สวทช. แถลงข่าวการจัดงาน NSTDA Investors’ Day 2013
สวทช./ก.วิทย์ฯ ติดปีกเศรษฐกิจไทยด้วยเทคโนโลยี เสริมทัพการลงทุนด้วยงานวิจัยกว่า 40 ผลงานเด่น ในงาน NSTDA Investors’ Day 2013 พร้อมดึงนักลงทุนพบนักวิจัยต่อยอดธุรกิจ เพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดแถลงข่าวเปิดตัวงาน NSTDA Investors’ Day ประจำปี 2556 ณ ห้องโลตัส สวีท 1-4 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ โดยงานดังกล่าวมีกำหนดจะจัดขึ้นในวันพฤหัสบดี ที่ 12 กันยายน 2556 เวลา 09.00-16.30 น. ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ภายใต้แนวคิด “เสริมสร้างคุณภาพชีวิต ด้วยธุรกิจเทคโนโลยี” ทั้งนี้เพื่อให้กลุ่มนักธุรกิจเป้าหมายมีโอกาสเข้าถึงผลงานของนักวิจัยไทยที่มีศักยภาพในเชิงพาณิชย์ นำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงนวัตกรรมใหม่ๆ เชื่อมโยงวงการอุตสาหกรรม การลงทุนและการเงิน เพื่อให้เกิดการลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยี ผ่านการเผยแพร่และถ่ายทอดสู่ภาคเอกชนนำไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เกิดการลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นการสร้างโอกาสรวมถึงเสริมศักยภาพการแข่งขันทางการค้าในประเทศและต่างประเทศ และผลักดันเศรษฐกิจไทยให้สามารถแข่งขันบนเวทีระดับโลกได้
ดร.พีรพันธุ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นประธานในงานแถลงข่าวเปิดเผยว่า จากนโยบายของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาประเทศให้มีความเข้มแข็งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน ด้วยการเร่งสร้างขีดความสามารถด้านงานวิจัยและการพัฒนาวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย โดยการส่งเสริมและสนับสนุนงบการลงทุนด้านงานวิจัยและพัฒนาให้เพียงพอเพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศ รวมทั้งการเสริมสร้างบุคคลากรวิจัย และการสร้างเครือข่ายวิจัยสำหรับภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม และภาคธุรกิจ ทั้งภายในและภายนอกของประเทศ เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาอย่างมีคุณภาพสมดุล ยั่งยืน และมีภูมิคุ้มกันตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ดังนั้น กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จึงมีนโยบายเร่งด่วนที่จะพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นสังคมที่อยู่บนพื้นฐานขององค์ความรู้ โดยเฉพาะการเร่งสร้างนักวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนางานวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ขณะเดียวกันก็มีบทบาทหน้าที่ในการสนับสนุนและผลักดันผลงานเหล่านั้นให้เป็นที่จับต้องได้ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีออกสู่ภาคเอกชน เพื่อผลิตเป็นสินค้าและบริการที่เกื้อหนุนเศรษฐกิจ และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะในสาขาที่ประเทศไทยมีศักยภาพสูง เช่น ด้านการเกษตร,อุตสาหกรรม และสุขภาพ เป็นต้น
โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะเดินหน้าสานต่อแนวนโยบายที่ดีของรัฐบาลด้านการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งนี้จึงได้กำหนดแผนการดำเนินงานเร่งด่วน เพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไว้ 7 ประการด้วยกัน กล่าวคือ 1) ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นฐานการพัฒนาประเทศ 2) นำงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ สร้างรายได้ และสร้างคุณภาพชีวิตให้กับชุมชนท้องถิ่น และ SMEs 3) ผลักดันงานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมให้เป็นต้นน้ำ กลางน้ำ ของการพัฒนาภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการของประเทศ 4) สนับสนุนการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสู่ภาคอุตสาหกรรมและบริการ 5) ผลักดันงานวิจัยเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ และเน้นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานหลัก (6 ส. 1 ว.) เพื่อให้งานวิจัยของประเทศเป็นไปในทิศทางเดียวกัน 6) ผลักดันนโยบายการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ประเทศ 7) เร่งประชาสัมพันธ์ผลงานของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้เป็นที่รู้จักและนำความรู้ไปสู่ประชาชน
“ซึ่งการจัดงานดังกล่าว เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จที่ภาครัฐพยายามผลักดันงานวิจัยขยายไปสู่เชิงพาณิชย์ เพื่อให้ภาคเอกชนเห็นถึงโอกาสที่จะลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีมากขึ้น เพราะฉะนั้นหน่วยงานวิจัยภาครัฐจึงต้องเร่งสร้างผลงานวิจัยเพื่อนำออกสู่อุตสาหกรรม ในการที่จะเพิ่มศักยภาพการแข่งขันกับชาติอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เราคิดขึ้นมาได้ หรือจะเป็นการต่อยอดงานวิจัยที่มีอยู่แล้ว แต่ยังไม่ลงตัว หรือไม่ตรงกับความต้องการของตลาด หรือไม่สามารถผลิตออกสู่เชิงพาณิชย์ได้ เราก็สามารถเอามาต่อยอดให้ทันสมัย และถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคอุตสาหกรรมได้ โดยให้ตอบรับกับกระแสสังคม” ดร.พีรพันธุ์ฯ กล่าว
ดร.พีรพันธุ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า การตอบรับจากภาคเอกชนจะเป็นตัวชี้วัดที่ดีและเป็นตัวกระตุ้นให้นักวิจัยเกิดความภูมิใจและเข้าใจความต้องการของภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น อันจะนำไปสู่การปรับกระบวนความคิดในการคิดค้นงานวิจัยที่สามารถนำออกสู่เชิงพาณิชย์ได้ง่ายขึ้นและมีต้นทุนที่ถูกลง ซึ่งจะเป็นการเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว
ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวถึงภาพรวมการจัดงานในครั้งนี้ว่า สวทช. ได้จัดงานดังกล่าวขึ้นเป็นประจำทุกปี และจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ในปีนี้ โดยปีที่ผ่านมา มีนักลงทุนและผู้ประกอบการให้ความสนใจเข้าร่วมงานมากกว่า 800 คน จาก 270 บริษัท มีผลงานเข้าร่วมนำเสนอบนเวทีทั้งสิ้น 9 ผลงาน แบ่งเป็นผลงานเด่นจาก สวทช. 5 ผลงาน และผลงานจากหน่วยงานพันธมิตร จำนวน 4 ผลงาน ซึ่งล้วนมีศักยภาพในการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ประกอบการ สำหรับงาน NSTDA Investors’ Day 2013 ได้รับความร่วมมือจากสมาคมไทยผู้ประกอบการธุรกิจการลงทุน (TVCA) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และมหาวิทยาลัยอื่นๆ ทั่วทุกภูมิภาค ร่วมเป็นเจ้าภาพการจัดงานในครั้งนี้ด้วย
ดร.ทวีศักดิ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดงานในครั้งนี้ สวทช. ต้องการนำเสนอผลงานวิจัยและเทคโนโลยีที่ได้รับการคัดเลือกแล้วว่ามีศักยภาพสูงในการลงทุน โดยจุดเด่นภายในงานปีนี้ได้แก่ การเปิดให้มีการเจรจาธุรกิจแบบ One on One Matching เพื่อให้เกิดการลงทุนจริงในเชิงพาณิชย์ และกิจกรรมนำเสนอผลงานวิจัยและเทคโนโลยีต่อนักลงทุนในช่วง Investment Pitching โดยเฉพาะการนำเสนอ 6 ผลงานเด่นจาก สวทช. ที่มีศักยภาพพร้อมสำหรับการลงทุนในปีนี้ซึ่งได้แก่ 1) เครื่องตรวจวัดอะฟลาทอกซินแบบรวดเร็วขนาดพกพา 2) ระบบหุ่นยนต์เพื่อการฟื้นฟูการเคลื่อนไหวของข้อศอก แขนท่อนล่างและข้อมือ 3) โรงงานต้นแบบผลิตเอ็นพีวี เพื่อควบคุมแมลงศัตรูพืช 4) ระบบตรวจนับเซลล์เม็ดเลือดแดงแบบอัตโนมัติ 5) ระบบตรวจจับการเคลื่อนที่และจอดของยานพาหนะโดยอัตโนมัติ 6) ลูกอมเม็ดหญ้าหมอน้อย เลิกบุหรี่
นอกจากนี้ภายในงานยังมีโซนการจัดแสดงนิทรรศการผลงานเทคโนโลยีต่างๆ อีกกว่า 40 ผลงาน ประกอบด้วย แผ่นดูดซับเสียงอัจฉริยะ,กระสอบชลปราการ,วัสดุฉลาดด้านทันตกรรม,เส้นใยพอลิพรอพิลีนเปลี่ยนสีตามอุณหภูมิ เป็นต้น เพื่อให้นักลงทุนได้เลือกสรร หากสนใจสามารถพูดคุย แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับนักวิจัยได้ ณ บูธนั้นๆ รวมทั้งโซนของการจัดจำหน่ายสินค้าเทคโนโลยีของ สวทช. ทั้งนี้ภายในงานยังสามารถร่วมรับฟังการบรรยายพิเศษเรื่อง “ความสำคัญของตลาดทุนกับการขับเคลื่อนธุรกิจเทคโนโลยีของไทย” และ “10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามองสำหรับธุรกิจ (10 Technologies to Watch)” รวมทั้งการปฐกถาพิเศษจาก ดร.พีรพันธุ์ รมว.วท. ในหัวข้อ “การลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีกับยุทธศาสตร์การพัฒนาและพลิกฟื้นประเทศ” อีกด้วย