การประชุมภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก เรื่องการบูรณาการความสามารถในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสำหรับคนพิการในกระแสหลัก
( Asia-Pacific Regional Forum on Mainstreaming ICT Accessibility for Persons with Disabilities)
วันที่ 25 - 27 สิงหาคม 2552 กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
สาระการประชุม
สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ไอทียู (ITU – The International Telecommunication Union) และคณะกรรมาธิการทางเศรษฐกิจและสังคมเอเซียแปซิฟิก องค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็นเอสแคป (The United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific) ได้ร่วมกันจัดการประชุมประชุมภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก เรื่องการบูรณาการความสามารถในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสำหรับคนพิการในกระแสหลัก ( Asia-Pacific Regional Forum on Mainstreaming ICT Accessibility for Persons with Disabilities) ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 25 - 27 สิงหาคม 2552
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพในจัดการประชุมในครั้งนี้ จึงได้รับเกียรติจาก ร้อยตรีหญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มาเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม
ตามมติ 61/106 ของวันที่ 13 ธันวาคม 2549 ที่ประชุมเต็มคณะของสมัชชาสหประชาชาติ ได้อนุมัติรับรองอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (The Convention on the Rights of Persons with Disabilities) ซึ่งถือได้ว่าเป็นหลักไมล์ความสำเร็จขององค์การสหประชาชาติ และเป็นสัญญาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่มีความสมบูรณ์ฉบับแรกแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึง “รุ่งอรุณแห่งยุคใหม่” สำหรับคนพิการกว่า 650 ล้านคนทั่วโลก มติดังกล่าว นับว่าเป็นสัญญาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่มีการเจรจาตกลงกันในระยะเวลาที่รวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์กฏหมายระหว่างประเทศ และเกิดขึ้นภายหลังจากที่มีการเจรจาเพียงแค่ 3 ปี ทั้งนี้เนื่องมาจากมีกระแสการเรียกร้องและเชิญชวนให้ร่วมสนับสนุนอนุสัญญาดังกล่าวอย่างกว้างขวางผ่านอินเทอร์เน็ต สิ่งนี้ถือเป็นย่างก้าวที่มีนัยสำคัญต่อมวลมนุษยชาติ ที่แสดงให้เห็นว่าวัตถุประสงค์หลักของอนุสัญญาที่ผูกมัดโดยชอบด้วยกฎหมายนี้ เป็นไปเพื่อส่งเสริม ปกป้อง และรับรองความเท่าเทียมกันในด้าน
การคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพขั้นพื้นฐานของคนพิการทุกคน นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมให้เคารพต่อศักดิ์ศรีที่มีมาแต่กำเนิดของแต่ละบุคคลด้วย
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ หรือ CRPD ได้เปิดให้มีการลงนามเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2550 จนกระทั่งถึงวันที่ 17 เดือนสิงหาคม 2552 นี้ มี 142 ประเทศที่ร่วมลงนาม ในขณะที่ 85 ประเทศได้ลงนามในพิธีการเลือกรับ (the Optional Protocol) ในจำนวนนี้ 64 ประเทศได้ให้สัตยาบันแล้ว (ประเทศไทย ได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาดังกล่าว โดยได้ให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2551) อนุสัญญาฯ นี้ อาจต้องการให้มีการลงนามและให้สัตยาบันต่อไปโดยฝ่ายนิติบัญญัติ หรือกระบวนการอื่นๆ ในรูปแบบที่เป็นทางการ ก่อนที่จะมีการนำไปปฏิบัติในประเทศนั้นๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระบอบกฏหมายภายในของแต่ละประเทศ อย่างไรก็ตามอนุสัญญาฯ ได้มีการกำหนดข้อปฏิบัติพื้นฐานและพันธะกรณีของแต่ละประเทศ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะเกิดความเสมอภาคสำหรับคนพิการในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอันรวมไปถึงอินเทอร์เน็ต
ตั้งแต่มีการรับรองอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ บรรดาสมาชิกสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ไอทียู ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง มีกิจกรรมต่างๆ ทั้งด้านการกำหนดนโยบาย ข้อบังคับและการบังคับใช้ที่เกี่ยวข้องกับวาระเรื่องความสามารถในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากระบบดิจิทัล นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอแนวทางในการปฏิบัติและเอกสารอ้างอิงสำหรับผู้ที่กำหนดนโยบาย กฎหมาย หรือข้อบังคับให้สามารถนำไปกำหนดเป็นมาตรการ หรือให้มีการบังคับใช้แผนงานแห่งชาติที่จะสนับสนุนเรื่องความสามารถในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากระบบดิจิทัลตามอนุสัญญาฯ
หน่วยงาน G3ict ซึ่งเป็นหน่วยงานการริเริ่มการบูรณาการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสำหรับคนพิการระดับโลก (The Global Initiative for Inclusive ICTs) และสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ได้ร่วมกันจัดการประชุมระดับโลกขึ้นเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2551 เรื่องมาตรฐานความสามารถในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ระบบดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ และในโอกาสนี้ หน่วยงานที่ดูแลด้านการพัฒนาโทรคมนาคมของไอทียู ได้ร่วมกับหน่วยงาน G3ict พัฒนาชุดเครื่องมือสำหรับผู้กำหนดนโยบาย ภายใต้ชื่อ “e-Accessible Policy Toolkit for Persons with Disabilities” ซึ่งเป็นชุดเครื่องมือที่ออกแบบเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับกรณีศึกษาและเอกสารอ้างอิงที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาวาระเรื่องความสามารถในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากระบบดิจิทัล ของอนุสัญญาฯ ในระดับประเทศ ซึ่งการดำเนินงานในครั้งนี้ เป็นรูปแบบ
ความร่วมมือที่นำผู้ที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนจากภาครัฐบาลบางประเทศ หน่วยงาน NGO องค์กรที่ดูแลเกี่ยวกับการพัฒนามาตรฐานต่างๆ ภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมถึงนักวิชาการ และหน่วยงานด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ
การประชุมภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก เรื่องการบูรณาการความสามารถในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสำหรับคนพิการในกระแสหลัก มุ่งเน้นประเด็นดังต่อไปนี้
เป็นการประชุมร่วมกันของ ผู้กำหนดนโยบาย ผู้กำหนดระเบียบข้อบังคับ ผู้ประกอบการ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง หน่วยงาน NGO และองค์กรนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญและผู้ชำนาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร คนพิการจากทั่วทั้งภูมิภาค โดยทั้งหมดจะมาร่วมกันหารือเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ทางด้านความสามารถในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสำหรับคนพิการ
เป็นการแนะนำชุดเครื่องมือเพื่อกำหนดนโยบายด้านความสามารถในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสำหรับคนพิการ ที่จะช่วยสนับสนุนผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในการพัฒนานโยบายและกลยุทธ์เพื่อตอบโจทย์เรื่องความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมถึงบริการที่จำเป็นสำหรับคนพิการที่สอดคล้องตามวัตถุประสงค์ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการเพื่อให้มั่นใจว่ามีการเผยแพร่ต่อสาธารณะอย่างเหมาะสม และสร้างความต่อเนื่องในการสนับสนุนการกำหนดวาระเรื่องความสามารถในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากระบบดิจิทัลของอนุสัญญาฯ ที่มุ่งเน้นเรื่องข้อกำหนดที่เป็นประโยชน์ในระดับประเทศแลกเปลี่ยนประสบการณ์และกรณีศึกษาในแต่ละประเทศระหว่างผู้เข้าร่วมประชุม รวมถึงการเรียนรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมช่วยเสริมศักยภาพด้านการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก และการประยุกต์ใช้งาน
ในการประชุม 3 วันนี้ มีผู้ตอบรับเข้าร่วมประชุม จากประเทศต่างๆ กว่า 20 ประเทศ จำนวนมากกว่า 140 ราย รวมทั้งคนพิการทุกประเภทด้วย โดยมีบุคคลสำคัญมากมายที่ได้ให้เกียรติมาร่วมบรรยาย และอภิปราย ได้แก่ นายมณเฑียร บุญตัน สมาชิกวุฒิสภา ประเทศไทย ฯพณฯ หลุยส์ แกลเลอโกส เอกอัครราชฑูต ประเทศเอกวาดอร์ ประจำประเทศสหรัฐอเมริกา เอกอัครราชฑูต สวาชพาวาน สิงห์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของอธิบดีองค์กรทรัพย์สินปัญญาโลก เกี่ยวกับเรื่องความริเริ่มสำหรับผู้มีความบกพร่องทางสายตา ดร. ไพรัช ธัชยพงษ์
ที่ปรึกษาอาวุโส สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นางซินเธีย แวดเดลล์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร ศูนย์ระหว่างประเทศด้านทรัพยากรบนอินเทอร์เน็ตที่เกี่ยวกับคนพิการ (International Center for Disability Resources on the Internet – ICDRI) นายเจอราร์ด เอลลิส ที่ปรึกษาพิเศษ คณะกรรมการยูนิเวอร์แซลแอกเซส ฟอรัมเรื่องความพิการแห่งภาคพื้นยุโรป (the Universal Access Committee of the European Disability Forum – EDF)
ทั้งนี้ ในการประชุม จะมีการอภิปรายกันถึงประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้
วาระเรื่องความสามารถในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้
นโยบายภาครัฐ และผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคมในด้านความสามารถในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสำหรับคนพิการ
ระบบโทรคมนาคมที่เข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้สำหรับคนพิการ
เว็บไซต์ที่เข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้และการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสำหรับคนพิการ
กลไกในระดับภูมิภาค ความร่วมมือระหว่างชาติ และวิธีการดำเนินงานต่อไป
สัมมนาเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับเครื่องมือช่วยในการประเมินตน การจัดซื้อของภาครัฐ และความสามารถในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเว็บไซต์
การประชุมครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงาน G3ict สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม แห่งชาติ กรมบรอดแบนด์ การสื่อสารและเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งรัฐบาลออสเตรเลีย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ และ ดีแทค
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประชุมและกำหนดการประชุม สามารถสืบค้นได้ที่เว็บไซต์
http://www.itu.int/ITU-D/asp/CMS/Events/2009/PwDs/index.asp สาระเกี่ยวกับ ITU
สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ไอทียู (ITU - International Telecommunication Union) เป็นหน่วยงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของสหประชาชาติ และเป็นศูนย์กลางระหว่างภาครัฐบาลและภาคเอกชนในการพัฒนาเครือข่ายและบริการต่างๆ ด้วยประวัติการทำงานยาวนานเกือบ 145 ปี ITU มีบทบาทสำคัญในการดำเนินการด้านการจัดสรรการใช้คลื่นวิทยุความถี่ การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการจัดสรรวงจรดาวเทียม และการทำงานในรูปแบบต่างๆ ที่ส่งเสริมการพัฒนาพื้นฐานด้านโทรคมนาคมในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก นอกจากนั้น ITU ยังมีบทบาทสำคัญในการวางมาตรฐานการโทรคมนาคมของโลก ซึ่งก่อให้เกิดระบบการสื่อสารทันสมัยที่มีประสิทธิภาพในยุคปัจจุบัน และเพื่อตอบสนองความท้าทายในปัจจุบัน เช่น การบรรเทาเรื่องการเปลี่ยนแปลงของชั้นบรรยากาศโลก และการสร้างความแข็งแกร่งด้านความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ เป็นต้น
ITU ยังมีบทบาทในการจัดงานทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค เช่นงาน ITU TELECOM WORLD ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของบุคคลสำคัญที่มีบทบาทในวงการโทรคมนาคมทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อมาพบปะพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ความรู้ และเทคโนโลยีซึ่งกันและกัน เพื่อประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติ โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนาจากระบบอินเทอร์เน็ตบรอดแบรนด์ ถึงเทคโนโลยีไร้สายอันล้ำสมัย และจากระบบนำร่องเพื่อการบินและการเดินทะเล ไปถึงระบบพยากรณ์อากาศผ่านดาวเทียม จากการสื่อสารหลายรูปแบบที่มาผนวกรวมกัน (Convergence) ทั้งทางระบบโทรศัพท์พื้นฐานและโทรศัพท์มือถือ การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ข้อมูล เสียง และระบบกระจายภาพและเสียงผ่านสื่อโทรทัศน์ ตลอดจนเครือข่ายแห่งอนาคต ITU จะยังคงทำหน้าที่สำคัญในการช่วยให้โลกนี้สามารถสื่อสารกันได้ดียิ่งขึ้นต่อไป