du_sit on April 04, 2013, 06:24:26 AM

อพท. แจงเหตุโอนเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีล่าช้า






อพท. แจงเหตุผลโอน “เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี”  ไปขึ้นอยู่กับสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) ล่าช้าเพราะติดที่การจัดทำบัญชีทรัพย์สินที่ยังไม่เสร็จเรียบร้อย  รายงานข่าวแจ้งอีกหนึ่งประเด็นร้อนในที่ประชุม ครม. สัญจร ที่ จังหวัดฉะเชิงเทรา รอง นรม. ปลอดประสพ จี้ถาม ว่าที่รอง นรม. ยุคล ถึงเหตุที่ล่าช้าพร้อมฉะพรรคชาติไทยพัฒนาเล่นเกม


พันเอก ดร. นาฬิกอติภัค แสงสนิท  ผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.  กล่าวว่า  กระบวนการโอนย้ายพื้นที่พิเศษเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี หรือ สพพ.2 ไปอยู่กับสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ เนื่องจากทางเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีจัดทำบัญชีทรัพย์สินยังไม่เรียบร้อย โดยมีทรัพย์สินอีกกว่า 100 รายการ ที่จะต้องปรับปรุงให้แล้วเสร็จก่อนที่จะส่งมาให้ยัง อพท.ส่วนกลาง เพื่อนำเสนอต่อ ครม. ตามลำดับ  ซึ่งยอมรับว่าล่าช้าไปมากพอสมควรจากที่ อพท. สั่งการให้เชียงใหม่ไนท์ซาฟารีเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2556  ล่าสุด อพท. ได้ว่าจ้างผู้สอบบัญชีรับอนุญาตมาช่วยตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและรับรองงบการเงินของ สพพ.2 ด้วยเพื่อความรวดเร็ว


“วันนี้ เชียงใหม่ไนท์ซาฟารียังอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของ อพท. จนกว่าเรื่องโอนทรัพย์สินจะเสร็จสมบูรณ์ เพราะเป็นเรื่องสำคัญมากที่ต้องทำให้เรียบร้อยก่อนโอนย้าย  ยิ่งเป็นการย้ายข้ามหน่วยงานต้องยิ่งเพิ่มความละเอียดรอบคอบ ทรัพย์สินในที่นี้หมายถึงสัตว์ซึ่งเป็นทรัพย์สินชีวภาพด้วย  นอกจากนั้นยังต้องดูรายละเอียดสัญญาต่างๆ ที่ อพท. ในฐานะหน่วยแม่ได้ลงนามไปแล้วในปีงบประมาณนี้ ว่าจะต้องทำอย่างไร และต้องเปลี่ยนคู่สัญญาเป็นสำนักงานพัฒนาพิงคนครหรือไม่”


อย่างไรก็ตาม การโอนย้ายเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีออกไป ไม่ได้มีผลกระทบกับการทำงานของ อพท.   แต่ยิ่งทำให้ภาพการทำงานของ อพท. ด้านการประสาน ส่งเสริม สนับสนุน มีความชัดเจนมายิ่งขึ้น เพราะจริงๆแล้วหากเปรียบภารกิจของ อพท. คือเป็นเหมือนคอนดักเตอร์ควบคุมวงดนตรี ไม่ใช่ผู้ปฏิบัติโดยตรงเหมือนเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี


 ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง อพท. พ.ศ.2546  ระบุว่า อพท. สามารถหารายได้เองได้ แต่ไม่ได้จัดอยู่ในภารกิจหลักของการจัดตั้งองค์กร  หากมีโครงการสร้างรายได้เพื่อแบ่งเบาการพึ่งงบประมาณแผ่นดินเพียงอย่างเดียวก็จะยิ่งดี ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่ในอนาคต อพท.อาจมีโครงการที่ลงทุนเอง หรือร่วมลงทุนกับภาคเอกชน เพื่อหารายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายบริหารงานภายในองค์กร หรือสำนักงานพื้นที่พิเศษ เป็นการแบ่งเบาการขอสนับสนุนงบประมาณแผ่นดิน เช่น ลงทุนในโครงการโรงกำจัดขยะ เป็นต้น  โดยโครงสร้างขององค์การ มีส่วนของสำนักงานแผนพัฒนาพื้นที่พิเศษ ซึ่งจะทำหน้าที่ดูแลเรื่องการลงทุน  ดังนั้น หากพื้นที่พิเศษใดมีโครงการที่น่าสนใจสามารถพัฒนาให้สร้างเป็นรายได้เลี้ยงตัวเองได้ก็จะมีการหารือกันอีกครั้ง แต่การลงทุนหรือร่วมทุนจะต้องเป็นกิจการที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม หากถึงจุดนั้นได้เท่ากับว่าสำนักงานพื้นที่พิเศษนั้นๆจะมีการทำงานที่ยั่งยืน แม้ภารกิจการปฎิบัติงานในพื้นที่พิเศษตามแผนแม่บทจะเสร็จสิ้นลง แต่ก็ยังมีโครงการลงทุนที่ต้องดูแลและบริหารจัดการ เจ้าหน้าที่ก็ไม่จำเป็นต้องย้ายไปสำนักงานพื้นที่พิเศษอื่นๆ


 




***เพิ่มเงื่อนไขต้องเซ็นMOUก่อนประกาศเป็นพื้นที่พิเศษ***


 พันเอก ดร. นาฬิกอติภัค กล่าวอีกว่า จากการปฎิบัติงานเป็นผู้บริหารใน อพท. 4 ปีที่ผ่านมา ทำให้เห็นปัญหาเรื่องการประสานภาคีเครือข่ายให้ดำเนินการตามแผน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของ อพท. เป็นอย่างมาก เนื่องจากพอถึงเวลาจะไม่ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจริงอย่างที่เคยตกลงกันไว้ด้วยวาจา ดังนั้นจึงได้เพิ่มเงื่อนไขใหม่ให้กับพื้นที่ที่จะประกาศเป็นพื้นที่พิเศษต่อจากนี้ไปว่า จะต้องผ่านกระบวนการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน หรือ MOU กันให้เสร็จสิ้นก่อนที่ อพท. จะประกาศให้เป็นพื้นที่พิเศษ โดยลงนามร่วมระหว่าง อพท. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และชุมชน  ในการที่จะร่วมกันขับเคลื่อนแผนการทำงานตามแผนแม่บทไปด้วยกันอย่างต่อเนื่อง


รายงานข่าวแจ้งว่า ความล่าช้าของการโอนย้ายเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีให้กับสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) ได้กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดฉะเชิงเทราเมื่อเช้าวันที่ 31 มีนาคม 2556 เพราะนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ลุกขึ้นทวงถามต่อนายยุคล ลิ้มแหลมทอง ว่าที่รองนายกรัฐมนตรี โดยระบุว่าความล่าช้าที่เกิดขึ้นสงสัยจะเป็นนโยบายของทางพรรคชาติไทยพัฒนาที่ต้องการให้ล่าช้าหรือไม่








« Last Edit: May 09, 2013, 04:20:18 PM by du_sit »