happy on December 23, 2012, 05:26:44 PM
Hyde Park on Hudson

จัดจำหน่ายโดย        เอ็ม พิคเจอร์ส              

ชื่อภาษาไทย      แกร่งสุดมหาบุรุษรูสเวลท์

ภาพยนตร์แนว      คอเมดี้-ดราม่า

จากประเทศ           อังกฤษ

กำหนดฉาย           10 มกราคม 2553

ณ โรงภาพยนตร์      โรงภาพยนตร์เครือเอเพ็กซ์และพารากอน
 
ผู้กำกับ          Roger Michell (โรเจอร์ มิเชลล์)

อำนวยการสร้าง      DAVID AUKIN  (เดวิด ออคิน)  
                                   Kevin Loader (เควิน เลาเดอร์)

นักแสดง         

Bill Murray  (บิล เมอร์เรย์) จาก Moonrise Kingdom, Charlie’s Angels , Losting Translation , City of Ember
         
Laura Linney (ลอร่า ลินนี่ย์) จาก  The Savages ,The Truman Show,The Exorcism of Emily Rose, Love Actually
         
Olivia    Williams  (โอลิเวีย วิลเลียมส์) จาก Now is Good , The Sixth Sense , An Education , Rushmore , The Postman
         
Samuel West (ซามวล เวสต์) จาก Van Helsing, Notting Hill , Howards End , Carrington
   
Olivia Colman  (โอลิเวีย โคลแมน) จากภาพยนตร์เรื่อง The Iron Lady , Tyranosaur , Hot Fuzz

Elizabeth Wilson  (อลิซาเบธ วิลสัน) จากภาพยนตร์ Rocky Road , The Graduate , The Addams Family , The Birds

จุดเด่น


               Hyde Park on Hudson (ไฮปาร์ค ออน ฮัดสัน) เป็นภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ที่ตีแผ่เบื้องลึกเบื้องหลังทุกแง่มุมของผู้นำคนสำคัญอย่างประธานาธิบดี Franklin Delano Roosevelt (แฟรงค์ลิน เดลาโน รูสเวลท์) ที่ถูกหบิยยกเอาเรื่องราวของการเป็นบุคคลสาธารณะและเรื่องราวของชีวิตส่วนตัว  ชีวิตครอบครัวที่ยิ่ง ใหญ่เป็นการบอกเล่าเหตุการณ์สำคัญ รวมถึงกลเม็ดการชักจูงใจของประธานาธิบดี Franklin (แฟรงค์ลิน) ในการยื้อแย่งอำนาจในช่วงจุดเปลี่ยนของประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญมาถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์ โดยงานนี้ได้สองนักแสดงฝีมือระดับพระกาฬที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์อย่าง Bill Murray (บิล เมอร์เรย์)  และ Laura Linney (ลอรา ลินนีย์)  มาร่วมถ่ายทอดเรื่องราวที่ผสมผสานทั้งดราม่าและเฉียบคม  กำกับการแสดงโดย ROGER MICHELL (โรเจอร์ มิเชล) และเขียนบทภาพยนตร์โดย Richard Nelson (ริชาร์ด เนลสัน)

เรื่องย่อ

                ในเดือนมิถุนายน ปี 1939 ประธานาธิบดีแฟรงค์ลิน เดลาโน รูสเวลท์ (รับบทโดยเมอร์เรย์) ได้เตรียมพร้อมที่จะต้อนรับกษัตริย์และพระราชินีแห่งอังกฤษ (ซามวล เวสต์และโอลิเวีย โคลแมน) ในช่วงสุดสัปดาห์ที่บ้านรูสเวลท์ ณ ไฮด์ปาร์ค ออน ฮัดสัน ในย่านทางตอนเหนือของนิวยอร์ก ซึ่งนี่นับเป็นการเสด็จเยือนอเมริกาครั้งแรกของทั้งคู่ ขณะที่อังกฤษกำลังเผชิญหน้ากับเงาสงครามกับเยอรมนี ทั้งสองต้องการให้เอฟดีอาร์หยิบยื่นการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาให้

                แต่เรื่องของกิจการระหว่างประเทศจะต้องถูกจัดการควบคู่ไปกับความซับซ้อนภายในที่พำนักของเอฟดีอาร์เอง เมื่ออีลีนอร์ (โอลิเวีย วิลเลียมส์) ภรรยาของเขา, ซารา แม่ของเขา (อลิซาเบธ วิลสัน) และมิสซี่ เลขาของเขา (อลิซาเบธ มาร์เวล) ต่างก็มีบทบาทในการทำให้สุดสัปดาห์นี้กลายเป็นความทรงจำที่ลืมไม่ลง

                สุดสัปดาห์นี้ ที่ถูกมองผ่านสายตาของเดซี่ (ลินนีย์) เพื่อนบ้านและคนสนิทของแฟรงค์ลิน ไม่เพียงแต่จะก่อให้เกิดความสัมพันธ์พิเศษระหว่างสองประเทศยักษ์ใหญ่เท่านั้น แต่สำหรับเดซี่ และสำหรับพวกเราเอง ผ่านทางตัวเธอ มันจะก่อให้เกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นในเรื่องปริศนาของความรักและมิตรภาพ
              



สารจากผู้กำกับ เกี่ยวกับเอฟดีอาร์

               หลังจากเสร็จงานภาพยนตร์เรื่องนี้ ผมบังเอิญได้ไปอ่าน Berlin Diary ของวิลเลี่ยม แอล. เชียร์เรอร์ ฉบับเปื้อนน้ำ    ช าของพ่อผมอีกครั้ง….

               “…เชียร์เรอร์เป็นนักข่าวชาวอเมริกัน ที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ถ่ายทอดสัญญาณจากเบอร์ลินอย่างกล้าหาญ สำหรับบันทึกวันที่ 20 กรกฎาคม ปี 1940 เขาได้พูดถึงการที่เอฟดีอาร์ได้รับการเสนอชื่ออีกครั้งใน    ชิคาโกเป็นวาระที่สาม ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่สื่อของนาซีพูดถึงว่าเกิดขึ้นได้ด้วยวิธี ที่ถูกประนามจากพยานทุกคน ฮิตเลอร์กลัวรูสเวลท์เขาเพิ่งเริ่มจะเข้าใจว่าการสนับสนุนอังกฤษของรูสเวลท์เป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่อังกฤษปฏิเสธที่จะยอมรับข้อเสนอสันติภาพของเขา…”

จากนั้น เชียร์เรอร์ก็อ้างข้อความต่อไปนี้จากแฟรงค์เฟิร์ต ไซตุ้งว่า :

              “…รูสเวลท์เป็นบิดาของภาพมายาอังกฤษเกี่ยวกับสงครามนี้ อาจเป็นว่าลูกไม้ที่อ่อนหัดของรูสเวลท์เป็นอะไรที่เกินกว่าชาวอเมริกันจะรับได้ เขาอาจจะไม่ได้ถูกเลือกให้เป็นประธานนาธิบดีใหม่อีกครั้งหรืออาจจะได้รับเลือก รูสเวลท์ยึดติดอยู่กับนโยบายที่ไม่แทรกแซงด้วยการกระทำ แต่เขาเลือกที่จะแทรกแซงด้วยการกล่าวสุนทรพจน์ที่มีเล่ห์เหลี่ยม และโฆษณาชวนเชื่อที่ทรงพลัง ในการเลือกตั้งที่จะขัดแย้งกับผลประโยชน์นานับประการ     เอฟดีอาร์ได้หยิบยื่นความหวังที่แท้จริงให้กับอังกฤษ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ในขณะนั้นคงจะดูเหมือนสถานการณ์ที่สิ้นหวัง หลายคนอาจจะมองว่าการสงบศึกกับฮิตเลอร์เป็นหนทางที่สมเหตุสมผลเพียงหนึ่งเดียวที่จะหลีกเลี่ยงการถูกรุกรานได้...”

              ช่วงเวลาสุดสัปดาห์ที่ไฮด์ปาร์ค ออน ฮัดสัน สิบสองสัปดาห์ก่อนหน้าสงครามจะอุบัติขึ้น และในความคิดของผม ประเด็นสำหรับภาพยนตร์ของเราก็กลายเป็นยิ่งกว่าจุดแกนกลางทางประวัติศาสตร์ มันเป็นช่วงเวลาที่การกระทำที่เล็กน้อยที่สุดส่งเสียงสะท้อนก้องกังวานมากที่สุด มันเหมือนทฤษฎีเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว ที่เสนอว่าการกระพือปีกของผีเสื้ออาจก่อให้เกิดพายุร้ายได้โดยไร้ขีดจำกัด เช่นเดียวกับฮ็อตด็อกเต็มคำ (ไส้กรอกแฟรงค์เฟิร์ตซะด้วย) ที่ส่งผลกระทบถึงชายหาดโอมาฮาและวันเฉลิมฉลองการสิ้นสุดสงครามในยุโรป

              บทภาพยนตร์ที่ยอดเยี่ยมของริชาร์ด เนลสันได้จับคู่ความแตกต่างระหว่างเรื่องสาธารณะกับเรื่องส่วนบุคคล ชีวิตครอบครัวและชีวิตที่ยิ่งใหญ่ มันเป็นการถ่ายทอดเหตุการณ์สำคัญรวมถึงพลังการชักจูงใจของบุคคลสำคัญในการยื้อแย่งอำนาจในช่วงจุดเปลี่ยนของประวัติศาสตร์

              พ่อผมขับเครื่องแลนคาสเตอร์ผ่านเบอร์ลิน ถูกยิงร่วงลงไป และกลายเป็นนักโทษสงคราม เขาเสียชีวิตไปนานแล้วครับ ผมเก็บบันทึกเชียร์เรอร์ของเขากลับไปไว้บนชั้นเหมือนเดิม และรู้สึกว่าเสียงจากการปิคนิคที่คิงส์ ท็อป คอทเทจ ยังคงก้องกังวานอยู่รอบตัวผม…

โรเจอร์ มิเชล
                     ลอนดอน สหราชอาณาจักร
                     มิถุนายน ปี 2012

สารจากมือเขียนบท เกี่ยวกับเดซี่

               ในช่วงปลายทศวรรษที่ 80s เพื่อนของผมได้เชิญผมไปเยือนสถานที่ที่เป็นที่พำนักส่วนตัวในเมืองไรน์เบค, นิวยอร์ก มันเพิ่งถูกบริจาคเพื่อใช้ประโยชน์ต่อสาธารณะโดยเจ้าของชรา ภายใต้ข้อแม้ว่าเธอจะสามารถใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นได้ตลอดชีวิตที่เหลืออยู่ของเธอ

               บ้านหลังนั้นมองออกไปเห็นแม่น้ำฮัดสัน และดูเหมือนหลุดออกมาจากเทพนิยายที่มืดหม่น มันชำรุดทรุดโทรมสีซี๊ดจาง ผมคิดว่า วิลเดอร์สไตน์ ซึ่งเป็นบ้านของครอบครัวซุคลีย์มาอย่างน้อยสองชั่วอายุคนอาจเรียกได้ว่าเป็นตัวอย่างสำหรับความยากจนของพวกผู้ดีในอเมริกา เพื่อนผมพาผมไปทัวร์ชั้นแรกแบบคร่าวๆ ระหว่างเดินผ่านห้องนั่งเล่น ที่มีวอลล์เปเปอร์หลุดลอก โซฟาหย่อนยาน ผมได้เห็นเดซี ซุคลีย์ นางเอกของเราครั้งนั้นเป็นครั้งแรกและครั้งเดียว ผมคิดว่าเธอนั่งอยู่ตามลำพัง อ่านหนังสือพิมพ์อยู่ โดยไม่สำเหนียกถึงคนแปลกหน้าที่เดินผ่านไป ไม่นานหลังจากนั้น เดซี่ก็เสียชีวิตด้วยวัยหนึ่งร้อยปี

               วิลเดอร์สไตน์ ซึ่งนับตั้งแต่นั้นกลายเป็นสวนสาธารณะและกำลังอยู่ในขั้นตอนการบูรณะให้กลับไปงดงามเหมือนในช่วงปลายศตวรรษที่สิบเก้าอีกครั้ง เป็นเพียงหนึ่งในมรดกสองอย่างที่เดซี่ได้ทิ้งเอาไว้ให้กับเรา อีกอย่างหนึ่งคือกระเป๋าเดินทางใบเล็กใต้เตียง ที่ถูกพบหลังจากการเสียชีวิตของเธอ ในกระเป๋าใบนั้นได้เก็บจดหมายส่วนตัวถึงและจากแฟรงค์ลิน รูสเวลท์ ลูกพี่ลูกน้องลำดับที่ห้าของเธอ และบันทึกที่ลงรายละเอียดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างทั้งคู่เอาไว้ มันเป็นความสัมพันธ์ที่ถูกเก็บเป็นความลับจนกระทั่งเธอเสียชีวิต มีหน้ากระดาษบางหน้าหาย(หรือถูกเผา?) จากทั้งจดหมายและบันทึก แต่สิ่งที่หลงเหลืออยู่ก็สะท้อนถึงความรักที่น่าประทับใจและงดงามระหว่างผู้หญิงที่เรียกตัวเองว่าเป็น“นกกระจิบน้อย” และผู้มองตัวเองวว่าเป็น “ส่วนหนึ่งของเฟอร์นิเจอร์” และหนึ่งในบุรุษผู้ทรงเสน่ห์ ทรงอิทธิพลและยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งศตวรรษ การอ่านจดหมายและบันทึกเหล่านี้ได้เปิดประตูไปสู่โลกที่เราได้แต่จินตนาการเท่านั้น โลกเบื้องหลังโฉมหน้าของตำแหน่งประธานาธิบดีที่ทุกฝ่ายต่างสมคบคิดกันที่จะซ่อนความเปราะบางและความอ่อนแอของเขาเอาไว้ ตอนนี้ เหมือนจะชัดเจนแล้วว่า เดซีเป็นคนที่แฟรงค์ลินจะรู้สึกผ่อนคลายด้วยได้ เขาสามารถลืมโลกภายนอก ลืมงาน ลืมปัญหา และแสดงความเป็นตัวเองออกมาได้เมื่ออยู่กับเธอ มันไม่ใช่เรื่องบังเอิญเลยที่ภาพถ่ายของแฟรงค์ลิน รูสเวลท์ในรถเข็นที่เรามีอยู่ในปัจจุบันจะถูกถ่ายโดยเดซี ซุคลีย์

               การค้นพบจดหมายและบันทึกเหล่านี้เป็นตัวจุดประกายให้เกิด Hyde Park on Hudson บันทึกตอนหนึ่งของเดซี่เป็นตัวสร้างเรื่องราวให้กับภาพยนตร์เรื่องนี้ การที่เดซี่ได้เขียนด้วยความกระตือรือร้นและตื่นเต้นเกี่ยวกับการมาเยือนบ้านที่ไฮด์ปาร์คของรูสเวลท์ของกษัตริย์และพระราชินีแห่งอังกฤษในเดือนมิถุนายน ปี 1939 นี่เป็นการเยือนโลกตะวันตกครั้งแรกของราชวงศ์อังกฤษ เธอเขียนว่าตัวเองตื่นเต้นที่ได้เห็นเรื่องทั้งหมดนี้ต่อหน้าต่อตา ในฐานะแขกของสิ่งที่กลายเป็นที่รู้จักในชื่อของ “ปิคนิค ฮ็อตด็อก”

               ในเดือนมิถุนายน ปี 1939 อังกฤษกำลังจะทำสงครามกับเยอรมนี และมันก็ต้องการการสนับสนุนของอเมริกาอย่างยิ่ง เพื่อการนี้ กษัตริย์และพระราชินีแห่งอังกฤษจึงถูกส่งตัวไปอเมริกาและรูสเวลท์ก็ได้เชิญทั้งสองไปยังไฮด์ปาร์ค เพื่อช่วยเหลือในเรื่องนี้ แต่ชาวอเมริกาส่วนใหญ่ต้องอาศัยการชักจูงใจ อารมณ์ของประเทศนี้คือการหลีกให้ห่างจากสงครามยุโรปอีกครั้ง เสริมด้วยการสงวนท่าทีแต่ดั้งเดิม (และเข้าใจได้) ที่ชาวอเมริกันรู้สึกต่อราชวงศ์อังกฤษและทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับราชวงศ์ และมันก็ยิ่งหนักข้อมากขึ้นด้วยการสละบัลลังก์ของกษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่แปด ที่ถูกบีบบังคับจากการที่พระองค์ปรารถนาจะอภิเษกกับหญิงแม่ม่าย (วัลลิส ซิมป์สัน) แถม “ซ้ำร้าย” ยังเป็น “ชาวอเมริกันอีกต่างหาก” ตามมุมมองของเรา กษัตริย์จอร์จที่หก หรือเบอร์ตี้ ที่ไร้ประสบการณ์และได้ขึ้นครองราชย์โดยบังเอิญ จำเป็นต้องแสดงให้ชาวอเมริกันเห็นว่าเขาชื่นชมประเทศของเราและพลเมืองของเรา และเคารพเราในฐานะผู้ที่เท่าเทียมกัน นั่นเป็นภารกิจของเขา และแฟรงค์ลิน รูสเวลท์ก็ได้มอบโอกาสนั้นแก่เขา ด้วยการเสิร์ฟฮ็อตด็อกให้เขา!

               เรื่องราวทั้งสองเรื่อง ซึ่งก็คือความสัมพันธ์ระหว่างเขากับเดซีและช่วงเวลาสุดสัปดาห์กับกษัตริย์และราชินี เป็นศูนย์กลางภาพยนตร์ของเรา ขณะที่ผมเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ เรื่องราวทั้งสองก็ได้สอดประสานเข้าด้วยกัน และแต่ละเรื่องก็เติมเต็มกันและกัน หญิงสาวที่เจ็บปวดจากการเรียนรู้ความจริงเบื้องหลังภาพลักษณ์ของคนรักเธอ ที่โด่งดังระดับโลก และกษัตริย์ผู้ได้เรียนรู้ที่จะซ่อนความไม่มั่นใจและแสดงออกซึ่งความกล้าหาญ มันทำให้เราสำรวจความจำเป็นที่จะนำเสนอภาพลักษณ์ที่ดีเพื่อปกป้องประเทศของคุณ รวมถึงการตระหนักได้ว่าชายที่คุณรักอาจไม่ได้เป็นคนที่คุณคิดก็ได้
              
               ท้ายที่สุด Hyde Park on Hudson ก็เป็นเรื่องราวส่วนตัวด้วยเช่นกัน ผมใช้ชีวิตอยู่ในไรน์เบ็ค บ้านเกิดของเดซี มากว่าสามสิบปี และผมก็มีครอบครัวที่นี่ แม้ว่านี่จะเป็นเรื่องราวที่มีการแตกกิ่งก้านสาขาไปทั่วโลก และเกี่ยวกับบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์มากมาย มันก็ยังเป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิงคนหนึ่งจากหมู่บ้านผม ผู้หญิงที่ผมเคยเห็นนั่งอยู่บนโซฟา ผู้มีโอกาสได้เห็นโลก ทั้งสาธารณะและส่วนตัว ผ่านทางดวงตาที่ไร้เดียงสาของเธอด้วยครับ

ริชาร์ด เนลสัน
                        ไรน์เบค, นิวยอร์ก
                        มิถุนายน ปี 2012


« Last Edit: December 23, 2012, 07:35:42 PM by happy »

happy on December 23, 2012, 05:59:54 PM



สถานที่ต้นกำเนิดของเรื่องราว

               ไฮด์ปาร์ค, นิวยอร์ก เริ่มมีผู้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในศตวรรษที่18ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของนิวยอร์ก ซิตี้ ห่างออกไป 90 ไมล์ ในเขตดัชเชส เคาน์ตี้ ริมแม่น้ำฮัดสัน มีโรงภาพยนตร์แห่งแรกคือไฮด์ ปาร์ค รูสเวลท์ ซีเนม่า และมีโรงเรียนระดับไฮสคูลที่มีชื่อว่าแฟรงค์ลิน เดลาโน รูสเวลท์ ไฮสคูล ซึ่งสถานที่ทั้งสองแห่งถูกตั้งชื่อตามบุคคลที่มีชื่อเสียงที่สุดที่กำเนิดจากเมืองนี้ นั่นก็คือ Franklin Delano Roosevelt (แฟรงค์ลิน เดลาโน รูสเวลท์) ที่เกิดในคฤหาสน์ของครอบครัวเขาในปี 1882

               Eleanor Roosevelt (อีลีนอร์ รูสเวลท์) ภรรยาของเอฟดีอาร์ได้ปรับปรุงกระท่อมวัลคิลล์ ที่อยู่ในคฤหาสน์รูสเวลท์(หรือไฮด์ปาร์ค ออน ฮัดสัน)ให้กลายเป็นโรงงานที่ชื่อว่าวัลคิลล์ อินดัสทรีส์ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตงานฝีมือออกมาจำหน่าย และหลังจากที่โรงงานปิดตัวลง คุณนายรูสเวลท์ก็ได้ย้ายไปอยู่ในกระท่อมหลังดังกล่าว ซึ่งถูกประดับตกแต่งด้วยของที่ผลิตจากที่นั่น       กระท่อมวัลคิลล์และสปริงวู้ด มีเส้นทางปีนเขาระยะทาง 3.6 ไมล์ เป็นเส้นทางที่เชื่อมวัลคิลล์และตัวบ้านเข้าด้วยกันที่เรียกว่ารูลท์ ฟาร์ม เลน เทรล

               กระท่อมวัลคิลล์และสปริงวู้ดได้รับการจดทะเบียนเป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์โดยเนชั่นแนล ปาร์ค เซอร์วิสได้จัดให้มีรูสเวลท์ ไรด์ ซึ่งเป็นรถชัตเติ้ล บัสฟรี เพื่อเอาไว้บริการขนส่งผู้โดยสารไปกลับจากบริเวณสถานีรถไฟ   คันนี้จะจอดที่ห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์แฟรงค์ลิน ดี. รูสเวลท์, วัลคิลล์, สปริงวู้ดและท็อป คอทเทจ ซึ่งเป็นที่พักบนยอดเขาของเอฟดีอาร์

               ก่อนหน้าการถ่ายทำฉากของ Hyde Park on Hudson ในปี 1939 ผู้กำกับ/ผู้อำนวยการสร้าง โรเจอร์ มิเชลได้ทุ่มเทให้กับการค้นคว้าข้อมูลที่ห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์ ส่วนดาราของเรื่อง บิล เมอร์เรย์และลอรา ลินนีย์ รวมถึงมือเขียนบทริชาร์ด เนลสันก็ได้ใช้เวลาอยู่ที่นั่นเช่นเดียวกัน และพวกเขาก็ได้เดินสำรวจตัวอาคารและบริเวณโดยรอบทั้งหมด ซึ่งบริเวณระเบียงหน้าบ้านของกระท่อมวัลคิลล์ ได้ถูกจัดให้เป็นสถานที่ปิคนิคของกษัตริย์และพระราชินี ในเดือนมิถุนายน ปี 1939 และเมนูในวันนั้นประกอบไปด้วยสลัดผัก สตรอว์เบอร์รีช็อตเค้กและฮ็อตด็อก

ที่มาของภาพยนตร์

David Aukin ((เดวิด ออคิน) ผู้อำนวยการสร้าง  กล่าวว่า...

               “…Hyde Park on Hudson เป็นนิยายที่สร้างขึ้นจากเหตุการณ์จริง โดยมีบทภาพยนตร์ที่ลึกซึ้งของริชาร์ด  เนลสัน กระตุ้นความรู้สึกของยุคสมัยและผู้คนในตอนนั้นขึ้นมาได้อย่างชาญฉลาด เมื่อพระจันทร์สาดแสงมันมีอะไรบางอย่างในบรรยากาศของช่วงเวลาสุดสัปดาห์นั้น มันมีบรรยากาศเหมือนกับหนังเรื่อง Smiles of a Summer Night ของอิงค์มาร์  เบิร์กแมน และนั่นก็เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของบทภาพยนตร์เรื่องนี้ครับ
            ตามประวัติศาสตร์แล้ว สุดสัปดาห์นั้นในปี 1939 คือตอนที่ “ความสัมพันธ์พิเศษ” ระหว่างอังกฤษและอเมริกาเริ่มต้นขึ้น หลังจากที่เขากลับไปกษัตริย์ได้ส่งโทรเลขไปถึงเอฟดีอาร์เพื่อขอบคุณเขาและกล่าวว่า ข้าพเจ้ารู้สึกว่าเราได้สานสายสัมพันธ์พิเศษและคำๆนั้นก็เกิดขึ้นตอนนี้นี่เอง ภาพที่กษัตริย์เสวยฮ็อตด็อกแสดงให้เห็นว่าในที่สุดอังกฤษก็ยอมรับชาวอเมริกันว่าเท่าเทียมกันเสียที ว่าเบอร์ตี้ไม่ได้ดูแคลนพวกเขา ในแง่ของการแสดงให้เห็นว่านักการเมืองทำงานอย่างไร นี่เป็นเรื่องราวที่ยังให้ความรู้สึกร่วมสมัย ผสมผสานระหว่างเรื่องการเมืองและเรื่องส่วนตัวเข้าด้วยกัน มันมีสายสัมพันธ์ทางการเมืองบางอย่างที่เกิดขึ้นระหว่างเบอร์ตี้และรูสเวลท์ แต่มันก็มีสายสัมพันธ์ทางจิตใจด้วยเช่นกัน เอฟดีอาร์อายุมากกว่าและเขาก็ปฏิบัติต่อกษัตริย์เหมือนลูกคนหนึ่ง ส่วนตัวกษัตริย์เองก็ตอบสนองความรู้สึกนั้นเพราะพ่อของเขาเองไม่ใส่ใจในตัวเขาน่ะครับ
            ตอนที่ผมออกไปข้างนอกกับบิล มีคนทักทายเขาในทุกหนทุกแห่งที่เขาไป คนชื่นชอบเขามากเพราะเขาสร้างความยินดีให้กับคนมากมายด้วยผลงานหนังของเขา  บิลเป็นนักแสดงที่วิเศษสุด สิ่งที่เขาแสดงออกมาได้ดีคือการที่ประธานาธิบดีบงการและใช้เสน่ห์ของเขาเพื่อให้ได้สิ่งที่เขาต้องการ แต่บิลสามารถถ่ายทอดจิตวิญญาณและแก่นแท้ของชายคนนั้นออกมาได้ บิลทำการค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับเอฟดีอาร์มากมาย แม้ว่าเขาจะไม่เคยถูกบันทึกวิดีโอหรือถ่ายภาพไว้เนื่องจากอาการโปลิโอของเขาก็ตาม…”


เควิน โลดเดอร์   ผู้อำนวยการสร้าง กล่าวว่า...

            “…ผมกับโรเจอร์สร้างหนังมาหลายเรื่อง แต่เรื่องนี้เป็นการที่เรานำนักแสดงชาวอเมริกันมาทำงานกับชาวอังกฤษ ซึ่งมันตรงกันข้ามกับเรื่องราวของหนังเรื่องนี้เลยนะครับ เราใช้ตัวประกอบ 100 คนสำหรับซีเควนซ์นี้ ชิลเทิร์นส์เป็นสถานที่       ที่ค่อนข้างเหมาะสม ด้วยต้นบีชที่งดงาม มันมีการชุมนุมทางวัฒนธรรมเกิดขึ้นก่อนหน้าที่มันจะเกิดขึ้นบนหน้าจอเสียอีกครับ 
            เราพบคฤหาสน์แห่งหนึ่งภายในรัศมี 10 ไมล์ของลอนดอนและไม่อยากจะเชื่อเลยว่าเราจะโชคดีขนาดนี้ มันหมายถึงว่าเราไม่ต้องย้ายกองไปในที่ที่ทุรกันดาร สิ่งที่เราหวังเอาไว้และต้องการอยู่ข้างในนั้นเป็นส่วนใหญ่อยู่แล้วครับ เรารู้ว่าเราไม่สามารถจำลองบ้านหลังนั้นขึ้นมาได้แบบเป๊ะๆ เราก็เลยให้น้ำหนักไปที่สเกลและบรรยากาศครับ แต่แค่เสียดายที่ไม่มีแสงอาทิตย์มากกว่านี้ แต่ทีมงานของเราก็สนุกกัน พวกเขาได้พบปะสังสรรค์กันหลังจากเลิกงานและได้ไปดูละครด้วยครับ
            ระหว่างที่เอฟดีอาร์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เขาแบ่งเวลาระหว่างทำเนียบขาวกับบ้านของแม่เขา ที่ซึ่งเขาถูกห้อมล้อมด้วยผู้หญิงที่สำคัญต่อชีวิตเขาเอฟดีอาร์ใช้เวลาอยู่ตัวคนเดียวที่ท็อป คอทเทจจริงๆ มันเป็นที่ที่เขาชาร์จแบตใหม่ เขาสนับสนุนให้เพื่อนๆ ซื้อที่ดินทีอ่ยู่ติดกัน และปลูกกระท่อมของตัวเองใกล้ๆ ดังนั้น เขาก็เลยมีอิทธิพลอย่างมากต่อการเติบโตของฮัดสัน วัลลีย์ครับในการเปลี่ยนโฉมให้เป็นไปตามลักษณะทางกายภาพของเอฟดีอาร์ บิลได้มาอังกฤษตั้งแต่เริ่มแรกและพบกับตัวแทนของสมาคมโปลิโอของอังกฤษ นักกายภาพบำบัดได้ทำอุปกรณ์สวมขาให้กับเขาและสอนวิธีการเดินให้กับเขา...”

happy on December 23, 2012, 06:08:32 PM



เกี่ยวกับงานสร้าง...

ไซม่อน โบว์เลส ผู้ออกแบบงานสร้าง  กล่าวว่า...

                “…ตอนที่ผมถูกทาบทามให้มาทำงานในโปรเจ็กต์นี้ครั้งแรก ผมตระหนักได้ว่ามันสำคัญแค่ไหนที่จะได้ไปเยี่ยมชมสปริงวู้ด ซึ่งเป็นตัวบ้านหลัก และท็อปคอทเทจ รวมถึงเมืองและชนบทใกล้ๆ ข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตมีประโยชน์ก็จริง แต่มันก็ไม่เหมือนกับการได้ไปที่นั่นและได้เห็นด้วยสองตาคุณจริงๆ มันมีรายละเอียดมากมาย แล้วมันก็เป็นโอกาสที่จะได้พบกับริชาร์ด เนลสันด้วย
            ตั้งแต่ที่สปริงวู้ดถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นอนุสรณ์สถานแห่งชาติในยุค 40s ก็แทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปเลย เราไปในห้องครัว ห้องนอน ห้องทำงาน...รายละเอียดจากยุคนั้นยังคงอยู่ให้เราได้เห็น ของต่างๆ ในบ้านหลังนี้แสดงให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ของครอบครัวและบ่งชี้ถึงนิสัยของซาราและอิทธิพลของเธอด้วย มันมีภาพถ่ายของบ้านหลังนี้ในปี 1939 ปีที่หนังเรื่องนี้เกิดขึ้น ซึ่งบันทึกการตกแต่งภายในเอาไว้ แต่มันก็เป็นภาพขาวดำ ซึ่งการไปที่นั่นก็ทำให้เราได้เห็นสีสันของมันแบบเต็มๆ ผมวัดขนาดและถ่ายรูปกลับไปอังกฤษ ที่ซึ่งจะมีการสร้างสปริงวู้ดขึ้นมาที่คฤหาสน์ส่วนตัว  ผมได้ถ่ายรูปช่องระบายอากาศในปสริงวู้ด และเราก็ติดตั้งมันเข้าไป แล้วก็มีนกสตัฟฟ์ ที่เอฟดีอาร์ทำเอาไว้ในตอนเขาเป็นวัยรุ่น ที่เราใส่เข้าไปด้วยเหมือนกัน ในบ้านหลังนี้ มันก็เป็นการผสมผสานที่ยอดเยี่ยม มากกว่าที่คุณคิดไว้เสียอีก อย่าลืมนะครับว่านี่เป็นบ้านของแม่เอฟดีอาร์และแม้แต่ตัวเขาก็ยังเป็นแขกของที่นั่นเลย

            สำหรับฉาก “การพูดคุยข้างเตาผิง” ที่เอฟดีอาร์พูดกับคนทั้งประเทศระหว่างนั่งอยู่ที่โต๊ะ เราได้นำไมค์มาจากอเมริกา ส่วนบนโต๊ะของเขา แผนกอุปกรณ์ประกอบฉากที่วิเศษสุดของผมได้ค้นคว้าข้อมูลเพื่อหาว่าคอลเล็กชันแสตมป์มีหน้าตาเป็นแบบไหน เพราะมันเป็นสิ่งสำคัญในตอนที่เดซี่มาเห็นเอฟดีอาร์เป็นครั้งแรก รวมถึงหนังสือที่สะสมแสตมป์นั้นมีลักษณะอย่างไรด้วย มันมีหลักฐานทางภาพถ่ายบางอย่าง แต่คอลเล็กชันของเอฟดีอาร์ถูกขายในงานประมูลเมื่อหลายปีก่อน และแสตมป์ก็มีค่าไม่เท่าไหร่ เพราะเขาไม่ได้สะสมแสตมป์พิเศษ แต่มันเป็นงานอดิเรกมากกว่าน่ะครับ
            เราต้องมีภาพสีน้ำมันของเอฟดีอาร์ ที่แขวนอยู่ในห้องทำงานของเขา ดังนั้น ช่างภาพนิโคลา โดฟ ก็เลย จัดท่าบิลให้เหมือนกับในภาพวาดมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เขามักจะพูดและแสดงท่าทางเหมือนเป็นตัวละครตัวนี้ ระหว่างที่ถูกถ่ายภาพ ซึ่งมันต้องอาศัยความอดทนอย่างสูง แต่เขาก็ยินดี เขาเป็นคนเสนอความคิดเห็นเพื่อช่วยให้ได้ภาพที่เหมือนจริงออกมา จากนั้นเราก็ถ่ายภาพภาพวาดที่เสร็จสมบูรณ์ เพื่อทำให้มันลงผืนผ้าใบ มันดูเหมือนของจริงเลยครับ
            ในการจำลองท็อป คอทเทจ ซึ่งเป็นที่พักของประธานาธิบดีในตอนที่เขาอยากจะเขียนนิยายนักสืบ ขึ้นมา เราได้สร้างบ้านทั้งหลังขึ้นมาใหม่ ในลานโล่งในป่าแถบชิลเทรนส์ (หุบเขาทางตะวันออกเฉียงใต้ของอังกฤษ) เรามีภาพสเก็ตช์และแบบโมเดล รวมถึงหุ่นพลาสติกรูปคนตัวเล็กๆ สำหรับกระบวนการนี้ มันเป็นฉากที่น่าประทับใจมาก ตัวโรเจอร์เองจะนั่งอยู่ที่ระเบียงและอ่านหนังสือพิมพ์ด้วยครับ ที่โลเกชันนั้น เราต้องรู้ว่าทุกอย่างจะต้องอยู่ตรงไหนสำหรับการปิคนิค มันมีบันทึกตารางเวลา เพื่อที่จะได้ไม่มีเรื่องประหลาดใจเกิดขึ้น “เครื่องดื่มจะถูกตระเตรียมที่นี่ จานจะอยู่ตรงนี้...” เราจะต้องรู้ว่าตัวละครจะนั่งที่ไหนด้วย เหมือนอย่างวันนั้นในปี 1939 น่ะครับ  ผมติดภาพถ่ายจากปิคนิคครั้งนั้นบนผนัง ทุกคนจะดูภาพพวกนั้นเพื่อเป็นข้อมูลอ้างอิง บางคนได้ถ่ายภาพลูกๆ ของเขาที่แสดงถึงความตื่นเต้น “ในแบ็คกราวน์” ด้วยเหมือนกัน และคุณก็จะได้เห็นช่วงเวลาระหว่างกษัตริย์และราชินีครับ
            นอกจากนี้เราอยากจะจำลองรถเข็นที่เอฟดีอาร์ใช้ขึ้นมา แต่เราก็พบว่าเขาใช้รถเข็นหลายแบบ เราตัดสินใจใช้รถเข็นที่ถูกอนุรักษ์เอาไว้ที่สปริงวู้ด ใกล้ๆ กับโต๊ะของเขาในห้องสมุด คุณคิดว่าการสร้างรถเข็นขึ้นมาซักคันเป็นเรื่องง่าย แต่เปล่าเลย ล้อรถเข็นจะต้องมาจากฮอลแลนด์ และเราก็ต้องตัดเก้าอี้ห้องครัวที่สั่งทำเป็นพิเศษ เพื่อออกแบบเก้าอี้ที่จะมีด้านข้างคู่ขนานกันเพื่อที่ล้อจะผ่านไปได้ โครงสร้างเหล็กด้านใต้ก็จะต้องถูกสร้างขึ้นเหมือนกัน เราต้องตัดสินใจว่าเราจะใช้โอ๊คชนิดไหนและจะใช้สีอะไร รวมถึงต้องตรวจดูพวกน็อตหรือตะปูด้วย...”





ฝ่ายคอสตูม

Dinah Collin (ไดน่าห์ คอลลิน) คอสตูม ดีไซน์  กล่าวว่า...

               “...ฉันมีแหล่งข้อมูลมากมายในการทำงาน แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการที่เราจะสร้างหนังเรื่องนี้ขึ้นในอังกฤษ ฉันก็เลยรู้ตั้งแต่ต้นว่า สต็อคเครื่องแต่งกายทั้งหมดของเราจะต้องมาจากอเมริกา ฉันเดินทางไปลอสแองเจลิสสองสัปดาห์และพบชุด  เดรสน่ารักๆ หมวก และชุดสูทในร้านขายเสื้อผ้าที่นั่น และเราก็ส่งเสื้อผ้าทั้งหมด 54 กล่องมาที่นี่ค่ะ เดซีไม่ค่อยมีภาพมากนัก ฉันก็เลยต้องอาศัยภาพถ่ายของผู้หญิงอเมริกันในช่วงปลายยุค 30s แทนเสื้อผ้าเก่าๆ บางตัวเป็นการสานต่อการเดินทางที่น่ามหัศจรรย์ค่ะ เครื่องแต่งกายพวกนี้จะทำให้นักแสดงกลายเป็นตัวละครตัวนั้น เพื่อที่ผู้ชมจะได้เชื่อในตัวพวกเขา มันอาจจะเป็นยุคสมัยก่อนก็จริง แต่คุณก็ต้องจินตนาการถึงใครซักคนในชุดเหล่านี้ ไม่ใช่แค่ว่าใครเป็นคนสวมพวกมันในตอนแรก แต่รวมถึงตัวละครในเรื่อง หรือแม้กระทั่งตัวคุณเองด้วยค่ะ
            ฉันได้พบกับบิล เมอร์เรย์ครั้งแรกในบอสตัน ใกล้ๆ กับที่ที่เขากำลังถ่ายทำ Moonrise Kingdom ตอนลองชุด เราคุยกันว่าประธานาธิบดีรูสเวลท์มีร่างกายส่วนบนที่ล่ำหนา เพราะเขาได้ออกกำลังกายส่วนนั้น  ส่วนชุดของลอรา ลินนีย์  ฉันนำชุดเดรสชุดหนึ่งยุคเก่าที่ฉันนำมาด้วยมาดัดแปลงควบคู่ไปกับเนื้อผ้าที่มีการผลิตขึ้นมาใหม่  ใส่คู่กับรองเท้าสีขาวที่มีการร้อยเชือกสูง และตัวแป๊บขนาดเล็ก ซึ่งมันเข้ากับลอราได้พอดีเลยล่ะค่ะ...” 


ฝ่ายเมคอัพและแฮร์ สไตล์ลิส

Morag Ross (โมแร็ค รอส) ผู้ออกแบบแต่งหน้า กล่าวว่า...

               “…หนังเรื่องนี้เกี่ยวกับคนกลุ่มหนึ่งเป็นพิเศษก็จริง แต่การมีข้อมูลอ้างอิงเกี่ยวกับชีวิตโดยปกติของชาวอเมริกาในขณะนั้นก็ช่วยได้มากเหมือนกัน สำหรับเมคอัพ เราใช้ผลิตภัณฑ์สมัยใหม่ ซึ่งดีกับผิวมากกว่า เพื่อสร้างลุคแบบย้อนยุคขึ้นมาค่ะ อย่างเช่น โอลิเวีย เธอดูแตกต่างและอายุน้อยกว่าอีลีนอร์ มันก็เลยเป็นความท้าทายค่ะ ฉันกับโรเจอร์เห็นพ้องกันว่าเราจะต้องอาศัยความละเอียดอ่อน ฉันก็เลยทำให้ผิวสวยๆ ของเธอดูมีอายุมากขึ้นและเปลี่ยนฟันของเธอให้เหมือนกับอีลีนอร์  โรเจอร์พบภาพหนึ่งของอีลีนอร์ตอนปิคนิค ที่เธอปล่อยผมสยาย เป็นอิสระ และบอกว่าเขาอยากจะถ่ายทอดความรู้สึกเป็นอิสระนั้นและไม่ต้องทำผมทรงอะไรทั้งนั้นน่ะค่ะ...”

นอร์มา เว็บบ์  ผู้ออกแบบทรงผม  กล่าวว่า...

            “…ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ฉันจะไม่เน้นให้นักแสดงใช้วิก แต่จะใช้การดัดแปลงและให้สีผมจริงๆ ของนักแสดงแทนการสวมวิก  เพราะโรเจอร์อยากให้ผมของพวกเขาดูเป็นธรรมชาติที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ กษัตริย์และราชินีจะดูเรียบร้อยและเนี้ยบกว่าชาวอเมริกัน ฉันชอบการได้เห็นแซม เวสต์และโอลิเวีย โคลแมนในลุคพีเรียดสำคัญแบบนี้และคิดในใจว่า“มันเวิร์คด้วย!”แต่โรเจอร์ก็ไม่อยากให้ทุกอย่างเหมือนเปี๊ยบมันเป็นเรื่องของความพยายามถ่ายทอดแก่นแท้ของคนที่มีเลือดเนื้อจริงๆ เหล่านี้ออกมา ใบหน้าของเอฟดีอาร์เป็นที่รู้จักดี ฉันก็เลยทำโมลด์เล็กๆ สำหรับบิล เมอร์เรย์ในส่วนเนื้องอกตรงคิ้วด้านซ้าย และไฝตรงแก้มขวา บิลขอให้เขาดูเหมือนคนที่ออกแดดบ่อยๆ เพราะเอฟดีอาร์ชอบอาบแดดบ่อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้น่ะค่ะ  มันน่าพึงพอใจมากๆ ที่ได้เดินเข้าไปในฉากสมบูรณ์ในวันนั้น มันให้ความรู้สึกของความสำเร็จยิ่งใหญ่ และคุณก็จะได้เห็นผลของความอุตสาหะของทุกคน ของทีมงานมากมายน่ะค่ะ  ส่วนลุคของลอราในหนังเรื่องนี้จะดูมีอิสระมากกว่าเดซีตัวจริง   เดซีของเราจะเป็นธรรมชาติมากกว่าในขณะที่เดซีตัวจริงจะเป็นคนเนี้ยบที่ไม่เคยปล่อยให้ผมซักเส้นหลุดจากที่น่ะค่ะ…”