“ซี.เอ.พี.พี กรุ๊ป” ทุ่ม 100 ล้านบาท
เจาะตลาดยา ชนพาราเซตามอล ลุย AEC “ซี.เอ.พี.พี กรุ๊ป” เตรียมทุ่มกว่า 100 ล้านบาท ลุยตลาดยาในประเทศ ดัน ยา “คูลแคป” (Koolcapp) ชนตลาดยาพารา หวังแชร์ 10 % ในตลาดยาบรรเทาไข้ มูลค่า 3-4 พันล้านบาท พร้อมบุกตลาด AEC เต็มตัว ประเดิม ลาว และอินโดฯ เตรียมขยายสู่อินโดไชน่า พม่า, เวียดนาม และกัมพูชา พร้อมผนึกศูนย์วิจัย CIRD กับ หน่วยปฏิบัติการวิจัยสารทรงฤทธิ์ชีวภาพเพื่อนวัตกรรมทางคลินิก จุฬาฯ ทำวิจัย “ประสิทธิภาพลดไข้ของยาคูลแคป (Koolcapp) การทดลองเชิงการแพทย์ ( Clinical Study)” เพื่อศึกษาคุณสมบัติของยา ที่บรรเทาไข้ แก้ร้อนใน ยืนยันว่าไม่มีผลข้างเคียง หวังยอดขายปีนี้ 150 ล้านบาท พร้อมเตรียมเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่จากธรรมชาติอีก 2-3 ตัว
ดร.นำกฤติ จีรพุทธิรักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซี.เอ.พี.พี กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด กรรมการผู้จัดการและผู้ถือหุ้น บริษัท ซี.เอ.พี.พี กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาคูลแคป (Koolcapp) และยาแคปปร้า (CAPPRA) ในฐานะที่บริษัทฯ เป็นผู้นำตลาดด้านนวัตกรรมยาจากธรรมชาติเพื่อสุขภาพ เปิดเผยว่า จากการเปิดตัว ผลิตภัณฑ์ยาคูลแคป (Koolcapp) ในกลางปี 2555 ที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี ซึ่งสามารถทำยอดขายได้กว่า 40 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 5 เดือน และเพื่อเป็นการสร้างการรับรู้อย่างต่อเนื่อง พร้อมกับสร้างความเชื่อถือ บริษัทฯ จึงได้ใช้งบประมาณการทำตลาดในปี 2556 ประมาณ 100 ล้านบาท
โดยกลยุทธ์ทางการตลาดของบริษัทฯ ยังคงเข้าถึงผู้บริโภคส่วนใหญ่เป็นหลัก โดยมีหนังโฆษณาทางทีวี เป็นกลยุทธ์สำคัญ และมีการทำกิจกรรมกับร้านค้ามากขึ้น พร้อมกับเจาะช่องทางตลาด ทั้งโมเดิลเทรด MT และร้านขายยาชั้นนำทั่วไป (OTC) และมีการอบรมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเจาะเข้ากลุ่มวัยรุ่นในมหาวิทยาลัยตลอดทั้งปี โดยในปีนี้บริษัทฯ ได้ตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 150 ล้านบาท โดยคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตประมาณ 40 %
ดร.นำกฤติ กล่าวถึงการเปิดตลาดใหม่ว่า ในปีนี้จะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมาทำตลาดอีกประมาณ 2-3 ตัว และขณะนี้บริษัทได้ขยายตลาดเข้าสู่ AEC แล้ว โดยเริ่มบุกตลาดประเทศลาวเป็นแห่งแรก ตามด้วยประเทศอินโดนีเซีย สิงคโปร และในปีนี้จะเข้าประเทศในกลุ่มอินโดไชน่า ไม่ว่าจะเป็นประเทศพม่า, เวียดนาม และกัมพูชา โดยเข้าไปในลักษณะการร่วมทุน และการแต่งตั้งตัวแทนจำหน่าย
แม้ที่ผ่านมาเรื่องราวที่กล่าวถึงผลเสียข้างเคียงของการรับประทานยาพาราเซตามอลยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง กับการส่งผลกระทบให้เป็นอันตรายต่อตับและไต ถ้ามีการรับประทานโดยไม่มีฐานความรู้อย่างถูกต้อง ทำให้เกิดกระแสของยาบรรเทาไข้ในรูปแบบของยาที่เป็นสารสกัดจากธรรมชาติมากขึ้น โดยประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และบางประเทศในยุโรป ได้จัดให้ยาที่ทำจากสารสกัดธรรมชาติหรือยาทางเลือก (Alternative Medicine) เข้าไปอยู่ในระบบการประกันสุขภาพ (Health Insurance) ด้วย
ทั้งนี้ทางศูนย์วิจัยเพื่อการวิจัยและพัฒนาของ CAPP GROUP จึงได้ทำการสนับสนุนงานวิจัยของศูนย์วิจัยนวัตกรรม CAPP INNOVATION RESEARCH and DEVELOPMENT CENTER (CIRD) องค์กรที่ไม่แสวงผลกำไรทางการค้า โดยทำงานร่วมกับ หน่วยปฏิบัติการวิจัยสารทรงฤทธิ์ชีวภาพเพื่อนวัตกรรมทางคลินิก (Bioactive Resources for Innovative Clinical Applications Research Unit) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันทำการวิจัย “ประสิทธิภาพลดไข้ของยาคูลแคป (Koolcapp) ในการทดลอง” เมื่อเทียบกับยาพาราเซตามอล
นายแพทย์ สรรชัย วิโรจน์แสงทอง ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัย CAPP Innovation Research and Development Center (CIRD) เปิดเผยว่า ทดลองโดย ทำให้เกิดไข้ โดยการฉีด Lipopolysaccharide (LPS) จากเชื้อ E.coli ขนาด 50 µg/kg
ตารางผลของ Koolcapp (KC; 138 มิลลิกรัมหรือ 24 เม็ด) ต่อวิธี Lipopolysaccaride-induced fever แสดงค่าเฉลี่ย ± ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานของค่าเฉลี่ย
ทำการวัดอุณหภูมิที่เวลา 1, 2, 3, 4, 5, 6, 7 ชั่วโมงหลังฉีด โดย สรุปผลการทดลอง ได้ว่า ยา KoolCapp ในขนาด 138 มิลลิกรัมหรือ 24 เม็ด มีประสิทธิภาพในการลดไข้ที่เกิดจากการกระตุ้นด้วย Lipopolysaccharide (LPS) จากเชื้อ E.coli ในขนาด 50 µg/kg
โดยประสิทธิภาพของยาคูลแคป ในขนาด 138 มิลลิกรัมหรือ 24 เม็ด เทียบเท่ากับยาพาราเซตามอล 150 มิลลิกรัมหรือ 14 เม็ด ตลอดช่วงเวลาที่ทำการทดสอบ อาจกล่าวได้ว่ายาคูลแคป ในขนาด 138 มิลลิกรัมหรือ 24 เม็ด มีประสิทธิภาพในการลดไข้สูงสุด ในชั่วโมงที่ 2 เป็นต้นไป โดยไม่ทำอันตรายต่อร่างกายจากการวัดค่าตับค่าไต ไม่ผิดปกติหลังจากทานยา ในขณะที่วัดค่าการเปลี่ยนแปลงเมื่อทานยาพาราเซตามอล 14 เม็ด ในการทดลองส่งผลให้ตับพังได้ ตลอดเวลาที่ทำการศึกษา
จึงเป็นข้อสรุปได้ว่า ยาคูลแคป นอกจากบรรเทาไข้ได้อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อเทียบกับพาราเซตตามอลแล้ว อีกทั้งยังปลอดภัยต่อตับและไตของผู้บริโภค เนื่องจากยาคูลแคปเป็นยาที่ช่วยระบายความร้อนออกจากร่างกายเมื่อเป็นไข้ จึงทำให้ยาคูลแคป ต่างจากยาที่ทำจากเคมี โดยมีคุณสมบัติเด่นในการแก้ร้อนในอีกด้วย
+++++++++++++++++++++++