happy on December 16, 2012, 08:26:51 PM

ชื่อภาพยนตร์      FLIGHT
ชื่อไทย      ผ่าวิกฤตเที่ยวบินระทึก
วันที่เข้าฉาย      21 กุมภาพันธ์ 2556
จัดจำหน่าย      บริษัท ยูไนเต็ด อินเตอร์เนชั่นแนล พิคเจอร์ส (ฟาร์อีสต์)
เว็บไซต์      www.Paramount.com/Flight

ทีมนักแสดง
   เดนเซล วอชิงตัน (DENZEL WASHINGTON)    รับบท    วิป วิเทเกอร์
   ดอน เชียเดิล (DON CHEADLE)       รับบท    ฮิวจ์ แลง
   เคลลี่ รีลลี่ย์ (KELLY REILLY)       รับบท    นิโคล แม็กเก้น
   จอห์น กู้ดแมน (JOHN GOODMAN)       รับบท    ฮาร์ลิ่ง เมย์ส
   บรูซ กรีนวู้ด (BRUCE GREENWOOD)    รับบท    ชาร์ลี แอนเดอร์สัน
   เมลิสสา ลีโอ (MELISSA LEO)       รับบท    เอลเลน บล็อก
   ไบรอัน เจอราห์ตี้ (BRIAN GERAGHTY)    รับบท    เคน อีแวนส์
   ทามาร่า ทูนี่ (TAMARA TUNIE)       รับบท    มาร์กาเร็ต โธเมสัน
   เนดีน วาลาซเกซ (NADINE VELAZQUEZ)    รับบท    แคเธอรีน่า มาร์เกซ
   เจมส์ แบ็ดจ์ เดล (JAMES BADGE DALE)    รับบท    ชายหนุ่มผอมโซ
   การ์เซลล์ โบไวส์ (GARCELLE BEAUVAIS)    รับบท    ดีน่า

ทีมผู้สร้าง
   โรเบิร์ต เซเมคคิส (ROBERT ZEMECKIS) – ผู้กำกับ
   สตีฟ สตาร์กี้ (STEVE STARKEY) – ผู้อำนวยการสร้าง
   แจ็ค แร็พกี้ (JACK RAPKE) – ผู้อำนวยการสร้าง



               ภาพยนตร์ทริลเลอร์เรื่องราวเข้มข้นของพาราเม้าต์ พิคเจอร์ส เรื่อง “Flight” นำแสดงโดย เดนเซล วอชิงตัน ในบทกัปตันวิเทเกอร์ นักบินสายการบินผู้มีประสบการณ์ ผู้นำเครื่องบินลงจอดอย่างรุนแรงหลังจากเกิดหายนะกลางอากาศ และช่วยชีวิตได้เกือบทุกคนบนเครื่อง หลังจากนั้น วิปได้รับการยกย่องว่าเป็นฮีโร่ แต่ยิ่งได้รับรู้เรื่องราวมากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งเกิดคำถามมากยิ่งกว่าคำตอบว่าใครหรืออะไรเป็นต้นเหตุความผิด และจริงๆ แล้ว เกิดอะไรขึ้นบนเครื่องบินลำนั้น

               พาราเม้าต์ พิคเจอร์ส ภูมิใจเสนอ “Flight” กำกับโดย โรเบิร์ต เซเมคคิส อำนวยการสร้างโดย วอลเทอร์ เอฟ พาร์คส์ และลอรี่ แม็คโดนัลด์ จาก พาร์คส์/ แม็คโดนัลด์ โปรดักชั่น และโรเบิร์ต เซเมคคิส, สตีฟ สตาร์กี้ และแจ็ค แร็พกี้ จากอิมเมจมูฟเวอร์ส ผู้อำนวยการสร้างบริหาร ได้แก่ เชอรีแลนน์ มาร์ติน บทภาพยนตร์ดั้งเดิมเป็นฝีมือการเขียนบทของ จอห์น แกตินส์ ผู้กำกับภาพ คือ ดอน เบอร์เกสส์ เอเอสซี โปรดักชั่น ดีไซเนอร์ ได้แก่ เนลสัน โค้ทส์ ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย ได้แก่ หลุยส์ ฟร็อกลี่ย์ สเปเชียล เอฟเฟ็กต์ ซูเปอร์ไวเซอร์ ได้แก่ ไมเคิล แลนเทียรี่ วิชวล เอฟเฟ็กต์ ซูเปอร์ไวเซอร์ ได้แก่ เควิน เบลลี่ ภาพยนตร์เรื่องนี้ลำดับภาพโดย เจเรไมอาห์ โอพริสโคลล์

               ภาพยนตร์เรื่องนี้นำแสดงโดย เดนเซล วอชิงตัน,ดอน เชียเดิล, เคลลี่ รีลลี่, จอห์น กู้ดแมน, บรูซ กรีนวู้ด, เมลิสสา ลีโอ, ไบรอัน เจอราห์ตี้, ทามาร่า ทูนี่, เนดีน เวลาซเกซ และเจมส์ แบ็ดจ์ เดล

               “Flight” เป็นความร่วมมือครั้งแรกของสองเจ้าของรางวัลออสการ์ เดนเซล วอชิงตัน และผู้กำกับ โรเบิร์ต เซเมคคิส ผู้กลับมาจับงานเล่าเรื่องราวสุดเข้มข้นที่ใช้คนแสดงหลังจากได้รับความสำเร็จมานานหลายปีกับงานกำกับและอำนวยการสร้างภาพยนตร์ที่ใช้เทคโนโลยีโมชั่น แค็ปเจอร์ระดับแถวหน้าของโลก

               “Flight” จัดจำหน่ายโดย พาราเม้าต์ พิคเจอร์ส


เรื่องย่อ

               ในเช้าวันหนึ่งกลางฤดูใบไม้ร่วง เซ้าธ์เจ็ท 227 เดินทางออกจากออร์แลนโด้, ฟลอริด้า ตามเส้นทางการเดินทางปกติ กัปตันวิป วิเทเกอร์รับหน้าที่ควบคุมการเดินทางของเครื่องบินเจ็ทแจ็คสัน-ริดจ์ฟิลด์ 88 ร่วมกับนักบินผู้ช่วยหนุ่ม เคน อีแวนส์ ซึ่งมีลักษณะตรงกันข้ามกับวิปทุกอย่าง ในไม่ช้า เครื่องบินของเขาต้องเผชิญแรงสั่นไหวที่รุนแรงเกินคาดเมื่อพวกเขาบินผ่านเข้าไปในพายุลูกใหญ่  นั่นไม่ใช่ปัญหาสำหรับวิปผู้สามารถบังคับเครื่องบินให้ออกสู่ท้องฟ้าโปร่งใสได้ แม้จะด้วยวิธีที่แหวกแนวและน่าประหลาดใจ สร้างความโล่งใจให้กับผู้โดยสารทั้ง 96 คน พร้อมด้วยลูกเรืออีก 6 คน
            แต่เมื่อหลายสิ่งหลายอย่างเริ่มผิดปกติ ทันใดนั้น สองนักบินต้องเผชิญกับระบบเครื่องยนต์กลไกที่ทำงานผิดพลาดโดยหาสาเหตุไม่ได้ ทำให้เครื่องบินสั่นไปทั้งลำ ทั้งลดระดับและสั่นราวกับรถไฟเหาะ เมื่อเครื่องยนต์ทำงานล้มเหลวและเริ่มส่งผลต่อระบบอื่นๆ ทำให้เครื่องบินหมุนควงสว่านปักหัวลง และนักบินดูจะควบคุมเครื่องไม่ได้ วิปตัดสินใจว่าหนทางเดียวที่จะรักษาระดับความสูงของเครื่องบินเอาไว้ได้ ก็คือการทำให้เครื่องบินที่หนัก 50 ตันแปรกระบวนการบินเป็นการบินผาดโผนและพลิกหงายท้อง ซึ่งจะช่วยให้เครื่องบินร่อนต่อไปได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องยนต์ จนกระทั่งเขาควบคุมเครื่องบินได้และนำมันลงจอด ภายในเวลาไม่กี่นาที เมื่อไม่สามารถนำเครื่องไปถึงสนามบินได้ โดยต้องบังคับเครื่องบินให้บินสูงจากพื้นเพียงแค่ไม่กี่ร้อยฟุต วิปพบที่ดินผืนหนึ่งที่อยู่ติดกับโบสถ์ ซึ่งเขาพยายามนำเครื่องลงจอดที่นั่น ด้วยความเร็ว  140 ไมล์ต่อชั่วโมง เขาพลิกเครื่องบินและนำมันลงจอด แรงกระแทกส่งผลให้เครื่องแตกกระจาย แต่วิปสามารถนำเครื่องลงจอดได้อย่างปลอดภัยพอที่จะช่วยชีวิตทุกคนเอาไว้ได้ ยกเว้นก็แต่คน 6 คนจากจำนวนทั้งสิ้น 102 ชีวิตที่อยู่บนเครื่องบินลำนี้
            เพราะสามารถนำเครื่องลงจอดได้ราวกับปาฏิหาริย์ เหล่านักข่าวยกย่องให้วิปเป็นวีรบุรุษ แต่ยังมีคำถามที่ค้างคาอยู่ สาเหตุของการตกของเครื่องบินยังไม่เป็นที่แน่ชัดต่อผู้บังคับบัญชา และต่อเอ็นทีเอสบี ถึงแม้วิปจะแน่ใจว่าถ้าเขาไม่อยู่ในห้องนักบิน เครื่องบินลำนี้คงโหม่งพสุธา และผู้โดยสารทั้งหมดจะต้องเสียชีวิตแน่นอน อย่างไรก็ดี มีการสืบสวนติดตามมา
            เมื่อมีการไต่สวนเกิดขึ้น วิปต้องตั้งสติขณะที่เขาต้องต่อสู้กับความชั่วร้ายของตัวเอง วิปเชื่อว่าการกระทำของเขาได้ช่วยชีวิตผู้โดยสารบนเครื่อง และเขาแน่ใจพอๆ กันว่าปัญหาส่วนตัวของเขาไม่ใช่เรื่องประหลาดและไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุเครื่องบินตก เพื่อนทั้งเก่าและใหม่ต่างรายล้อมอยู่รอบตัวเขา ชาร์ลี แอนเดอร์สัน ซึ่งเป็นทั้งเพื่อนของเขาและเป็นตัวแทนของสหภาพ ได้เข้ามาจัดการคดีนี้ เช่นเดียวกับทนายผู้จริงใจอย่าง ฮิวจ์ แลง ขณะที่เพื่อนของวิป ฮาร์ลิ่ง เมย์ส คอยมาให้กำลังใจ ตลอดเหตุการณ์นี้ วิปได้พบกับนิโคล สาวผู้มีลักษณะคล้ายๆ กัน นิโคลที่เป็นช่างภาพดวงตก และเป็นคนติดยาที่กำลังรักษาตัว อาจเป็นสิ่งที่วิปต้องการ ถ้าเพียงแต่วิปจะคิดออกว่ามันคืออะไรกันแน่
            “Flight” บอกเล่าเรื่องราวอันแสนเจ็บปวดเกี่ยวกับความดีความชอบที่แสนกล้าหาญและน่าทึ่งของชายคนหนึ่ง และในขณะที่เขาปกป้องตัวเองอยู่นั้น เขาได้ค้นพบความงดงามและความกล้าหาญที่แท้จริงของตัวเองได้อย่างไร

happy on December 16, 2012, 08:32:18 PM

เส้นทางการบิน

               ในปี 1999 มือเขียนบทและอดีตนักแสดง จอห์น แกตินส์ เคยทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านเทคนิคให้กับภาพยนตร์ “เอพิคเกี่ยวกับทหาร” เรื่องหนึ่ง ซึ่งทำให้เขาได้ใช้เวลามากมายอยู่กับที่ปรึกษาด้านเทคนิคคนอื่นๆ ซึ่งเป็นนักบินประจำกองทัพ และพวกเขาได้ร่วมแบ่งปัน “เรื่องราวที่บ้าที่สุด” เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาต้องทำเพื่อนำเครื่องบินร่อนลงจอดบนเรือใจกลางทะเลที่บ้าคลั่ง สำหรับแกตินส์ ซึ่งเป็นคนที่มีทั้งจินตนาการและความหวาดกลัวการขึ้นเครื่องบิน เรื่องราวที่มีชีวิตชีวาเหล่านี้เป็นตัวผลักดันให้จินตนาการของเขาเริ่มต้นทำงาน ความกดดัน ความเบิกบานของการตีลังกากลางอากาศได้สำเร็จ สภาพจิตใจที่พวกเขามี และพวกเขาพบวิธีปลดเปลื้องและกลับไปอยู่กับมนุษย์ปุถุชนบนโลกได้เช่นไร
            และแล้วการเดินทางนาน 12 ปีที่ในที่สุดได้นำ “Flight” ขึ้นสู่จอภาพยนตร์ได้เริ่มต้นขึ้น ความขัดแย้งหลักที่ถูกนำเสนอใน “Flight” ก็คือ การที่ วิป วิเทเกอร์ ไม่สามารถซื่อตรงกับตัวเขาเองได้ เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญในการปฏิเสธความจริง ถึงแม้เมื่อการดิ่งลงต่ำของตัวเองจะแรงมากขึ้น ตามที่แกตินส์อธิบาย  “’Flight’ คือการศึกษาตัวละคร เกี่ยวกับชายคนหนึ่งที่พยายามดิ้นรนต่อสู้กับปีศาจในตัวเขาเอง และสิ่งที่ควรจะเป็นวันทำงานธรรมดาๆ วันหนึ่งของเขา กลับกลายเป็นเหตุอันโชคร้ายที่นำไปสู่เหตุหายนะบนเครื่องบิน จากนั้น เรื่องราวที่ยิ่งใหญ่บังเกิดขึ้นทั้งในระดับส่วนตัวและในระดับงาน เมื่อโลกยังคงหมุนไป เราได้เห็นชายคนนี้ที่อยู่ใจกลางเรื่องราวทั้งหมดต้องแก้ไขสถานการณ์” 
            แกตินส์ได้ทำการค้นคว้าเรื่องเหตุหายนะทางอากาศที่เกิดขึ้นจริง ในเวลานั้น การนำเครื่องลงจอดได้อย่างน่าอัศจรรย์ที่แม่น้ำฮัดสันของ ยูเอสแอร์เวย์ส โดยฝีมือนักบินผู้กล้าหาญ ซัลลี่ ซัลเลนเบอร์เกอร์ ยังอยู่ห่างไกลไปสิบปี อย่างไรก็ดี ด้วยความช่วยเหลือจากเอ็นทีเอสบี (คณะกรรมาธิการดูแลความปลอดภัยด้านการขนส่งของชาติ) และการได้พูดคุยกับนักบินมากมาย ในที่สุด แกตินส์ก็เขียนร่างโครงเรื่องความยาว 35 หน้า ของเรื่องราวที่กลายมาเป็น “Flight” ซึ่งกลายมาเป็นยิ่งกว่าภาพยนตร์เกี่ยวกับเหตุการณ์หายนะเมื่อเขาได้ผสมรวมเข้ากับประสบการณ์ของตัวเขาเอง
            “ส่วนหนึ่งในชีวิตส่วนตัวของผมได้พบหนทางที่จะก้าวเข้าสู่เรื่องราวในบทภาพยนตร์เรื่องนี้ สำหรับผม มันคือแบบฝึกหัดที่ทดสอบปัญหาและความชั่วร้ายที่ผมมีมาตลอดชีวิต และเรื่องที่ว่ามันมีความเกี่ยวพันเช่นไรกับตัวละครตัวนี้ที่มีเหตุการณ์ครั้งใหญ่เกิดขึ้นในชีวิตของเขา” แกตินส์กล่าว
            แกตินส์อธิบายว่าการเสพติดส่วนหนึ่งของวิปก็คือคำโกหกที่เขาบอกตัวเอง และคำโกหกที่คนอื่นๆ ขอให้เขาเก็บไว้ การทดสอบที่ยากลำบากที่แท้จริงมาถึงเมื่อ “…น้ำหนักของคำโกหกเหล่านั้นมาถึงจุดแตกหักเมื่อเขาต้องตัดสินใจ” แกตินส์บอก
            แกตินส์เพิ่งจะเสร็จจากการทำงานกับภาพยนตร์เรื่อง Dreamer ในปี 2006 ซึ่งทีมผู้อำนวยการสร้าง วอลเทอร์ พาร์คส์ และลอรี่ แม็คโดนัลด์ ทำงานอยู่ในตำแหน่งหัวหน้าสตูดิโอที่ดรีมเวิร์กส์ เขาได้มอบบทภาพยนตร์ความยาว 40 หน้าให้พาร์คส์และแม็คโดนัลด์ไปอ่าน พาร์คส์เล่าว่า “มันยังเขียนไม่เสร็จดี และยังไม่ได้ขัดเกลา แต่มันกลับเป็น 40 หน้ากระดาษที่โดนใจพวกเราทั้งสองคน ในที่สุด ตัวละครหลักที่แสดงได้อย่างเฉียบคมโดยเดนเซล คือคนที่เป็นหลักของเรื่อง เป็นคนที่กล้าหาญ สง่างาม แต่มีความอ่อนไหวอยู่ภายใน”   
            แม็คโดนัลด์เล่าว่า ถึงแม้ในตอนนั้นแกตินส์จะยังเขียนบทภาพยนตร์ไม่เสร็จตอนที่พวกเขาได้อ่านมันครั้งแรก แต่เรื่องนี้ก็ทำให้พวกเขารู้สึกติดอกติดใจได้ “เราชอบความเป็นไปได้ที่มีอยู่ในเรื่องนี้ มันมีตัวละครที่มีความซับซ้อน และมีความประนีประนอมในเรื่องของศีลธรรม หน้าตามันดูเป็นหนังทริลเลอร์ที่เรื่องราวเกิดขึ้นในศาล แต่เมื่อพลอตเรื่องดำเนินไป คุณจะรู้สึกว่าสำหรับวิปแล้ว การชนะคดีนี้จะกลายเป็นความตกต่ำสำหรับเขา ถ้าเขาไม่เผชิญหน้ากับความจริงว่าเขาเป็นใคร เขาจะถูกทำลายอย่างลึกซึ้ง ในความรู้สึกที่เป็นสากลมากขึ้น เราทุกคนต่างสามารถเข้าใจในหลายๆ เรื่องที่เราไม่อยากเผชิญหน้าหรือจัดการปัญหานั้น เป็นคำโกหกที่เราบอกตัวเราเองและคนอื่นๆ” พาร์คส์กล่าวเสริม “ฉันชอบไอเดียที่คุณเกือบจะเอาใจช่วยให้เกิดเรื่องเลวร้ายกับตัวละครหลักตัวนี้ เพราะนั่นจะเป็นจุดเริ่มต้นของการไถ่บาปของเขา และฉันก็ยังไม่เคยเห็นหนังเรื่องไหนที่เล่าเรื่องแบบนั้นมาก่อนเลย”
            สิ่งที่ติดตามมา ก็คือ การพัฒนางานอย่างจริงจังนาน 18 เดือน ซึ่งลงเอยด้วยโครงร่างบทในช่วงปลายปี 2007 ซึ่งเป็นรากฐานของภาพยนตร์เรื่องนี้ “ภาพยนตร์ที่มีความพิเศษอย่าง Flight มักจะใช้เวลายาวนานที่สุดกว่าจะขึ้นจอได้” พาร์คส์บอก “สุดท้ายแล้วมันก็คือการหาองค์ประกอบที่ลงตัว ซึ่งก็คือเหตุผลที่ว่าทำไมทุกอย่างถึงได้เปลี่ยนแปลงไปเมื่อเดนเซลได้อ่านบทภาพยนตร์เรื่องนี้ในปี 2009 และตัดสินใจร่วมงานกับเรา”   
            ถึงตอนนี้ก็ถึงเวลาค้นหาตัวผู้กำกับแล้ว ในฤดูร้อนปี 2010 เมื่อภาพยนตร์ที่แกตินส์เขียนบทให้เรื่อง “Real Steel” เปิดกล้องถ่ายทำในดีทรอยต์ หนึ่งในผู้อำนวยการสร้างของภาพยนตร์เรื่องนั้น แจ็ค แร็พกี้ จากอิมเมจมูฟเวอร์ส ได้อ่านโครงร่างบทของ “Flight” และคิดว่ามันเป็นโปรเจ็กต์ที่ผู้ร่วมงานของเขาที่อิมเมจมูฟเวอร์ส ซึ่งก็คือ โรเบิร์ต เซเมคคิส น่าจะสนใจมากำกับ เรื่องราวในบทภาพยนตร์เรื่องนี้โดนใจพวกเขาทุกคน และโปรเจ็กต์ที่แกตินส์ใช้เวลาเขียนนานถึง 12 ปี ก็กลายเป็นภาพยนตร์ขึ้นมาจนได้
            สำหรับเซเมคคิส “Flight” คือการหวนคืนสู่งานกำกับภาพยนตร์ที่ใช้คนแสดง ในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา เซเมคคิสได้กำกับและอำนวยการสร้างภาพยนตร์หลายเรื่องที่ใช้เทคโนโลยีโมชั่นแค็ปเจอร์ ซึ่งทำให้เซเมคคิสกลายเป็นผู้บุกเบิกงานสเปเชียลเอฟเฟ็กต์ และวิชวลเอฟเฟ็กต์ในวงการภาพยนตร์ อย่างไรก็ดี ด้วยตัวละครแข็งแกร่งที่มาพร้อมการเดินทางทางอารมณ์อันจับใจ คือสิ่งที่มีให้เห็นในภาพยนตร์ทุกเรื่องของเขา รวมถึง “Flight” ด้วย
            “สำหรับผม สิ่งที่ทำให้ผมสนใจจริงๆ ก็คือ ตัวละครทุกตัวมีความซับซ้อนอย่างมาก พวกเขาเป็นตัวละครที่เป็นสีเทา พวกเขาไม่ใช่คนดีหรือคนเลวไปเลย ทุกคนในภาพยนตร์เรื่องนี้มีความบกพร่อง และมันได้กลายมาเป็นพลังให้กับภาพยนตร์เรื่องนี้” เซเมคคิสบอก
            “สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่าง ก็คือ ความตื่นเต้นในภาพยนตร์เรื่องนี้เกิดมาจากความไม่แน่นอนว่าตัวละครจะทำอะไร พวกเขาจะตอบสนองเช่นไร มันไม่เหมือนกับการมีระเบิดเวลาหรืออุกกาบาตที่กำลังพุ่งเข้าทำลายโลก การคาดหวังเกิดมาจากการไม่รู้ว่าตัวละครจะทำอะไรฉากแล้วฉากเล่า หาได้ยากมากที่จะพบบทภาพยนตร์ที่มีความลึกและความซับซ้อนเช่นนั้น นั่นคือสิ่งที่ทำให้ผมทึ่ง ผมอยากเห็นว่าเรื่องนี้จะคลี่คลายดำเนินไปเช่นไร จะเกิดอะไรขึ้นกับตัวละครของวิป”
            สตีฟ สตาร์กี้ ผู้ร่วมทำหน้าที่อำนวยการสร้างกับเซเมคคิสมานาน เข้าใจดีถึงความสนใจที่เขามีต่อโปรเจ็กต์นี้ “จานสีของบ็อบมีขนาดใหญ่มาก ดังนั้นการตัดสินใจของเขาที่จะสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่ทำให้ผมแปลกใจเลย” สตาร์กี้เล่า ผู้อำนวยการสร้างผู้ร่วมงานกับ โรเบิร์ต เซเมคคิส ซึ่งเป็นหุ้นส่วนในบริษัท อิมเมจมูฟเวอร์ส กับเขามานานกว่า 25 ปี บอกว่า ในฐานะที่เซเมคคิสเองก็เป็นนักบินเช่นกัน ทำให้เขา “… มีความเข้าใจถึงข้อเรียกร้องของอาชีพนี้ และเขาก็มีความสนใจที่จะนำเสนอความรู้สึกที่เป็นจริงและน่าเชื่อให้เกิดขึ้นกับฉากภายในเครื่องบินในภาพยนตร์เรื่องนี้ อย่างไรก็ดี เหตุเครื่องบินตกคือสิ่งที่ช่วยให้เขาเข้าถึงเรื่องจริงๆ ได้ โดยหัวใจแล้ว มันคือเรื่องราวการค้นหาซึ่งจิตวิญญาณ เกี่ยวกับการดิ้นรนต่อสู้ของชายคนหนึ่งที่จะซื่อสัตย์กับตัวเอง เหตุเครื่องบินตกนำไปสู่เหตุการณ์ต่างๆ มากมายที่ทำให้เขาต้องหันมามองลึกลงไปในตัวเขาเอง และค้นพบความจริงเกี่ยวกับตัวเขาเองด้วย”
            ตรงกันข้ามกับตารางการถ่ายทำของภาพยนตร์ส่วนมาก เซเมคคิสถ่ายภาพยนตร์เรื่องนี้ตามลำดับเหตุการณ์ เพื่อให้การแสดงเติบโตไปอย่างเป็นธรรมชาติ ทำให้นักแสดงและทีมผู้สร้างได้เรียนรู้และขยายความเป็นตัวละครของพวกเขาเมื่อเรื่องราวพัฒนาไป เพื่อช่วยให้ทำได้สำเร็จ เซเมคคิสได้เชิญมือเขียนบท จอห์น แกตินส์ มาที่กองถ่ายทุกวันตลอดการถ่ายทำ เพื่อเป็นที่ปรึกษาและเพื่อปรับให้บทภาพยนตร์ดีขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงหรือเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้น
            สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปเลยก็คือวิป เขาคือแอนตี้ฮีโร่ที่เป็นแบบฉบับ เป็นสิ่งที่เซเมคคิสพยายามสร้างให้เรียบง่ายมาตั้งแต่เริ่มต้น
            “ผมไม่คิดว่าจะมีข้อสงสัยใดๆ ที่ใครก็ตามที่ได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้จะไม่ช็อคเมื่อพวกเขาได้เห็นฉากตอนเริ่มต้นเรื่องเมื่อวิปกระทำสิ่งที่เกินจินตนาการและกลับกลายเป็นนักบินที่ไว้ใจได้เมื่อเขาเดินออกนอกประตูไป” สตาร์กี้เล่า “มันคือเรื่องช็อคต่อระบบ มันกลายเป็นจุดหักมุมที่ไม่มีใครคาดถึง และวิธีที่บ็อบถ่ายทำมันก็ออกมายิ่งใหญ่ ที่มาพร้อมอารมณ์ขันที่ชวนช็อค”
            ผลกลายเป็นว่าเที่ยวบินที่น่ากลัวเป็นแค่จุดเริ่มต้นของการเดินทางเท่านั้น “Flight” ได้สำรวจเดิมพันที่สูงขึ้นผ่านตัววิป วิเทเกอร์ ตามที่แกตินส์บอก “วิปคือชายที่อยู่ในจุดที่ประนีประนอมที่สุด แต่เขาได้กระทำการบินที่เป็นเหมือนปาฏิหาริย์ และได้สิทธิ์ในการควบคุมชะตากรรมของเขาเอง สิ่งที่บังเกิดขึ้นกับผมก็คือคำถามเกี่ยวกับคุณค่าของการมีชีวิตอยู่อย่างซื่อตรง มันเป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบของภาพยนตร์เรื่องนี้ที่เราอยากเชิญให้คนดูได้ก้าวเข้ามาสู่โลกของวิป เพื่อทำหน้าที่เป็นเสมือน ‘ศาลความเห็นของสาธารณชน’ และเพื่อดูเขาดิ้นรนต่อสู้กับอำนาจที่พยายามจะกำจัดเขาและที่ทำให้เขากลายเป็นฮีโร่ เราจะตัดสินเขาอย่างไร ด้วยผลงานการบินอันโดดเด่น หรือด้วยความชั่วร้ายในตัวเขา”
            ผู้อำนวยการสร้าง วอลเทอร์ พาร์คส์ กล่าวเสริมว่า ส่วนหนึ่งในการนำเครื่องลงของวิป เกี่ยวข้องกับระบบที่ทำให้เขากลายเป็นซูเปอร์ฮีโร่
“มีแบบแผนที่แปลกๆ อยู่ วิปทำทุกอย่างได้ถูกต้อง เขานำเครื่องบินลงจอดได้ราวปาฏิหาริย์ และช่วยชีวิตคนไว้ได้มากมาย เขากลายเป็นฮีโร่ แต่ปัญหาก็คือเขาก็กลายเป็นเหยื่อของมันด้วย สุดท้ายแล้วภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับว่าคนเราจะใช้ชีวิตในความศรัทธาที่ดีได้อย่างไร และนั่นหมายถึงการพูดความจริง” พาร์คส์กล่าว

happy on December 16, 2012, 08:34:49 PM

ผู้โดยสารบนเครื่อง - ทีมนักแสดง

               เดนเซล วอชิงตัน เจ้าของรางวัลออสการ์ รับบทนำเป็น วิป วิเทเกอร์ นักบินผู้ชำนาญงานแต่มีข้อบกพร่อง ผู้สามารถนำเครื่องบินที่ประสบเหตุลงจอดได้สำเร็จ ช่วยชีวิตคน  96 คนจาก 102 ชีวิตบนเครื่อง สำหรับสื่อและประชาชนชาวอเมริกัน วิปคือฮีโร่ แต่ชีวิตเขากลับเป็นความวุ่นวายและขัดแย้ง และเต็มไปด้วยการตัดสินใจแย่ๆ วอชิงตันผู้ถือว่าเป็นหนึ่งในนักแสดงที่เก่งที่สุดในรุ่น เคยรับบทได้อย่างสมจริงทั้งในบทตำรวจ นักสืบ ทนาย เจ้าหน้าที่เรือดำน้ำนิวเคลียร์ และผู้ควบคุมรถไฟ กับ “Flight” เขาได้เพิ่มบทนักบินสายการบินพาณิชย์เข้าไปอีกหนึ่งบท
            “สนุกมากที่ได้มานั่งดูเดนเซล ผมหมายความว่า คุณแทบไม่เชื่อสิ่งที่คุณเห็นเมื่อคุณดูเขาแสดง ความเป็นอัจฉริยะของเดนเซลก็คือเมื่อเขาทำสิ่งที่ผมอยากจะเรียกว่าเป็น ‘การแสดงเบื้องหลังดวงตา’ มีหลายฉากมากที่คุณรู้สึกได้ถึงความทุกข์ทรมานของเขา และมันเป็นภาพที่ทำให้แทบหยุดหายใจ เขาคือหนึ่งในนักแสดงที่เก่งที่สุดในทุกวันนี้ มันคือความฝันที่กลายเป็นจริงที่ได้ทำงานกับเขาในบทนี้” เซเมคคิสบอก
            “เราโชคดีมากที่ได้ทำงานกับเดนเซล” ผู้อำนวยการสร้างสตาร์กี้กล่าวเสริม “เมื่อคุณได้เห็นเขาในตัวละครตัวนี้ คุณนึกไม่ออกเลยว่าจะมีคนอื่นมาแสดงได้ยังไง”
            เมื่อตอนที่ได้อ่านบทครั้งแรก วอชิงตันรู้ทันทีเลยว่าตัวละครและเรื่องราวของวิป วิเทเกอร์มีรากฐานอารมณ์ครบถ้วน และมีคุณสมบัติของตัวละครที่ทำให้เขาสนใจได้ “ก่อนที่ภาพยนตร์เรื่องนี้จะกลายเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา” จอห์น แกตินส์เล่า “ผมได้นั่งคุยกับเดนเซลนานสองชั่วโมง และเขาเล่าให้ผมฟังถึงปฏิกิริยาที่เขามีต่อบทภาพยนตร์เรื่องนี้ “มันทำให้เขาเกิดความคิดมากมาย เขาบอกว่า ‘รู้มั้ย เรื่องนี้มีเนื้อหาที่อันตรายเลยนะ’ เขากล่าวด้วยรอยยิ้ม เป็นรอยยิ้มแบบเดนเซล ผมบอกได้เลยว่ามันทำให้เขาหลงใหลจริงๆ”  
            แกตินส์บอกว่าวอชิงตันยังสนใจในความเกี่ยวพันส่วนตัวที่เขามีต่อภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย “ครั้งแรกที่ผมได้นั่งคุยกับเดนเซลเกี่ยวกับบทภาพยนตร์เรื่องนี้ เขาเดินไปถึง “จุด” นั้นได้ทันที เพราะเขาเป็นนักแสดงที่อยากจะรู้ทุกอย่าง” แกตินส์กล่าว “เขามีกระบวนการทำงานที่เขาพูดกับผมว่า ‘เล่าเรื่องนั้นให้ผมฟังซิ ผมรู้ว่าคุณทำการค้นคว้าเกี่ยวกับเครื่องบินทุกลำที่เคยประสบเหตุตก และสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นกับเครื่องบินในหนังของเรา แต่ผมอยากรู้เกี่ยวกับเรื่องส่วนตัวของคุณจริงๆ คุณเดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร’ เราพูดคุยกันแบบเปิดใจ เขาน่าทึ่งมากในแบบนั้น”
            ที่จริงวอชิงตันได้อ่านบทภาพยนตร์เรื่องนี้ก่อนหน้าที่เซเมคคิสจะเข้ามารับหน้าที่กำกับ แต่เขาก็ตื่นเต้นมากเมื่อรู้ว่าเซเมคคิสสนใจจะมากำกับภาพยนตร์เรื่อง “Flight”
“ผมว่าเขาเหมาะกับเรื่องนี้มาก นั่นคือตอนที่ภาพยนตร์เรื่องนี้เริ่มต้นจริงๆ สำหรับผม” วอชิงตันบอก
            ตั้งแต่เริ่มต้นการทำงาน สตาร์กี้ได้ถามวอชิงตันว่าในฐานะผู้อำนวยการสร้าง เขาจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยวอชิงตันเตรียมตัวมารับบท วิป วิเทเกอร์ “เขาบอกว่าสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผม ก็คือการเรียนรู้วิธีการเป็นนักบิน” สตาร์กี้เล่า สตาร์กี้ยังบอกว่าวอชิงตันอยากทำงานกับครูฝึกบิน และผ่านการฝึกอย่างจริงจัง จนการแสดงเป็นนักบินกลายเป็นธรรมชาติที่สองของเขา และมีอยู่หลายฉากที่เขาต้องเข้าไปอยู่ในห้องนักบิน และอยู่หน้าแผงคอนโทรลของเครื่องบิน สตาร์กี้กล่าวต่อว่า “ดังนั้นเราจึงให้เขาไปเจอกับนักบินคนหนึ่งในแอตแลนต้า และเขาก็ได้เข้าเครื่องซิมูเลเตอร์ และใช้เวลาฝึกนานหลายชั่วโมง ดังนั้น เขาจึงดูเป็นมืออาชีพทีเดียวในการบังคับเครื่องบิน จนดูน่าเชื่อมากเมื่อคุณฟังเขาสื่อสารกับหอควบคุมการบิน พูดคุยกับนักบินผู้ช่วย และบังคับเครื่องบิน”
            วอชิงตันยังบอกกับเหล่านักบินว่า “ผมอยากให้พวกเขารู้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้พยายามจะทำลายสายการบินหรือนักบิน มันไม่ได้พูดถึงการบินมากนัก มันพูดถึงเรื่องของการเสพติด อย่างน้อยมันก็เกี่ยวพันกับตัวละครของผม ดังนั้นเขาอาจจะทำงานที่สำนักงานไปรษณีย์ก็ได้ แต่การขับเครื่องบินคือสถานการณ์ที่ดราม่ามากที่สุด แต่จริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้ชายที่มีปัญหา เขาอาจเป็นผู้กำกับ นักบิน หรือช่างประปา การเสพติดและการปฏิเสธมีความเหมือนกัน และหวังว่าการค้นพบก็จะเป็นเช่นนั้น แต่การเป็นนักบินเป็นงานที่ทั้งยากและมีความกดดันสูง คุณบินจากแอลเอไปยังฮ่องกง ใช้เวลา 24 ชั่วโมงอยู่ที่นั่น แล้วก็ต้องบินกลับมา และทำงานเดิมอีกครั้ง นั่นทำให้เนื้อตัวต้องอ่อนล้า คุณต้องเหงาอยู่ตามลำพังที่โรงแรมกับคนแปลกหน้า และลูกเรือกลายเป็นครอบครัวคุณ แต่อาจเป็นใครก็ได้ที่ใช้ค่ำคืนอันเงียบเหงาอยู่ในโรงแรม และต้องเผชิญกับปีศาจร้าย” วอชิงตันเล่า
            วอชิงตัน, เซเมคคิส และแกตินส์ ยังได้พูดคุย วิเคราะห์ และเรียนรู้บทภาพยนตร์ด้วยกัน มันคือกระบวนการที่เป็นธรรมชาติที่เปิดโอกาสให้ทั้งทีมได้เข้าใจตัวละครจากภายในสู่ภายนอก
            “มันไม่ใช่การซักซ้อมในความรู้สึกที่คลาสสิก แต่เราเข้าไปที่ห้องประชุม และนานหลายชั่วโมงที่เราแค่พูดคุยกันเกี่ยวกับฉากต่างๆ เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเราทุกคนกำลังเดินไปเส้นทางเดียวกัน เราถามคำถามสำคัญทุกข้อ และเราอ่านบทภาพยนตร์ และพูดคุยกันว่าประโยคไหนจะออกมาดีกว่า มันทำให้เราได้ก้าวสู่จิตใจที่ลึกซึ้งของตัวละคร และเข้าใจว่าเขารู้สึกอย่างไรในวินาทีนั้นๆ จากนั้น นักแสดงที่เก่งอย่างเดนเซล สามารถนำข้อมูลทั้งหมดนั้นและทำให้มันเกิดขึ้นได้ผ่านการแสดงอันแสนพิเศษของเขา” เซเมคคิสบอก
            วอชิงตันบอกว่าระหว่างการสนทนานี้เอง ที่วิปเริ่มกลายเป็นจริง เป็นกระบวนการสร้างสรรค์ที่วอชิงตันตอบรับ แต่ไม่อยากจะวิเคราะห์มากเกินไป
            “จอห์น แกตินส์และบ็อบ เซเมคคิสเข้าใจตัวละครตัวนี้เป็นอย่างดี การร่วมมือแบบนั้นใช้ได้ผล คุณมีคนเก่งอยู่ในห้องเดียวกัน กับบทหนังดีๆ และยังทำทุกอย่างพังได้ ในกรณีนี้ ผมว่าบ็อบสร้างภาพยนตร์ที่ยอดเยี่ยม และผมก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งของกระบวนการนั้น ไม่มียาวิเศษ แต่ผมวิเคราะห์ตัวละครตัวนั้นได้มากขณะนั่งอยู่ในห้องนั้นกับบ็อบและจอห์น และช่วยกันตีความบทภาพยนตร์” วอชิงตันกล่าว
            ผู้อำนวยการสร้าง วอลเทอร์ พาร์คส์ กล่าวเสริมว่าส่วนหนึ่งของพรสวรรค์ของเซเมคคิสในฐานะผู้กำกับ ก็คือความสามารถในการรับมือทั้งในเรื่องเทคนิคและเรื่องของคนในกระบวนการสร้างสรรค์งานนี้ได้
            “ในฉากหนึ่ง เขาไม่ได้สวมที่บังคับหลังหรือใช้ไม้เท้า และในฉากต่อมา เขาเดินเข้ามาพร้อมเครื่องบังคับหลัง เขาใส่มันเมื่อต้องการมัน แต่ไม่ใช่เพราะปัญหาทางด้านร่างกาย เขาพยายามจะรักษาหลังของเขาเอาไว้ เขาเป็นคนโกหก เขาปฏิเสธ และพยายามรักษาตัวเองด้วยคำโกหกต่างๆ” วอชิงตันบอก
            สำหรับตัวละครที่มีความซับซ้อนอย่างวิป สิ่งนี้มีค่าอย่างมาก ในทางหนึ่ง วิปกำลัง “แสดง” อยู่ตลอดเวลา วอชิงตันแสดงให้เห็นถึงความสามารถของวิปที่จะหลอกลวงทุกคน ซึ่งรวมถึงตัวเขาเอง ผ่านเสน่ห์ที่เต็มไปด้วยความเชื่อมั่นของวิป แต่ยังผ่านรายละเอียดสำคัญเล็กๆ หลังเหตุเครื่องตก วิปฟื้นขึ้นมาในโรงพยาบาล แต่อาการบาดเจ็บของเขา ได้เผยให้เห็นบางสิ่งเกี่ยวกับนิสัยของเขาอย่างลึกซึ้ง
            “ผมไม่เคยขอให้นักแสดงแสดงออกมา หน้าที่ผมในฐานะผู้กำกับก็คือการบีบเอาการแสดงนั้นออกมา เปิดโอกาสให้นักแสดงเข้าใจว่าเขาอาจจะเศร้าหรือมีความสุขในเวลานั้นเช่นไร นักแสดงจะได้อารมณ์นั้นจากไหน นั่นคือพรสวรรค์ของเขา ผมไม่อยากรู้ว่าเขาจะไปเอาอารมณ์เช่นนั้นมาจากไหนหรอกนะ” เซเมคคิสบอก
“มีระดับของความเป็นมืออาชีพเมื่อได้เห็นบ็อบทำงาน เขามีความรู้ในทุกแง่มุมของเทคโนโลยีในงานสร้างภาพยนตร์ ไม่มีงานไหนในกองถ่ายที่เขาจะไม่เข้าใจหรือไม่สามารถทำได้ แต่เมื่อเป็นเรื่องนักแสดง เขาคอยปกป้องผลงานของนักแสดง และสร้างบรรยากาศที่ทั้งให้กำลังใจและปลอดภัยสำหรับนักแสดงตลอดเวลา”
            นักแสดงสาวชาวอังกฤษที่กำลังมาแรง เคลลี่ รีลลี่ย์ รับบท นิโคล แม็กเก้น สาวแอตแลนต้าคนสวยแต่มีปัญหา ผู้ดิ้นรนต่อสู้กับปัญหาเรื่องการใช้สารเสพติด เธอเป็นเพื่อนกับวิป
            “เธอเองก็ผ่านเหตุเครื่องบินตกที่ประสานไปกับเรื่องราวของวิป” แกตินส์กล่าว “พวกเขาได้พบกันที่โรงพยาบาล ในวินาทีที่ทั้งคู่มาถึงจุดตกต่ำ และได้กลายมาเป็นจุดกำเนิดของความสัมพันธ์ที่นำเราผ่านเรื่องราวนี้”
            ทีมผู้สร้างทำการค้นหาตัวนักแสดงและได้จัดออดิชั่นเพื่อหานักแสดงในบทที่เต็มไปด้วยอารมณ์บทนี้ รีลลี่ย์ ซึ่งเป็นที่รู้จักจากบทบาททั้งในจอทีวีและภาพยนตร์ของประเทศอังกฤษ และเมื่อเร็วๆ นี้ เธอยังประกบบทกับ โรเบิร์ต ดาวนี่ย์ จูเนียร์ และจู๊ด ลอว์ ในภาพยนตร์บล็อกบัสเตอร์ชุด “Sherlock Holmes” ได้มาออดิชั่นบทนี้ในแบบดั้งเดิมที่สุด
            “การได้พบเคลลี่ คือหนึ่งในเรื่องราวอันยอดเยี่ยมแบบฮอลลีวู้ด เธอรู้ว่าผมกำลังคัดเลือกตัวนักแสดงในบทนี้อยู่ และเธอบังเอิญไปพักผ่อนอยู่ในเท็กซัส เธอถ่ายภาพตัวเองใส่เทป และส่งมาให้แคสติ้ง ไดเร็คเตอร์ของเรา ผมได้ดูการแสดงของเธอ และพูดว่า ‘ว้าว! เรียกเธอมาเลย!’ ผมรู้จักเธอจากหนัง ‘Sherlock Holmes’ แต่เพราะเธอเป็นนักแสดงอังกฤษ ตอนแรกเราเลยยังไม่ทันได้นึกถึง ผมต้องพบเธอ เมื่อเธอได้อ่านบทกับเดนเซล เห็นได้ชัดว่าพวกเขามีเคมีที่เข้ากันได้ดี เราทุกคนต่างรู้สึกได้ ซึ่งรวมถึงตัวเดลเซลเองด้วย เราไม่เคยต้องเทสต์หน้ากล้องแบบดั้งเดิมเลย เธอมีรูปลักษณ์ที่เหมาะ และมีความเข้าใจถึงความอ่อนไหวของนิโคล” เซเมคคิสบอก
            “เคลลี่สามารถหยุดพวกเราได้ทุกคน” สตาร์กี้บอก “เราเหมือนถูกการแสดงของเธอตรึงเอาไว้เลย”
            พาร์คส์กล่าวเสริมว่าเธอได้นำความเป็นจริงที่สำคัญอย่างมากมาสู่บทนี้
            “นิโคลเริ่มต้นด้วยการเป็นผู้รักษาชีวิตให้กับวิป เขาคิดว่าเขาอาจควบคุมชีวิตของเขาไม่ได้ แต่เขาสามารถช่วยชีวิตเธอได้ แต่สิ่งที่สร้างความประหลาดใจให้เขาและคนดู ก็คือ เคลลี่เป็นคนนำความซื่อตรงมาสู่ชีวิตเขา เธอปฏิเสธที่จะปล่อยให้เขาทำให้เธอตกต่ำ เธอไม่ยอมล้มเลิกการเอาชีวิตตัวเองให้รอด” พาร์คส์บอก
            ภาพยนตร์เรื่องนี้และบทนี้เป็นที่สนใจของรีลลี่ย์ แต่สำหรับเธอแล้ว แค่ได้พบกับทีมงานที่อยู่เบื้องหลังก็ถือเป็นรางวัลที่ดีมากพอแล้ว
            “ฉันชื่นชอบบทภาพยนตร์เรื่องนี้มาสองสามอาทิตย์ได้แล้ว หลายคนมีข้อมูลเพื่อใช้ในการตัดสินใจเช่นนี้ แต่จู่ๆ ฉันก็ได้ไปอยู่ในแอลเอ เพื่อพบกับบ็อบ มันเป็นวันที่น่าทึ่งมาก ฉันเป็นกังวลจริงๆ แต่ฉันรู้ว่าฉันอยู่ในห้องที่เต็มไปด้วยคนที่ฉันอยากร่วมงานด้วย เพราะพวกเขามีความเป็นมืออาชีพ มีความเฉลียวฉลาดในเรื่องภาพยนตร์และตัวละคร พวกเขาทำให้ฉันรู้สึกสบายใจและเป็นที่ต้อนรับ เมื่อฉันเดินออกมา ฉันคิดว่า การประชุมครั้งนี้ถือว่าเป็นของขวัญ ฉันคิดว่ามันคือสิทธิพิเศษจริงๆ ที่ได้รับประสบการณ์นี้ และถ้าฉันได้งานนี้จริง ก็เหมือนฉันได้โบนัส แล้วฉันก็ได้งานนี้จริงๆ!” รีลลี่ย์กล่าว
            “Flight” คือภาพยนตร์เรื่องแรกของรีลลี่ย์ที่ถ่ายทำในอเมริกา และยังเป็นครั้งแรกที่เธอได้แสดงเป็นคนอเมริกันอีกด้วย เธอได้ทำงานกับครูฝึกสอนสำเนียงการพูดเพื่อให้สำเนียงแบบชาวจอร์เจียของเธอออกมาสมบูรณ์แบบ แต่เป็นเพราะธีมที่พูดถึงการฟื้นคืนและการไถ่บาปที่ทำให้เธอสนใจได้ เมื่อนิโคลได้พบกับวิป เธอกำลังต่อสู้กับปัญหาติดยา โอกาสที่ได้พบกันในโรงพยาบาล ซึ่งเขามาพักฟื้นจากเหตุเครื่องบินตก และเธอมารักษาตัวจากอาการเสพยาเกินขนาด ทำให้เธอเดินไปบนเส้นทางแห่งการช่วยชีวิต ไปสู่การฟื้นจิตวิญญาณ
            “เรื่องนี้ยังเป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้คนที่บางครั้งคุณก็ต้องการพวกเขาในบางช่วงของชีวิต และพวกเขาสามารถเปลี่ยนแปลงคุณอย่างไร นิโคลคือคนที่กำลังพยายามเปลี่ยนแปลง แต่เธอติดยา วิปช่วยเธอเอาไว้ในทางหนึ่ง เขาพาเธอออกจากโลกเดิมที่เธออยู่ และให้เธอได้มีที่ที่เธอสามารถรักษาตัวเองได้ จากนั้นเธอได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเอเอ ซึ่งเป็นโครงการที่ช่วยให้ผู้คนพักฟื้น เมื่อพวกเขาพร้อมที่จะขอความช่วยเหลือ แต่เธอไม่ได้ทำเช่นนั้นเพื่อตัวเอง บ็อบมีความคิดว่าเมื่อนิโคลรอดชีวิตจากการเสพยาเกินขนาด เธอถึงได้รู้สึกว่าชีวิตนั้นงดงามแค่ไหน และเธอไม่อยากเป็นทาสยาเสพติดอีก เมื่อเธอพยายามกลับสู่ชีวิตที่ดี เธอพยายามช่วยให้วิปค้นพบที่แห่งนั้นด้วย แต่เขายังคงฝังตัวอยู่กับการปฏิเสธ เมื่อเธอดีขึ้น เธอเริ่มสะท้อนภาพให้เขาเห็น” รีลลี่ย์บอก
            รีลลี่ย์อธิบายถึงนิโคลว่าเป็น “คนที่โดดเดี่ยวและถูกทำลาย” ก่อนที่เธอจะได้พบวิป
            “เมื่อเราได้พบเธอ เธอกำลังอยู่บนเส้นทางในฐานะคนติดยา เธอเลือกเสพเฮโรอีน เราจะมารู้ถึงสาเหตุกันในภายหลัง ด้วยการสูญเสียแม่และพ่อที่ติดเหล้า ทำให้เธอตัดสินใจผิดพลาด เธอเลือกเดินบนถนนที่ไม่ดี และลงเอยด้วยการสูญเสีย” รีลลี่ย์เล่า
            แกตินส์อธิบายถึงนิโคลและวิปว่าเป็น “คนสองคนที่เสียหาย และถูกทำลายในแบบเดียวกัน พวกเขาเกิดสนใจกันและกันขึ้นมาทันที ถึงแม้พวกเขาจะแตกต่างกันมากในชีวิตประจำวัน เขาเป็นนักบิน ส่วนเธอเป็นช่างภาพติดยา แต่มันไม่สำคัญ พวกเขาเดินเข้ามาในชีวิตกันและกันทันที”        
            รีลลี่ย์ได้พูดถึงประสบการณ์การทำงานกับ เดนเซล วอชิงตัน ว่า มันเหมือนกับ “การเป็นนักมวยที่อยู่บนสังเวียนกับแชมเปี้ยนรุ่นเฮฟวี่เวต” เธอกล่าวต่อ “เขาจริงจัง เก่ง และทำให้หัวใจแทบแหลกสลาย ในเกือบทุกฉาก เขาทำให้ฉันประทับใจกับความจริงที่เขาแสดงตัวละครของเขาออกมา ทำให้รู้สึกว่าต้องถ่อมตนที่ได้มาเห็นคนที่ยึดมั่นกับตัวละครที่กำลังผ่านการเดินทางที่น่าเกลียดเช่นนี้”
            เพื่อช่วยรีลลี่ย์ในการเตรียมตัวแสดงเป็นตัวละครตัวนี้ ทางทีมงานได้จ้าง มิทเชลล์ ไรลี่ย์ ซึ่งเป็นศิลปินข้างถนนชาวแอตแลนต้า และเคยเป็นอดีตผู้ติดยา มาทำงานกับเธอในเรื่องของเทคนิคและความรู้สึกของร่างกายขณะฉีดเฮโรอีน และทำให้เธอคุ้นเคยกับอุปกรณ์การเสพยา อย่างเข็มฉีดยาและช้อน พวกเขาได้เจอกันหลายครั้งก่อนที่การถ่ายทำจะเริ่มต้นขึ้น และไรลี่ย์ก็คอยมาอยู่ในกองถ่ายเพื่อดูการแสดงระหว่างการถ่ายทำด้วย
            “ของขวัญที่แท้จริงที่เขามอบให้ฉัน” รีลลี่ย์กล่าวต่อ “ก็คือ เขาพูดคุยกับฉันเกี่ยวกับการติดยาของเขา และเส้นทางที่นำไปสู่การเลิกยา สภาพจิตใจของเขาคือสิ่งที่น่าสนใจสำหรับฉันที่จะนำมาใช้กับตัวละครได้ คนเราจะดึงตัวเองออกมาจากคุกทางอารมณ์เช่นนั้นได้อย่างไร”
            ดอน เชียเดิล นักแสดงที่ได้รับคำชม รับบทเป็นอัยการประจำชิคาโก้ ฮิวจ์ แลง ผู้เข้ามาเป็นที่ปรึกษาให้กับวิป วิเทเกอร์ เมื่อเขาถูกตั้งข้อหาประมาทในเหตุเครื่องบินตก สำหรับเชียเดิล “Flight” คือครั้งแรกที่เขาได้ทำงานร่วมกับ เดนเซล วอชิงตัน นับแต่ที่เขาเคยได้แสดงด้วยกันในบท เม้าส์ ในภาพยนตร์ดราม่าแนวอาชญากรรมปี 1995 ของ คาร์ล แฟรงกลิน เรื่อง “Devil in A Blue Dress”
            “ทุกอย่างเริ่มกระจ่างในระหว่างการสืบสวนว่ากัปตันวิเทเกอร์ใช้ยาและกินเหล้าก่อนขึ้นบิน” เชียเดิลบอก “ผลปรากฏในรายงานการตรวจสารมึนเมา นี่คือเรื่องใหญ่สำหรับผม เพราะผมต้องหาทางที่จะรับมือกับมัน พยายามที่จะทำให้เขาทำงานได้ต่อไป และทำให้สายการบินมีคำอธิบาย และปกป้องทุกคนจริงๆ”
            ความสัมพันธ์ของพวกเขาเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่มั่นคง เพราะพวกเขาต่างไม่ได้ชื่นชมอีกฝ่าย และความไว้ใจซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นระหว่างทนายและลูกความ ก็มีน้อยมาก
“รูปแบบที่เดนเซลและผมคุยกันถึงความสัมพันธ์ของพวกเขาสองคนก็คือ วิปไม่ชอบฮิวจ์ แต่เขาอยู่ที่นั่นเพื่อช่วยวิป ด้วยเหตุผลที่แน่ชัดหลายข้อ ฮิวจ์รู้สึกแบบนั้นกับวิปเช่นกัน จากความสัมพันธ์ที่น่าสนใจของพวกเขา คุณมองเข้าไปถึงสภาพจิตใจอันลึกซึ้งของตัวละครอย่างวิป เขาไม่อาจทนรับความคิดที่ว่านี่คือสิ่งที่เขาเป็นในชีวิตเขา ว่าเขาต้องการคนอย่างฮิวจ์มาช่วย เขาไม่เข้าใจว่าเขามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร และทั้งหมดที่เขาทำได้ก็คือแสดงความโกรธแค้น แต่เขาต้องการฮิวจ์ เพราะฮิวจ์จะช่วยเขาให้พ้นจากการติดคุก มันเป็นความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนอย่างมาก” เซเมคคิสบอก
            สำหรับเชียเดิล เห็นได้ชัดในการสนทนากับเซเมคคิสว่า ผู้กำกับต้องการสำรวจความหมายที่ลึกซึ้งของภาพยนตร์เรื่องนี้ และสำรวจถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับวิปและตัวละครแต่ละตัว เชียเดิลอธิบายว่า “ตัวละครของผมพยายามช่วยวิป แต่เขาก็พยายามช่วยวิปเลี่ยงความรับผิดชอบเช่นกัน และนั่นคือสิ่งที่ผมต้องต่อสู้ในใจ ผมต้องแสดงเป็นอัยการที่พยายามปกป้องวิป และเขาพยายามที่จะคิดให้ออกว่าการปกป้องนั้นหมายถึงอะไร”
             เชียเดิลยังบอกอีกด้วยว่า วิปไม่ใช่ตัวละครที่น่าคบหาที่สุด และเขาดูถูกแลง เชียเดิลกล่าวเสริมว่าแง่มุมนี้เป็นส่วนที่สำคัญของจิตใจและการเดินทางทางอารมณ์ของวิป  เขาบอกว่ามันคือพินัยกรรมสำหรับวอชิงตันที่เขาเตรียมมาเพื่อสำรวจคุณสมบัติด้านมืดของวิป วิเทเกอร์
            “ผมคิดเมื่อคุณเลือกคนอย่างเดนเซลมาแสดงบทแบบนี้ คุณคาดหวังได้เลยว่าจะได้เห็นความทุ่มเทอย่างแท้จริงในบทนี้ที่จะต้องเดินหน้าไปถึงจุดที่ไม่สบายใจเลย ทุกคนอยากให้คนอื่นชอบ ให้คนอื่นคิดว่าเขาเป็นคนดี แต่วิปต้องปล่อยความชั่วร้ายออกมาเพื่อให้สิ่งนี้เกิดขึ้น และในกระบวนการนั้น เขาปล่อยให้คนดูได้เห็นด้านที่น่าเกลียดมากขึ้น” เชียเดิลบอก
            สุดท้าย เชียเดิลกล่าวเสริมว่า ความเจ็บปวดของวิปได้นำไปสู่การไถ่ถอนบาป
            “โดยส่วนใหญ่แล้ว มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับคนที่กำลังเผชิญหน้าว่าจริงๆ แล้วเขาเป็นใคร และที่ซึ่งเขายอมให้ตัวเองถูกลากไป หรือเขาจะต่อสู้และดิ้นรนเพื่อค้นหาความสงบ และหนทางปลดปล่อยที่อาจกลายเป็นเรื่องจิตวิญญาณจนได้”
            จอห์น กู้ดแมน นักแสดงผู้มากประสบการณ์และยังเป็นเจ้าของรางวัลมากมาย เคยร่วมแสดงกับ เดนเซล วอชิงตัน มาแล้วในภาพยนตร์ทริลเลอร์ปี 1998 เรื่อง “Fallen” ใน “Flight” กู้ดแมนรับบทเป็น ฮาร์ลิ่ง เมย์ส เพื่อนสนิทของวิป เป็นชายที่เป็นเหมือนเสาหลักให้กับเพื่อนของเขาในช่วงเวลามืดมิดที่สุด “ฮาร์ลิ่งคือคนสนิท เป็นเพื่อนของวิป และเป็นเพื่อนร่วมเฮฮาของเขา และยังเป็นผู้คอยสนับสนุนที่ดีที่สุดของเขา” แกตินส์บอก “ถึงแม้ความจริงที่ว่าเขาอาจเป็นคนที่ขายยาและใช้ชีวิตแบบหมิ่นเหม่ต่อสิ่งที่คนอื่นมองว่าเป็นสังคมปกติ ผมว่าเขามีความซื่อตรงอย่างไม่น่าเชื่อ และเขารักเพื่อนสนิทของเขา” แกตินส์กล่าวเสริมว่าเพื่อนของวิป รักเขาและกลายมาเป็นคนเดียวที่เขาสามารถโทรหาในยามจำเป็น “เป็นคนที่วิปรู้ดีว่าเขาสามารถพึ่งพาได้”
            ฮาร์ลิ่งยังกลายเป็นตัวละครที่คนดูสามารถหัวเราะได้ แม้เขาจะไม่ใช่ตัวละครประเภทที่น่าไว้ใจที่สุด มันคือเส้นเชือกที่กู้ดแมนเดินไปด้วยความสุขุม
            “ตัวละครของ จอห์น กู้ดแมน คือผู้มีความสามารถ และยังเป็นตัวสร้างอารมณ์ขันให้กับหนังเรื่องนี้ คุณอาจมองว่าเขาเป็นตัวละครที่อันตรายที่สุดในเรื่องนี้ มีความจริงสำหรับเขา และนั่นก็คือจุดที่เกิดความตลก และแน่นอน จอห์นคือนักแสดงที่เก่งมาก เป็นคนที่มีจังหวะในการปล่อยมุกตลกได้ดี และมีความสามารถในการด้นมุกสด เขารู้ดีว่าต้องการอะไรเพื่อแสดงเป็นตัวละครตัวนี้ สำหรับผม ความขัดแย้งของตัวละครตัวนี้ก็คือ เขามีเสน่ห์ดึงดูด จนคุณดูเขาเท่าไหร่ก็เหมือนไม่อิ่ม แต่สุดท้ายแล้ว เขาคือคนคอยผลักดันวิป เขาเป็นปีศาจร้าย และคุณอยากเห็นเขาบนจออย่างมาก” เซเมคคิสบอก
             มิตรภาพระหว่างวิปกับฮาร์ลิ่งเป็นมิตรภาพที่แท้จริง แต่ก็เป็นการพึ่งพากันและกัน ฮาร์ลิ่งคอยดูแลวิป แต่ก็ทำให้ทั้งคู่ติดยาและชอบปฏิเสธความจริง
             “พวกเขาพึ่งพากันและกันและเข้าใจอีกฝ่ายอย่างดี ฮาร์ลิ่งคือคนที่จัดเตรียมหาสิ่งที่วิปต้องการและปรารถนา และรู้ว่าเมื่อไหร่ควรจะลงมือ เขารู้ว่าวิปย่ำแย่แค่ไหน แต่เขาไม่เคยตัดสิน เขาแค่จัดหาของ” วอชิงตันบอก
             นักแสดงชายชาวแคนาดาคนเก่ง บรูซ กรีนวู้ด รับบทเป็นเพื่อนเก่าของวิป ชาร์ลี แอนเดอร์สัน อดีตนายทหารและนักบินพาณิชย์ที่รู้จักวิปมาตั้งแต่สมัยอยู่ในกองทัพ และบัดนี้เขาคือตัวแทนของสหภาพนักบินที่ได้รับมอบหมายให้มาเป็นผู้คอยติดต่อวิป และเป็นคนสืบสวนคดีเครื่องเซ้าธ์เจ็ท 227 ตก เขาเคยร่วมแสดงกับ เดนเซล วอชิงตัน ในภาพยนตร์ทริลเลอร์ปี 2006 เรื่อง “Deja Vu”
             กรีนวู้ดบอกว่าชาร์ลีและสหภาพที่เขาเป็นตัวแทนอยู่นั้น ไม่ได้ห่วงเรื่องสถานะฮีโร่ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังของวิปหลังจากเที่ยวบินนั้น เพราะพวกเขากำลังปกป้องงานของตัวเองอยู่ “มันเป็นแนวลาดเอียงทางศีลธรรมและจรรยาบรรณ” กรีนวู้ดอธิบาย  ”การตัดสินของพวกเขาก็คือการปกป้องคนที่ทำความผิด แต่เพื่อแลกเปลี่ยนกัน มันก็ทำให้สายการบินรอดไปได้ และคนอีกสองพันคนยังมีงานทำ หรือไม่ก็ต้องเสียสละชายคนนี้ และปล่อยให้เขารับมือกับความชั่วร้ายของเขาเอง มันต้องมีชั้นเชิง ไม่ใช่การตอบคำถามง่ายๆ เลย”
             เซเมคคิสเรียกชาร์ลีว่าเป็น “ชายธรรมดาๆ” ของภาพยนตร์เรื่องนี้
             “เขาคือคนที่เป็นตัวแทนความจริง ความยุติธรรม และสิ่งที่ถูกต้อง แต่ทุกคนรอบตัวเขาดูเหมือนจะมีอำนาจมากขึ้น และเข้ามาบงการสิ่งที่เขาพยายามทำอยู่ ตัวละครของเขาแค่อยากช่วยเพื่อน เป็นคนที่เขารู้จักมาตั้งแต่เด็ก พวกเขารู้จักกันในกองทัพ และเขาก็เข้าใจดีเลยว่าวิปต้องรับผิดชอบเครื่องบินที่มีข้อบกพร่อง และยังคงสามารถรักษาชีวิตผู้คนเอาไว้ได้” เซเมคคิสกล่าว
             แกตินส์มือเขียนบท กล่าวเสริมว่าตัวละครของกรีนวู้ดคือ “ชายที่เชื่อมช่องว่างระหว่างตัวตนในอดีตของวิป ซึ่งเป็นนักบินหนุ่ม เมื่อพวกเขาเคยบินด้วยกันในอดีต และต่างมีอาชีพที่น่านับถือในอุตสาหกรรมการบินในฐานะนักบิน และตอนนี้เขาก็ต้องมาเป็นตัวแทนสหภาพ และได้รับมอบหมายงานให้พยายามช่วยวิปให้ผ่านกระบวนการสอบสวนหลังเหตุเครื่องบินตกได้อย่างขาวสะอาด และทำให้แน่ใจว่าเขายังคงเป็นฮีโร่ที่อเมริกาอยากให้เขาเป็น”
             กรีนวู้ดมีประสบการณ์กับการบินนิดหน่อย รวมถึงเรื่องเครื่องบินตกด้วย …
             “ปู่ของผมเป็นครูฝึกบิน ผมก็เลยเคยเรียนกับท่านมานิดหน่อย ผมไม่เคยเอาเครื่องขึ้นหรือลงจริงๆ หรอกนะ ผมแค่เคยหักเลี้ยวเครื่องบินบ้าง ผมเคยเจอเครื่องบินเล็กตก ทุกคนรอดชีวิตมาได้ แต่ตอนนี้ผมมีประสบการณ์ที่ต่างออกไปนิดหน่อยกับการบิน” กรีนวู้ดอธิบาย
« Last Edit: December 16, 2012, 08:44:03 PM by happy »

happy on December 16, 2012, 08:50:07 PM

เตรียมนำเครื่องบินขึ้น

               “Flight” เริ่มต้นงานถ่ายทำในวันที่ 12 ตุลาคม 2011 ในแอตแลนต้า, จอร์เจีย และถ่ายทำเป็นเวลานาน  48 วัน
             ขณะที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ขุดลึกลงไปในพื้นที่พิเศษหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการบินพาณิชย์ และการเสพสารเสพติด หนังจึงต้องมีที่ปรึกษาด้านเทคนิคพิเศษเพื่อช่วยให้นักแสดงและทีมงานสามารถสร้างฉากที่ดูน่าเชื่อไม่เฉพาะในสายตาคนดูทั่วไป แต่รวมถึงคนวงในที่มีความคุ้นเคยกับโลกเหล่านั้นด้วย
             “หนังขนาดนี้ ที่มีรายละเอียดมากมาย ต้องการที่ปรึกษาทางด้านเทคนิค” สตาร์กี้อธิบาย “เรามีนักบินที่ให้คำปรึกษาเรื่องกลไกของการบังคับเครื่องบินจริงๆ และจังหวะเวลาเมื่อเหตุการณ์หลายอย่างเกิดขึ้น เรามีการสืบสวนของเอ็นทีเอสบี เราจึงต้องมีที่ปรึกษาด้านเทคนิคเอ็นทีเอสบี เพื่อให้แน่ใจว่าเราบรรยายวิธีที่พวกเขาสืบสวนเหตุเครื่องบินตกได้ถูกต้อง ถ้าเรามีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอื่นๆ หรือมีเอฟบีไอ คนเหล่านั้นก็จะถูกดึงตัวมาทำงานด้วยเพื่อให้แน่ใจว่าเราบรรยายภาพทุกอย่างออกมาได้อย่างถูกต้อง”
             หนึ่งในที่ปรึกษาด้านการบิน ก็คือ แลร์รี่ กู้ดริช อดีตนักบินประจำกองทัพอากาศที่แอตแลนต้า และนักบินสายการบินพาณิชย์ที่คอยให้คำชี้แนะ เดนเซล วอชิงตัน และไบรอัน เจอรัฟตี้ ด้วยการฝึกกับเครื่องซีมูเลเตอร์ และเขาได้มาอยู่ที่กองถ่ายในฉากเครื่องบิน เพื่อดูแลตรวจสอบการแสดงทั้งหมด เมื่อมีกู้ดริชคอยดูแล วอชิงตันและเจอรัฟตี้สามารถฝึกการบินกับเครื่องซีมูเลเตอร์ที่ศูนย์ฝึกการบินที่สนามบินนานาชาติฮาร์ตส์ฟิลด์-แจ็คสัน ที่นั่น พวกเขาได้ฝึกกับแผงควบคุมเครื่องบิน เพื่อให้เข้าใจถึงการควบคุมความสูง ความเร็ว ระดับความสูงจากน้ำทะเล และกลไกอื่นๆของเครื่องบิน จนมันกลายเป็นสิ่งที่พวกเขาคุ้นเคยขณะแสดงออกมา สำหรับการฝึกซ้อมเพิ่มเติม พวกเขายังต้องผ่านรูปแบบการบินของเครื่องเซ้าธ์เจ็ท  227 ที่กำลังตก เพื่อสะท้อนภาพเหตุการณ์ที่ถูกบรรยายเอาไว้ในภาพยนตร์เรื่องนี้ได้อย่างถูกต้อง “ทางทีมผู้สร้างอยากให้นักแสดงเข้าใจว่าบทบาทของนักบินคืออะไร และเขาต้องรับมืออย่างไรในสถานการณ์ฉุกเฉิน เข้าใจถึงความรับผิดชอบของเขา และปฏิกิริยาที่เขามีต่อลูกเรือ” กู้ดริชอธิบาย “การที่มีเดนเซลมารับบทเป็นกัปตันเครื่องบิน เขาสนใจที่จะเรียนรู้ถึงความรับผิดชอบหลักๆ ของนักบิน และความเป็นมาของงานนี้ก่อนที่เราจะเข้าไปในห้องนักบินที่มีระบบและเครื่องมือต่างๆ” ขั้นตอนการฝึกเริ่มต้นด้วยการที่นักแสดงจะต้องรู้สึกคุ้นเคยเมื่อนั่งประจำที่ และทำให้ตัวเองคุ้นเคยกับแผงควบคุมการบิน “เราแกะชิ้นส่วนเล็กๆ ออกมา และให้พวกเขาได้ดูอุปกรณ์การบิน เครื่องยนต์ ปีก แผ่นเหล็ก เบรก แอก และวิธีการทำงานของนักบินอัตโนมัติ”  กู้ดริชอธิบาย “และเมื่อเราผ่านเรื่องนั้นมาหมดแล้ว เราจะให้พวกเขาได้เห็นส่วนที่มีระเบียบวินัยที่สุดของการเป็นนักบิน ที่ต้องทำงานทุกอย่างตามตารางการตรวจสอบ”
              เครื่องซีมูเลเตอร์ช่วยให้วอชิงตันเข้าใจถึงกลไกในการขับเครื่องบิน และยังทำให้เขาสนุกด้วย
              “เครื่องซีมูเลเตอร์มันยอดเยี่ยมมาก มันคือสิ่งที่นักบินใช้ฝึก และช่วยได้มากทีเดียว ผมรู้ผมได้งานที่ดี ผมได้ขับรถไฟในภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง และได้ขับเครื่องบินในภาพยนตร์เรื่องต่อมา” วอชิงตันบอก
             ในเวลาเดียวกัน นักแสดงหญิง ทามาร่า ทูนี่และเนดีน เวลาซเกซ ซึ่งรับบทเป็นแอร์โฮสเตส ก็ต้องผ่านการฝึกการเป็นพนักงานบริการบนเครื่องบินที่สถาบันฝึกลูกเรือเพื่อเรียนรู้ขั้นตอนพื้นฐานของการทำงาน และต้องฝึกกับเครื่องซีมูเลเตอร์เลียนแบบเมื่อเครื่องบินตกด้วย
             เนลสัน โค้ทส์ โปรดักชั่นดีไซเนอร์ และฝ่ายศิลปกรรมของเขา รับผิดชอบในการสร้างคอนเซ็ปต์ภาพขึ้นมา โค้ทส์ที่เคยร่วมงานกับวอชิงตันมาแล้วในผลงานการกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกของเขา “Antwone Fisher” เล่าว่าเขารู้สึกติดอกติดใจแค่ไหนเมื่อได้อ่านบทภาพยนตร์เรื่องนี้ครั้งแรก บนเครื่องบิน “อาจไม่ใช่ที่ที่ดีที่สุดที่จะอ่านบทภาพยนตร์เกี่ยวกับเครื่องบินตก และการสืบสวน” เขายอมรับ
             โค้ทส์รู้ดีว่าเหตุเครื่องบินตกนั้นมีความท้าทายและยากแค่ไหน “…ส่วนที่ยากของงานนี้ก็คือการสร้างและแสดงให้เห็นถึงประวัติความเป็นมาของวิป วิเทเกอร์ และสร้างองค์ประกอบเหล่านั้นในชีวิตของเขาขึ้นมาในสภาพแวดล้อมและความเป็นจริงที่จะทำให้มันดูน่าเชื่อ และทำให้มันมีความคุ้นเคยที่ไร้กาลเวลา” โค้ทส์บอกว่าสภาพแวดล้อมที่งดงามของวิปและนิโคลป่นปี้ไปเหมือนกับชีวิตของพวกเขา
             “นอกจากสายการบินและสนามบินแล้ว จะไม่มีภาพที่ดูเปล่งประกายมากนักในภาพยนตร์เรื่องนี้” โค้ทส์ตั้งข้อสังเกตไว้ “จะมีรอยถลอกลอก ดังนั้นกำแพงจึงมีสิ่งต่างๆ ที่แตกลอกในแบบเดียวกับที่ตัวละครของเราก็กำลังแตกเป็นเสี่ยงๆในหลายระดับ” โค้ทส์บอกว่าเขาอยากย้ำถึงการเดินทางที่วิปและนิโคลเดินทางไปด้วยกัน เขากล่าวอีกว่า “ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่ายในห้องของพวกเขา หรือสีสันบนกำแพง หรือแค่การตกแต่งฉากเล็กๆ น้อยๆ ทุกอย่างในสภาพแวดล้อมส่วนตัวของพวกเขาจะต้องเลือกอย่างพิถีพิถัน เรามีเวลาน้อยมากที่จะอธิบายถึงประวัติในอดีตของพวกเขา”
             โค้ทส์บอกว่าการออกแบบทั้งหมดในภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ยืนอยู่บนพื้นฐานที่น่าเชื่อ ก็คือการประกาศจุดยืนจาก โรเบิร์ต เซเมคคิส “เมื่อคุณรับมือกับเหตุเครื่องบินตกและการสอบสวน คุณกำลังรับมือกับเจ้าของสายการบิน คุณกำลังรับมือกับการสร้างภาพของสายการบิน และเราอยากแน่ใจว่าองค์ประกอบเหล่านั้นให้ความรู้สึกเหมือนจริงและดูน่าเชื่อ และมีปัจจัยที่เป็นไปได้”
             เขากล่าวว่าเครื่องบินตกคือพลอตที่กำหนดเรื่องราวหลักให้เดินหน้าไป “ในที่สุดแล้ว” โค้ทส์บอก “ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้เป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับเครื่องบินตก แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการไถ่บาปของชายคนหนึ่งที่แหลกสลายและหลงทาง เราแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงขณะที่เขาพยายามทำความเข้าใจว่าการตัดสินใจของเขามีผลต่อคนอื่นๆ ยังไง ดังนั้นเราอยากแน่ใจว่าภาพที่ออกมาไม่ได้ขัดกับการไถ่บาปนั้น”



การนำเสนอภาพ: การถ่ายทำ

             "Flight" ต้องการผู้กำกับภาพที่สามารถรับมือกับฉากเครื่องบินตกที่ต้องอาศัยเอฟเฟ็กต์ได้ แต่ขณะเดียวกันก็สามารถนำเสนอภาพการศึกษาตัวละครและเรื่องราวเข้มข้นของตัวละครแต่ละตัวได้ ผู้กำกับภาพ ดอน เบอร์เกสส์, เอเอสซี เคยร่วมงานกับ โรเบิร์ต เซเมคคิส ในภาพยนตร์ทุกเรื่องของเขาที่ใช้คนแสดงโดยเริ่มต้นจาก “Forrest Gump”  “Flight” คือภาพยนตร์เรื่องแรกที่พวกเขากลับมาร่วมงานกันนับแต่ภาพยนตร์เรื่อง “Cast Away” ถึงแม้เวลาจะผ่านไปเนิ่นนาน แต่เบอร์เกสส์กล่าวว่า “เราใช้เวลาไม่นานก็กลับมาซี้กันเหมือนเดิม!” หลังจากหลายปีผ่านไป เบอร์เกสส์พบว่าประสบการณ์การได้ทำงานกับเซเมคคิส ยังคงมีความตื่นเต้นและท้าทายมาก “เขาคือหนึ่งในผู้กำกับที่เก่งที่สุดที่ยังทำงานอยู่ในปัจจุบัน”
             การทำงานด้วยงบสร้างที่น้อยกว่าภาพยนตร์ที่พวกเขาเคยสร้างมาถือเป็นทั้งความท้าทายและมอบอิสรภาพให้พวกเขา
             เบอร์เกสส์เล่าว่า “บ็อบกับผมมีเวลาเตรียมงานน้อยมาก เราอยู่ภายใต้ความกดดันตั้งแต่เริ่ม เรามีกำหนดเวลาถ่ายทำน้อย ทุกวันของตารางการถ่ายทำต้องทำงานแล้วทำงานอีกเพื่อแก้ปัญหาของฉากเครื่องบินที่มีความซับซ้อน การก่อสร้างฉาก และที่สำคัญที่สุด ก็คือความพยายามถ่ายทำให้มีความต่อเนื่องที่สุด” ตลอดระยะเวลา 25 ปีที่ร่วมงานกันมา เบอร์เกสส์และเซเมคคิสได้พัฒนาความร่วมมือที่ช่วยให้การทำงานเดินหน้าไปอย่างรวดเร็วที่สุด
             เพื่อสร้างสีสันให้กับฉากที่ตัวละครอยู่ในช่วงของการเลิกยา เซเมคคิสและเบอร์เกสส์ตัดสินใจว่ากล้องควรจะดู “ลอยๆ” ซึ่งพวกเขาสามารถทำได้สำเร็จด้วยการใช้กล้องมือถือ ขณะที่ฉากอื่นๆถ่ายทำกันตามปกติ โดยติดกล้องไว้บนดอลลี่บ้าง ซึ่งสะท้อนถึงสภาพจิตใจของวิป
             “ตอนแรก เราต้องคุยกันถึงเรื่องคอนเซ็ปต์และสไตล์ ซึ่งเกิดมาจากการเดินทางของตัวละครหลัก” เบอร์เกสส์เล่า “บ็อบอยากใช้กล้องมือถือให้มากที่สุดที่จะเป็นไปได้เพื่อให้คนดูมีความผูกพันกับกัปตันวิเทเกอร์ เมื่อวิปเริ่มสุขุม กล้องจะมีความนิ่ง และเมื่อเขาเมา กล้องจะเริ่มขยับเพื่อแสดงถึงอาการเมาของเขา เราใช้เลนหลายอย่าง ตั้งแต่เลนไวด์ จนถึงเลนที่กว้างที่สุด และใช้ความเร็วกล้องให้ต่างกันเพื่อช่วยให้เห็นถึงผลของสถานการณ์เหล่านั้น”
             เมื่อเร็วๆ นี้เบอร์เกสส์เพิ่งจะยอมใช้กล้องดิจิตอล และสำหรับ “Flight” เขาตัดสินใจใช้กล้อง เร็ด เอพิค เนื่องจากขนาดที่เล็กของมัน มันมีประโยชน์มากเป็นพิเศษในฉากเครื่องบิน ซึ่งกล้องจะต้องมีพื้นที่ที่จะเคลื่อนที่ได้ภายในห้องอันคับแคบ
             ระหว่างเตรียมงานถ่ายทำ เซเมคคิสได้สร้างภาพเครื่องบินตกขึ้นมาล่วงหน้า และได้นั่งคุยกับเบอร์เกสส์อยู่นานเพื่อถกกันว่าพวกเขาจะสร้างภาพเครื่องบินที่บินกลับหัวได้อย่างไร และกล้องควรเป็นเช่นไร การเคลื่อนไหว และกล้องควรสะท้อนแง่มุมไหน ในการทำงานขั้นแรกๆ นั้น เห็นได้ชัดว่า กล้องเร็ด เอพิคเหมาะมากสำหรับงานนี้
             เบอร์เกสส์เล่าว่า “ตั้งแต่เตรียมงานระยะแรกๆ ผมรู้สึกว่าเราต้องการกล้องที่เราสามารถถือได้ ถ่ายทำได้ขณะถือไว้ในมือ ถ่ายด้วยความเร็วสูง และเล็กพอที่จะติดตั้งในห้องนักบินภายในเครื่องบิน และยังต้องมีความละเอียดของภาพที่เราจะนำไปฉายแบบจอกว้างได้ ผมรู้สึกว่ากล้องเร็ด เอพิคน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด และผมพอใจกับผลลัพธ์ที่ได้มาก เราถ่ายทำหนังทั้งเรื่องด้วยกล้องนั้น เรายังติดกล้องแบบนั้นสามตัวเอาไว้ที่ด้านหน้าเฮลิคอปเตอร์ เพื่อถ่ายทำภาพจากอากาศ ซึ่งจะถูกนำมาปะติดปะต่อกัน และใช้ที่กระจกหน้าของเครื่องบิน ไม่มีกล้องฟิล์มหรือกล้องดิจิตอลที่สามารถทำทุกอย่างนั้นได้ ยกเว้นแต่กล้องเร็ดเท่านั้น”

happy on December 16, 2012, 08:52:36 PM
แรงสั่นสะเทือนระหว่างบิน - เที่ยวบินเซ้าธ์เจ็ท #227

               ที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เดินหน้าไปได้ ก็คือฉากบนเครื่องบินที่แสนน่ากลัวที่ติดตามกัปตันวิป วิเทเกอร์ ไปขณะที่เขาควบคุมเครื่องบินเจ็ทผ่านอุปสรรคในการบินที่มีอันตรายมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเริ่มจากแรงสั่นสะเทือนอย่างรุนแรง จนถึงความล้มเหลวของระบบกลไก หลังจากเดินทางผ่านสภาพอากาศเลวร้ายที่สุดมาจนได้ เครื่อง JR-88 (เป็นโมเดลเครื่องบินตามท้องเรื่อง) ต้องเสียทั้งระบบไฮโดรลิค และการควบคุม และเริ่มดิ่งหัวลงอย่างรวดเร็วจนควบคุมไม่อยู่ เพื่อจะควบคุมเครื่อง วิเทเกอร์ต้องพึ่งประสบการณ์ และทักษะที่โดดเด่นเพื่อนำเครื่องบินร่อนลงจอดด้วยวิธีการที่ทั้งเสี่ยงและโลดโผน   
มือเขียนบท แกตินส์กล่าวว่าฉากดังกล่าวในตัวบทภาพยนตร์ ได้มาจากเหตุการณ์จริงที่เขาได้รู้มาจากการค้นคว้า
“นักบินอาชีพที่ผมไปขอคำปรึกษา ได้เล่าให้ผมฟังถึงอุบัติเหตุในอดีตที่ปีกตรงหางเครื่องบิน เกิดล็อคและติดอยู่ในตำแหน่งที่ทำให้หัวเครื่องบินดิ่งลงด้านล่าง พวกเขาพยายามทำทุกอย่างเพื่อแก้ไขให้เครื่องบินกลับสู่ภาวะปกติ และมีอยู่จุดหนึ่งที่ต้องบังคับให้เครื่องบินบินในสภาพหงายท้อง พวกเขารู้ดีว่าโอกาสเดียวที่พวกเขาจะนำเครื่องลงจอดได้ ก็คือการบินในสภาพพลิกกลับหัว และนำเครื่องบินลดระดับลงใกล้พื้นดินให้มากพอ จากนั้นพวกเขาพลิกเครื่องบินกลับและปล่อยเครื่องลงกับพื้น ซึ่งก็คือสิ่งที่วิปทำในภาพยนตร์ของเรา”
ฉากที่น่ากลัว ซึ่งได้มีการสร้างภาพจำลองขึ้นล่วงหน้า และยังมีการวางแผนอย่างละเอียดในขั้นตอนการเตรียมงาน ต้องใช้ความสามารถของทีมสเปเชียลเอฟเฟ็กต์ และวิชวลเอฟเฟ็กต์ รวมถึงทีมสตั๊นต์ ควบคู่ไปกับงานกล้องที่สุดสร้างสรรค์ โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำที่สุด
เริ่มจากตัวเครื่องบินก่อน โค้ทส์ทำงานร่วมกับ โรเบิร์ต เซเมคคิส เป็นเวลานานหลายเดือน เพื่อพัฒนาตัวเครื่องบิน ตั้งแต่โลโก้ จนถึงหนังสือแม็กกาซีนบนเครื่อง ที่นั่ง จนถึงห้องนักบินที่มีลักษณะโดดเด่น ทีมงานของเขาได้ปรับแต่งเครื่องบินที่มีอยู่จริงๆ เพื่อสร้างเครื่องบินเซ้าธ์เจ็ทตามที่บรรยายเอาไว้ในภาพยนตร์เรื่องนี้ โค้ทส์อธิบายว่า “เราอยากให้มันมีความรู้สึกคุ้นเคย แต่เพราะธรรมชาติและประเด็นที่อ่อนไหวของเรื่องนี้ เราจำต้องมีผู้ผลิตเครื่องบิน มีบริษัทสายการบินของเราเอง”
ฉากบนเครื่องบินที่ใช้งานได้จริง ถูกสร้างขึ้นบนแท่นเวทีที่ตั้งอยู่บนฐานสลิงในโรงถ่าย 5 ที่ศูนย์คอมเพล็กซ์โรงถ่าย EUE/Screen Gems ที่แอตแลนต้า เพื่อสร้างเครื่องบินที่มีความโดดเด่นให้กับบริษัทเซ้าธ์เจ็ท แอร์ในภาพยนตร์เรื่องนี้ โค้ทส์ได้สร้างเครื่องบินเจ็ทที่ได้แบบอย่างมาจากเครื่องบินหลายลำที่ใช้กันในสายการบินในภูมิภาคนั้น อาทิเช่น เครื่อง MD-80 และ 737 สำหรับฉากนี้ เครื่องบินลำดังกล่าวต้องตั้งอยู่บนฟูกลมที่สามารถสร้างการเคลื่อนไหวสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงได้ แต่ละมุมของฟูกลม ทีมสเปเชียล เอฟเฟ็กต์ จะติดตั้งสปริงขนาดสามฟุตเอาไว้ ซึ่งสามารถยืดหรือหดเพื่อขยับเครื่องบินขึ้นหรือลง ขยับไปด้านข้าง หรือเข้าจอด ซึ่งควบคุมโดยช่างเทคนิคสเปเชียล เอฟเฟ็กต์ ที่คอยควบคุมสลิง ขณะเดียวกัน ผู้กำกับภาพ ดอน เบอร์เกสส์ และทีมงานของเขา ได้ใช้เครนกล้องหลายตัว และยังใช้อุปกรณ์พิเศษอีกหลายอย่างเพื่อถ่ายทำฉากที่มีความซับซ้อนนี้ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ที่เรียกว่าเทคโนเครน, ฟีลิกซ์ เครน, ลิบรา เฮด และกรงที่มุนได้ 360 องศา
สำหรับช่วงเวลาของการบินที่วิเทเกอร์จะต้องพลิกเครื่องบินหงายท้อง 180 องศา เพื่อให้สามารถควบคุมเครื่องบินได้ ส่วนห้องผู้โดยสารของเครื่องบินถูกติดเอาไว้ภายในวงแหวนทรงกลมที่สามารถหมุนห้องผู้โดยสารนั้นได้ถึง 360 องศา แท่นที่ได้รับการออกแบบมา ต้องมีความแข็งแกร่งและมั่นคงมากพอที่จะพยุงรับน้ำหนักกว่า 11,500 ปอนด์ของส่วนนั้นของเครื่องบินและผู้โดยสารได้ ด้วยตัวถังเครื่องบินที่ติดตั้งอยู่กับแท่นหมุน ทำให้ช่างเทคนิคสเปเชียลเอฟเฟ็กต์ของภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถควบคุมส่วนนี้ของเครื่องบิน และหมุนมันไปรอบๆ และยังพลิกเครื่องบินกลับหงายท้องได้ แต่เพราะแท่นไม่สามารถรับน้ำหนักของเครื่องบินทั้งลำที่มีผู้โดยสารอยู่เต็มลำได้ จึงต้องใช้วิธีถ่ายทำส่วนห้องผู้โดยสารในส่วนที่แบ่งเป็น 14 แถวที่นั่ง สองส่วน โดยแต่ละส่วนจะมีผู้โดยสาร 25 คน จากนั้นก็จะผสมรวมภาพเข้าด้วยกันด้วยทีมวิชวล เอฟเฟ็กต์ เพื่อสร้างภาพภายในเครื่องบินทั้งหมด “เราได้ออกแบบแท่นที่หมุนได้ 360 องศาเพื่อทำให้เครื่องบินสามารถกลับลำหงายท้อง และฉากแอ็กชั่นทั้งหมดเกิดขึ้นขณะที่เครื่องบินหงายท้องขึ้น” ไมเคิล แลนเทียรี่ สเปเชียลเอฟเฟ็กต์ ซูเปอร์ไวเซอร์ ซึ่งร่วมงานกับเซเมคคิสมานาน เล่า
เอฟเฟ็กต์ซูเปอร์ไวเซอร์ และทีมของเขา ต้องออกแบบแท่นสลิงที่จะรับน้ำหนักของเครื่องบินได้ โดยเป็นในส่วนของห้องผู้โดยสารที่ถูกนำมาจากเครื่องบิน MD-80 ที่มีน้ำหนัก 7800 ปอนด์ บวกกับน้ำหนักของผู้โดยสาร การออกแบบแท่นสลิงที่เคลื่อนไหวได้ จำต้องให้ส่วนห้องผู้โดยสารเปิดออกตรงปลายทั้งสองด้าน เพื่อให้เครนของกล้องสามารถเข้าออกขณะที่ห้องผู้โดยสารหมุนกลิ้งไปได้
ในช่วงเวลาหลายวันที่ถ่ายทำฉากเครื่องบินพลิกกลับหงายท้องนั้น ผู้โดยสาร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทีมสตั๊นต์ จะต้องอยู่ในสภาพกลับหัวหลายครั้งโดยแต่ละเทกจะกินเวลานานสองนาที ชาร์ลี ครัฟเวลล์ ผู้ประสานงานสตั๊นต์ ได้เปรียบเทียบการถ่ายทำฉากการบินกับ “การเล่นรถไฟเหาะ” เขากล่าวว่า “เราต้องหาคนที่สามารถเล่นรถไฟเหาะได้วันละแปดชั่วโมง เป็นคนที่สามารถอยู่ในสภาพกลับหัวได้ตลอดทั้งวัน และทำให้มันตื่นเต้นได้ด้วย”
เพราะเที่ยวบินนี้เป็นเที่ยวบินระยะสั้นที่เดินทางจากออร์แลนโด้ ไปยังแอตแลนต้า จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทีมงานสตั๊นต์จะต้องดูเหมือนคนธรรมดาทั่วไป “ความท้าทายสูงสุดก็คือ บ็อบ เซเมคคิส ไม่อยากให้ทีมสตั๊นต์ดูเหมือนทีมสตั๊นต์ทั่วไป” เขากล่าวเสริมต่อ “พวกเขาควรจะมีลักษณะที่หลากหลายที่ดูคล้ายพวกเขามาจากดิสนีย์เวิลด์”
นักแสดงสตั๊นต์อาชีพไม่ใช่เพียงคนกลุ่มเดียวที่ต้องอดทนต่อฉากเครื่องบินบินหงายท้อง ครัฟเวลล์กล่าวว่า เดนเซล วอชิงตัน เองก็ต้องเข้าฉากเหล่านี้เช่นกัน “เดนเซลเก่งมาก เขาอยากแสดงฉากสตั๊นต์ด้วยตนเอง” ครัฟเวลล์เล่า “เขาไม่อยากให้คนอื่นมาแสดงฉากสตั๊นต์แทนเขา ซึ่งมันก็ดีที่เขาแสดงจากมุมมองแบบนั้น เห็นได้ชัดว่าถ้าเรารู้สึกว่างานนั้นอันตรายเกินไปสำหรับเขา เราก็จะพูดคุยกับเขา แต่เขาเป็นคนกล้าหาญมาก” 
   เพื่อให้แน่ใจว่าทีมนักแสดงสตั๊นต์ที่มีหน้าตาท่าทางเหมือนคนธรรมดา จะสามารถทนทานต่อการถ่ายทำนานหลายวัน ครัฟเวลล์และทีมงานของเขาได้ทำการทดสอบความปลอดภัยก่อนการถ่ายทำ “เราได้ทดสอบโดยให้คนขึ้นไปห้อยหัวลงมาเพื่อดูถึงระยะเวลาที่ปลอดภัยที่สุด และยังสังเกตถึงผลของการต้องห้อยหัวกลับลงมาด้วย” เขาอธิบาย “เลือดทั้งหมดจะไหลสู่สมองของคุณอย่างรวดเร็ว และหลังจากนั่งอยู่บนเครื่องบินมาแปดชั่วโมง จะเกิดปัญหาเรื่องระบบการหมุนเวียนโลหิต ดังนั้นเราจึงต้องจัดการกับปัญหาทางด้านร่างกายเหล่านั้นทั้งหมด”
นักแสดงที่ต้องขึ้นไปห้อยตัว นักแสดงสตั๊นต์ และฉากที่อยู่ในสภาพท้าแรงดึงดูด ขณะที่มีการติดตั้งกล้องและอุปกรณ์ เป็นการออกแบบฉากที่ต้องใช้กลเม็ด ซึ่งต้องทำให้สำเร็จอย่างเร็วที่สุด การเตรียมงานในทุกส่วนจึงมีความสำคัญมากกว่าปกติ
   “เรานำทุกคนขึ้นไปห้อยกลับหัวด้วยเข็มขัดนิรภัยจริงๆ ผมคิดว่าที่ปรึกษาด้านความปลอดภัย เคยบอกว่าเราสามารถห้อยคนในท่าแบบนั้นนานหนึ่งนาที ดังนั้นเราจึงถ่ายทำทุกอย่างที่ทำได้ในเวลา 60 วินาที จากนั้นเราต้องให้ทุกคนกลับลงมานั่งเป็นปกติอีกครั้ง จากนั้นเราก็ให้พวกเขาขึ้นไปกลับหัว และทำแบบเดิมอีกรอบ ทุกอย่างต้องทำแยกเป็นส่วนๆ แน่นอนว่าเราไม่อยากให้ใครบาดเจ็บ ฉากนั้นเป็นฉากที่มีความซับซ้อน และการสร้างภาพพรีวิสขึ้นมาก็เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อจะได้รู้ว่าจะวางกล้องเอาไว้เตรงไหน และเราต้องการอะไร เราศึกษาว่าตรงไหนคือมุมกล้องที่ดีที่สุดที่จะให้ภาพเครื่องบินกลับหัว และดิ่งลงหาพื้น เราจำต้องสร้างภาพเครื่องบินกำลังดิ่งลงผ่านท้องฟ้าโดยมีกล้องติดอยู่ภายในห้องนักบิน และยังต้องอาศัยงานกล้องที่ทำให้มันดูน่าตื่นเต้น และต้องจับคนขึ้นไปห้อยในสภาพกลับหัวนานครั้งละหนึ่งนาที” เซเมคคิสบอก

happy on December 16, 2012, 08:55:44 PM
รูปแบบการบิน : โลเกชั่น

               ฉากที่ถือว่าใหญ่ที่สุดและเป็นฉากที่สร้างได้ยากที่สุดของภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็คือ จุดที่เครื่องบินเซ้าธ์เจ็ท #227 ซึ่งบินจากออร์แลนโด้ มุ่งหน้าแอตแลนต้า เกิดอุบัติเหตุ ทำให้ต้องลงจอดที่ทุ่งปลูกถั่วที่ห่างจากสนามบินนานาชาติฮาร์ทส์ฟิลด์-แจ็คสัน ของแอตแลนต้าประมาณสองไมล์ ที่ฟาร์มกรีนวัลเล่ย์ ซึ่งตั้งเรียบถนนไฮเวย์ 278 ในเมืองโคฟวิงตัน โปรดักชั่นดีไซเนอร์ เนลสัน โค้ทส์ และทีมผู้กำกับศิลป์ของเขา รวมไปถึงทีมก่อสร้าง ต้องสร้างจุดเครื่องบินตกขึ้นมา
โลเกชั่นแห่งนี้ยังเป็นที่ที่วิปและทนายของเขา ฮิวจ์ แลง มายืนสำรวจซากที่เหลือของเครื่องบินในอีก 10 วันหลังจากเกิดเหตุ โลเกชั่นแห่งนี้และฉากดราม่าที่วิปต้องเผชิญ คือวินาทีสำคัญสำหรับเขาในหลายระดับด้วยกัน
            โค้ทส์กล่าวว่า แอตแลนต้าได้ถูกพัฒนาไปจนแทบไม่มีพื้นที่ว่างที่มีความใกล้เคียงกับพื้นที่ที่จะเกิดเหตุเครื่องตกได้ “เราต้องมองหาโลเกชั่นที่อยู่นอกเมืองออกมา” โค้ทส์เล่า
           สถานที่ดังกล่าวนี้ต้องมีพื้นที่ที่มีทุ่งนา ซึ่งเครื่องบินจะร่อนลงจอด และมีพื้นที่ที่ทีมโปรดักชั่นดีไซน์จะสามารถสร้างโบสถ์ Pentecostal สไตล์โกธิคที่สูง 47 ฟุต ซึ่งมีหอระฆังที่เครื่องบินกระแทกชนในช่วงที่ร่อนลงจอด ในทุ่งนาว่างเปล่าแห่งหนึ่ง พวกเขาได้นำลำตัวเครื่องบินและชิ้นส่วนอื่นๆของเครื่องบินมาตั้งเอาไว้ ผู้จัดการโลเกชั่น เอริค ฮูก ต้องเผชิญกับสิ่งที่กลายเป็นจุดเครื่องบินตกครั้งแรก หลังจากขับรถมาย่านชานเมืองแอตแลนต้า “กองซากเครื่องบินทำให้เรามีหนทางที่จะทำให้คนดูได้เห็นว่าเครื่องบินเป็นเช่นไรจากมุมสูง” ผู้อำนวยการสร้าง สตีฟ สตาร์กี้ อธิบาย สตาร์กี้ยังบอกอีกว่าจุดเครื่องบินตกคือฉากที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาภาพยนตร์ที่เขาเคยทำหน้าที่อำนวยการสร้างให้
             ก่อนการถ่ายทำเริ่มต้น ทีมงานภาคอากาศได้ถ่ายทำภาพสถานที่แห่งนี้ก่อนเครื่องบินตก ซึ่งผู้ลำดับภาพและทีมวิชวลเอฟเฟ็กต์ จะนำมาใช้สร้างฉากขณะที่เครื่องบินกำลังมุ่งหน้ามายังจุดนี้
             โลเกชั่นนอกเมืองแอตแลนต้าอีกแห่งหนึ่ง ก็คือฟาร์มวิเทเกอร์ ซึ่งเป็นที่ดินที่ วิป วิเทเกอร์ ได้รับเป็นมรดกตกทอดมาจากพ่อของเขา วิลเลี่ยม วิเทเกอร์ ซีเนียร์ ที่ซึ่งเขาบริหารบริษัทวิเทเกอร์ ครอป ดัสติ้งอยู่ บ้านแห่งนี้ ซึ่งเป็นที่ที่วิปกลับมาอยู่หลังจากโดนสื่อตามรังควาน ถ่ายทำกันที่ไร่ฮอลส์ ฟลายอิ้ง เป็นฟาร์มบนเนื้อที่ 250 เอเคอร์ที่อยู่ในพื้นที่นอกเมืองใกล้ๆ กับเมืองเล็กๆอย่าง แฮมป์ตัน, จอร์เจีย และอยู่ห่างจากแอตแลนต้ามาทางใต้ 35 ไมล์ และอยู่ติดกับถนนมอเตอร์สปีดเวย์แอตแลนต้า วิปพักอยู่ที่ฟาร์มแห่งนี้หลังออกจากโรงพยาบาล แทนที่จะกลับไปที่บ้านของเขาในแอตแลนต้าที่สื่อตั้งค่ายเฝ้ารอเขาอยู่
            โค้ทส์บอกว่า เรื่องราวความเป็นมาของ วิป วิเทเกอร์ ส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกโลเกชั่นแห่งนี้ “แต่เริ่มเดิมที บ็อบคิดว่าเมื่อมีการตัดสินใจเรื่องตัวละคร พ่อของวิปควรจะอยู่ในหน่วยนักบิน Tuskegee Airmen และนั่นก็ทำให้เขามาอยู่ทางใต้ และหลายปีหลังจากอยู่ในกองทัพอากาศมา เขามีธุรกิจอยู่นอกเมืองแอตแลนต้า ดังนั้นเราจึงต้องหาฟาร์มที่มีพื้นที่ทุ่งหญ้า และมีโรงนา หรือโรงเก็บของ” ฟาร์มที่มีต้นไม้เรียงรายเป็นแถว ซึ่งพวกเขาค้นพบ รายล้อมด้วยไร่ปศุสัตว์ และคอกม้า แต่เดิมสถานที่แห่งนี้เป็นธุรกิจของครอบครัวที่ถูกใช้เป็นสถานที่ฝึกบินของเอกชน ทำให้ที่นี่มีโรงเก็บเครื่องบินที่มีรูปทรงเหมือนโรงนา ซึ่งถูกสร้างเอาไว้สำหรับเก็บเครื่องบินเล็กๆ และยังมีทุ่งหญ้า ตรงตามที่บทภาพยนตร์ต้องการทุกอย่าง อย่างไรก็ดี เพราะโลเกชั่นแห่งนี้ไม่ได้มีตัวบ้านที่จะใช้เป็นบ้านของตระกูลวิเทเกอร์ โค้ทส์และทีมออกแบบของเขา จึงต้องสร้างฉากด้านนอกของบ้านหลังหนึ่งขึ้นมา โค้ทส์เล่าว่า “เราไม่สามารถหาความต้องการสามอย่างในที่เดียวกันได้รอบๆ แอตแลนต้า เราจึงลงเอยด้วยการสร้างบ้านฟาร์มขึ้นมา เราออกแบบบ้านให้มีระเบียง และเป็นบ้านที่มีรูปทรงเหมือนตัว ‘V’ ซึ่งทำให้คุณรู้สึกผ่อนคลายเมื่อคุณออกมายืนอยู่ที่ระเบียง ระเบียงบ้านจะหันไปทางโรงเก็บเครื่องบินและพื้นที่สนามบิน โค้ทส์เล่าว่า “เราต้องนึกไว้เสมอว่าเครื่องบินคือส่วนสำคัญของชีวิตของวิปในวัยเด็กที่กำลังเติบโต”   
             เพื่อรักษาความต้องการของเซเมคคิสที่ต้องการความสมจริง ฉากโรงพยาบาลจึงถ่ายทำกันที่แผนกดูแลผู้ป่วยของโรงพยาบาลเซนต์โจเซฟ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่เก่าแก่ที่สุดและมีชื่อเสียงที่สุดของแอตแลนต้า ซึ่งตั้งอยู่ในย่านพีชวู้ด-ดันวู้ดดี้
             ในขณะที่ทีมผู้สร้างได้ประโยชน์จากการไปถ่ายทำกันในแอตแลนต้าจริงๆ ซึ่งมีโลเกชั่นแหลายแห่งที่เข้ากับเรื่อง เซเมคคิสชี้ว่าแอตแลนต้าเองก็ได้เล่นเป็นตัวเอง ซึ่งตรงกันข้ามกับการที่เคยต้องถูกถ่ายทำเป็นเมืองอื่นๆ
            “ภาพยนตร์เรื่องนี้ให้ความรู้สึกว่ามันเกิดขึ้นในแอตแลนต้าอย่างสมบูรณ์ ไม่เหมือนกับการที่เราต้องไปที่นั่นและทำให้มันดูเหมือนนิวยอร์ก เราวางเหตุการณ์ให้เกิดขึ้นที่นั่น เพราะว่ามันคือหนึ่งในเมืองของอเมริกาที่มีวัฒนธรรมของอุตสาหกรรมการบิน และให้ความรู้สึกเป็นเมืองอเมริกันที่สมบูรณ์แบบสำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้” เซเมคคิสกล่าว 
             สุดท้าย “Flight” ได้ผสมรวมจุดเด่นหลายอย่างของเซเมคคิสเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ตัวละครที่น่าสนใจและยิ่งใหญ่ที่กำลังเดินไปบนเส้นทางที่เปลี่ยนแปลงชีวิต ธีมที่ว่าด้วยเรื่องของการฟื้นตัวและการค้นพบ เซเมคคิสได้กล่าวปิดท้ายเอาไว้ว่า
             “ความคิดของผมก็คือ มีคำกล่าวที่ดีมากๆ ที่ ฟรานซิส ทรัฟฟอท เคยกล่าวเอาไว้ เขากล่าวไว้ว่า ภาพยนตร์ที่ดี ก็คือการผสมรวมอันสมบูรณ์แบบของความจริงและภาพที่ปรากฏต่อสายตา เมื่อใดก็ตามที่ผมได้พบบทภาพยนตร์ที่มีทั้งสองแง่มุมนี้ มันก็คือภาพยนตร์ที่ผมสนใจ และผมว่า ‘Flight’ คือภาพยนตร์แบบนั้นแหละ ผมหมายความว่ามันเป็นเรื่องเกี่ยวกับมนุษย์ที่มีความหวังและเป็นเรื่องของการไถ่บาปที่ถูกรวมอยู่ในภาพอันจริงจังและเข้มข้นอย่างมาก สำหรับผม นั่นคือเรื่องราวของภาพยนตร์เหล่านี้”