KTAMขายกรุงไทยอ้างอิงเงินเฟ้อ11-19มีนาคม เพิ่มทางเลือกลงทุนโอกาสรับยิลด์ชนะInflation
นายสมชัย บุญนำศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทเปิดจำหน่าย กองทุนเปิดกรุงไทยอ้างอิงเงินเฟ้อ (KTILF) ประเภทไม่กำหนดอายุโครงการ มูลค่า 2,000 ล้านบาท เสนอขายในวันที่ 11 – 19 มีนาคม 2556 เป็นกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อที่ออกโดยรัฐบาลไทย (Inflation Linked Bond) หรือตราสารหนี้หรือหน่วยลงทุนที่มีผลตอบแทนแปรผันตามการเปลี่ยนแปลงของเงินเฟ้อทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการลงทุน สำหรับผู้ที่ต้องการรักษาอำนาจซื้อที่แท้จริงของเงินลงทุนในระยะกลางถึงยาว โดยคาดหวังว่าจะได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินเฟ้อ ซึ่งการเลือกลงทุนผ่านกองทุนรวมจะช่วยเพิ่มความคล่องตัวแก่ผู้ลงทุน เนื่องจากสามารถซื้อหรือขายคืนหน่วยลงทุนได้ทุกวันทำการ โดยเงินลงทุนขั้นต่ำ 10,000 บาท ในราคาหน่วยลงทุนละ 10 บาท และผู้ถือหน่วยที่เป็นบุคคลธรรมดาจะได้รับยกเว้นภาษีจากผลตอบแทนของกองทุน
ทั้งนี้ สาเหตุที่บริษัทเปิดจำหน่ายกองทุนดังกล่าว เนื่องจากประเมินว่า ในปี 2556 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยจะอยู่ในอัตราร้อยละ 3% และมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นอีกในปีถัดๆ ไป โดยพิจารณาจากแนวโน้มเศรษฐกิจ แผนการลงทุนและใช้จ่ายของภาครัฐและเอกชน จากข้อมูลที่ผ่านมา ประเทศไทยเคยประสบปัญหาอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าร้อยละ 5 หลายครั้ง โดยเฉพาะในช่วงที่ระดับราคาสินค้าเกษตร อาหาร และราคาพลังงานปรับตัวเพิ่มขึ้น และย้อนหลัง 5-20 ปี ที่ผ่านมา พบว่าไทยเป็นประเทศที่เผชิญกับภาวะเงินเฟ้อระดับกลางถึงสูงเป็นประจำ โดยค่าเฉลี่ยอยู่ในช่วง 3.0 – 3.5% แต่มีการแกว่งตัวของอัตราเงินเฟ้อในช่วงกว้างระหว่าง -4% (ภาวะเงินฝืด) จนถึงบวกเพิ่มสูงกว่า 10% โดยมีเพียง 3 ครั้งเท่านั้นที่ไทยเกิดภาวะเงินฝืด (อัตราเงินเฟ้อเป็นลบ) ซึ่งเป็นช่วงที่ไทยประสบภาวะวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ
จากที่คาดว่าปัจจัยด้านเงินเฟ้อจะมีอิทธิพลต่อภาวะเศรษฐกิจและภาวะการลงทุนในอนาคตดอันใกล้ ทิศทางดังกล่าวจึงเป็นตัวแปรกดดันต่อความสามารถของผู้ออมเงินและนักลงทุนในการรักษามูลค่าที่แท้จริงของเงินลงทุนของตนเองเมื่ออัตราเงินเฟ้อขยายตัวขึ้นและมีแนวโน้มที่จะรุนแรงในอนาคต ดังนั้น การลงทุนในเงินฝากหรือตราสารหนี้ทั่วไปที่มักจะจ่ายอัตราดอกเบี้ยคงที่หรือไม่แปรผันตามเงินเฟ้ออาจจะไม่คุ้มค่า เพราะแม้ว่าผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนที่แน่นอนแต่หากอยู่ในระดับต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ มูลค่าเงินลงทุนเมื่อรวมผลตอบแทนจะไม่เพียงพอรองรับแผนการใช้จ่ายเงินที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ เพราะราคาสินค้าหรือบริการมีการปรับตัวสูงขึ้นมากกว่า
ดังนั้น การลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความสัมพันธ์กับอัตราเงินเฟ้อจึงเป็นช่องทางที่จะทำให้ผู้ลงทุนหรือผู้ออมเงินสามารถรักษาอำนาจซื้อในระยะยาวได้ โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการออกพันธบัตรซึ่งจ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับเงินเฟ้อทั่วไป (Inflation Linked Bonds – ILBs) จึงเป็นทางเลือกสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ออมเงินที่ต้องการผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินเฟ้อ