กรมทรัพยากรน้ำ ผลักดัน 7 ยุทธศาสตร์บริเวณลุ่มน้ำโขง – อีสาน ชี มูล
แก้ปัญหาภัยแล้งแบบบูรณาการ และยั่งยืน กรมทรัพยากรน้ำแถลงปิด “โครงการระบบเครือข่ายน้ำในพื้นที่วิกฤตน้ำ 19 พื้นที่” พร้อมทางออกการแก้ปัญหาภัยแล้ง ด้วยการจัดการระบบน้ำ 7 ยุทธศาสตร์ในลุ่มน้ำโขง – อีสาน ชี มูล พื้นที่กว่า 104.60 ล้านไร่ ยกแนวพระราชดำริมาใช้ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อคุณภาพชีวิตของชาวอีสานแบบยั่งยืน
นายชัยพร ศิริพรไพบูลย์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กรมทรัพยากรน้ำ มีภาระหน้าที่ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในภาพรวมของประเทศ โดยมีแนวความคิดที่จะแก้ปัญหาด้านทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ เพื่อสร้างสมดุลยภาพการใช้น้ำให้ทุกภาคส่วน อีกทั้งยังจะพัฒนาระบบเครือข่ายน้ำไปยังพื้นที่วิกฤตน้ำที่ขาดแคลนด้วยความเร่งด่วน
ทั้งนี้จึงได้มีการจัดทำ “โครงการระบบเครือข่ายน้ำในพื้นที่วิกฤตน้ำ 19 พื้นที่” ขึ้นเพื่อศึกษาความเหมาะสมของระบบเครือข่ายและระบบกระจายน้ำให้ทั่วถึงไร่นาและแปลงเพาะปลูกของเกษตรกร รวมทั้งการกระจายน้ำไปยังหมู่บ้านที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคตามโครงการ (Feasibility Study : FS) พร้อมทั้งศึกษาและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สังคมและสุขภาพ (Environmental Impact Assessment : EIA) และศึกษาประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment : SEA) ในระดับลุ่มน้ำโขง – อีสาน ชี มูล ซึ่งมีพื้นที่ทั้งหมด 167,356 ตร.กม หรือประมาณ 104.60 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่การปกครอง 20 จังหวัด รวมประชากรทั้งสิ้น 21.57 ล้านคน
แผนหลักการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการในลุ่มน้ำ โขง ชี มูล ประกอบด้วย 7 ยุทธศาสตร์ ดังต่อไปนี้
1.) ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ประกอบด้วยการพัฒนาตามแผนของหน่วยงานตามการพัฒนาโครงการระบบเครือข่ายน้ำ และเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน ซึ่งแบ่งเป็น การพัฒนาโครงการโดยการผันน้ำจากแม่น้ำโขง และระบบเครืข่ายน้ำ
2.) ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และทรัพยากรที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มที่ป่าไม้ ให้มีสัดส่วน ประมาณร้อยละ 25 ของพื้นที่ภาคอีสาน หรือประมาณ 26 ล้านไร่ เพื่อก่อสร้างฝายต้นน้ำ สำหรับกักเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำตอนบน
3.) ยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่เกษตรชลประทาน โดยการเสนอให้มีการปลูกพืชอาหารและพืชพลังงานรวม 9 ชนิด ได้แก่ ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าวฟ่างหวาน ถั่วเหลือง และไม้ผล
4.) ยุทธศาสตร์การพัฒนาฐานการผลิตอุตสาหกรรมอาหารและพลังงานของประเทศ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตวัตถุดิบให้เพียงพอกับความต้องการของโรงงานเอทานอลและความต้องการของตลาดอุตสาหกรรมเดิม
5.) ยุทธศาสตร์การพัฒนาพลังงานทางเลือก เพื่อทดแทนพลังงานฟอสซิล ในการขับเคลื่อนโครงการ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานชีวมวล
6.) ยุทธศาสตร์การเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภูมิภาค เนื่องจากบทบาทที่โดดเด่นของประเทศไทย ในการผลิตอาหารเพื่อประชากรโลก อีกทั้งภาคอีสานยังเป็นศูนย์กลางของ AEC อีกด้วย
7.) ยุทธศาสตร์การจัดผังการใช้ที่ดิน การปิดล้อมพื้นที่ชุมชนและพื้นที่เศรษฐกิจหลัก และการแก้ปัญหาดินเค็ม
โดยแต่ละขั้นตอน ได้ให้ประชาชนและชุมชนมีส่วนร่วม และที่ผ่านมามีการจัดการประชุมสัมมนาอย่างต่อเนื่อง 4 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนารวมทั้งสิ้น 6,873 คน นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมืออย่างดีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักทรัพยากรน้ำภาคส่วนประสานและบริหารจัดการลุ่มน้ำ
“ข้อสรุปของแนวทางการพัฒนาโครงการเพื่อการบริหารจัดการน้ำที่ได้จากการจัดทำโครงการ คือ การผันน้ำโขงในช่วงฤดูฝน เพื่อทำการเก็บกักในแหล่งน้ำที่มีอยู่ และสร้างขึ้นใหม่มาใช้ในฤดูแล้ง โดยใช้ระบบคลองส่งน้ำและกระจายน้ำโดยระบบท่อร่วมกับการปรับปรุงประสิทธิภาพแหล่งเก็บกักน้ำในพื้นที่ และการขุดสระเก็บน้ำในไร่นา ตามแนวพระราชดำริ และสำหรับกลยุทธ์ในการพัฒนา จะส่งเสริมการปลูกพืชอาหารและพืชพลังงานที่ใช้น้ำน้อย อีกทั้งกำหนดการให้น้ำอยู่ที่ 500 ลบ.ม./ไร่/ปี ซึ่งพอเพียงสำหรับการเพิ่มผลผลิตประมาณเท่าตัว สำหรับพืช เช่น อ้อย มันสำปะหลัง” นายชัยพร กล่าว