แก๊งภารตะฮัดช่า
“น้ำ ขิง” (ด.ญ.สุธิดา หงษา) - เด็กหญิงบ้านนา ใจกล้า แก่นแก้ว มีความเป็นผู้นำอยู่สูง เป็นหัวโจกของกลุ่มเพื่อนในการผจญภัยในอินเดีย จนทำให้เจอกับเหตุการณ์ต่างๆ อันไม่คาดคิด เรื่องรักไม่ยุ่ง มุ่งแต่ตะลุยอินเดียหาทางกลับบ้านให้ได้
“เรื่องนี้หนูรับบท คล้ายๆ กับตัวเองอยู่เหมือนกันค่ะ จะเป็นหัวหน้ากลุ่มคอยพาเพื่อนไปเฮไหนเฮนั่น จะแสบๆ ซ่าๆ เป็นคู่ปรับกับพี่เปเล่ในเรื่อง ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่หนูไปอินเดียค่ะ ตื่นเต้นมากค่ะ กลัวร้อนมากก็เลยเตรียมกันแดดไปเยอะมาก แต่พอไปถึงจริงๆ ก็ไม่ค่อยร้อนเท่าไหร่นะคะ เล่นหนังเรื่องสนุกมากค่ะ ได้ไปเที่ยวอินเดียด้วยแล้วก็ได้เพื่อนใหม่ๆ เพิ่มขึ้นด้วย หลายคนอาจสงสัยว่าชื่อหนังหมายถึงอะไร รูปูก็คือรูปูที่เด็กอีสานชอบขุดเล่น ส่วนรูปีก็คือเงินตราของประเทศอินเดีย ผู้กำกับก็คิดอยู่นานว่าจะตั้งชื่อว่าอะไร รูอะไรดีนั่งคิดอยู่ 3-4 วันคิดได้ว่าไปอินเดียเงินตราก็เป็นของอินเดีย คิดไปคิดมาลุงท็อปเขาก็คิดได้ว่าต้องเป็นรูปุรูปี คือจะเป็นเหมือนเด็กอีสานกับเด็กอินเดียมาเจอกัน มันจะเกิดอะไรขึ้น ต้องดูค่ะ”
“เปเล่” (ด.ช.บุญฤทธิ์ จันทร์แก้ว) - เป็นพี่ใหญ่ที่สุดในกลุ่ม คาแร็คเตอร์เปิ่นๆ เชยๆ แต่ค่อนข้างหงุดหงิดง่าย และฉลาดแกมโกงนิดหน่อย ไม่ค่อยจะสนใจเพื่อนในกลุ่มนี้สักเท่าไหร่ แต่ก็ยอมรับความคิดเห็นของเพื่อนรุ่นน้องถ้ามันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เป็นคู่ซี้ปึ้กกับชิต ไปไหนไปกันตลอด
“ภาพที่คิดไว้ในหัวกับ ตอนที่ไปเจอจริงๆ ผิดกันมากเลยครับ แตกต่างฟ้ากับเหวเลย นึกว่าเมืองที่ไปจะสวยงามน่าอยู่ แต่ไปถึงแล้วมันกันดารมากเลยครับ แต่มันก็มีหลายสถานที่ที่ทำให้สงบได้แม้จะมีผู้คนเยอะแยะวุ่นวายก็ตาม หนังเรื่องนี้จะทำให้เห็นถึงมิตรภาพของกลุ่มเด็กๆ ที่แม้จะต่างภาษาและวัฒนธรรม แต่ก๋สามารถเชื่อมถึงกันได้ครับ”
“ชิต” (ด.ช.วิชิต สมดี) - เด็กชายผู้เงียบขรึม ไม่ค่อยพูดอะไรมากมาย เพราะกลัวคนจะฟังไม่รู้เรื่อง เป็นคนรักเพื่อนพ้อง และเสียสละ เป็นคู่หูกับเปเล่ เพราะอาศัยอยู่วัดเดียวกัน
“ตื่นเต้นและ สนุกดีครับได้ไปถ่ายหนังกับเพื่อนๆ ที่อินเดีย ได้เห็นลูกเห็บเป็นครั้งแรก มันเหมือนน้ำแข็งตกลงมาจากฟ้าเลยครับ เล่นเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ 3 แล้ว ผมก็กล้าขึ้นและสนุกขึ้นด้วยครับ”
“โบ๊ต” (ด.ช.ปกรณ์ ผ่องศรี) - จิ๋วแจ๋วภารตะฮัดช่า เล็กพริกขี้หนูที่สุดในกลุ่ม เป็นเด็กที่ตีโปงลางได้เก่งที่สุด เป็นเด็กที่มีความคิดอ่านดี มองโลกในแง่ดี และคอยออกความคิดนำพาแก๊งไปตะลุยอินเดียอย่างไม่สิ้นหวัง
“เล่น หนังเรื่องแรกสนุกมากครับ ได้เพื่อนใหม่ๆ ได้ไปเที่ยวอินเดียครั้งแรกด้วยครับ มีฉากผจญภัยสนุกๆ หลายฉากเลยครับ อย่างฉากอาบน้ำนี่ เราไม่รู้ว่าเป็นน้ำ 4 วรรณะที่เค้าใช้อาบกันมาจากชั้นบนๆ ครับ พวกผมก็กระโดดลงไปเล่นอย่างเย็นสบาย พอมารู้ว่าเป็นน้ำที่เค้าใช้แล้วสกปรกก็รีบกระโดดขึ้นมาจากสระเลยครับ”
“เซฟ” (ด.ญ.ศศิธร อัปมานะ) - เด็กหญิงหน้าตาสวยงาม น่ารักสดใส เป็นคนมองโลกในแง่ดี เป็นตัวกลางประสานระหว่างเพื่อนคนไทยกับอินเดีย เพราะสื่อสารภาษาอังกฤษได้รู้เรื่องที่สุดในกลุ่ม เลยต้องเป็นไกด์นำเพื่อนๆ ไปผจญภัยตามที่ต่างๆ เพื่อหาทางกลับบ้านให้ได้
“ดีใจ ค่ะที่ได้ไปต่างประเทศครั้งแรก แล้วเราก็รู้สึกเสียใจนิดหนึ่งด้วยว่าทำไมประเทศเขายากจน ประทับใจที่ได้แลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรม หนูอยากให้ไปดูการผจญภัยของเด็กๆ ได้ประสบการณ์ ความคิด เพื่อนรุ่นพี่รุ่นน้องที่ดีๆ ทุกคนเลย สนุกดีค่ะที่ได้เข้ามาทำงานในกองถ่ายเป็นครั้งแรก”
“ภีม” (ด.ช.ธงรบ ดีเมืองปัก) - เป็นคนเงียบๆ ชอบสนุกสนานกับเพื่อนๆ แต่แล้วก็หลงทางไปกับเพื่อน เป็นคนพูดน้อย ชอบอยู่ในกลุ่มเพื่อน ไม่ตีตัวออกห่างจากกลุ่ม
“เรื่องแรกเลยครับ ทั้งตื่นเต้นทั้งสนุก แต่คาแร็คเตอร์จะไม่ค่อยเหมือนตัวจริงนะครับ เพราะตัวจริงจะเป็นคนพูดมาก ซนนิดหน่อย ไปอินเดียครั้งแรกก็รู้สึกรักประเทศไทยขึ้นมาเลย เพราะประเทศเขามันยากจนมาก กันดาร แต่มีความสนุกที่ได้ไปถ่ายหนังกับเพื่อนๆ ครับ”
“พลอย” (ด.ญ.พิมพ์รพี ดีเมืองปัก) - เด็กหญิงอ้วนท้วนสมบูรณ์ เป็นคนกล้าแสดงออก แต่เป็นคนอ่อนไหว ขี้แง ร้องไห้ง่าย
“รู้สึก ตื่นเต้นที่ได้เล่นหนังเป็นเรื่องแรก ไม่รู้ว่าเราจะทำได้ไหม แต่สุดท้ายแล้วก็ผ่านไปด้วยดี หนังเรื่องนี้เป็นความสนุกสนานที่ครบรส จะเป็นความสนุกที่เป็นกันเอง แล้วหนังเรื่องนี้ก็จะเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยของเรากับวัฒนธรรมอินเดียจะจะ เห็นมิตรภาพความรักความสามัคคีของเด็กๆ ที่ไม่แบ่งชนชั้นวรรณะด้วยค่ะ”
“รูปี” (กุ๊ดดู กุมาร) - เด็กชายอินเดียหน้าตาท่าทางซื่อๆ มีเสน่ห์ที่รอยยิ้มหวานๆ ฟันขาว ตาโต สดใส เป็นเด็กยากจนแต่มีน้ำใจมากๆ คอยช่วยเหลือเด็กไทยให้หาทางกลับบ้านให้ได้ แม้จะสื่อสารกันไม่ค่อยรู้เรื่องก็ตาม แต่ก็ไม่อาจขวางกั้นมิตรภาพอันงดงามครั้งนี้ได้
“ดีใจมากครับที่ได้เล่น หนังครั้งแรก ตอนที่แคสติ้งก็ไม่คิดว่าจะได้เล่น พี่ๆ ทีมงานบอกให้ทำอะไรผมก็ทำตามครับ ก็พยายามปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนๆ คนไทย และคอยแนะนำเพื่อนๆ ว่าที่พุทธคยานั้นมีอะไรน่าสนใจบ้างครับ เพื่อนๆ น่ารักทุกคน วันไหนที่ผมไม่มีคิวถ่าย ผมก็จะไปเที่ยวเล่นในกอง พอหนังถ่ายเสร็จ ทุกคนบินกลับ ทำให้ผมคิดถึงเพื่อนๆ มากครับ ผมอยากดูหนังเรื่องนี้เร็วๆ ครับ”
ฉากเด็ดสะระตี่ สนุกดีดี๊ดี ส่าหรีกระจาย
ฉาก ในตลาด - เป็นอะไรที่ยากมากๆ เพราะคนมามุงดูกันเป็นหมื่น เราต้องใช้กล้องแอบถ่ายไม่ให้ใครเห็นกล้อง ก็โอเคได้ภาพที่ดี นี่คือฉากที่ใช้คนเยอะมากในตลาดเมืองพุทธคยา ใช้คนเยอะมากแต่ไม่ได้จ้างเพราะเราแค่บอกว่าถ่ายหนัง เค้าก็มากันแล้ว เราเอากล้องแอบไว้บนหลังคาตึก ก็ได้ภาพแบบธรรมชาติ ถ้าเค้ารู้ว่ากล้องอยู่ไหนเค้าก็อยากออกกล้อง
ฉากไฟไหม้ - เป็นฉากที่พวกโจรมาปล้นเผาบ้านเป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนา ไม่ได้ทำร้ายผู้คน ฉากนี้ต้องใช้ม้าใช้คน ทำงานค่อนข้างลำบาก เราเซ็ตบ้านทั้งหมด 12 หลัง แต่มีปัญหากับชาวบ้านเพราะเค้าไม่ให้เผา เค้ากลัวว่าไฟจะติดบ้านเค้า ต้องเอาผู้ใหญ่มาเคลียร์ ก็ยังไม่ให้เผา แต่เราก็เผา พอเผาตรงไหนเค้าก็เอาน้ำมาดับ หงุดหงิดมาก แต่ก็โอเคถ่ายได้จนจบ
ฉาก อาบน้ำ 4 วรรณะ - เป็นอีกฉากที่ถ่ายทำค่อนข้างลำบาก ต้องเซฟพวกเด็กๆ เพราะว่าต้องลงไปเล่นน้ำจริงๆ ที่ผ่านการอาบมาแล้ว 3 ชั้น ลงมาชั้นที่ 4 น้ำเก่าๆ ที่ใช้แล้ว เราก็ต้องเซฟเด็กเดี๋ยวเป็นอะไรขึ้นมา แต่ก็ไม่เป็นอะไร มันเป็นความเชื่อเรื่องวรรณะ ทุกวันนี้พวกคนจนขอทานก็ยังอาบน้ำวรรณะที่ 4 อยู่ เราก็อยากจะให้ดูว่ายังมีสิ่งเหล่านี้อยู่บนโลกใบนี้นะ
ฉาก เทศกาลโฮลี่ - เหมือนสงกรานต์บ้านเรา แต่เป็นสงกรานต์สี เป็นฉากที่สร้างสีสันสวยงาม เค้าก็เล่นกันทุกที่ของอินเดีย เหมือนบ้านเราที่เล่นสาดน้ำกันทุกที่ วันโฮลี่ของอินเดียจะมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวกันเยอะ เราก็ต้องเซ็ตฉากนี้ขึ้นมา ต้องจ้างคนเข้าฉาก 500-600 คน มาเล่นปาสีกัน ฉากนี้ลงทุนมากฉากหนึ่ง และการหาสถานที่ในการถ่ายทำก็ยาก แต่ก็ได้ฉากสวยงามตามต้องการ
ฉากเต้นระบำอินเดียกับโปงลาง - เราไปขอเช่าสถานที่กลางแจ้ง ซึ่งเป็นสถานที่ที่ผู้นำใหญ่ๆ จะมาปราศรัย มาเล่นการแสดง ก่อนถ่ายฉากนี้เราก็จะมีการประกาศว่าเดี๋ยวเราจะมีการเอาโปงลางของไทย และระบำอินเดียมาโชว์ ตอนเช้าๆ คนมาเป็นพันๆ แต่เรายังรอเซ็ตโน่นนี่กว่าจะได้ถ่ายก็ 4 โมงกว่าแดดเปรี้ยงคนหายเกลี้ยง เราต้องออกไปประกาศใหม่ขอความร่วมมือ เขาก็ออกมากันอีกที แล้วเราก็ต้องรีบถ่ายจนได้ฉากใหญ่นี้
เกร็ดหนัง
1) "ปัญญาเรณู 3 ตอน รูปู รูปี" (7 มี.ค. 56) เป็นผลงานกำกับเรื่องที่ 7 ของผู้กำกับ “บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์" โดยผลงานก่อนหน้านี้ได้แก่ ปัญญาเรณู 2 (2555), ปัญญาเรณู (2554), เดอะโกร๋น ก๊วน กวน ผี (2547), ช้างเพื่อนแก้ว (2546), ตำนานกระสือ (2545), มนต์รักเพลงลูกทุ่ง (2538)
2) ผู้กำกับฯ ได้คิดเรื่องใหม่หมด, เขียนบท และกำกับการแสดงเองทั้งหมด โดยได้ไอเดียและแรงบันดาลใจมาจากประสบการณ์จริงและเรื่องเล่าต่างๆ เมื่อครั้งเดินทางไปเที่ยวที่อินเดีย บวกกับเรื่องราวการผจญภัยและมิตรภาพที่ไม่มีชนชั้นวรรณะของกลุ่มเด็กๆ จนสร้างสรรค์ออกมาเป็นภาพยนตร์เรื่องนี้
3) "ปัญญาเรณู 3 ตอน รูปู รูปี" เป็นภาพยนตร์ไทยที่มีซับไตเติ้ลภาษาไทยด้วย เพราะหนังพูดทั้งภาษาอีสาน, ภาษาไทยกลาง และภาษาปะกิต (อังกฤษกะปริดกะปรอย)
4) “รูปู” หมายถึงเด็กอีสาน และ “รูปี” สกุลเงินอินเดียก็หมายถึงเด็กอินเดีย
5) นำทีมชุลมุนสุดหรรษาด้วยแก๊งปัญญาเรณู “น้องน้ำขิง” (ด.ญ.สุธิดา หงษา), “เปเล่” (ด.ช.บุญฤทธิ์ จันทร์แก้ว), “ชิต” (ด.ช.วิชิต สมดี) พร้อมเพิ่มสีสันความแสบใสกับ “น้องเซฟ” (ด.ญ.ศศิธร อัปมานะ), “น้องพลอย” (ด.ญ.พิมพ์รพี ดีเมืองปัก), “น้องภีม” (ด.ช.ธงรบ ดีเมืองปัก), “น้องโบ๊ต” (ด.ช.ปกรณ์ ผ่องศรี) และขอแนะนำ “กุ๊ดดู กุมาร” (ในบท “รูปี” เด็กชายอินเดียที่คอยช่วยเหลือแก๊งเด็กไทย), เสริมทัพความสนุกด้วย “แซกกี้” (ด.ช.พงษ์สิทธิ์ นาเวียง) และทีมนักแสดงรุ่นใหญ่ นพดล ดวงพร, ยุทธพิชัย ชาญเลขา, อุษณียาภรณ์ ผลเจริญ, เหลือเฟือ มกจ๊ก, จั๊กกะบุ๋ม เชิญยิ้ม ฯลฯ
6) โลเกชั่นหลัก 90% ของเรื่องถ่ายทำกันที่เมืองพุทธคยา ประเทศอินเดีย ให้ได้เห็นวิถีชีวิตชนบทของอินเดีย ประเพณีวัฒนธรรม และสถานที่แปลกๆ อีกมากมายทั้งวัดวาอาราม และสถาปัตยกรรมเก่าๆ นับพันปี
7) ยกทีมงานนักแสดงเกือบร้อยคนไปใช้ชีวิตและถ่ายทำกันที่อินเดียนานถึงหนึ่งเดือนเต็ม
ผู้กำกับฯ ยังคงสอดแทรกวัฒนธรรมอีสานที่มีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่ายอย่างฉากขุดรูปู เล่นสนุกของเด็กๆ และฉากใหญ่ๆ ที่ถ่ายกันที่อินเดียไม่ว่าจะเป็นฉากโจรปล้นเผาบ้าน, ฉากอาบน้ำ 4 วรรณะ, ฉากตามหาเด็กในตลาด (ท่ามกลางอินเดียมุงเป็นหมื่น), ฉากโปงลางปะทะระบำอินเดีย, ฉากในสถานีรถไฟ, ฉากเทศกาลโฮลี่ (สงกรานต์สี)
9) “โรตีแกงกะหรี่” เป็นอาหารอินเดียที่ผู้กำกับฯ ติดใจและคอนเฟิร์มว่า “มันอร่อยมาก” นะจ๊ะ นายจ๋า
ประวัติพุทธคยา
“พุทธ คยา” คือคำเรียกกลุ่มพุทธสถานสำคัญในอำเภอคยา จังหวัดมคธ รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นพุทธสถานที่มีความสำคัญที่สุด 1 ใน 4 แห่งของชาวพุทธ เนื่องจากเป็นที่ตั้งของสถานที่ตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธสังเวชนียสถานที่มีความสำคัญที่สุดของชาวพุทธทั่วโลก
ปัจจุบัน บริเวณพุทธศาสนสถานอันเป็นที่ตั้งของสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วัดมหาโพธิ” อยู่ในความดูแลของคณะกรรมการร่วม พุทธ-ฮินดู
พุทธคยา ปัจจุบันตั้งอยู่ด้านตะวันตกของแม่น้ำเนรัญชรา ไกลจากฝั่งแม่น้ำประมาณ 350 เมตร (นับจากพระแท่นวัชรอาสน์) พุทธคยามีสัญลักษณ์ที่สำคัญคือองค์เจดีย์สี่เหลี่ยมที่สูงใหญ่ โดยสูงถึง 51 เมตร ฐานวัดโดยรอบได้ 121.29 เมตร ล้อมรอบด้วยโบราณวัตถุและโบราณสถานสำคัญ เช่น ต้นพระศรีมหาโพธิ์ พระแท่นวัชรอาสน์ ที่ประทับตรัสรู้ และอนิมิสสเจดีย์ เป็นต้น ซึ่งนอกจากพุทธสถานโบราณแล้ว บริเวณโดยรอบพุทธคยายังเป็นที่ตั้งของวัดพุทธนานาชาติ รวมทั้งวัดไทยคือ วัดไทยพุทธคยา
สำหรับชาวพุทธ พุทธคยานับเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่สำคัญที่สุดของนักแสวงบุญชาวพุทธ ทั่วโลกที่ต้องการมาสักการะสังเวชนียสถานสำคัญ 1 ใน 4 แห่งของพระพุทธศาสนา
โดย ในปี พ.ศ. 2545 วัดมหาโพธิ (พุทธคยา) สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ประเภทมรดกทางวัฒนธรรมขององค์การยูเนสโก(ข้อมูลจากวิกิพีเดีย)