happy on November 09, 2012, 07:38:00 PM
สตท. จับมือ ตลท. และ กลต. สร้างมาตรฐานผู้ตรวจสอบภายในของประเทศไทย
หนุนทุกองค์กรบริหารงานโปร่งใส



               รองฯ กิตติรัตน์ย้ำความโปร่งใสของทุกองค์กรเป็นเรื่องสำคัญ  เน้นบทบาทของการตรวจสอบภายในให้มีมาตรฐาน ด้าน สตท. จับมือ ตลท. และกลต. สร้างระบบการสอบ ออกใบประกาศนียบัตรรับรองให้ผู้ตรวจสอบภายในที่ผ่านเกณฑ์ให้เป็นไปตามมาตรฐานของประเทศไทย(CIAT)  ภายใต้มาตรฐานการสอบที่เข้มข้น คาดจัดสอบครั้งแรกได้ภายในเดือนมีนาคม 2556  พร้อมเร่งหาเกณฑ์วัดระดับคุณธรรม และจริยธรรมของผู้ตรวจสอบภายในก่อนให้การรับรอง  มั่นใจผู้ตรวจสอบภายในของไทยเป็นที่ยอมรับของนานาชาติเทียบเท่ามาตรฐานสากล(CIA)  ย้ำธุรกิจทุกระดับ ทุกขนาด และทุกประเภท ควรมีการตรวจสอบภายในที่ดีเพื่อช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยระบบธรรมาภิบาล


นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง

               ศูนย์ประชุมสิริกิติ์ / นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี  และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในพิธีเปิดการประชุมสัมมนาผู้ตรวจสอบภายในภาคพื้นเอเชีย ประจำปี 2555 ซึ่งสมาคมผู้ตรวจสอบภายในแห่งประเทศไทย (สตท.) เป็นเจ้าภาพ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ว่า “ระบบการตรวจสอบภายในมีความสำคัญอย่างยิ่งที่ทุกองค์กรควรให้ความสำคัญ และต้องพยายามพัฒนาให้ โดยฝ่ายบริหารต้องระมัดระวังการดำเนินงานให้ถูกต้องและฝ่ายตรวจสอบภายในต้องทำงานด้วยความมุ่งมั่นและเข้มแข็ง กล้ารับมือกับการปฏิบัติงานและการบริหารงานที่ไม่ถูกต้อง เอาชนะกิเลสที่สำคัญคือความโลภ และทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยคุณธรรม จริยธรรม  เชื่อมั่นว่าการสัมมนาในระดับภูมิภาคเอเชียครั้งนี้ จะมีแนวคิดใหม่ๆ ที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานการตรวจสอบภายในของไทยต่อไป ซึ่งจะทำให้องค์กรมีความน่าเชื่อถือจากความโปร่งใสและการตรวจสอบภายในที่เข้มแข็ง”

               นายกิตติรัตน์ ยังกล่าวด้วยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับนโยบายธรรมาภิบาลในหน่วยงานภาครัฐและเอกชนหลายระดับเพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่ระบบเศรษฐกิจของประเทศ ในส่วนของประเทศไทยนั้นให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการตรวจสอบภายในมาโดยตลอด โดยมีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินที่เข้มแข็งและเป็นอิสระ


คุณหญิงจารุวรรณ  เมณฑกา

               คุณหญิงจารุวรรณ  เมณฑกา นายกสมาคมผู้ตรวจสอบภายในแห่งประเทศไทย(สตท.) กล่าวว่า การตรวจสอบภายในมีความสำคัญอย่างยิ่งในการบริหารองค์กรทุกประเภท ทั้งหน่วยงานในภาครัฐและธุรกิจภาคเอกชน  สามารถเพิ่มคุณค่าและเอื้อประโยชน์ในหลายด้าน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการสร้างความเชื่อมั่น เชื่อถือ และไว้วางใจแก่ Stakeholder กลุ่มต่างๆ    เป็นปัจจัยหลักที่จะขับเคลื่อนสู่ระบบธรรมาภิบาล ที่ส่งผลให้องค์กรประสบความสำเร็จ และช่วยพัฒนาประเทศชาติอย่างมีประสิทธิภาพ  ทั้งนี้ หากมีพระราชบัญญัติวิชาชีพมารองรับ และได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐมากขึ้นในการให้องค์กรต่างๆ และธุรกิจทุกระดับมีระบบตรวจสอบภายในที่เข้มแข็ง จะยิ่งก่อให้เกิดผลดีกับทุกฝ่าย










               “ขณะนี้ทางสมาคมผู้ตรวจสอบภายในแห่งประเทศไทยหรือ สตท. ได้ร่วมมือกับ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(กลต.) ในการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาเกณฑ์การออกใบอนุญาตหรือประกาศนียบัตรให้กับผู้ตรวจสอบภายในของประเทศไทยหรือ Certified Internal Auditor Thailand (CIAT) จากเดิมที่จะต้องใช้ข้อสอบของ Certified Internal Auditor(CIA) และจะได้รับวุฒิบัตรผู้ตรวจสอบภายในรับอนุญาตสากล ทั้งนี้คณะกรรมการอยู่ระหว่างร่วมกันกำหนดมาตรฐานข้อสอบเป็นภาษาไทย เกณฑ์การพิจารณาผลการสอบ ตลอดจนกำหนดเกณฑ์ทางด้านคุณธรรม และจริยธรรมอย่างเข้มข้น โดยคาดว่าจะสามารถจัดสอบครั้งแรกได้ภายในเดือนมีนาคม 2556”

               ปัจจุบันหลายประเทศในกลุ่มอาเซียนต่างเร่งพัฒนาและเตรียมความพร้อมในวิชาชีพนี้ เพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในส่วนของประเทศไทยขณะนี้มี CIA ประมาณ 350 คน   และมีผู้ตรวจสอบภายในที่เป็นสมาชิกของ สตท. ประมาณ 2,000 คน

               “แน่นอนว่าการแข่งขันในวิชาชีพนี้จะสูงขึ้น เพราะผู้ตรวจสอบภายในจากประเทศอื่นๆ สามารถเข้ามาทำงานได้ บริษัทหรือองค์กรใหญ่ๆ จึงมีทางเลือกในการรับสมัครผู้ตรวจสอบภายในมากขึ้น ผู้ตรวจสอบภายในของไทยจึงต้องพัฒนาตนเองและพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษมากขึ้น เพื่อก้าวให้ทันความเปลี่ยนแปลงนี้ ส่วนผู้ที่มีวุฒิบัตรแล้วก็จะสามารถโยกย้ายไปทำงานในประเทศอื่นๆ ที่ให้ค่าตอบแทนสูงได้ง่ายขึ้นเช่นกัน  สำหรับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME ของไทย ก็ควรเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ด้วยการมีระบบตรวจสอบภายในที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและความน่าเชื่อถือ ซึ่งมีประโยชน์ต่อธุรกิจในหลายด้าน ทั้งหลักประกัน อัตราดอกเบี้ย การเจรจาต่อรอง ฯลฯ” คุณหญิงจารุวรรณกล่าว


นายสุวรรณ  ดำเนินทอง

               ด้าน นายสุวรรณ  ดำเนินทอง ประธานกรรมการจัดงานฯ ให้รายละเอียดว่า ปัจจุบันนี้มีกฎข้อบังคับให้บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต้องมีฝ่ายตรวจสอบภายใน  ซึ่งแสดงถึงการให้ความสำคัญกับความโปร่งใสและระบบธรรมาภิบาล เพิ่มคุณค่าและปรับปรุงการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย โดยประเมินความเสี่ยงในด้านต่างๆ ลดความสูญเสีย ช่วยตรวจสอบและป้องกันการทุจริต ควบคุมและกำกับดูแลอย่างเที่ยงธรรม   ช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้บริหารองค์กรว่าการดำเนินงานเป็นไปอย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ ใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด คุ้มค่า บุคลากรปฏิบัติงานตามกฎระเบียบที่กำหนด  สามารถรับมือกับความเสี่ยงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม   ทำให้องค์กรมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง  โดยผู้ตรวจสอบภายในต้องปฏิบัติตามมาตรฐานและจริยธรรม ให้คำปรึกษาแนะนำที่ดี โดยเป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร

               อย่างไรก็ตาม ธุรกิจทุกระดับ ทุกขนาด และทุกประเภท ควรมีระบบการตรวจสอบภายในเช่นกัน โดยผู้ตรวจสอบภายในสามารถปรับแนวทางและรูปแบบให้เข้ากับธุรกิจทุกประเภททุกขนาดได้อย่างความเหมาะสม


มร. ฟิล ดี. ทาลิ่ง

               มร. ฟิล ดี. ทาลิ่ง ประธานกรรมการบริหารผู้ตรวจสอบภายในระดับโลก (Global IIA President) มีประเด็นที่น่าสนใจในการสัมมนาครั้งนี้ว่า “การสื่อสารมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อผู้ตรวจสอบภายใน  ซึ่งจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว  โดยต้องมั่นใจว่าได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นข้อเท็จจริงจากการเปิดรับการสื่อสารอย่างมีคุณภาพ พร้อมทั้งมีวิจารณญาณที่ดีในการตอบสนองการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำที่ถูกต้องแก่หน่วยงานและองค์กรที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบ”


มร. จอห์น จุงซุก พยอน


               การประชุมสัมมนาผู้ตรวจสอบภายในภาคพื้นเอเชีย ประจำปี 2555 (2012 Asian Confederation of Institutes of Internal Auditors Conference - ACIIA Bangkok 2012) โดยสมาคมผู้ตรวจสอบภายในแห่งประเทศไทย (สตท.) เป็นเจ้าภาพ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-10 พฤศจิกายน 2555 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์  โดยได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ กิตติรัตน์ ณ ระนอง  รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในพิธีเปิด มร. จอห์น จุงซุก พยอน ประธานสมาพันธ์ผู้ตรวจสอบภายในแห่งเอเชีย (President of ACIIA) เป็นประธาน และ มร. ฟิล ดี. ทาลิ่ง ประธานกรรมการบริหารผู้ตรวจสอบภายในระดับโลก (Chairman of the Board, Global IIA) เป็นวิทยากรกิตติมศักดิ์  การประชุมสัมมนาในครั้งนี้เป็นการรวมตัวของวิทยากรผู้เชี่ยวชาญระดับสากลและระดับภูมิภาคถึง 28 คน
« Last Edit: November 09, 2012, 07:47:42 PM by happy »