happy on December 20, 2012, 02:23:29 PM
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เตรียมเปิดศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเชียงใหม่ 
หรือ CMICE สงกรานต์นี้ พร้อมดันไทยเป็นศูนย์กลางไมซ์เอเชีย


               ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ หรือ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ (Chiang Mai Thailand, The International Convention and Exhibition Centre  Commemorating His Majesty’s 7th Cycle Birthday Anniversary หรือ CMICE) พร้อมเปิดให้บริการสงกรานต์ที่จะถึงนี้ ชูจุดศูนย์กลางสำคัญอุตสาหกรรมเมืองแห่งไมซ์ (MICE City Centre) รองรับตลาดหลักในประเทศ ตั้งเป้าดึงงานจากสมาคมและสมาพันธ์ต่างประเทศสู่เชียงใหม่ สนองนโยบายรัฐดันไทย ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมไมซ์ในภูมิภาคเอเชีย ในปี พ.ศ. 2559




               วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2555 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ นายเสกสรร นาควงศ์ รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยถึงความ คืบหน้าโครงการว่า “ปัจจุบันการก่อสร้างดำเนินการเสร็จสิ้น ยังคงเหลือการก่อสร้างสิ่งก่อสร้างประกอบ และระบบสาธารณูปโภคเพิ่มเติม จำนวน 6 รายการ  คือ อาคารที่ประทับรับรอง อาคารพักชั่วคราวของเจ้าหน้าที่ อาคารซ่อมบำรุงพร้อมเครื่องมือ  อาคารพักขยะ เสาธงชาติ และปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคเพิ่มเติม คาดว่าจะแล้วเสร็จทุกรายการประมาณเดือนมีนาคม 2556 รวมทั้ง คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นชอบพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) เรียบร้อยแล้ว โดยควบรวมและโอนกิจการโครงการเชียงใหม่ ไนท์ซาฟารี จากองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืน (องค์การมหาชน) อุทยานหลวง  ราชพฤกษ์ จากสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) และศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ จากสำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬามาเพื่อบริหารจัดการร่วมกัน ซึ่งจะนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมฯ เพื่อลงพระปรมาภิไธยในลำดับต่อไป คาดว่าคงใช้เวลาอีกประมาณ 1-2 สัปดาห์ การดำเนินงานดังกล่าว จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งภายในและภายนอกประเทศ จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เชิงวัฒนธรรม เชิงสุขภาพและสปาที่มีคุณภาพสูง  อันจะก่อให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 2 ล้านล้านบาท ในปี 2558  เพื่อเป็นนครแห่งชีวิตและความมั่งคั่ง พร้อมเป็นประตูการค้าสู่สากล”






               สำหรับกำหนดเปิดศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา อย่างเป็นทางการ และแนวทางการบริหารจัดการนั้นจะขึ้นอยู่กับแนวทางการดำเนินงานของสำนักงานพัฒนาพิงคนคร ซึ่งจะมีความชัดเจนมากขึ้นเมื่อพระราชกฤษฎีกาประกาศใช้ และมีคณะกรรมการชั่วคราวเข้ามาดูแลแล้ว อย่างไรก็ตาม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการดำเนินการอย่างเต็มที่

               การเปิดบริการของศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา และนโยบายผลักดันเชียงใหม่เป็นนครแห่งไมซ์ จะส่งเสริมให้อุตสาหกรรมไมซ์ของเชียงใหม่เติบโตมากกว่าปกติ ที่จะโต เฉลี่ยปีละ 7-10 % ก็จะเติบโตเป็นปีละไม่น้อยกว่า 10-15 % จากปี พ.ศ. 2554 โดยที่ผ่านมา เชียงใหม่มีการจัด งานด้านไมซ์ จำนวน 427 ครั้ง มีจำนวนนักเดินทางกว่า 6 หมื่นคน สร้างรายได้คิดเป็นมูลค่ากว่า 3.35 พันล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มไมซ์ในประเทศกว่า 1.9 หมื่นคน มูลค่ากว่า 82 ล้านบาท และนักเดินทางไมซ์จากต่างประเทศ กว่า 4.07 หมื่นคน สร้างรายได้กว่า 3.27 พันล้านบาท

               สำหรับศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ก่อตั้งขึ้นเพื่อ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 และเพิ่มศักยภาพให้เชียงใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองแห่งไมซ์ของประเทศหรือ MICE City โดย เชียงใหม่มีบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภาคเหนือ รวมทั้งเพื่อส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพในการรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมธุรกิจไมซ์ของประเทศสู่ระดับนานาชาติ รองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ผ่าน 4 อุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) ได้แก่ Meeting ธุรกิจการจัดประชุม Incentive ธุรกิจการท่องเที่ยว เพื่อเป็นรางวัล Convention ธุรกิจการจัดประชุมนานาชาติ และ Exhibition ธุรกิจการจัดงานแสดงสินค้า/นิทรรศการ

               จุดเด่นของศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา มีความ สามารถในการรองรับงานในระดับนานาชาติและระดับชาติ ได้พร้อมกันมากถึง 10,000 คน   มีขนาดพื้นที่ทั้งหมด326 ไร่ หรือพื้นที่รวม 521,600 ตารางเมตร แบ่งเป็นพื้นที่จัดงานภายในอาคารกว่า 60,000 ตารางเมตร พื้นที่จัดงานภายนอกอาคารกว่า 7,443 ตารางเมตร และที่เหลือเป็นพื้นที่ใช้สอยสาธารณะอีกกว่า 365,000  ตารางเมตร ถือได้ว่าเป็นศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ในระดับภูมิภาค ภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ทำให้ศูนย์ประชุมฯ แห่งนี้ สามารถดัดแปลงเพื่อการจัดงานได้หลากหลาย เช่น การจัดงานทางวัฒนธรรม งานโชว์ งานคอนเสิร์ต ต่างๆ โดยเทคโนโลยี การก่อสร้างห้องจัดแสดง (ที่ไม่มีเสา) เช่นเดียวกับศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี และศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค

               นอกจากนี้ ทำเลที่ตั้งของศูนย์ประชุมฯ ยังมีความโดดเด่น ทั้งในด้านการขนส่ง การเดินทางด้วยรถไฟ  เครื่องบิน และรถยนต์ อีกทั้งบรรยากาศสวยงามแวดล้อมไปด้วยทัศนียภาพอันงดงามของธรรมชาติ ห้อมล้อมด้วยภูเขา อากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี และอยู่ไม่ไกลจากตัวเมือง ที่พัก โรงแรม รีสอร์ท และร้านอาหารต่างๆ  รวมทั้งใกล้กับเส้นทางท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติมากมาย อาทิ ม่อนแจ่ม ปางช้างแม่สา สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ สวนสัตว์จังหวัดเชียงใหม่ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ ไนท์ซาฟารี เป็นต้น

               สำหรับแผนการตลาดในช่วงแรก เน้นกลุ่มเป้าหมายในประเทศเป็นหลัก คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 90 อาทิ การจัดงานจากหน่วยงานภาครัฐ  หอการค้าทั่วประเทศ สมาคมที่เกี่ยวข้อง และบริษัทเอกชนที่จัดงานแสดงสินค้า เป็นต้น และกลุ่มเป้าหมายต่างประเทศร้อยละ 10  อาทิ การจัดงานจากสมาพันธ์งานแสดงสินค้าโลก UFI: Union des Foires Internationale สมาคม IAEE : International Association of Exhibitions and Events และสมาคม ICCA: International Congress and Convention Association โดยใช้กลยุทธ์สร้างการรับรู้ (Promotion) ผ่านการจัดกิจกรรม Fam Trip, Tradeshow, Roadshow และการพัฒนาตลาดผ่านเครือข่ายต่างๆ อาทิ สมาคม สมาพันธ์ หอการค้า ที่เป็นสมาชิก ตลอดจนช่องทางการสื่อสารในระบบออนไลน์ที่จะเข้าสู่กลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่ม เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายดึงผู้เดินทางเข้ามาประชุมฯ  ควบคู่กับกลยุทธ์สร้างความร่วมมือ (Participation) กับภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน ทั้งในระดับชุมชน ท้องถิ่นและระดับนานาชาติ

               “ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ยังมีความได้เปรียบเชิงกลยุทธ์ด้านทำเลที่ตั้ง รองรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่อปี (ประมาณการณ์ปี พ.ศ. 2555) ประมาณ 4.5 ล้านคน  ซึ่งครอบคลุมตลาดหลักในย่านอาเซียนกว่า 3 พันล้านคน  ด้วยเวลาการเดินทางไม่เกิน 7 ชั่วโมง และมี 16 สายการบินที่บินจากเชียงใหม่ไปยัง 175 จุดทั่วโลก นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2556 นโยบาย โมเดิร์น ไทยแลนด์  ของรัฐบาล ที่เน้นการสร้างโอกาสด้านการค้า การลงทุน ธุรกิจ  และการสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศ ด้วยการนำเสนอประเทศไทยในฐานะประตูสู่อาเซียน จุดเชื่อมต่อสู่การสร้างโอกาสใหม่ๆ และความสำเร็จทางธุรกิจ ซึ่งจะ มีส่วนส่งเสริมธุรกิจไมซ์ในเชิงคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตลาดที่มีจำนวนผู้เดินทางมาประชุมสูงสุด 5 อันดับแรกของเอเชีย ได้แก่ อินเดีย จีน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ รวมถึงตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย ขณะเดียวกันตลาดสหรัฐอเมริกาและกลุ่มยุโรป อาทิ สหพันธรัฐเยอรมัน อังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซีย อันเป็นตลาดเดิม” นายเสกสรร กล่าวสรุป