รีฟส์กล่าวอ้างถึงซีเควนซ์ต่อสู้หนึ่งที่การแสดงระหว่างการถ่ายทำของเฉินฮูบีบให้รีฟส์ต้องพิจารณาวิธีการถ่ายทำฉากนั้นใหม่ “วิธีที่เขามองคู่ต่อสู้ทำให้ผมต้องเปลี่ยนแปลงวิธีที่เราถ่ายทำฉากต่อสู้...มันเกิดจากความเข้าใจในตัวละครและสถานการณ์ของไทเกอร์และการมีชีวิตในฐานะนักแสดงของเขาครับ ผมตั้งตารอดูว่าเขาจะทำอะไรต่อไปในอาชีพนักแสดงของเขาในอนาคตครับ” สำหรับรีฟส์ มันไม่ใช่เรื่องของการนำทางเฉินฮู สตันท์แมนผู้ไม่เคยชินกับภาระหนักหน่วงของนักแสดงนำ ผู้ต้องแบกรักน้ำหนักด้านอารมณ์ของเรื่องเท่านั้น เขายังต้องดูแลทีมงานนานาชาติ ซึ่งส่วนใหญ่พูดภาษาที่ไม่คุ้นเคย รวมถึงนำน้ำหนักและความหมายมาสู่บทโดนากะ มาร์ค ตัวร้ายผู้ลึกลับของเรื่องด้วย “ความรู้สึกอย่างหนึ่งของผมเกี่ยกับการแสดงและการกำกับพร้อมๆ กันคือในฐานะผู้กำกับ คุณต้องมองออกไปภายนอก คุณมีไอเดียหรือความรู้สึกบางอย่างภายใน และคุณก็ต้องมองออกไปข้างนอกเพื่อร่วมมือกับคนอื่น ในฐานะนักแสดง คุณจะมีมุมมองจากภายนอก แต่คุณมองบทของตัวเองจากมุมมองภายใน มันก็เลยเหมือนคุณมีดวงตาสองคู่ มันเป็นโลกใหม่สำหรับผม แต่มันก็เป็นโลกที่น่าสำรวจจริงๆ” ในฐานะนักแสดง รีฟส์ต้องนำด้านที่มืดมนกว่าของเขาออกมาเพื่อแสดงบทที่ซับซ้อนอย่างโดนากะ นักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จ และเขาก็ยอมทำทุกวิถีทางเพื่อรักษาสังเวียนการต่อสู้ใต้ดินของเขาเอาไว้ “สำหรับโดนากะ มันไม่ใช่แค่เรื่องของการต่อสู้เท่านั้น แต่มันยังเป็นอย่างอื่นด้วย” รีฟส์ตั้งข้อสังเกต “เขาเป็นตัวละครที่เหมือนกับปีศาจเมฟิสโตฟีเลีย ที่ชื่นชอบการได้เห็นคนพัฒนาขึ้นและเปลี่ยนแปลงไประหว่างการต่อสู้ เขาจะดึงคุณสู่ด้านมืดด้วยความหลงใหลนั้น ดังนั้น บทบาทนี้ก็เป็นอะไรที่สนุกมาก บ่อยครั้งที่ตัวเอกอยู่บนเส้นทางของการค้นพบอะไรบางอย่าง แต่ผู้ร้ายจะรู้ทุกอย่างที่เกิดขึ้น ซึ่งทำให้มันมีความรู้สึกน่ายินดีและอิสระบางอย่าง ผมไม่ค่อยได้รับบทผู้ร้ายนักหรอกครับ แต่ผมก็เคยเล่นมาบ้างและผมก็สนุกกับมันด้วย” แล้วผู้กำกับรีฟส์คิดยังไงกับนักแสดงรีฟส์ล่ะ “คีอานูเป็นมืออาชีพตัวจริงครับ” เขากล่าวติดตลก “เขามาตรงเวลา ท่องบทมาอย่างดี เขาต้องใช้เวลาซักพักเพื่อคิดหาวิธีการเคลื่อนไหวหรืออะไรทำนองนั้น และเขาก็ต้องให้ความสนใจมากหน่อยในวันแรก แต่หลังจากนั้น เขาก็โอเคครับ” ในขณะเดียวกัน นักแสดงคีอานู รีฟส์ก็มีเรื่องดีๆ จะพูดถึงผู้กำกับคีอานู รีฟส์ของเขาเช่นกัน “นี่เป็นการกำกับเรื่องแรกของเขา แต่ตอนที่ผมได้พบเขา มันก็รู้สึกเหมือนว่าผมรู้จักเขามานานแล้ว และก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับเขา ผมมั่นใจว่าเขารู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรครับ” ในฐานะผู้กำกับหน้าใหม่ รีฟส์รู้ดีว่าเขาต้องการทีมงานสร้างชั้นยอดมาช่วยเขาในการเนรมิตวิสัยทัศน์ของเขาให้เป็นจริงและสร้างสไตล์วิชวลที่แข็งแรงและไม่เหมือนใครให้กับเรื่องได้ และเขาก็เริ่มต้นจากหยวนวูปิง ปรมาจารย์ด้านการต่อสู้ “ผมได้ทำงานกับเขาใน The Matrix” รีฟส์กล่าว “เขาเป็นทั้งตำนานและเป็นคนที่วิเศษสุด ผมไปหาเขาแล้วบอกว่า ‘วูปิงได้โปรดมาทำงานนี้เถอะ’ เขาชอบบทหนังเรื่องนี้และเคยร่วมงานกับไทเกอร์มาก่อน เขาก็เลยตกลงรับงานนี้ครับ เขาคอยให้การสนับสนุนและความร่วมมืออย่างดี และการได้เห็นเขาทำงานอีกครั้งและได้ใช้เวลากับเขาในการคิดฉากต่อสู้พวกนี้เป็นอะไรที่เจ๋งจริงๆ ครับ” โยเฮย์ ทาเนดะ ผู้ออกแบบงานสร้างชาวญี่ปุ่นผู้คร่ำหวอดในวงการ ซึ่งชาวอเมริกันรู้จักดีที่สุดจากผลงานของเขาใน Kill Bill: Vol. 1 และผู้ได้รับการเสนอชื่อชิงแปดรางวัลอคาเดมี อวอร์ดญี่ปุ่น ได้ถูกนำตัวมาสร้างสังเวียนการต่อสู้ใต้ดินที่ไม่ธรรมดา ซึ่งโดนากะใช้ รวมถึงวัดใกล้ภูเขาที่ไทเกอร์ได้ศึกษาด้วย “ทาเนดะซังเป็นมืออาชีพและเป็นคนที่น่ารักมาก เขาสร้างแรงบันดาลใจให้เราได้จริงๆ ฉากวัดที่เขาสร้างขึ้นพิเศษสุดและเขาก็ได้ช่วยสร้างสมดุลระหว่างโลกดั้งเดิมกับโลกสมัยใหม่ด้วยความคิดอ่านและรสนิยมที่ยอดเยี่ยม เขาให้อะไรกับหนังเรื่องนี้มากเหลือเกิน ซึ่งรวมถึงสิ่งแวดล้อมที่เราอยู่ด้วยครับ” นอกจากนี้ รีฟส์ยังชื่นชมความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างทาเนดะและผู้กำกับภาพเอลเลียต เดวิสอีกด้วย “การร่วมงานกันระหว่างพวกเขายอดเยี่ยมมากและเอลเลียตก็เป็นคนประเภทที่พูดว่า ‘คุณอยากทำอะไร คุณอยากเห็นอะไร’ แต่เขายังคงชี้แนะผมด้วยการแนะนำว่าเราน่าจะหาช็อตที่จะช่วยผมในตอนลำดับภาพ แต่สิ่งที่ทำให้เขาเหมาะกับผมคือความอ่อนไหวต่อตัวละครของเขาและวิธีการที่เขาสามารถบันทึกสิ่งเหล่านั้นผ่านเลนส์ได้ คุณจะเห็นมันในหนังหลายเรื่องของเขา ตั้งแต่แฟรนไชส์ Twilight ไปจนถึง Out of Sight และ I am Sam” รีฟส์ยอมรับว่า เดวิสร่วมงานในภาพยนตร์เรื่องนี้เพื่อทดลองเทคนิคแปลกๆ บางอย่างกับซีเควนซ์ต่อสู้ด้วย “ผมคุยถึงเรื่องมุมมองที่เป็นกลางและมุมมองส่วนบุคคลบ่อยๆ มันก็เลยมีการทลายกำแพงด้านที่สี่หลายครั้ง และถ่ายทำการต่อสู้ในแบบที่ให้ความรู้สึกที่เป็นดรามามากกว่ารวมถึงเป็นอะไรที่น่าตื่นเต้นจากจุดยืนด้านแอ็กชันด้วยครับ” สำหรับเดวิส ผู้ไม่เคยทำงานในดินแดนตะวันออกไกลมาก่อน หนึ่งในความท้าทายของการทำงานกับทีมงานที่ส่วนใหญ่เป็นชาวจีนนั้นคือการทำความเข้าใจความแตกต่างด้านวัฒนธรรมและอารมณ์ศิลป์ของพวกเขา “ในตะวันตก ความคิดสร้างสรรค์จะวัดจากการคิดนอกกรอบและการทำอะไรแบบปัจจุบันทันด่วน ว่าคุณสามารถก้าวข้ามขีดจำกัดได้มากแค่ไหน” เขาอธิบาย “แต่คนจีนมีเวลาหลายร้อยปีในการยึดถือกับระบบสังคมและลำดับชนชั้นและวิธีการคิดบางอย่างที่บอกว่าความคิดสร้างสรรค์คือการทำตามความคาดหวัง ตอนแรก ผมขอให้ทีมงานใช้ความคิดของตัวเอง แต่ท้ายที่สุด เราก็พบการประนีประนอมที่ลงตัว ผมเริ่มบอกว่า ‘นี่คือสิ่งท่ผมต้องการ แล้วพวกคุณในจีนทำมันยังไง’ ดังนั้น ทั้งสองฝ่ายก็ต้องเริ่มต้นด้วยการฟัง...พวกเขาบอกผมว่าพวกเขาจะทำยังไง แล้วผมก็จะนำวิธีการนั้นมาปรับในแบบของตัวเองครับ” ด้วยความที่เขาไม่เคยถ่ายทำภาพยนตร์ศิลปะการต่อสู้มาก่อน เดวิสก็ต้องอาศัยสัญญาตญาณและความรู้ของรีฟส์ในภาพยนตร์ต่อสู้เพื่อช่วยนำทางเขาในซีเควนซ์แอ็กชัน ซึ่งมันเป็นกระบวนการที่ง่ายขึ้นเพราะทั้งคู่รู้ดีว่ามันสำคัญแค่ไหนที่จะให้ความสำคัญกับเรื่องราวเป็นอันดับหนึ่ง “ผมคงต้องบอกว่าคีอานูอยากจะอธิบายหลักต่อสู้ครับ” เดวิสอธิบาย “เรามักจะกลับมาสู่การที่การต่อสู้ผลักดันดรามาให้ไปข้างหน้า ว่าการต่อสู้รับใช้ตัวละครแทนที่จะเป็นในทิศทางกลับกันอย่างไร” แล้วผู้กำกับภาพมากประสบการณ์ผู้นี้ประเมินผู้กำกับมือใหม่ของเขาว่ายังไงบ้างล่ะ “คีอานูเป็นคนที่จริงจังมากๆ ครับ ตั้งแต่ต้นจนจบ เขารู้ว่าเป้าหมายเขาคืออะไรและเขาก็มองทุกขั้นตอนว่าเป็นสิ่งสำคัญ เขาอาจจะเป็นผู้กำกับที่เตรียมพร้อมที่สุดเท่าที่ผมเคยร่วมงานด้วยในแง่ของการทำการบ้านมาก่อน เขามีหนังสือสำหรับตัวละครทุกตัว ทุกประเภท ทั้งการออกแบบงานสร้าง การกำกับภาพ การเขียน ดังนั้น เขาก็เลยรอบรู้ทุกอย่าง ผมคิดว่าเขามีความคาดหวังสูงและผมคิดว่าสิ่งที่เขาได้เรียนรู้คือกระบวนการธรรมชาติของการถ่ายทำ บางเรื่องก็อยู่เหนืออำนาจควบคุมของคุณ และคุณก็ต้องยอมรับมัน และเขาก็ทำตามนั้นอย่างน่าทึ่ง เขาจะบอกว่า ‘นั่นคือสิ่งที่เทพเจ้าหนังมอบให้กับเราในวันนี้!’ ผมคิดว่ามันกลายเป็นเหมือนหลักการทำงานของหนังเรื่องนี้ คือการนำสิ่งที่คุณได้รับมามาทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดครับ” “เขาเป็นเหมือนฝันที่เป็นจริงค่ะ” นักแสดงหญิง คาเรน ม๊อก ผู้รับบท จิงซื่อ “ตำรวจแสบซ่าส์” พูดถึงผู้กำกับของเธอ “บางครั้ง ผู้กำกับก็จะน่ากลัวบ้าง แต่เขาไม่ใช่เลย เขามีคำสั่งที่เฉพาะเจาะจงมากๆ แต่เขาไม่ได้สั่งว่าคุณจะต้องทำ A B หรือ C เขาจะให้พื้นที่และอิสระกับคุณในการสวมบทตัวละครของคุณ เขาไม่ได้เป็นเพียงผู้กำกับเท่านั้น แต่เขายังเป็นนักแสดงที่เก่งมากๆ ด้วย มันเลยเหมือนการซื้อหนึ่งได้ถึงสองค่ะ!” นอกจากนั้น ม๊อกยังกล่าวด้วยว่าจังหวะการถ่ายทำแบบ “ตะวันตก” เป็นสิ่งที่ดีอย่างยิ่ง “วิธีการถ่ายทำในฮ่องกงตามปกติจะเป็นการตะลุยดุ่มๆ ไปเลย แต่ตอนนี้ เรามีเวลาและพื้นที่ว่างให้ทดลอง...ฉันรู้สึกเหมือนกำลังเรียนการแสดงระดับปริญญาโทเพราะเรามีเวลาในการทดลองสิ่งต่างๆ มากขึ้นค่ะ” ม๊อกหวังว่าเธอจะได้ทำงานกับรีฟส์อีกครั้งในฐานะนักแสดง เพระเธอได้เข้าฉากกับเขาเพียงสั้นๆ ในภาพยนตร์เรื่องนี้ “และถ้าฉันโลภมากล่ะก็ ฉันก็อยากจะอยู่วงเดียวกับเขาเพราะเขาเป็นนักดนตรีด้วยเหมือนกันค่ะ” เธอสารภาพ ท้ายที่สุดแล้ว MAN OF TAI CHI ก็เป็นภาพยนตร์ที่มีเสน่ห์ระดับสากลเพราะมันเป็นความตีความใหม่ของเรื่องราวอมตะเกี่ยวกับเด็กหนุ่มที่ทำความเข้าใจกับศักยภาพของตัวเองและใช้พลังของเขาเพื่อประโยชน์ส่วนรวม “ความหวังและความทะเยอทะยานของผม” คีอานู รีฟส์กล่าว “คือการสร้างละครศีลธรรมสมัยใหม่ เรื่องราวสอนใจและเรื่องราวของการกระตุ้นการหยั่งรู้และเตือนสติในรูปแบบของหนังกังฟูคลาสสิกครับ” นอกเหนือจากการแนะนำให้โลกตะวันตกได้รู้จักภาพลักษณ์ใหม่ของไทเก็กและ “ความแตกต่างสุดขั้ว” ระหว่างแสงสว่างและความมืด ระหว่างพลังและการควบคุม และระหว่างการเคลื่อนไหวและศักยภาพของมัน รีฟส์ก็มั่นใจว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ “จะรณรงค์ให้คนตระหนักถึงการดิ้นรนของพวกเราเพื่อรักษาตัวตนที่แท้จริงและวัฒนธรรมดั้งเดิมของเราท่ามมกลางความเย้ายวน ภาระหน้าที่และความท้าทายที่เกิดขึ้นในยุคสมัยของเราครับ”