1. ความเป็นมา
รัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญของการนำความคิดสร้างสรรค์มาใช้ในการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่สินค้าและบริการของชุมชนในท้องถิ่นรวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วทุกภูมิภาค เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและรายได้ให้แต่ละพื้นที่ด้วยการต่อยอดภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และการท่องเที่ยว ให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ โดยกำหนดให้การส่งเสริมการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ เป็นหนึ่งในหัวข้อสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ภายใต้การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (2555 – 2559) ที่กำหนดทิศทางการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศบนฐานความรู้ที่เน้นการใช้ความคิดสร้างสรรค์และการสร้างนวัตกรรมเพื่อสร้างสรรค์สินค้าและบริการ รวมถึงการพัฒนาปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ของพื้นที่ทั้งด้านกายภาพ ทรัพยากรมนุษย์ การบริหารจัดการที่เอื้อต่อการพัฒนาเครือข่ายธุรกิจที่มีเอกลักษณ์และสามารถสะท้อนถึงตัวตนของพื้นที่ดังกล่าวเพื่อดึงดูดการลงทุนให้เข้ามายังพื้นที่หรือสร้างบรรยากาศหรือสภาวะที่เอื้อต่อการเรียนรู้และพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ เพื่อเป็นช่องทางสำหรับการแสดงออกของผู้สร้างสรรค์ในสาขาต่าง ๆ
ทั้งนี้ จากการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพบว่า ในปี 2552 สินค้าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยมีมูลค่าสูงถึง 912,378 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 12 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ประกอบกับผลการศึกษาของ UNCTAD ได้จัดอันดับผู้ส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยไว้ในลำดับที่ 19 ของโลก โดยคิดเป็นมูลค่าถึง 5,077 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 1.2 ของส่วนแบ่งในตลาดโลก และคิดเป็นลำดับที่ 6 ของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและเมื่อพิจารณาสัดส่วนการส่งออกสินค้าที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยเปรียบเทียบกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้วพบว่าไทยมีมูลค่าการส่งออกสูงที่สุด และมีแนวโน้มเพิ่มระดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งอัตราดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของไทยในการใช้การสร้างสรรค์เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการใช้การสร้างสรรค์เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ กรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมและพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาและศิลปวัฒนธรรมแขนงต่าง ๆ ในแต่ละจังหวัดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและบริการของท้องถิ่น ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจและการแข่งขันในตลาด รวมถึงเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จัก จึงได้จัดกิจกรรมส่งเสริมเมืองต่อยอดนวัตกรรมสร้างสรรค์ด้วยทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อพัฒนาศักยภาพและสร้างโอกาสให้แก่ท้องถิ่นต่าง ๆ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์โดยอยู่บนพื้นฐานของการใช้ภูมิปัญญา รวมถึงส่งเสริมให้รู้จักและตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องคุ้มครองความคิดสร้างสรรค์ของตนภายใต้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อเป็นการหวงแหนภูมิปัญญาให้เป็นมรดกของท้องถิ่นของตนและประเทศชาติต่อไป
2. วัตถุประสงค์
2.1 เพื่อส่งเสริมการสร้างสรรค์และการพัฒนาต่อยอดเมืองต้นแบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ผ่านการ คัดเลือกจากโครงการเมืองต้นแบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative City) ในปี 2554 ให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มในสินค้าหรือบริการของจังหวัดและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันอย่างต่อเนื่องทั้งในตลาดภายในและต่างประเทศ
2.2 เพื่อกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมและให้ความสำคัญกับการนำเศรษฐกิจสร้างสรรค์และทรัพย์สินทางปัญญามาเป็นเครื่องมือในการสร้างรายได้และเพิ่มศักยภาพให้แก่ท้องถิ่น
2.3 เพื่อสร้างแบบอย่างที่ดีในการใช้ภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรม หรือประเพณีท้องถิ่นมาสร้างสรรค์สินค้าและบริการให้แก่จังหวัดอื่น ๆ เพื่อเป็นต้นแบบสำคัญสำหรับการพัฒนาสินค้าและบริการที่มีความคล้ายคลึงกันให้เกิดมูลค่าเพิ่มและต่อยอดไปสู่ระดับสากล