ผู้กำกับภาพยนตร์ : เฝิงเสี่ยวกัง
เฝิงเสี่ยวกังเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จที่สุดคนหนึ่งของจีน ในปี 2009 เขาเป็นที่จับตามองในระดับนานาชาติในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์จีนคนแรกที่ทำเงินทะลุพันล้านหยวน (146.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) บนตารางบ็อกซ์ออฟฟิศจีน เฝิงเสี่ยวกังกลายเป็นผู้กำกับขวัญผู้ชมชาวจีนด้วยผลงานภาพยนตร์ตลกเฉพาะตัวในยุค 90 ที่กล่าวถึงความฝันและความทะเยอทะยานของคนจีนเดินดินธรรมดา ผลงานภาพยนตร์เรื่องสำคัญของเขาได้แก่ "The Dream Factory", "Be There of Be Square" และ "Sorry, Baby" ในปี 2000 หลังประสบความสำเร็จอย่างสูง เขาได้เปลี่ยนแนวทางสู่ภาพยนตร์ชีวิตว่าด้วยการหย่าร้างเรื่อง "Sigh" ในปีถัดมาเขาได้กำกับภาพยนตร์แอ๊คชั่นเรื่อง "A World Without Thieves" ภาพยนตร์ซ่อนเงื่อนในรั้ววัง "The Banquet" ที่สร้างจากผลงานเรื่อง Hamlet ของเช็คสเปียร์ และมหากาพย์สงครามเรื่อง "The Assembly" ที่แสดงให้เห็นว่าเขามีศักยภาพที่จะกำกับฉากแอ๊คชั่นที่ซับซ้อนได้เช่นเดียวกับฉากชีวิตที่เข้มข้น ในปี 2008 ภาพยนตร์ตลกโรแมนติคสมัยใหม่อันซับซ้อนของเขาเรื่อง "If You are the One" ทำลายสถิติบ็อกซ์ออฟฟิศขึ้นแท่นภาพยนตร์จีนที่ทำรายได้สูงสุดตลอดกาล และกับภาพยนตร์เรื่อง "Aftershock" เฝิงเสี่ยวกังได้ผสานความสามารถด้านเทคนิคและความเข้าใจมนุษย์ เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้แก่ภาพยนตร์ภาษาจีน
ผลงานภาพยนตร์
1994 Gone Forever with My Love
1997 The Dream Factory
1998 Be There or Be Square
1999 Sorry, Baby
2000 Sigh
2001 Big Shot's Funeral
2003 Cell Phone
2005 A World Without Thieves
2006 The Banquet
2007 Assembly
2008 If You are the One
2010 Aftershock
2011 If You Are the One II
สารจากผู้กำกับ
ผมพบผู้เขียนเจ้าของบันทึก หลิวเจิ้นหยุน ในปี 1993 ตอนที่บันทึกของได้ตีพิมพ์ครั้งแรก เราพบกันอีกครั้งในปี 1994, 2000 และ 2002 และพยายามจะดัดแปลงเรื่องราวนี้ให้เป็นภาพยนตร์ แต่พบกับปัญหาด้านตรรกะและการสร้างสรรค์ อีกอย่าง ณ ตอนนั้น ผมยังไม่มั่นใจที่จะกำกับภาพยนตร์มหากาพย์ที่ยิ่งใหญ่ขนาดนั้น ผ่านไปเกือบทศวรรษในปี 2011 ผมถึงได้เริ่มคิดที่จะทำหนังเรื่องนี้อีกครั้ง และทุกอย่างก็เข้าที่เข้าทางอย่างไม่คาดฝัน รวมทั้งการได้ทุนสร้างกว่า 35 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
บันทึกของหลิวๆไม่ได้ดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ได้ง่ายๆ มันไม่ได้มีเรื่องราวเหมือนหนังทั่วไป และไม่มีตัวละครที่โดดเด่น แต่มุมมองของตัวละครแต่ละตัว ไม่ว่าจะเป็น บาทหลวง, เจ้าสัว, นักข่าว และอื่นๆ แสดงให้เห็นถึงมุมมองของภาวะแร้นแค้นที่แตกต่างกัน ผมพบความยากในการเขียนบทตั้งแต่เริ่มต้น ดังนั้นผมจึงตัดสินใจว่าต้องได้ลิ้มรสการเป็นผู้อพยพก่อน เป็นเวลาสามเดือนที่ผมเดินทางกับทีมเขียนบทจากมณฑลเหอหนานสู่มณฑลชานซีและฉงชิ่ง เราสัมภาษณ์ผู้คนมากมายระหว่างทางที่รอดตายจากความอดอยาก
บทภาพยนตร์ค่อยๆ เป็นรูปเป็นร่างขึ้น และเมื่อเสร็จเรียบร้อย เราต่างประหลาดใจกับความสมบูรณ์และพลังทางอารมณ์ของมัน มันไม่ใช่บทภาพยนตร์ที่เขียนขึ้นได้ด้วยการนั่งสบายๆ ในห้องแอร์ของโรงแรม ผมมีข้อมูลที่บางคนนึกไม่ถึง เช่น คุณอาจคิดว่าคนที่ประสบภัยอดอยากจะเศร้าและหดหู่ แต่ไม่ใช่เลย คนที่กำลังจะอดตายไม่มีกำลังพอที่จะรู้สึกแบบนั้น สิ่งที่พวกเขาคิดถึงมีเพียงอาหาร
นักแสดงส่วนใหญ่ไม่เคยได้ยินเรื่องภัยอดอยากนี้ ซึ่งเป็นความลับในหน้าประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่ และไม่มีใครรู้ระดับความรุนแรงของมัน ผมได้ทดลองฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ในหมู่ผู้ชมที่แตกต่างกัน ปรากฏว่ากลุ่มผู้ชมวัยรุ่นมีปฏิกิริยาภาพยนตร์มากที่สุด พวกเขาบอกว่ามันได้เปลี่ยนแปลงความคิดของพวกเขาต่อบรรพบุรุษ และมันทำให้พวกเขาหันกลับมาพิจารณาประวัติศาสตร์ของชาติอีกครั้ง นี่คือสิ่งที่ผมต้องการ นอกจากที่จะสร้างความสะเทือนใจแล้ว ผมยังอยากให้ผู้ชมได้แง่คิดอะไรกลับไปบ้าง