happy on November 18, 2012, 05:47:29 PM
“โรงเรียนครอบครัว” พื้นที่เรียนรู้แบบไม่มีวันปิดเทอม

มูลนิธิสยามกัมมาจล


               เด็กๆ ตั้งแถวเรียงหน้ากระดาน ยืนสลับกับลุงป้า ตายาย มือข้างหนึ่งกระชับมัดกล้าไว้ในอ้อมแขนอย่างมั่นเหมาะ ขณะที่มืออีกข้างหยิบแบ่งกล้าปักลงในแปลงนาสาธิตอย่างขะมักเขม้น เพียงไม่นานผืนดินว่างเปล่ากลับเขียวขจีไปด้วยต้นกล้าที่มาจากการร่วมแรงร่วมใจของคนสามวัย  ใน “โรงเรียนครอบครัว” ห้องเรียนธรรมชาติที่ไม่มีวันปิดเทอม บ้านห้วยม้าลอย ต.หนองสาหร่าย อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี หนึ่งใน 6 พื้นที่นำร่องโครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น 4 ภาค  ที่มูลนิธิสยามกัมมาจลและสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) ได้เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้แก่เยาวชน  โดยพยายามดึงการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน  มาเป็นผู้จัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อเติมทักษะการใช้ชีวิตให้แก่ลูกหลานอย่างต่อเนื่อง จนเกิดโมเดลการทำงานที่มีโครงสร้างและหลักสูตรการเรียนรู้ที่ชัดเจนในแต่ละตำบล มีทั้งผู้ที่เข้ามาทำหน้าที่เป็นครูใหญ่ คณะกรรมการโรงเรียนครอบครัว  แกนนำเยาวชน (นายหมู่)  พ่อแม่ผู้ปกครอง ผู้ใหญ่ใจดีและครูภูมิปัญญาท้องถิ่น


นายทรงพล เจตนาวณิชย์ และทีมผู้ใหญ่ใจดี

               นายทรงพล เจตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) ให้สัมภาษณ์ว่า  ความเสี่ยงที่เยาวชนคนรุ่นใหม่ต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ อาทิเช่น ปัญหายาเสพติด ปัญหาตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ฯลฯ  ในการดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วนั้น  อันมีสาเหตุมาจากเยาวชนขาดทักษะชีวิต  ทักษะการคิดวิเคราะห์  และพบว่าชุมชนขาดการจัดการศึกษาของตนเอง จึงได้ผนึกพลังร่วมกับชุมชนเพื่อขับเคลื่อนการทำงานด้านพัฒนาเด็กและเยาวชนในชุมชนท้องถิ่นใน 6 พื้นที่นำร่อง โดยใช้ชื่อว่า “โรงเรียนครอบครัว” เพื่อให้เกิดการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับการดำเนินวิถีชีวิตของพ่อแม่-ผู้ปกครอง (ปู่ ย่า ตา ยาย) และลูกหลานทั้งครอบครัว  คำว่า “โรงเรียน” หมายถึง การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เป็นการทำกิจกรรมครั้งคราว เมื่อผู้เรียนได้เข้าร่วมทำกิจกรรมการเรียนรู้ในโรงเรียนครอบครัวแล้วต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันต้องมี “นักจัดการความรู้ ” ซึ่งเป็นคนภายในชุมชนที่สามารถดึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในชุมชน นั่นก็คือ ครูใหญ่และทีมงาน ที่มีบทบาทหน้าที่เป็นผู้ออกแบบการเรียนรู้และจัดกระบวนการเรียนรู้ในลักษณะร่วมคิด-ร่วมทำ-ร่วมรับผิดชอบในการจัดการศึกษาของครอบครัว


นายเตียง ชมชื่น ครูใหญ่

               ที่โรงเรียนครอบครัวเด็กและเยาวชนจะได้เรียนรู้ตามหลักสูตร 4 วิชา  ได้แก่  1) วิชาชีวิต  2) วิชาชีพ  3) วิชาชุมชน  และ 4) วิชาการ  โดยใช้ “ทุนของชุมชน” ที่มีอยู่และใช้ศักยภาพของคนในชุมชนมาร่วมกันคิด    พากันทำในการออกแบบและจัดกระบวนการเรียนรู้ให้ลูกหลานของตนเอง อีกทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองสามารถประเมินการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นกับบุตรหลานได้โดยธรรมชาติ  โดยสังเกตจากการเปลี่ยนแปลงจาก 3 องค์ประกอบ ได้แก่  u  อุปนิสัยพอเพียง 15 ข้อ  (1.ใฝ่เรียนรู้  2.ขยัน  3.อดทน  4.มีวินัย  5.ประหยัด  6.ตรงเวลา  7.รับผิดชอบ  8.ซื่อสัตย์ 9.สามัคคี  มีน้ำใจ  เสียสละ  10.สุภาพ  11.สะอาด  12.กตัญญู กตเวที  13.มีเหตุผล  14. ประมาณตน  และ 15.วางแผน  มีภูมิคุ้มกัน) v  การถ่ายทอดและซึมซับความรู้ที่ทำให้เด็กและเยาวชนรู้กว้างรู้ลึกรู้ไกล มีความรอบรู้  และ w  มีทักษะการคิดวิเคราะห์  คิดไตร่ตรองอย่างมีเหตุผล  (รู้คิด  รู้ทำ รู้เท่า  รู้ทัน)  มีภูมิคุ้มกันตนเองจากการเรียนรู้ตามหลักสูตรทั้ง 4 วิชา

               “สิ่งเหล่านี้คือความหมายของการพัฒนาเด็ก เช่น จากที่ไม่เคยทำนา ทำอย่างไรให้เขาหันมาสนใจอาชีพของพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย เห็นคุณค่าความหมาย เกิดเจตคติที่ดี  และให้เขามีความรู้ รู้จริงกับสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว และทำเป็นทำได้ โรงเรียนครอบครัวจะต้องออกแบบการเรียนรู้ว่าจะหยิบอะไรมาผสมผสานกับทุนที่มีอยู่ แล้วนำมาจัดลำดับเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ หลังจากนั้นจึงประเมินว่าได้ผลตามที่อยากให้เกิดกับเด็กหรือไม่ ที่สำคัญต้องทำอย่างต่อเนื่อง และต้องได้รับความร่วมมือจากคนในชุมชนเข้ามาร่วมกันจัดการ”


นายสวัสดิ์ กันจรัตน์ ปลัดอบต

               ขณะเดียวกัน อบต. ซึ่งมีหน้าที่ดูแลเรื่องศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก็เป็นส่วนสำคัญที่จะเข้ามามีบทบาทในการหนุนเสริมด้านการศึกษาของชุมชน นายสวัสดิ์ กันจรัตน์ ปลัดอบต. หนองสาหร่าย อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี กล่าวว่า  การศึกษาในชุมชนเป็นการศึกษาที่กว้าง สามารถจัดการศึกษาตามความต้องการของชุมชน ซึ่งโดยทั่วไป อบต.ยังไม่ค่อยได้ทำเรื่องการศึกษามากนัก อย่างไรก็ตามเมื่อได้ทำความเข้าใจโมเดลโรงเรียนครอบครัวแล้วรู้สึกประทับใจ จึงเข้ามาร่วมกันออกแบบการเรียนรู้เพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชน เพราะมั่นใจว่าโมเดลนี้จะช่วยให้การเรียนรู้ของคนในชุมชนยั่งยืนมากขึ้น

               “เมื่อก่อนเราแบ่งชั้น วัดก็ทำเรื่องคุณธรรมจริยธรรมไป โรงเรียนก็ทำเรื่องการศึกษาไป หมอก็ทำเรื่องสุขภาพ อบต.ก็ทำเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน  แต่วันนี้ไม่ได้แล้ว ทุกหน่วยงานต้องรวมเป็นหนึ่งเดียวและทำงานควบคู่ไปด้วยกัน ถ้ามองสิ่งที่เด็กจะได้มันเยอะมาก หลายๆ คนไม่ค่อยตระหนักในความรับผิดชอบ แต่พอเขาได้มาสัมผัสได้เรียนรู้ ได้มีพัฒนาการจากกิจกรรมต่างๆ ที่ให้เขาได้เรียนรู้โดยไม่รู้ว่ากำลังเรียน  ได้สนุก ได้เล่น และได้ทักษะที่เกิดขึ้นเป็นพิเศษที่ห้องเรียนตามระบบอาจไม่มี  แต่โรงเรียนครอบครัวมีเพราะเป็นห้องเรียนธรรมชาติ ที่เรียนรู้เรื่องใกล้ตัว เรื่องในท้องถิ่น”

               ด้าน นายเตียง ชมชื่น ครูใหญ่โรงเรียนครอบครัวบ้านห้วยม้าลอย กล่าวว่า กิจกรรมการเรียนรู้ที่จัดในแต่ละครั้งจะต้องคิดว่าเด็กเยาวชนจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง ไม่ใช่พาเด็กเยาวชนสนุกอย่างเดียวหรือทำกิจกรรมเสร็จแล้วจบ แต่ต้องให้เด็กเยาวชนได้เกิดการเรียนรู้  ซึ่งกิจกรรมการเรียนรู้หลักที่ทำแล้วตั้งแต่ต้นคือ ค่ายหนุนเสริมศักยภาพของเด็กเยาวชน  เพื่อวางเป้าหมายชีวิตของเด็กและยาวชนแต่ละคนว่าอยากประกอบอาชีพอะไรในอนาคต และจะทำอย่างไรให้เด็กและเยาวชนบรรลุเป้าหมายนั้น โดยใช้วิธีการบันทึกในสมุดบันทึกความดีหรือการเรียนรู้ที่แต่ละคนจะนำไปให้ผู้ปกครองลงลายมือชื่อทุกครั้งเพื่อประเมินการเรียนรู้ของลูกหลาน  และครั้งนี้เป็นการพาเด็กและแกนนำเยาวชน(นายหมู่) เรียนรู้วิถีชีวิตของชาวนาในการปลูกข้าวนาดำ

               “ที่ผ่านมาผู้ปกครองให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เพราะเราพยายามชี้ให้เขาเห็นปัญหาว่าอยู่ตรงไหน ต้องยอมรับว่าเด็กๆ เยาวชนไม่ค่อยเชื่อฟังผู้ปกครอง เสาร์อาทิตย์มักอยู่กับทีวี หรือไปร้านเกม พ่อแม่เองก็ไม่บ่มเพาะลูกให้รู้จักทำงาน  ไม่ได้สอนให้ลูกช่วยทำงานบ้าน ปล่อยปละละเลย เด็กจึงไม่รู้คิด ดังนั้นต้องร่วมมือกัน เรียนรู้กันผ่านกิจกรรมต่างๆ จนวันนี้เราก็ค่อยๆ เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่กับเด็ก แต่กับผู้ปกครองด้วย”

               นางพัชรินทร์ วงษ์สุวรรณ หนึ่งในผู้ปกครองที่เข้าร่วมกิจกรรมของโรงเรียนครอบครัว เล่าว่า เข้ามาร่วม กิจกรรมการเรียนรู้ของโรงเรียนครอบครัว เพราะคิดว่าเป็นประโยชน์ต่อครอบครัวและชุมชน จึงชักชวนลูกสาวมาเข้าร่วมทำกิจกรรม หลังจากได้ทำกิจกรรมแล้วรู้สึกว่าชีวิตเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ ความสัมพันธ์กับลูกที่เคยไม่เข้าใจกัน ไม่ค่อยได้พูดคุยกัน  เพราะผู้ปกครองเองคิดแต่เรื่องทำงานหาเงิน ก็ดีขึ้นตามลำดับ เพราะเมื่อได้ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันแล้วทำให้ได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น

               “ที่เราต้องการคือ ความสุขในครอบครัว ในอดีตเราให้เวลากับการทำมาหากิน อยู่ที่บ้านเราจะไม่รู้ว่าลูกเราต้องการอะไร หรืออยากทำอะไร แต่เมื่อได้มาร่วมกิจกรรมโรงเรียนครอบครัว ได้ฟังเสียงสะท้อนว่าสิ่งที่เด็กต้องการคืออะไร ทำให้เราเปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนวิธีสอน ค่อยๆ พูด ใช้เหตุผลมากขึ้น รู้สึกว่าเดี๋ยวนี้รักกันมากขึ้นเพราะได้ใช้เวลาร่วมกัน เมื่อก่อนมีอะไรลูกสาวจะไม่เล่า แต่ตอนนี้จะปรึกษากันได้ทุกเรื่อง เดี๋ยวนี้เขาช่วยงานบ้าน ช่วยจากใจ ไม่ได้ช่วยตามที่บังคับเหมือนแต่ก่อน ทำเพราะเห็นเป็นหน้าที่ มีเหตุผลมากขึ้น เมื่อก่อนไม่มีหรอกที่จะมากอดมาหอมแม่  เพราะต่างคนต่างเขินกัน ไม่ค่อยแสดงออก แต่ปัจจุบันนี้มีความแนบแน่นขึ้นกว่าเดิม”

               เช่นเดียวกับ ด.ญ.อมรรัตน์ วงษ์สุวรรณ ลูกสาววัย 15 ปี มีความรู้สึกไม่ต่างจากคุณแม่ แม้ในตอนแรกจะรู้สึกว่าถูกบังคับให้มาร่วมโครงการ แต่เมื่อได้มาสัมผัสกับกิจกรรมของโรงเรียนครอบครัวทำให้ค่อยๆ เปิดใจกับแม่และผู้คนรอบข้างมากขึ้น “ตอนนั้นไม่อยากมาเลย แต่เมื่อมาแล้วรู้สึกสนุก มีเพื่อน ได้ทำอะไรหลายอย่างที่ไม่เคยทำ ทำให้กล้าแสดงออกมากขึ้น เพราะหนูมีหน้าที่ต้องดูแลน้องเล็กๆ ด้วย เมื่อได้ทำตรงนี้ก็ทำให้เราต้องปรับตัว ได้ฝึกความอดทน กล้าคิด กล้าทำ กับแม่เมื่อก่อนไม่ค่อยคุยกันเลย ตอนนี้สนิทกันมากขึ้น เหมือนเป็นแม่คนใหม่ เพราะเมื่อก่อนแม่ดุ จุกจิก เดี๋ยวนี้คุยกันมากขึ้น เมื่อก่อนใช้อารมณ์กันมากกว่า”






ภาพกิจจกรรม

               การปักดำกล้าเป็นเพียงกิจกรรมกาเรียนรู้อย่างหนึ่งและใช้เป็น “สื่อกลาง”  ที่เชื่อมโยงและยึดโยงเยาวชนให้เกิดความรักถิ่นฐาน มีทักษะในการใช้ชีวิต  มากกว่านั้นคือ  เราได้เห็นภาพความร่วมมือของผู้คนในชุมชนและคนสามวัย ทั้งปลัด อบต.  เจ้าพนักงานสาธารณสุขอาวุโส รพ.สต.  ผู้ใหญ่บ้าน เด็กและแกนนำ เยาวชน (นายหมู่)  ผู้ปกครอง  และผู้สูงวัยของหมู่บ้าน  เห็นแม่กับลูก ยายกับหลานลงไปปลูกข้าวด้วยกัน เห็นความสนุกสนานของเด็กในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ  เป็นการเปิดพื้นที่การเรียนรู้ของชุมชนให้คนมาทำกิจกรรมสร้างสรรค์ร่วมกัน ภาพเหล่านี้คือวัฒนธรรมการเรียนรู้แบบใหม่ที่โรงเรียนครอบครัวสร้างสรรค์ขึ้น  เพื่อให้คนกับชุมชนเรียนรู้ที่จะอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขและพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของชุมชน สังคมและโลก