happy on December 08, 2012, 07:40:49 PM
TDRI FACTSHEET ISSUE 5: 30 พฤศจิกายน 2555

ผลกระทบของ AEC ต่อช่องว่างทางรายได้และมิติด้านสังคม

การเปิดเสรีอาเซียนไม่เพียงก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในมิติทางเศรษฐกิจการค้าเท่านั้น แต่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมตามมาด้วย การเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จึงไม่ควรจำกัดเพียงเรื่องการค้าอย่างเดียว ต้องให้ความสำคัญกับการเตรียมการและรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเช่นกัน

ผลงานวิจัย ผลกระทบของ AEC ต่อช่องว่างทางรายได้และมิติด้านสังคม โดย ดร.สมชัย จิตสุชน วิเคราะห์ความเชื่อมโยงผลกระทบทางเศรษฐกิจจาก AEC สู่มิติด้านสังคมด้านต่าง ๆ รวมทั้งช่องว่างรายได้และช่องว่างทางสังคมระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนด้วย

โดยงานวิจัยศึกษาผลกระทบทางสังคมใน 5 มิติ คือ ความยากจน ความเหลื่อมล้ำในประเทศ สุขภาพ การศึกษาและระดับมลภาวะ  โดยผลการศึกษานำไปสู่ข้อเสนอแนวนโยบายเพื่อตักตวงผลประโยชน์และรองรับผลทางลบด้านสังคมทั้งในกรณีประเทศไทยและประเทศอาเซียนโดยรวม


โดยสรุป AEC ทำให้มิติด้านสังคมโดยรวมดีขึ้น ซึ่งมิติเหล่านี้มีความสัมพันธ์โดยตรงต่อความเข้มข้นของการร่วมกลุ่มเศรษฐกิจในระดับต่าง ๆ ตั้งแต่การลดภาษีการค้าเป็นศูนย์เปอร์เซนต์ การเพิ่มเปิดเสรีการค้าบริการในประเทศต่าง ๆ การเพิ่มการลดต้นทุนด้านเวลา ไปจนถึงการขยายความครอบคลุมไปสู่ ASEAN+6 หรือ RCEP

ผลกระทบต่อมิติด้านสังคม:

ตัวชี้วัดทางด้านการศึกษา (การเรียนต่อมัธยม) ด้านสุขภาพ (การตายของทารก) ด้านความยากจน (สัดส่วนคนจนใต้เส้นความยากจน) และรายได้ประชาชาติต่างมีผลดีขึ้นในทุกกรณีของการร่วมกลุ่มเศรษฐกิจที่เกิดจาก AEC มีเพียงผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม (ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อรายได้ประชาชาติ) เพิ่มขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของ AEC

ผลกระทบต่อความเหลื่อมล้ำในประเทศ:

งานวิจัยระบุว่า ความเหลื่อมล้ำในประเทศกลุ่มยากจน (CLMV - กัมพูชา ลาว พม่าและเวียดนาม) ปรับตัวแย่ลง ส่วนความเหลื่อมล้ำในประเทศอาเซียนเดิมดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยพบว่าแม้มิติด้านสังคมโดยรวมจะดีขึ้นเนื่องจาก AEC แต่ประเทศที่มีความก้าวหน้าทางสังคมสูงกว่าจะได้ประโยชน์มากกว่าด้วย ซึ่งมีผลทำให้ช่องว่างทางสังคมระหว่างประเทศสมาชิกเพิ่มมากขึ้น สวนทางกับการลดลงของช่องว่างทางเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงควรมีนโยบายด้านสังคมในระดับภูมิภาคอาเซียนเพื่อป้องกันมิให้ช่องว่างทางสังคมมากขึ้นเร็วเกินไป


ข้อเสนอแนะด้านนโยบายสังคม:

ด้านการพัฒนาคน


· ควรเร่งความร่วมมือตามกรอบ ASCC (ASEAN Social and Culture Community)

· สร้าง ASCC scorecard เพื่อเร่งการพัฒนาด้านสังคมในประเทศอาเซียนภายใต้ ASCC

· ควรพัฒนาคนอย่างเร่งด่วนและจริงจัง  โดยเฉพาะด้านการศึกษา


ด้านการคุ้มครองทางสังคม

· ประเทศอาเซียนยังมีความแตกต่างกันของความพร้อมในระบบคุ้มครองทางสังคม จึงควรยกระดับความคุ้มครองทางสังคมและสวัสดิการ ซึ่งนอกจากจะช่วยป้องกันผลทางลบด้านสังคมแล้ว ยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้วย

ด้านการลงทุนและสภาวะแวดล้อม

· ปรับปรุงนโยบายด้านการลงทุนให้มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยใช้แนวทางประเทศพัฒนาแล้วที่แม้จะมี FDI สูงแต่มีปัญหามลภาวะน้อย เนื่องจากมีมาตรฐานการคุ้มครองสภาพแวดล้อมที่ดีและการบังคับใช้ที่ดีกว่า