happy on December 08, 2012, 08:00:09 PM
ทีดีอาร์ไอจับโจทย์ใหญ่ทำวิจัย “การปฎิรูปการจัดการน้ำของประเทศไทย”

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย


แถลงข่าวโครงการน้ำ

วันนี้(29 พ.ย.55) ทีดีอาร์ไอแถลงเปิดตัวโครงการศึกษาการปฏิรูปการจัดการน้ำของประเทศไทย : การวิเคราะห์เชิงสถาบัน และรูปแบบการปรับตัว(Improving Flood Management Planning in Thailand) โดย ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการกิตติคุณ และหัวหน้าโครงการวิจัยกล่าวว่า   น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศเป็นมูลค่ากว่า 1.4 ล้านล้านบาท  สาเหตุสำคัญนอกจากปริมาณน้ำฝนที่ตกมากเป็นประวัติศาสตร์ในรอบ 70 ปี  ผลจากพายุมรสุม 5 ลูกที่เข้าสู่ประเทศไทยในเวลาไล่เลี่ยกัน ยังผลให้น้ำในแม่น้ำสายสำคัญเอ่อท้นฝั่งพื้นที่ในหลายจังหวัดแล้ว ความผิดพลาดของแบบแผนการใช้ประโยชน์จากที่ดินในพื้นที่ลุ่มที่เป็นทางผ่านของน้ำ การบริหารจัดการภาวะน้ำท่วม และการแทรกแซงทางการเมืองโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบในภาพรวมยังมีส่วนซ้ำเติมให้ปัญหาน้ำท่วมทวีความรุนแรงขึ้น   และทันทีที่น้ำลด รัฐบาลได้เร่งจัดทำแผนแม่บทการจัดการน้ำท่วมอย่างรวดเร็ว รวมทั้งจัดหางบประมาณจำนวน 3.5 แสนล้านบาทเพื่อเยียวยาผู้ประสบภัย บูรณะซ่อมแซม และมีแผนลงทุนเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาว จุดเด่นของแผนแม่บทการจัดการน้ำท่วมคือ แผนป้องกันน้ำท่วมแบบบูรณาการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ อย่างไรก็ตามแม้แผนแม่บทจะบรรจุเรื่องการบริหารจัดการน้ำ แต่งบประมาณส่วนใหญ่ยังคงเป็นเรื่องลงทุนด้านโครงสร้าง และหน่วยราชการยังเป็นผู้รับผิดชอบด้านแผนบริหารจัดการน้ำ


ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร

               ในโครงการวิจัยนี้ มุ่งศึกษาประเด็นด้านการบริหารจัดการน้ำในส่วนที่ไม่ใช่โครงสร้าง ผลการศึกษาจะเป็นการสนับสนุนการลงทุนด้านโครงสร้างเพื่อป้องกันน้ำท่วมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและเกิดความเป็นธรรม
 
            การศึกษานี้จะวิเคราะห์จุดอ่อนและจุดแข็งของสถาบันการบริหารจัดการน้ำและรูปแบบการใช้ประโยชน์ในที่ดินในปัจจุบัน จากนั้นจะนำเสนอการออกแบบสถาบันที่เติมเต็ม เพื่อสร้างระบบบริหารจัดการน้ำและรูปแบบการใช้ที่ดินที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม


               มีกรอบการศึกษา 3 ด้านหลัก ดังนี้  1) รูปแบบการใช้ที่ดิน การบริหารควบคุมสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ลุ่มที่ใช้รับน้ำนอง การปรับตัวทั้งในส่วนชุมชนและโรงงานอุตสาหกรรม  2) รูปแบบการบริหารจัดการน้ำที่เหมาะสม โดยเฉพาะในพื้นที่เกษตรที่รัฐกำหนดให้เป็นพื้นที่รับน้ำนอง วิเคราะห์การปรับตัวของเกษ๖รกรและชุมชนในบริเวณดังกล่าวเพื่อรับมือกับผลกระทบทั้งภาวะน้ำท่วมและภัยแล้ง เพราะน้ำคือเส้นทางชีวิตของข้าวและเกษตรกร 3) ออกแบบและให้ข้อเสนอเกี่ยวกับโครงสร้างสถาบันจัดการที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม  โครงการวิจัยนี้จะเลือกศึกษาพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่เคยเป็นจุดน้ำท่วมวิกฤติและน้ำแล้ง โดยมีระยะเวลาศึกษา 3 ปี  ได้รับทุนอุดหนุนจาก International Development Research Centre (IDRC)

               ผลการศึกษาจะมีข้อเสนอเชิงนโยบายในการแก้ปัญหาน้ำท่วม โดยเน้นเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างสถาบันการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการที่จะมีประสิทธิภาพและความเป็นธรรม และงานวิจัยจะส่งเสริมการสร้างองค์ความรู้และความร่วมมือด้านน้ำท่วมและการบริหารจัดการน้ำระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ รัฐ ประชาชน และภาคธุรกิจ ตลอดจนสื่อมวลชน

               ในการแถลงข่าวยังมีผู้ทรงคุณวุฒิร่วมอภิปรายให้มุมมองภาพอนาคตระบบจัดการน้ำประเทศไทย  โดย ดร.อาณัติ อาภาภิรม กล่าวถึงการบริหารจัดการหลังจากเกิดน้ำท่วมจะจัดองคาพยพอย่างไร  ด้าน ดร.รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการระบบข้อมูลจัดการน้ำหรือระบบเตือนภัยที่ประชาชนเข้าใจและนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง โดย


ดร.อาณัติ อาภาภิรม

               ดร.อาณัติ อาภาภิรม กล่าวว่า  การจัดองคาพยพหลังจากเกิดน้ำท่วมนั้นทำได้ยากเนื่องจากมีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมากตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ แต่ก็ต้องพยายามจัดองคาพยพให้ได้  โดยจะต้องมีการจัดการ3 ขั้นตอน คือ ก่อนเกิดน้ำท่วม ระหว่างน้ำท่วม และหลังจากน้ำท่วม  ซึ่งต้องการการจัดองคาพยพอย่างรอบคอบ ละเอียดและมีความยุติธรรม และถ้าเป็นไปได้ในการจ้ดการน้ำควรลดเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องให้น้อยลงจะทำให้การจัดองคาพยพเกิดประสิทธิภาพดีขึ้น  แต่หากจัดองคาพยพแล้วทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรง จำเป็นที่ คนที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องคุยกันเพื่อหาข้อยุติบนเป้าหมายตรงกันบนผลประโยชน์ของประชาชนส่วนรวม  งานวิจัยนี้จะช่วยเป็นศูนย์กลางที่จะเชื่อมแผนแม่บทของรัฐบาลเพื่อนำไปสู่การจัดการน้ำที่เป็นประโยชน์กับประชาชนและสังคมอย่างแท้จริง


ดร.รอยล จิตรดอน

               ดร.รอยล จิตรดอน กล่าวว่า การจัดการระบบข้อมูลจัดการน้ำหรือระบบเตือนภัยที่ประชาชนเข้าใจและนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ต้องทำ 2 ส่วนคือ การบริหารพื้นที่ทั้งในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน และมีองค์กร/ระบบกติกาที่ชัดเจน จะทำให้มีข้อมูลที่สามารถไปสู่ข้อสรุปที่นำไปใช้ในการตัดสินใจทางนโยบายได้ และที่สำคัญข้อมูลที่มาจากกระบวนการทางวิชาการจะมีความน่าเชื่อถือช่วยลดความขัดแย้งและสามารถไปสื่อสารสร้างความเข้าใจกับสื่อมวลชนซึ่งจะช่วยไปขยายความให้ประชาชนเข้าใจได้ดีกว่าการสื่อสารถึงประชาชนโดยตรงซึ่งในโลกยุคนี้ยังทำได้ยาก ซึ่งทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อเรามีสถาบันบริหารจัดการน้ำที่ดีดังที่โครงการวิจัยนี้กำลังทำ.