happy on September 03, 2009, 02:44:51 PM
New York, I Love You



15 ตุลาคมนี้

เฉพาะที่ Apex Siam Square  / SF World Cinema  / SFX Emporium เท่านั้น
 


             นับตั้งแต่ภาพยนตร์ถือกำเนิดขึ้นมา นิวยอร์คคือเมืองในฝันของโลกเซลลูลอยด์ ด้วยผู้คนมากมายหลายแบบ, ตึกสูงเสียดฟ้าคณานับ, วัฒนธรรมผสมผสาน และเรื่องราวความรักสารพัน รวมเป็นฉากหลังอันสมบูรณ์แบบสำหรับภาพยนตร์แอ็คชั่น, คอเมดี้, ดราม่า และแนวอื่นๆ เมืองที่โด่งดังแห่งนี้ปรากฏโฉมบนจอภาพยนตร์มาเป็นจำนวนหลายพันเรื่อง กระทั่งถึง New York, I Love You ภาพยนตร์ที่ทั้งสดใหม่และแตกต่าง ซึ่งเพ่งมองเมืองนิวยอร์คผ่านดวงตาแห่งความรัก หลากหลายแง่มุม ตั้งแต่รักแรก, รักอันรวดร้าว, รักชั่วแล่น จนถึงรักแท้ที่คงอยู่ชั่วนิรันดร์

             New York, I Love You คือภาพยนตร์เรื่องที่สองในซีรีส์ “เมืองแห่งความรัก” ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างท้วมท้นมาแล้วจากเรื่องแรก Paris je t’aime โดยผู้อำนวยการสร้าง เอ็มมานูเอล บองบิฮาย ที่ผลิตภาพยนตร์เรื่องนี้ร่วมกับมารินา กราซิค (ผู้อำนวยการสร้าง Crash) ผลงานสร้างสรรค์โดยกลุ่มผู้กำกับภาพยนตร์ฝีมือเยี่ยมทั่วโลก ได้แก่ เจียงเหวิน, มิรา แนร์, ชุนจิ อิวาอิ, อีวอง อัตตาล, เบร็ท แรทเนอร์, อัลเลน ฮิวส์, เชคาร์ กาปูร์, นาตาลี พอร์ทแมน, ฟาตีห์ อาคิน, โจชัว มาร์สตัน และแรนดี้ บัลส์เมเยอร์ พวกเขาจะนำผู้ชมไปสัมผัสชีวิตที่แท้จริงของชาวนิวยอร์ค ในเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการค้นหาความรัก ผ่านตัวละครมากหน้าที่รับบทโดยขบวนนักแสดงชื่อดังอย่าง แบรดลีย์ คูเปอร์, จัสติน บาร์ธา, แอนดี้ การ์เซีย, เฮย์เด็น คริสเทนเซ่น, ราเชล บิลสัน, นาตาลี พอร์ทแมน, ไอร์ฟาน ข่าน, เอมิลี่ โอฮาน่า, ออร์แลนโด บลูม, คริสติน่า ริชชี่, แม็กกี้ คิว, อีธาน ฮอว์ค, แอนตัน เยลชิน, เจมส์ คาน, โอลิเวีย เธิร์ลบี, เบลค ลีฟลี่, ดรีอา เดอ มัทเทโอ, จูลี่ คริสตี้, จอห์น เฮิร์ท, ไชอา เลอเบิฟ, ยูเกอร์ ยูเซล, เทย์เลอร์ เกียร์, คาร์ลอส อาคอสต้า, ยาซินดา บาร์เร็ทท์, ซูฉี, เบิร์ท ยัง, คริส คูเปอร์, โรบิน ไรท์ เพนน์, เอวา แอมมูรี, อีไล วอลแลช และคลอริส ลีชแมน
 


*****************************



เบื้องหลังงานสร้าง: ในห้วงรักกับนิวยอร์คยามมีรัก


“คุณรู้ไหมว่าผมชอบอะไรในนิวยอร์ค... ช่วงเวลาเล็กน้อยบนทางเท้า,

การสูบบุหรี่และใคร่ครวญเกี่ยวกับชีวิต... คุณสามารถมองดูอาคารร้านรวง สัมผัสอากาศ  สังเกตผู้คน

และบางครั้งคุณอาจพบใครบางคนที่คุณรู้สึกว่าคุณพูดคุยด้วยได้”

      New York, I Love You ส่วนของผู้กำกับ อีวอง อัตตาล


             ในเมืองที่ไม่เคยหลับใหล ไม่มีใครหยุดฝันถึงความรัก ความฝันเหล่านี้กลายเป็นความจริงขึ้นมาใน New York, I Love You ผลงานลำดับที่สองจากซีรีส์ “เมืองแห่งความรัก” ซึ่งอำนวยการสร้างโดย เอ็มมานูเอล บองบิฮาย ต่อจาก Paris je t’aime และจะตามด้วยเมืองริโอ กับเซี่ยงไฮ้ ในปี 2010 และเยรูซาเล็ม กับมุมไบ ในปี 2011 ถ้าเมืองใหญ่ๆ คือแหล่งสะสมของสารพัดเรื่องราวที่ไม่ได้ถูกเล่าขาน บองบิฮายก็เปรียบเสมือนนักสะสมผีเสื้อ ผู้เก็บรวบรวมเรื่องราวอันงดงามเหล่านั้น ซึ่งถูกแต่งเติมด้วยความสัมพันธ์, ความปรารถนา และความหวัง ที่นำเราทุกคนไม่ว่าจะมีภูมิหลัง, เชื้อชาติ หรือมุมมองชีวิตแตกต่างกันอย่างไร มาชิดใกล้กันจนได้

             “ไอเดียของผมคือการสร้างภาพยนตร์ชุดที่จะถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับความรักอันกว้างไพศาลทั่วโลก” บองบิฮายกล่าว “ผมเริ่มต้นที่เมืองปารีส เพราะผมมาจากที่นั่น แต่ผมตั้งใจจะทำหนังแบบนี้กับทุกเมืองที่มีอดีตอันยาวนาน แน่นอนว่านิวยอร์คก็เป็นหนึ่งในนั้น นิวยอร์คคือเมืองที่เต็มไปด้วยพลัง ซึ่งจะทำให้ใครก็ตามที่ได้สัมผัสมันเริ่มต้นความฝัน ผมมานิวยอร์คตอนอายุ 7 ขวบในช่วงทศวรรษที่ 70 และตกหลุมรักเมืองนี้ตั้งแต่แรก”

             ใน New York, I Love You บองบิฮายนำแนวคิดเรื่องการรวบรวมผู้กำกับหลายคนมาไว้ในภาพยนตร์เรื่องยาวที่แบ่งเป็นตอนย่อยๆ กลับมาใช้อีกครั้ง ซึ่งการใช้วิธีนี้กับบรรดาผู้กำกับที่มีภูมิหลัง และความคิดสร้างสรรค์ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงนั้น เกิดเป็นคำถามตามมาว่า จะทำให้ภาพรวมทั้งหมดของภาพยนตร์ออกมาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันหรือไม่

             “ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ใช่หนังสือรวมเรื่องสั้นอย่างแน่นอน” บองบิฮายไขข้อข้องใจ “จุดมุ่งหมายของหนังรูปแบบนี้ไม่ได้อยู่ที่การเรียงร้อยเรื่องสั้นต่างๆ เข้าด้วยกัน แต่คือการทำให้แต่ละเรื่องราวนั้นเป็นเอกเทศโดยการสร้างสรรค์ของผู้กำกับที่แตกต่างกันจำนวนหนึ่ง เราต้องการตัวละครที่ไม่เพียงดำเนินชีวิตภายในเรื่องราวของตัวเอง แต่ต้องส่งผลกระทบถึงกันและกัน ส่งผ่านเรื่องราวต่อกัน และก่อรูปจากความแปลกแยกสู่ความเป็นเอกภาพ คล้ายๆ กับหนังที่กำกับโดยผู้กำกับคนเดียวอย่าง Crash, Magnolia, Babel, Short Cuts หนังเล่าเรื่องแบบที่จะทำให้ผู้ชมมีปฏิกิริยาตอบสนองอย่างรุนแรง แต่ต่างกันตรงที่เรามีผู้กำกับหลายคนเท่านั้น”

             บองบิฮายเล่าว่าตัวเขาและบรรดาศิลปินผู้มีส่วนร่วมในผลงานชิ้นนี้ ยังคงอยู่ในขั้นแรกๆ ของการแสวงหาความสำเร็จในการสร้างสรรค์ภาพยนตร์รูปแบบนี้ “มันยังคงเป็นแนวความคิดอันทะเยอทะยานสำหรับสิ่งซึ่งไม่มีใครเคยทำมาก่อน และสิ่งนั้นก็เต็มไปด้วยอุปสรรคที่ท้าทาย” ผู้อำนวยการสร้างยอมรับ “แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมาก เมื่อผู้กำกับเหล่านี้กำลังจะทำให้มันกลายเป็นจริง”

             แรกเริ่มนั้น ความคิดดังกล่าวติดตรึงอยู่ในจินตนาการของผู้อำนวยการสร้าง  มารินา กราซิค ผู้เป็นกำลังหลักในแวดวงภาพยนตร์อิสระ  และรับตำแหน่งผู้อำนวยการสร้างฝ่ายบริหารให้ Crash ภาพยนตร์ที่ชนะรางวัลออสการ์ ซึ่งสร้างความสนใจให้บองบิฮายอย่างมาก จนเมื่อทั้งคู่ได้พบกันที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ การร่วมงานกันจึงเกิดขึ้นในไม่ช้า

             “เมื่อฉันพบเอ็มมานูเอล ฉันรู้สึกตื่นเต้นจริงๆ ที่ได้ยินว่าเขาวางแผนจะสร้างหนังเกี่ยวกับเมืองนิวยอร์คในแบบเดียวกับ Paris je t’aime” กราซิคกล่าว “ในทางกลับกัน ฉันคิดว่าเขาก็สนใจตัวฉัน เพราะว่าฉันเคยมีส่วนร่วมในหนังหลายเรื่องที่มีรูปแบบและโครงเรื่องแบบที่เขาอยากทำ มันเป็นความบังเอิญที่พอเหมาะพอเจาะ”

             ทว่าหลังจากพยายามสานต่อโครงการจากเมืองลอส  แองเจลีส บองบิฮายก็ได้รับคำแนะนำเรื่องการทำงาน “แอนโทนี่ มิงเกลลาโทรมาหาผม และพูดว่า ผมอยู่ในนิวยอร์ค คุณล่ะอยู่ที่ไหน ถ้าคุณอยากสร้างหนังเกี่ยวกับนิวยอร์ค คุณควรอยู่ที่นี่ และถ้าคุณอยากทำงานกับผม เราควรพบกัน” ดังนั้น บองบิฮายจึงย้ายไปนิวยอร์คในวันรุ่งขึ้น เพื่อค้นหาแรงบันดาลใจอย่างที่เขาต้องการ “ผมเป็นหนี้บุญคุณแอนโทนี่มาก” บองบิฮายยอมรับ

            บองบิฮายเริ่มเสาะหาตัวผู้กำกับภาพยนตร์ที่เหมาะสม  “ผมไม่อยากได้ผู้กำกับอย่างสไปค์ ลี, วูดี้ อัลเลน หรือมาร์ติน สกอร์เซซี เพราะเรารู้กันดีแล้วว่าพวกเขามองนิวยอร์คด้วยสายตาแบบไหน ผมต้องการผู้กำกับที่จะเผยโฉมเมืองนี้ในมุมมองที่ไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน” เขาอธิบาย

             “ผมเดินทางไปพบบรรดาผู้กำกับรุ่นหลังในที่ต่างๆ ทั่วโลก ผู้กำกับที่จะขยายขอบเขตของภาพยนตร์ ผู้สามารถมองเห็นนิวยอร์คไม่เฉพาะแค่ที่มันเคยเป็น แต่ต้องเป็นอย่างที่มันเป็นจริงๆ ในวันนี้ เดี๋ยวนี้ สำหรับกรณีนี้ หนังเรื่องนี้เป็นผลงานกำกับครั้งแรกในนิวยอร์คของผู้กำกับหลายราย ส่วนคนที่เหลือ ก็เป็นโอกาสที่จะได้กลับมาสำรวจเมืองนี้ด้วยสายตาที่แตกต่างไปจากเดิม กลุ่มผู้กำกับที่ได้รับการเลือกสรรนั้นเต็มไปด้วยความหลากหลาย ทั้งชายและหญิงที่ต่างกันอย่างมากทั้งสไตล์และมุมมองเรื่องความสัมพันธ์ แต่สิ่งที่พวกเขาต้องทำเหมือนกันคือการถ่ายทอดเรื่องราวของความรัก, ชีวิต และมหานครนิวยอร์ค”   

            บองบิฮายพึงพอใจที่ผู้กำกับทุกคนล้วนมีความกระตือรือร้นอย่างแรงกล้า “ผมคิดว่าพวกเขาชอบใจที่ได้อิสระในการลองทำสิ่งใหม่ด้วยวิธีที่แตกต่างกันมากมายหลายระดับ ได้ร่วมงานกับเหล่านักแสดงที่พวกเขาใฝ่ฝัน ได้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานที่จะปลดปล่อยจินตนาการและความปรารถนาส่วนตัว และเหนือสิ่งอื่นใดคือได้มอบประสบการณ์ที่ผู้ชมอาจจะไม่เคยสัมผัสมาก่อน”


กฎนิวยอร์ค: 11 ผู้กำกับถ่ายทำภาพยนตร์หนึ่งเรื่องในเวลา 8 สัปดาห์ได้อย่างไร

             เมื่อถึงเวลาเริ่มต้นงานสร้างสรรค์อันหนักหน่วง  กระบวนการผลิต New York, I Love You แต่ละตอนโดย 11 ผู้กำกับ ได้ถูกตั้งโจทย์ไว้ด้วยการวางกฎเกณฑ์ง่ายดายทว่าเคร่งครัด ตั้งแต่ขั้นตอนของการทำบทภาพยนตร์ ยกตัวอย่างเช่น

             + เรื่องราวแต่ละตอนต้องได้รับการระบุอย่างชัดเจนว่าเกิดขึ้น ณ บริเวณใดของนิวยอร์ค

             + ทุกตอนต้องเกี่ยวข้องกับความรักในแง่มุมใดแง่มุมหนึ่ง

             + ห้ามใช้วิธีเลือนภาพเป็นสีดำในช่วงเริ่มและฉากจบของแต่ละตอน

             ในไม่ช้าบองบิฮายพบว่าเขามีเรื่องราวที่น่าสนใจอยู่ในมือถึง 11 เรื่องด้วยกัน แม้ว่าจะมีเวลาให้แค่เรื่องละ 8 นาทีเท่านั้น แต่ทุกเรื่องก็เต็มไปด้วยไอเดียชั้นเยี่ยม และบทสนทนาเฉียบคม ซึ่งท้าทายความสามารถของผู้สร้างเป็นอย่างยิ่ง

             เมื่อบทภาพยนตร์เสร็จสิ้น กฎเกณฑ์ของการถ่ายทำจึงตามมา

             + ผู้กำกับแต่ละคน พร้อมผู้ช่วย และนักแสดง มีเวลาถ่ายทำทั้งสิ้น 2 วัน

             + หลังจากนั้นก็มีเวลาตัดต่ออีก  7 วัน ขณะที่ผู้กำกับคนใหม่เริ่มลงมือถ่ายทำตอนต่อไป

             + ทีมงานส่วนอื่น เช่น ผู้ออกแบบงานสร้าง, ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย มีเวลาทำงาน

                 นาน 8 สัปดาห์ เท่ากับเวลาถ่ายทำภาพยนตร์ทั้งเรื่อง

             “เราถ่ายหนังติดต่อกันตั้งแต่วันแรก โดยไม่มีวันหยุด” บองบิฮายอธิบาย “การทำงานแบบนี้เป็นเรื่องที่ท้าทาย และพิเศษมาก ไม่เพียงไม่เหมือนใคร แต่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนในหนังที่ใช้ผู้กำกับมากว่าสองคน นั่นหมายถึงต้องมีการติดต่อสื่อสารที่ดีมากระหว่างทีมงานทุกคนในหนังเรื่องนี้”

             ขณะเดียวกัน วิธีการทำงานแบบนี้มักเปิดโอกาสให้เกิดเหตุบังเอิญอันสร้างสรรค์  ดังคำบอกเล่าของกราซิค “เราโชคดีมากตอนที่เราทำงานอยู่ในตึกหลังหนึ่งแถบเวสต์ วิลเลจ ที่ซึ่งเราสามารถใช้ชั้นหนึ่งเป็นสำนักงานฝ่ายผลิต และใช้อีกชั้นเป็นห้องตัดต่อ ดังนั้น ผู้กำกับคนหนึ่งอาจกำลังถ่ายทำอยู่ ขณะที่ผู้กำกับอีกคนกำลังตัดต่อ เป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะแก่การสร้างสรรค์งานจริงๆ เรามีศิลปินมากมายที่ต่างจับจ้องดูการทำงานของกันและกัน มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน เป็นชุมชนแบบที่เราต้องการ มันให้ความรู้สึกคล้ายๆ การทำเวิร์คช็อพภาพยนตร์เลย”

             ตัวอย่างที่เห็นได้เด่นชัดคือฟาตีห์ อาคิน ผู้กำกับสายเลือดเยอรมัน-เตอร์กิช ที่กำลังทำงานในห้องซึ่งอยู่ถัดจากห้องของอัลเลน ฮิวส์ ผู้กำกับชาวอเมริกันคนโปรดของเขา “แค่เดินไปขอครีมใส่กาแฟ ก็เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นแล้ว” อาคินกล่าว พร้อมกันนี้ ทีมงานต้องถ่ายทำฉาก Transition ซึ่งก็คือฉากที่ผูกเรื่องราวแต่ละตอนเข้าด้วยกัน ผ่านตัวละครช่างภาพวิดีโอ (รับบทโดย เอมิลี่ โอฮาน่า นักแสดงสาวจาก Vatel) ผู้ปรากฏตัวทุกตอนในเรื่อง ฉาก Transition นี้กำกับโดย แรนดี้ บัลส์เมเยอร์ ผู้เป็นที่รู้จักกันดีจากการสร้างฉากอันน่าจดจำลักษณะนี้ในภาพยนตร์ของผู้กำกับใหญ่ๆ อย่างสไปค์ ลี, คู่พี่น้องโคเอน, เดวิด โครเนนเบิร์ก และโรเบิร์ท อัลท์แมน

             “ฉาก Transition คือวิธีการที่น่าสนใจในการเข้าถึงความรู้สึกของคนดู และทำให้พวกเขาได้รับรู้ข้อมูลใหม่ของตัวละครที่พวกเขารู้จัก เช่นเดียวกันกับการแนะนำกลุ่มที่เราเรียกว่า ‘ตัวละครส่วนรวม’ หนึ่งในความคิดอันเยี่ยมยอดของแรนดี้ บัลส์เมเยอร์คือการให้ช่างภาพวิดีโอคนหนึ่งทำหน้าที่เก็บรวบรวมภาพผู้คนที่อยู่รอบกายเธอ ซึ่งเท่ากับเป็นการเก็บรวบรวมทุกเรื่องราวของเราให้เข้ากันด้วย”

             การถ่ายทำภาพยนตร์บนท้องถนนอันจอแจแออัดของนครนิวยอร์ค เป็นความท้าทายที่เร้าใจเสมอ แต่กับ New York, I Love You เรื่องท้าทายทำนองนั้นมีปริมาณนับไม่ถ้วน บรรดาผู้กำกับเที่ยวสำรวจตรวจตราไปแทบทุกตารางนิ้วของเมือง ถ่ายทำทั้งนอกอาคาร ในอาคาร ที่มุมถนน ในบาร์ และอพาร์ทเมนท์ เผชิญกับอุปสรรคและสถานการณ์ทุกประเภท เพื่อทำให้งานของพวกเขาจบสิ้นภายใน 48 ชั่วโมง

             “เมื่อคุณกำลังสร้างหนังสักเรื่องที่เป็นแบบหนังเรื่องนี้ สิ่งต่างๆ มักเปลี่ยนแปลงไปมา เคล็ดลับคือต้องพร้อมเสมอที่จะหยิบฉวยโอกาสดีๆ เอาไว้ ท้ายที่สุดแล้ว หนังที่เราได้คือความกลมกลืนลงตัวของสิ่งสารพัน ผสมผสานความสนุกสนานกับความงดงามราวบทกวี มันเป็นการเดินทางไปในเมืองนิวยอร์ค ซึ่งแตกต่างจากการเดินทางครั้งอื่น เพราะครั้งนี้มีความรักที่น่าตื่นเต้น และอากาศบริสุทธิ์เต็มปอด” บองบิฮายสรุป 





เมืองและเรื่องราว: ฉาก TRANSITION

             ขณะที่เรื่องราวแต่ละตอนใน  New York, I Love You ถูกเล่าขานเป็นเรื่องเดี่ยว แต่พวกมันก็ถูกจับมารวมไว้ด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว โดยการสร้างฉากที่เรียกว่า Transition มาช่วยต่อเติมเรื่องราวและอารมณ์ของภาพยนตร์

             เอ็มมานูเอล บองบิฮาย อธิบายว่า “สำหรับซีรีส์ ‘เมืองแห่งความรัก’ นี้ เราตั้งใจถ่ายทอดความงดงามตามบรรยากาศของหนังแต่ละตอน โดยไม่ละเลยความสมบูรณ์ในภาพรวมของหนังทั้งเรื่อง ซึ่งกับ New York, I Love You ทุกตอนในเรื่องจะถูกหลอมรวมเป็นเอกภาพ ทำให้เรื่องราวทั้งหมดดูหนักแน่นมากขึ้น ไหลลื่นมากขึ้น และกลมกลืนกันมากขึ้น ฉาก Transition ถูกออกแบบขึ้นเพื่อนำผู้ชมจากอีกโลกหนึ่งไปสู่อีกโลกหนึ่ง จากสถานที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง เป็นการทำให้เรื่องราวเดินหน้าไปสู่อีกเรื่องหนึ่งอย่างราบรื่น”

             ฉาก Transition ทั้งหมด สร้างสรรค์โดย แรนดี้ บัลส์เมเยอร์ ผู้กำกับคนที่ 11 ของ New York, I Love You บัลส์เมเยอร์ใช้ทั้งกลุ่มตัวละคร (ที่เรียกกันว่า ‘ตัวละครส่วนรวม’) และตัวละครเดี่ยวที่เป็นช่างภาพวิดีโอ (เอมิลี่ โอฮาน่า - Vatel) ซึ่งจะไปปรากฏตัวอยู่ที่ใดหรือเวลาใดก็ได้ในเมือง เพื่อเชื่อมโยงตัวละครของแต่ละตอนเข้าด้วยกัน

             “ฉาก Transition คือการเก็บรวบรวมความประทับใจทั้งมวล ในฉากสุดท้ายของหนัง ผู้ชมจะได้เห็นตัวละครทุกตัวในเรื่องมาอยู่รวมกันในช่วงเวลาเดียวกัน” บองบิฮายทิ้งท้าย