เอ.พี. ฮอนด้า จับมือภาครัฐทำโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาอย่าง
ยั่งยืน วางรากฐานวัยรุ่นไทยมีวินัยจราจร หวังช่วยลดอุบัติเหตุ
เอ.พี.ฮอนด้า ผนึก วช. / สพฐ. / สอศ. ลงนามความร่วมมือจัดทำโครงการวิจัยและพัฒนาพฤติกรรมขับขี่ปลอดภัยของเยาวชนไทย หนุนวัยรุ่นมีทักษะ ความรู้ และวินัยด้านการขับขี่ อย่างยั่งยืนในอนาคต หวังช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนน นายอารักษ์ พรประภา กรรมการบริหาร และผู้อำนวยการศูนย์ฝึกขับขี่ปลอดภัยฮอนด้า บริษัท เอ.พี. ฮอนด้า จำกัด เปิดเผยว่า เอ.พี.ฮอนด้า ได้ร่วมลงนามความร่วมมือทางด้านการวิจัยและพัฒนาพฤติกรรมขับขี่ปลอดภัยของเยาวชนไทย โดยมีหน่วยงานสำคัญเข้าร่วมโครงการครั้งนี้ ประกอบไปด้วย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) , สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ. ) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้และทักษะในการขับขี่ รวมทั้งการพัฒนาวัยรุ่นในด้านจิตลักษณะ ซึ่งเป็นเสมือนการสร้างความพร้อมด้านจิตใจ ซึ่งจะทำให้สามารถพัฒนาพฤติกรรมการขับขี่อย่างปลอดภัยและการปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างยั่งยืน โดยโครงการนี้จะแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1. พัฒนาชุดฝึกอบรมแบบวัด และคู่มือการฝึกอบรม ระยะที่ 2. ทดลองใช้และเผยแพร่ชุดฝึกอบรม ระยะที่ 3. การนำชุดฝึกอบรมไปใช้ในวงกว้าง โดยทางบริษัท เอ.พี. ฮอนด้า จะให้การสนับสนุนในการทดลองใช้ชุดครูฝึกอบรมที่เชี่ยวชาญ ซึ่งจะมีขึ้นที่ศูนย์ฝึกขับขี่ปลอดภัยฮอนด้า 3 แห่ง ได้แก่ ศูนย์ฝึกขับขี่ปลอดภัยศุภกิตติ์มอเตอร์ จังหวัดสุราษฏร์ธานี , ศูนย์ฝึกขับขี่ปลอดภัยเกียรติสุรนนท์ จังหวัดอุบลราชธานี และศูนย์ฝึกขับขี่ปลอดภัยฮอนด้า กรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งสนับสนุนเครื่องจำลองการฝึกขับขี่ปลอดภัย เพื่อใช้ในการทดสอบทักษะการขับขี่แก่นักเรียนกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 360 คน ซึ่งคัดเลือกจากโรงเรียนและวิทยาลัยจำนวน 6 แห่ง “เอ.พี.ฮอนด้า ให้ความสำคัญกับการขับขี่ปลอดภัยบนท้องถนน เพื่อความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งในแต่ละปีมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก จนยากที่จะประเมินเป็นมูลค่าได้ การให้ความรู้เรื่องของการขับขี่อย่างถูกต้องตามกฎจราจรและการพัฒนาพฤติกรรมขับขี่ปลอดภัยตั้งแต่ระดับเยาวชนจะช่วยปลูกฝังให้เกิดวินัยในการขับขี่ปลอดภัยอย่างยั่งยืน ”นายอารักษ์กล่าว อุบัติเหตที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เกิดจากผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี เป็นกลุ่มที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด ขณะที่ผู้ขับขี่จักรยานยนต์ในประเทศไทย เริ่มขับขี่ตั้งแต่อายุ 9-14 ปี ซึ่งโดยส่วนใหญ่ยังขาดทักษะ ความรู้ และความพร้อมด้านจิตใจในการขับขี่ การพัฒนาและเสริมทักษะ การเรียนการขับขี่แบบถูกกฎจราจรจะช่วยให้เยาวชนมีความตระหนัก มีความรู้ ความเข้าใจถึงความปลอดภัยในการขับขี่มากขึ้น ด้านศาสตราจารย์นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวถึงการลงนามความร่วมมือด้านวิจัยและพัฒนาพฤติกรรมการขับขี่ปลอดภัยของเยาวไทยในครั้งนี้ว่า การศึกษาวิจัยด้านจิตพฤติกรรมศาสตร์ได้เล็งเห็นว่า นอกเหนือจากการให้ความรู้และทักษะในการขับขี่แล้ว การพัฒนาที่จิตใจวัยรุ่นให้มีความพร้อม เป็นวิธีการหนึ่งซึ่งคาดว่าจะสามารถพัฒนาพฤติกรรมการขับขี่ปลอดภัยและปฏิบัติตามกฏจราจรได้อย่างยั่งยืน โดยการวิจัยครั้งนี้จะเริ่มดำเนินการวิจัยเชิงทดลองประเมินผลการใช้ชุดฝึกอบรมด้านการขับขี่ปลอดภัยในเดือนมิถุนายน – กรกฏาคม 2556 โดยจะเริ่มต้นจากจังหวัดสุราษฏร์ธานี กรุงเทพมหานคร และอุบลราชธานี ตามลำดับ