จากบทประพันธ์อิงประวัติศาสตร์อันเลื่องชื่อ
นำมาสู่การตีความใหม่ในศาสตร์ภาพยนตร์
ที่จะสร้างความประทับใจกับตำนานความรักข้ามเชื้อชาติอีกครั้ง
คู่กรรม
“คุณมีเหตุผลของคุณ ผมมีหัวใจของผมก็พอแล้ว
สงครามจะเป็นอย่างไรก็คงเป็นเรื่องของสงคราม”
แม้เวลาอาจจะสายเกินไปที่จะเอ่ยคำนี้
แต่ความรู้สึกภายในนั้นไร้กาลเวลา
สัมผัสความรักท่ามกลางสงคราม
ที่จะทำให้เข้าใจคำว่า ‘รัก’ และ ‘อุปสรรค’ มากขึ้น
เปิดตำนานรักข้ามเชื้อชาติครั้งใหม่
โดย กิตติกร เลียวศิริกุล
4 เมษายน 56
ภาพแรกอันงดงาม
“คุณมีเหตุผลของคุณ ผมมีหัวใจของผม”
ฝ่ายหนึ่ง...มากไปด้วยทิฐิและความเกลียดชัง
อีกฝ่ายหนึ่ง…ในความเกลียด ในความชิงชัง เขาได้ใช้ความรักเป็นเครื่องหักล้างตลอดมา และทะนงตัวพอที่จะรับความผิดหวังแต่เพียงเงียบๆ
“ชั่วชีวิตของคนเรา หากจะเลือกรักใครได้สักคน ด้วยหัวใจทั้งหมด ผมก็ได้เลือกแล้ว และถ้าผมจะต้องได้รับความทรมานเพราะรักใครสักคนหนึ่ง ผมก็ยินดี ผมรักคุณ...ถึงยังไงๆ ก็ยังรักอยู่นั่นเอง รักทั้งๆ ที่รู้ว่าคุณไม่ได้รู้สึกเช่นเดียวกับผมเลย”
กว่าจะรู้ว่าชีวิตของคนเรานั้น ไม่ได้ยืดยาวนักเลย
กว่าจะเข้าใจว่าเวลาสำหรับความรัก มักผ่านไปเร็วเสมอ
และดวงไฟแห่งรัก แท้จริงแล้วอบอุ่นในหัวใจเหลือเกิน
เวลาก็เหลือเพียงน้อยนิด ให้เราได้กระซิบความรู้สึกที่อยากเอ่ยมานาน...
“อนาตะ โอ อาอิชิ มาสุ...ผมรักคุณเสมอ”
จากบทประพันธ์ คู่กรรม โดย ทมยันตี คงไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะถ่ายทอดเรื่องราวความรักสักเรื่องผ่านตัวอักษรให้ออกมางดงาม และตราตรึงเข้าไปในใจของผู้อ่าน เฉกเช่นเดียวกับสิ่งที่ ทมยันตี นักเขียนเจ้าของผลงานที่ครองใจแฟนๆอย่างมากมาย และ ยาวนานได้ถ่ายทอดไว้ในบทประพันธ์เรื่อง คู่กรรม ที่ได้ฉายภาพความรักอันตราตรึงของหนุ่มสาวที่ต่างเกิดมาเพื่อกันและกัน แต่กลับต้องห่างเหินกันเพียงเพราะสงคราม ซึ่งนั่นคือเสน่ห์ของการร้อยเรียงตัวอักษรให้เกิดสุนทรียะของเรื่องเล่า เมื่อมีการนำตัวอักษรเหล่านี้มาตีความและสร้างสรรค์ให้เกิดเป็นภาพ ตามศาสตร์ศิลปะของภาพเคลื่อนไหว ก็จำเป็นต้องใช้สุนทรียะของภาพอีกแบบ คงจะได้เห็นกันผ่าน คู่กรรม ที่ถูกสร้างเป็นละครโทรทัศน์ ละครเวที และภาพยนตร์มานับครั้งไม่ถ้วน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการตีความที่เหมือนหรือแตกต่างกันออกไปตามทัศนะของผู้กำกับแต่ละคน และที่สำคัญทุกครั้ง ก็เป็นการทำให้บทประพันธ์เรื่องนี้มีแต่จะทรงคุณค่ายิ่งขึ้นไปรักในความทรงจำ
ครั้งหนึ่ง...เหตุการณ์ต่อไปนี้ได้เคยเกิดขึ้นจริงๆ ในปี พ.ศ. 2485 สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เริ่มต้นขึ้น กองทัพญี่ปุ่นได้เดินทางมาประเทศไทยเพื่อใช้เป็นฐานทัพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในเขตพระนครของกรุงเทพฯ เนื่องจากประเทศไทยได้เซ็นสัญญาร่วมรบกับกองทัพญี่ปุ่นในฐานะพันธมิตร และประชาชนทุกคนต้องให้ความร่วมมือกับกองทัพญี่ปุ่นอย่างเต็มที่ หากผู้ใดฝ่าฝืนจำต้องได้รับโทษ ซึ่งแน่นอนว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้เห็นด้วยกับกฎหมายข้อบังคับของรัฐบาล ก่อนที่ในปี พ.ศ. 2508 นักเขียนนามว่า ทมยันตี (1) ได้เดินทางไปเยือน สุสานทหารสัมพันธมิตร ดอนรัก ตั้งอยู่ริมถนนแสงชูโต จังหวัดกาญจนบุรี สุสานแห่งนี้เป็นสุสานของเชลยศึกสัมพันธมิตรที่เสียชีวิตในระหว่างการสร้างทางรถไฟสายมรณะ สุสานแห่งนี้บรรจุศพทหารเชลยศึกถึง 6,982 หลุม บรรยากาศความเงียบสงบบริเวณรอบๆ สู่สานได้ทำให้ทมยันตีจินตนาการไปถึงภาพความโหดร้ายของสงคราม ที่นำความทุกข์ใจมาสู่เหล่าทหาร ให้ต้องพลัดพรากจากบ้านเกิดเพื่อมาทำหน้าที่ในสนามรบ กระทั่งตอนที่สิ้นลมหายใจ ร่างกายของพวกเขาก็ยังไม่ได้กลับบ้านเลย ประกอบกับทมยันตีได้เห็นโปสการ์ดใบหนึ่งที่ผูกติดมากับช่อดอกไม้ ซึ่งวางอยู่บนหลุมฝังศพและบันทึกบทกวีบทหนึ่งไว้ มีใจความว่า “เธอคือ...แสงสว่างแห่งชีวิตที่อุบัติขึ้น และบัดนี้ แสงสว่างนั้นได้ดับลงแล้ว ฝากรอบจูบและหยดน้ำตา มากับกลีบกุหลาบทุกกลีบ” ทมยันตีจึงได้นำแรงบันดาลใจนี้ มาเนรมิตเรื่องราวความรักให้เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าว ก่อเกิดเป็นนวนิยายเรื่องยาวที่ชื่อว่า คู่กรรม โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญว่า เมื่อเกิด ‘ความรัก’ ขึ้นท่ามกลางสงคราม ระหว่างหญิงสาวชาวไทยนามว่า อังศุมาลิน และทหารญี่ปุ่นนามว่า โกโบริ ความแตกต่างระหว่างเชื้อชาติและเหตุผลทางการเมือง ก็อาจผันเปลี่ยนเป็น ‘รักต้องห้าม’ ไปได้ ผลงานวรรณกรรมเรื่อง คู่กรรม ได้รับการตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในนิตยสารศรีสยาม (2) โดยได้รับความนิยมอย่างสูงจากผู้อ่าน เนื้อหาว่าด้วยความรักต้องห้ามระหว่างอังศุมาลินและโกโบริ อีกทั้งยังมีฉากหลังเป็นภาพสงครามที่อิงมาจากประวัติศาสตร์จริงๆ จึงไม่แปลกที่จะชวนให้ผู้อ่านติดตามอย่างเหนียวแน่นตลอดเวลาที่พิมพ์ในนิตยสาร ก่อนที่ในปีพ.ศ. 2512 คู่กรรม ได้รับการนำมารวมเล่มเป็นครั้งแรกและได้รับความนิยมอย่างสูงเช่นกัน จนทมยันตีได้ประพันธ์ คู่กรรม 2 ซึ่งเป็นภาคต่อ ว่าด้วยเรื่องราวของลูกชายอังศุมาลินที่เติบโตขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติ โดย คู่กรรม ทั้งสองภาคได้รับการตีพิมพ์อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ครั้งหนึ่งบทประพันธ์ คู่กรรม ก็ได้รับการตีความ เพื่อนำมาเล่าใหม่ในศาสตร์ภาพยนตร์ถึง 3 ครั้ง ในยุคสมัยที่แตกต่างกัน ซึ่งแต่ละครั้งก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง และในปี พ.ศ. 2556 เริ่มมีกระแสข่าวเป็นที่จับตามองจากทุกๆ สื่อ หลังจากมีการประกาศจากค่าย M๓๙ ว่าจะมีการสร้าง คู่กรรม ใหม่อีกครั้ง โดยมีพระเอกละครที่กำลังได้รับความนิยมสูงสุด ณ เวลานี้อย่าง ณเดชน์ คูกิมิยะ (5) มารับบทเป็น โกโบริ สมทบกับนางเอกใหม่ อรเณศ ดีคาบาเลส (6) สาวน้อยวัย 18 ปี เจ้าของแววตาใสซื่อ ที่มีดีกรีเป็นถึงนักกีฬาเหรียญทองแบดมินตันเยาวชนแห่งชาติ มารับบทเป็น อังศุมาลิน พร้อมด้วยการตีความจากบทประพันธ์ครั้งใหม่จากผู้กำกับที่มีเอกลักษณ์ในการกำกับเฉพาะตัวอย่าง กิตติกร เลียวศิริกุล ส่งผลให้การสร้าง คู่กรรม ครั้งใหม่นี้อาจสร้างปรากฏการณ์ใหม่ ให้ผู้ชมจดจำภาพตำนานรักข้ามชาติในรูปแบบที่ไม่เหมือนเดิม สัมผัสความรักครั้งใหม่
บทประพันธ์ คู่กรรม ได้รับการนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ถึง 3 ครั้ง ซึ่งทุกครั้งการตีความจากตัวหนังสือออกมาเป็นภาพเคลื่อนไหวก็แตกต่างกันออกไป และครั้งนี้ทีมงานสร้างก็เลือกที่จะตีความการเล่าเรื่องเสียใหม่ ให้ไม่เหมือนการดูหนังที่ถอดมาจากบทประพันธ์ทุกรายละเอียด แต่เป็นการเล่าเรื่องใหม่โดยใช้มุมมองส่วนตัวผสมผสานกับความเข้าใจในบทประพันธ์เป็นอย่างดี เพื่อถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานภาพยนตร์ คู่กรรม ที่จะเผยแง่มุมอีกด้านของผู้กำกับเรียว กิตติกรที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อนนิยามรักข้ามเชื้อชาติของ เรียว - กิตติกร เลียวศิริกุล “ผมไม่ดูหนังเวอร์ชันเก่า ก่อนจะลงมือสร้างเลย เพราะจะทำให้รู้สึกกดดันมาก” คือประโยคแรกที่ เรียว - กิตติกร เลียวศิริกุล กล่าว เมื่อมีข่าวคราวว่า คู่กรรม จะได้รับการนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์อีกครั้งโดยฝีมือกำกับของเขาเอง ซึ่งนั่นทำให้ใครก็ตามที่เคยสัมผัสกับบทประพันธ์เรื่องนี้มาก่อน ต่างจับตามองถึงการตีความครั้งใหม่นี้อย่างใจจดใจจ่อ “ทำไมถึงเป็น คู่กรรม ผมว่าโครงสร้างของ คู่กรรม นั้นดีอยู่แล้ว เป็นเรื่องราวที่มีมุมหลายมุมให้เอามาทำอยู่เยอะมาก และอีกเหตุผลหนึ่งคือ ผมคงไม่สามารถคิดหรือเขียนพล็อตเรื่องอะไรดีเท่านี้ได้อีกแล้ว” เขาอธิบายถึงเหตุผล ในการหยิบผลงานวรรณกรรมขึ้นหิ้งชิ้นนี้มาสร้างเป็นภาพยนตร์ใหม่อีกครั้ง คำถามที่ถามกันมากว่าในเมื่อการสร้างครั้งก่อนดีอยู่แล้ว จะสร้างอีกครั้งทำไม ผู้กำกับเรียวก็ให้คำตอบอย่างตรงไปตรงมาว่า “คนจะถามเสมอว่าของเก่ามันดีอยู่แล้วจะทำของใหม่ทำไม ผมว่ามันดีตามยุคสมัย คือให้มันเป็นไปตามยุคมากกว่า ของดีต้องเปลี่ยนแปลงไปตามยุค อย่างรำไทยยุคใหม่ ควรจะรำแบบประยุกต์รึเปล่า ต่างคนต่างความคิด แต่ส่วนตัวคิดว่าต้องทำ ถ้าไม่ทำมันจะหายไป คือยังไงลายเซ็นของทุกคนไม่เหมือนกัน ใครทำก็ไม่มีทางเหมือนกัน ภาวะสภาพบ้านเมือง สังคม และตัวแสดง ยังไงก็ไม่มีทางเหมือนกัน เพียงแต่ว่าเราอาจจะทำง่ายกว่าด้วยซ้ำ เพราะว่ามีการบ้านที่คนอื่นทำแล้ว แต่ในอีกแง่ถ้าเราทำจากการบ้านของคนอื่นก็จะเป็นการกดดันตัวเอง เราก็ทำของเราไป” นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้กำกับหนุ่มลงมือสืบค้นหลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างหนักหลายเดือน เพื่อผลลัพธ์ที่จะนำมาใช้ในภาพยนตร์ ‘สมจริง’ มากที่สุด อีกทั้งสถานที่จริงและหลักฐานจริง ที่เขาต้องพิถีถันในการคัดกรองข้อมูลอย่างหนัก “ตอนเป็นนิยายในนิตยสารรายสัปดาห์ จะมีเรื่องราวแต่งเติมต่อยอดมาเยอะ เพราะคุณทมยันตีใช้เวลาเขียนเรื่องนี้ หลายปี จึงมีความคิดเห็นและการพัฒนาของตัวละครเปลี่ยนไปตลอดเวลา และในความคิดของผม คู่กรรม เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทางด้านวรรณกรรมนะ ผมไปเจอบางคนที่มีอายุหน่อย เขาก็มาคุยกันว่าเรื่องราวของ คู่กรรม มีส่วนที่ เป็นความจริงอยู่” “งานคู่กรรมมันเยอะ ส่วนตัวไม่รู้สึกว่างานมันยาก แต่งานมันเยอะรายละเอียดเยอะไปหมด ก็เดินหน้าทำเลย แค่บทพูดอย่างเดียวก็เหนื่อยแล้ว พูดญี่ปุ่นเป็นไทย พูดไทยเป็นญี่ปุ่น แล้วถ้าพูดญี่ปุ่นกับญี่ปุ่น คนไทยจะรู้เรื่องไหม ก็เลือกให้ผู้หญิงต้องพูดญี่ปุ่น พูดอังกฤษ พูดเยอรมัน ญี่ปุ่นสำเนียงไทย ญี่กับญี่ปุ่น สำเนียงไหน ภาษาไทยย้อนยุคหรือไม่ย้อนยุค เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย โลเกชั่น บทภาพยนตร์ บทถ่ายทำ แล้วจะเล่นกันอย่างไร ที่สำคัญจะเล่นเป็นแบบไหน เรื่องนี้หนักที่งานสร้างตัวละคร กว่าจะสร้างให้เป็นตัวละคร โกโบริ – อังศุมาลิน ผมใช้เวลาไปกับการสร้างตัวละครเยอะ ซ้อมเยอะ ใช้เวลากับช่วงพรีโพลเยอะ มีเรื่องที่ต้องตัดสินใจเยอะ ช่วงถ่ายนิดเดียวแต่งานก่อนถ่ายเยอะมาก เช่นตกลงจะมีไฟฟ้าไหม จะนอนมุ้งหรือไม่นอนมุ้ง มียุงหรือไม่มี ยุ่งนะเรื่องการสร้างความเชื่อเรื่องตัวละคร สร้างบรรยากาศ รีเสิร์ชข้อมูลจริงที่เกี่ยวกับญี่ปุ่นสงคราม การเดินทาง จำนวนผู้คน รายละเอียนดมันเยอะ ซึ่งทั้งหมดก็ต้องรีเสิร์ชเอง เพราะใช้ใครก็ไม่มันต้องทำเอาถึงจะเข้าถึงข้อมูลที่เราอยากได้ “ แต่ถึงกระนั้นเขาก็ยังไม่ทิ้งเสน่ห์ของความเป็น ‘หนังรักวัยรุ่น’ ซึ่งถอดใจความสำคัญมาจากนิยายในมุมมองของเขาเอง ก่อนจะเกิดเป็นคำถามว่า บุคลิกการกำกับหนังมาก่อนหน้าทุกเรื่องในนาม เรียว กิตติกร อย่าง เราสองสามคน, โกลด์คลับ เกมล้มโต๊ะ หรือแม้กระทั่ง เมล์นรก หมวยยกล้อ ทำให้เกิดคำถามว่าเขาจะสรรสร้าง คู่กรรม ออกมาเป็นอย่างไร “ผมมองว่าญี่ปุ่นในสมัยนั้นเป็นเพื่่อนบ้านที่กำลังมีเรื่องเท่านั้น ไม่ได้เป็นศัตรูกับเรา ผมไม่อยากไปรื้อประเด็นในเรื่องประวัติศาสตร์ขึ้นมา เพียงแต่คิดว่า คนไทยเราในสมัยนั้นรักกันกับญี่ปุ่นเสียด้วยซ้ำ” การตีความโดยอ้างอิงจากประวัติศาสตร์ในมุมมองของเรียว จึงไม่ใช่การเน้นภาพของสงครามหรือความขัดแย้ง แต่ภาพที่เขาอยากให้คนดูได้เห็นคือ ‘ความรัก’ ที่เกิดขึ้นท่ามกลางสงคราม โดยมีอุปสรรคจากเชื้อชาติและเหตุผลทางการเมือง “คู่กรรม ของผมเป็นหนังรักวัยรุ่น ดังนั้นจะไม่มีอะไรที่เยิ่นเย้อยืดยาดแน่นอน โกโบริเจอกับอังศุมาลินก็จีบกันเลย งอนกันง้อกันเลย” ผู้กำกับเน้นย้ำให้เห็นภาพในหนังได้อย่างชัดเจน เพราะฉะนั้นภาพจำที่คนดูเคยเห็นในความเป็น คู่กรรม จะไม่มีทางได้เห็นเลยในฉบับของเขา “ผมอยากให้คนดูได้เห็นถึงสังคมวัยรุ่นสมัยก่อน ว่าเขาเปรี้ยวกว่า กล้ากว่า เด็กสมัยนี้อีก ผมจะให้โกโบริและอังศุมาลินเป็นตัวบอกว่า วัยรุ่นในอดีตเขารักอย่างไร” บางทีนี่อาจจะเป็นเพียงถ้อยคำเล็กๆ ที่ออกมาจากปากของผู้กำกับนามว่า เรียว - กิตติกร เลียวศิริกุล แต่กลับทำให้คนดูรู้สึกกับหนังเรื่อง คู่กรรม ในมุมมองที่ต่างไปจากเดิม