MSN on November 07, 2012, 03:22:33 PM
กทม. เปิดโรงกำจัดมูลฝอยด้วยพลังงานความร้อนสูง



   ม.ร.ว. สุขุมพันธ์ บริพัตร (ที่ 4 จากขวา) ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร ให้เกียรติเป็นประธานแถลงข่าวเปิดโรงกำจัดมูลฝอยด้วยพลังงานความร้อนสูง ซึ่งเตาเผาที่กรุงเทพมหานครจะดำเนินการนั้น ไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมีระบบกำจัดมลพิษต่างๆ ตามหลักสุขาภิบาล อีกทั้งได้มาตรฐานการกำจัดมลพิษทางอากาศตามที่กฎหมายกำหนด โดยได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ ก่วน มู่(ที่ 4 จากซ้าย) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ร่วมแสดงความยินดี และพลเอก อุทัย ชินวัตร (ที่ 3 จากขวา) ประธานกรรมการบริษัท ซีแอนด์จี เอ็นไวรอนเมนทอล โปรเทคชั่น(ประเทศไทย) จำกัด ให้เกียรติมอบทุนมูลนิธิ “รักกัน เราทำได้” โดยงานจัดขึ้น ณ โรงแรมโฟร์ซีซั่น ถนนราชดำริ กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆนี้

MSN on November 07, 2012, 03:33:45 PM
กทม. เปิดโรงกำจัดมูลฝอยด้วยพลังงานความร้อนสูงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดขยะให้คนกรุง



    ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์  บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้เกียรติเป็นประธานแถลงข่าวเปิดโรงงานกำจัดมูลฝอยด้วยพลังงานความร้อนสูง ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม ณ โรงแรมโฟร์ซีซั่น ถนนราชดำริ กรุงเทพฯ

   ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวง ที่มีผู้คนหลั่งไหลทั้งจากปริมณฑล และต่างจังหวัดเข้ามาอยู่อาศัยรวมแล้วประมาณกว่า 10 ล้านคน เมื่อมีผู้คนอยู่อาศัยกันเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ปริมาณขยะเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว แม้ว่ากรุงเทพมหานครได้ดำเนินการจัดการขยะมูลฝอยในระบบด้วยวิธีการต่าง ๆ  โดยขยะทั่วไปกรุงเทพมหานครใช้วิธีการฝังกลบอย่างถูกหลักสุขาภิบาล (Sanitary Landfill) ใน 2 แห่ง คือ จังหวัดนครปฐม และจังหวัดฉะเชิงเทรา อย่างไรก็ตาม ปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั่วกรุงเทพฯ มีประมาณ 8,700 ตัน/วัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี

   ด้วยเหตุนี้ กรุงเทพมหานครจึงหาวิธีการและแนวทางจัดการขยะที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงแทนวิธีการฝังกลบ ด้วยการผลักดันโรงงานกำจัด    มูลฝอยด้วยพลังงานความร้อนสูง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ณ ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม เป็นวิธีที่ได้รับการยอมรับและเป็นที่นิยมใช้ในหลายประเทศทั่วโลก เช่น เยอรมนี  ญี่ปุ่น  หรือประเทศเพื่อนบ้านของประเทศไทยคือสิงคโปร์ อีกทั้ง เป็นวิธีที่ใช้พื้นที่น้อยเมื่อเทียบกับการฝังกลบ สามารถทำลายมูลฝอยได้เกือบทุกชนิด  สามารถสร้างในพื้นที่ที่เป็นแหล่งกำเนิดขยะ ประหยัดค่าขนส่ง ส่วนที่เหลือจากการเผาไหม้จำพวกขี้เถ้า สามารถนำไปถมที่ดินหรือทำวัสดุก่อสร้างได้ เนื่องจากสามารถลดปริมาณขยะมูลฝอยได้สูงสุดถึงร้อยละ 75 - 95   อีกทั้ง สามารถนำพลังงานความร้อนที่ได้ไปใช้ประโยชน์หลายอย่าง เช่น นำไปต้มน้ำเพื่อนำเอาไอน้ำไปใช้ความร้อนแก่อาคารประเภทต่าง  ๆ ตลอดจนนำไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งเตาเผาขยะยังเหมาะสำหรับการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อจากโรงพยาบาลได้อีกด้วย

   โครงการดังกล่าว กรุงเทพมหานครได้ลงนามสัญญาจ้าง บริษัท ซีแอนด์จี เอ็นไวรอนเมนทอล โปรเทคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ลงทุนก่อสร้างและเดินระบบเตาเผามูลฝอย ขนาด 300 ตัน/วัน ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม ติดตั้งเครื่องจักรอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมทั้งบริหารจัดการโรงงาน ระยะเวลาดำเนินโครงการ 20 ปี  ลักษณะของเตาเผาเป็นแบบแผงตะกรับ (Stoker Type) อุณหภูมิในห้องเผาไม่ต่ำกว่า   850 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่เหมาะสมกับลักษณะมูลฝอยของกรุงเทพมหานคร และมีการใช้งานในหลายประเทศ (คล้ายกับเทศบาล นครภูเก็ตที่ดำเนินการก่อสร้างในปัจจุบัน) สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ไม่น้อยกว่า 5 เมกกะวัตต์ ซึ่งกระแสไฟฟ้าจากความร้อนของโครงการฯ  จะส่งขายให้กับการไฟฟ้านครหลวง นอกจากนั้น เตาเผาที่กรุงเทพมหานครจะดำเนินการ ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ เนื่องจากมีระบบกำจัดมลพิษต่าง ๆ ตามหลักสุขาภิบาล ไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้ง ได้มาตรฐานการกำจัดมลพิษทางอากาศตามกฎหมายกำหนด ในส่วนของการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนั้น ได้ดำเนินการจ้างที่ปรึกษา บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด เป็นผู้จัดทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Initial Environment Examination) ด้วยการรับฟังความคิดเห็นประชาชน และการประเมินมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย (Environment and Safety Assessment, ESA) ใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ 90 วัน ซึ่งแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2555 ที่ผ่านมา  โดยโครงการมีความเหมาะสมกับสภาพปัญหา      มูลฝอยในพื้นที่กรุงเทพฯ  ด้วยเทคโนโลยีในการกำจัดมูลฝอยมีความน่าเชื่อถือ และมีประสิทธิภาพมากกว่าวิธีการกำจัดมูลฝอยโดยการฝังกลบที่ใช้ในปัจจุบัน และเห็นว่าโครงการเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ไม่เกิดผลกระทบต่อชุมชน 

   ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในท้ายสุดว่า เพื่อลดปริมาณขยะให้เหลือน้อยที่สุด การแยกขยะต้นทาง ด้วยการแยกขยะที่บ้าน เป็นหนึ่งในการลดปริมาณขยะในระบบ ที่เป็นวิธีการหนึ่งที่เราทำได้ เพื่อนำพาให้กรุงเทพมหานครเป็นมหานครแห่งสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน