happy on April 11, 2013, 06:38:39 PM
สถาบันอาหาร ติวเข้มร้านอาหารไทยในมาเลเซีย
ประกาศศักดา  “Thai Halal Kitchen to the World”  ในงาน MIHAS 2013


               สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม   เจาะตลาดมาเลเซียศูนย์กลางฮาลาล จัดติวเข้ม 2 หลักสูตรให้ร้านอาหารไทยในกรุงกัวลาลัมเปอร์ หวังยกระดับมาตรฐานการบริการ การบริหารจัดการครัว และบุคลากรให้ถูกสุขลักษณะอาหารฮาลาล จับมือ ศอ.บต. และอุตสาหกรรมจังหวัด 5 ชายแดนใต้ คัดผู้ผลิตสินค้าอาหารฮาลาลที่มีศักยภาพในการส่งออกเข้าร่วมงาน The 10 Malaysia International Halal  Showcase (MIHAS 2013) จัดแสดงสินค้าและเจรจาธุรกิจ ภายใต้แนวคิด “Thai Halal Kitchen to the World” เชื่อตอบโจทย์ครัวฮาลาลไทยสู่ครัวโลก ผลักดันยอดส่งออกอาหารไทยไปมาเลเซียปีละกว่า 3 หมื่นล้าน




               กัวลาลัมเปอร์//นายเพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สถาบันอาหารได้ดำเนินการพัฒนาผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในมาเลเซีย ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลอันเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนนโยบาย “ครัวไทยสู่ครัวโลก” ของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาร้านอาหารไทยในมาเลเซียให้มีการบริการอาหารไทยที่หลากหลาย และมีระบบการบริหารจัดการครัวที่เหมาะสม และพัฒนาบุคลากรให้มีการบริการอาหารที่ถูกสุขลักษณะ  มีเอกลักษณ์การบริการ และมีมาตรฐานการบริการอาหารไทย




               นายเพ็ชร กล่าวว่า “ในช่วงแรกของการดำเนินโครงการฯ เราได้สำรวจร้านอาหารไทยในมาเลเซีย และพบว่า ผู้ประกอบการต้องการเรียนรู้การปรุงอาหารตำรับเมนูใหม่ๆ  รวมถึงการบริหารจัดการครัวเพื่อให้สามารถเสิร์ฟอาหารได้รวดเร็ว นอกจากนี้ยังต้องการให้มีการฝึกอบรมเกี่ยวกับการบริการในร้าน การเสิร์ฟ สุขลักษณะเบื้องต้นของผู้ปรุง การตกแต่งร้าน และการออกแบบเมนูที่เหมาะสม ทางสถาบันอาหารจึงได้เริ่มดำเนินโครงการดังกล่าวให้กับผู้ประกอบการ ตลอดจนผู้ปรุงอาหารและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาตามลำดับ ภายใต้หลักสูตรการอบรมเชิงปฏิบัติการ รวม 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตร Kitchen Management and Thai Cuisine Menu Development  และหลักสูตร Model Restaurant Service Development for Good Hygiene Practice  โดยมีทีมนักวิชาการที่ปรึกษา จากสถาบันอาหาร  กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นผู้ให้การอบรม ซึ่งในครั้งนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมฝึกอบรม และผ่านการอบรมแล้วจำนวนประมาณ 40 คน”

               สถาบันอาหาร ได้รับมอบหมายจากกระทรวงอุตสาหกรรมให้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงาน The 10 Malaysia International Halal  Showcase (MIHAS 2013) โดยจัดนิทรรศการภายใต้แนวคิด  “Thai Halal Kitchen to the World”  ทั้งนี้เป็นการนำผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารที่ได้รับการรับรองมาตรฐานฮาลาล เข้าร่วมแสดงสินค้าและเจรจาธุรกิจในงานดังกล่าว ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก ศอ.บต. และอุตสาหกรรมจังหวัดชายแดนใต้ทั้ง 5 จังหวัด ในการคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีศักยภาพด้านการส่งออก และเป็นผู้ผลิตอาหารฮาลาล  การจัดกิจกรรมครั้งนี้ มีผู้ประกอบการเข้าร่วมแสดงสินค้าจำนวน 10  รายได้แก่ บริษัท ชัยเจริญมารีน โปรดักส์ จำกัด ผู้ผลิต อาหารทะเลแปรรูป, เดวิส โซ ฟาร์มผึ้ง  ผู้ผลิตน้ำผึ้งบริสุทธิ์, บริษัท หาดใหญ่แคนนิ่ง จำกัด  ผู้ผลิต ผัก ผลไม้กระป๋อง, กลุ่มทุเรียนกวนแม่บ้านเกษตรบ้านบูเก๊ะ  ผู้ผลิตทุเรียนกวน, บริษัท แปซิฟิคแปรรูปสัตว์น้ำ จำกัด  ผู้ผลิตอาหารทะเลแปรรูป, กลุ่มอาชีวะ ปัตตานี ผู้ผลิตโรตีกรอบ, สมใจนึก ผู้ผลิตน้ำแกงส้มปรุงรส,บริษัท อุตสาหกรรมทวีวงษ์ (หาดใหญ่)จำกัด ผู้ผลิต เนื้อปลาแปรรูป, บริษัท ตอยยีบัน ฟู้ด จำกัด  ผู้ผลิต เครื่องดื่มผลไม้ และนมถั่วเหลือง  และกลุ่มแม่บ้านยีลาปัน ผู้ผลิตกล้วยหินอบกรอบ ผู้ประกอบการทั้งหมดนี้ได้รับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และถ่ายทอดความรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสถาบันอาหารทั้งสิ้น








               นายเพ็ชร กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมาเลเซียเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยในด้านอาหาร โดยเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 6 และเป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 8 ของไทยในปี 2555 ซึ่งในปีเดียวกันไทยส่งออกสินค้าอาหารไปมาเลเซียมูลค่า 33,700 ล้านบาท ขณะที่มีการนำเข้าอาหารจากมาเลเซียมูลค่า 14,000 ล้านบาท ไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้าเกือบ 20,000 ล้านบาท โดยสินค้าที่มาเลเซียนำเข้าจากไทยเพื่อใช้บริโภคในประเทศเป็นหลัก เช่น ข้าวหอมมะลิ ไก่สด ปลากระป๋อง เครื่องปรุงรส ไอศกรีม อาหารสุนัขและแมว เป็นต้น ส่วนสินค้าที่นำเข้ามาทั้งเพื่อบริโภครวมทั้งนำเข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพื่อการส่งออก เช่น น้ำตาลทราย (ผลิตขนมหวาน) น้ำมันปาล์ม แป้งมันสำปะหลัง เป็นต้น ส่วนสินค้าอาหารที่ไทยนำเข้าจากประเทศมาเลเซียส่วนใหญ่เป็นกาแฟสำเร็จรูปและกึ่งสำเร็จรูป ขนมหวาน รวมทั้งของขบเคี้ยวต่างๆ เช่น โกโก้ ช็อกโกแล็ต มันฝรั่งแผ่นทอดกรอบ เวเฟอร์ บิสกิต เป็นต้น ซึ่งสินค้าเหล่านี้เป็นสินค้าที่มีศักยภาพของมาเลเซียเนื่องจากมีผู้ผลิตข้ามชาติรายใหญ่ เช่น เนสท์เล่ เข้ามาลงทุนเพื่อกระจายสินค้าในภูมิภาค

               “แม้มาเลเซียจะเป็นประเทศที่มีประชากรเพียง 30 ล้านคน แต่คนส่วนใหญ่มีรายได้สูงเมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียน โดยเป็นรองเพียงสิงคโปร์ และบรูไน เท่านั้น ดังนั้น ตลาดอาหารในมาเลเซียจึงค่อนข้างมีศักยภาพ ประกอบกับทางการมาเลเซียมีนโยบายผลักดันประเทศให้เป็นศูนย์กลางฮาลาล รวมทั้งมีการทำ FTA กับหลายประเทศโดยเฉพาะกับสหภาพยุโรป สินค้าอาหารของมาเลเซียจึงมีโอกาสขยายตัวได้ดี ปัจจัยดังกล่าวเป็นช่องทางที่ไทยจะสามารถเข้าไปสร้างความเชื่อมโยงเพื่อเสาะแสวงหาประโยชน์ทางการค้าการลงทุนระหว่างกันได้ในอนาคต” นายเพ็ชร กล่าว