จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2554 คนไทยอ่านหนังสือนอกเวลาเรียน หรือเวลาทำงาน โดยเฉลี่ย 35 นาทีต่อวัน และมีแนวโน้มที่จะลดลง
นับเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการอ่านหนังสือต่ำ หลายคนก็คงคุ้นชินกับสถิติทำนองนี้อยู่แล้ว จนมั่นใจได้ว่าการอ่านหนังสือไม่น่าจะเป็นวัฒนธรรมของคนไทยโดยทั่วไป จึงเป็นเรื่องที่น่าดีใจที่ในปีนี้ที่ กรุงเทพฯ ได้รับคัดเลือกให้เป็นเมืองหนังสือโลก ซึ่งจะทำให้เราได้มีโอกาสรณรงค์ส่งเสริมการอ่านหนังสือกันอย่างจริงจัง ก่อนที่ปีหน้าเมืองหนังสือโลกจะย้ายไปอยู่ที่ประเทศไนจีเรีย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีอัตราการอ่านหนังสือและการรู้หนังสือต่ำมาก
ทำไมต้องอ่านหนังสือ?
ผู้ใหญ่หลายคนจ้ำจี้จ้ำไชให้เด็ก ๆ ได้อ่านหนังสือ โดยบอกว่าอ่านหนังสือแล้วจะได้ความรู้ แต่ปัจจุบันนี้มีทางเลือกมาก กิจกรรมอื่นที่ให้ได้มาซึ่ง ข่าวสาร สาระ ความรู้ก็มีอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการดูโทรทัศน์ ฟังวิทยุ เล่นเน็ต ฯลฯ การอ่านหนังสือแล้วได้ความรู้ จึงเป็นความจริงที่มีคู่แข่ง และนับวันคู่แข่งเหล่านี้ก็ตัวใหญ่และแข็งแรงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างในบ้านเรา หลายคนก็คงทราบว่าอีกไม่นาน เราจะมีฟรีทีวีเพิ่มขึ้นอีกหลายสิบช่อง เราจะมีเครือข่าย 3จี ครอบคลุมเกือบทั่วประเทศ และราคาแท็บเล็ตดี ๆ ก็ถูกลงทุกวัน แล้วยังงี้เรายังจะมีเวลาเหลือให้อ่านหนังสือด้วยเหรอ?
คุณจะไม่อ่านหนังสือก็ตามใจ แต่คุณรู้รึเปล่าว่ากำลังทิ้งโอกาสที่ทำให้ตัวเองฉลาดขึ้น อ่านหนังสือแล้วฉลาดขึ้นจริง ๆ ไม่ใช่แบบว่าแค่อ่านหนังสือแล้วรู้มากจึงฉลาด แต่อ่านหนังสือทำให้สมองทำงานเก่งขึ้นจึงฉลาด เมื่อปีที่แล้วนักวิจัยด้านสมองที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รายงานผลการศึกษาผลกระทบกับสมองจากการอ่านหนังสือ โดยการศึกษาดังกล่าวเป็นงานวิจัยชิ้นแรก ๆ ที่ทำการทดลองโดยใช้เครื่องสแกนสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อดูว่าสมองทำงานอย่างไรบ้างในขณะอ่านหนังสือ ผลปรากฏว่าขณะอ่านหนังสือ สมองจะได้รับเลือดไปเลี้ยงในส่วนต่าง ๆ ของสมองทั้งใบมากกว่าการทำกิจกรรมอื่น ๆ มาก ยิ่งการอ่านที่ต้องมีการคิดวิเคราะห์ยิ่งเพิ่มการไหลเวียนของเลือดมากขึ้นไปอีก เราอาจไม่รู้ตัวว่าสมองต้องทำงานหนักขณะอ่านหนังสือ สมองต้องทำความเข้าใจกับภาพตัวอักษรต่าง ๆ แปลงในใจให้เป็นเสียง แล้วให้ได้เป็นคำ ๆ เพื่อเอาไปดึงความหมายมาเรียบเรียง การอ่านจึงนับเป็นการออกกำลังสมองที่ดีที่สุดวิธีหนึ่ง
มนุษย์เรากำเนิดขึ้นบนโลกเมื่อ 200,000 ปีมาแล้ว แต่เราเพิ่งเริ่มจะได้อ่านหนังสือกันเมื่อไม่เกิน 6,000 ปี การอ่านในใจที่เราคุ้นเคยก็เพิ่งมีมาประมาณ 1,000 ปีนี้เอง ก่อนหน้านั้นก็มีแต่การอ่านออกเสียง การอ่านจึงไม่ใช่สิ่งที่ธรรมชาติให้เรามา แต่เป็นวัฒนธรรมที่มนุษย์สร้างขึ้น ซึ่งก็แน่นอนว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปได้ตลอดเวลา ในสมัยที่เริ่มมีวิทยุและโทรทัศน์ใหม่ ๆ หลายคนก็คาดเดาว่าการอ่านหนังสือจะได้รับความนิยมลดลง มันก็ไม่เป็นอย่างนั้น ในปัจจุบันเป็นสมัยที่อินเทอร์เน็ตเฟื่องฟู การอ่านก็ยังคงเป็นกิจกรรมยอดนิยมของมนุษย์อยู่ดี แน่นอนว่ารูปแบบของการอ่านก็มีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง เช่น การอ่านข่าวจากอินเทอร์เน็ต ที่กำลังมาแทนการอ่านหนังสือพิมพ์ เพราะมีความรวดเร็วกว่า มีความกระชับ และสะดวกกว่าที่จะเลือกข่าวที่สนใจ หลายคนกังวลว่าการอ่านจากสื่ออินเทอร์เน็ตจะปลูกฝังการอ่านแบบฉาบฉวย ทำให้สมาธิสั้น และให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ลดลง เป็นเรื่องธรรมดาที่เทคโนโลยีเปลี่ยนโลกขนาดนี้ จะพาความกังวลมาด้วยมากมาย ก็เป็นเรื่องที่มนุษย์เราต้องปรับตัว มีเกิดมีดับ มีการเปลี่ยนแปลง มันก็เป็นธรรมชาติของโลก
กรุงเทพฯ ได้เป็นเมืองหนังสือโลกในวันที่ 23 เม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งก็เป็นวันหนังสือโลก และลิขสิทธิ์โลกด้วย ไม่รู้ว่าเราจะได้มีการรณรงค์ให้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องลิขสิทธิ์ด้วยรึเปล่า หนังสือกับลิขสิทธิ์เป็นของคู่กัน ลิขสิทธิ์เป็นสิทธิพิเศษที่ให้กับเจ้าของผลงาน ซึ่งจะว่าไปในตัวของมันก็เป็นข้อมูล ไม่มีตัวตน ความเป็นเจ้าของ กับการคุ้มครองการทำซ้ำกับสิ่งที่ไม่มีตัวตนจึงเป็นเรื่องซับซ้อนขึ้นทุกวัน ในโลกที่เทคโนโลยีมันเอื้ออำนวยการทำซ้ำแทบทุกรูปแบบ และการใช้ประโยชน์จากการทำซ้ำหรือการดัดแปลงที่หลากหลายขึ้น
นี่ก็เป็นอีกเรื่องที่จะต้องเป็นที่ถกเถียงกันมากที่สุดในยุคนี้แน่นอน เอาเถอะครับ เรื่องปวดหัวเอาไว้ก่อน ตอนนี้เรามาฉลองเมืองหนังสือโลก ด้วยการหาหนังสือดี ๆ มาอ่านกันซักเล่มดีมั้ยครับ.
อรรถวิทย์ สุดแสง
ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
คณะวิศวกรรมศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
http://www.dailynews.co.th/technology/199763