ชะพลู พืชศาสตร์คู่ครัวไทย
ชะพลู หรือ ช้าพลูอีกหนึ่งผักที่จัดว่าเป็นสมุนไพรมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ เพราะคนไทยในสมัยก่อน มักนิยมนำใบชะพลูมาเคี้ยวคู่กับหมาก แต่ปัจจุบันที่นิยมทานกันมากก็คือ “เมี่ยงคำ” ชะพลูเป็นไม้ล้มลุก มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Piper sarmentosum Roxd เป็นได้ทั้งไม้เถาและไม้เลื้อย มีทุกภาคแต่จะมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป อย่างทางภาคเหนือเรียกว่า "ผักปูนา" "ผักพลูนก" "พลูลิง" "ปูลิง" "ปูลิงนก" ทางภาคกลาง เรียกว่า "ช้าพลู" ทางภาคอีสานเรียกว่า "ผักแค" "ผักปูลิง" "ผักนางเลิด" "ผักอีเลิด" และ ทางภาคใต้เรียกว่า "นมวา" ชะพลูชอบขึ้นตามที่ชื้นและที่ลุ่มต่ำ บ้างก็อยู่ข้างลำธาร บ้างก็อยู่ในป่าดิบแล้งและก็มีตามบ้านเรือนที่ปลูกพืชผักสวนครัวกัน ประโยชน์ทางยาและทางอาหาร ในตำรายาโบราณมีคำกล่าวว่า “รากชะพลูแก้คูถ (ขับเสมหะออกทางอุจจาระ) ต้มแก้อุระเสมหะ (เสมหะ ในทรวงอก) ลูกขับศอเสมหะ (เสมหะในลำคอ) ใบทำให้เสมหะงวดและแห้ง แก้ธาตุพิการ บำรุงธาตุ” วิธีการรับประทานก็จำง่ายๆ โบราณท่านว่าให้ต้ม 3 เอา 1 หมายถึง ใส่น้ำ 3 ส่วน ต้มใบ ราก หรือทั้งต้นของชะพลู ต้มจนเหลือน้ำ 1 ส่วน อย่าใช้ไฟแรงเกินไป ต้องต้มให้ยาค่อยๆ เดือด แล้วจึงนำมารับประทาน ½-1 แก้ว ก่อนอาหาร 3 เวลา ก็จะช่วยขับเสมหะ แก้จุกเสียดได้ ทั้งยังมีแคลเซียมและวิตามินเอสูง นอกจากนี้ยังมีฟอสฟอรัส เหล็ก เส้นใย และสารคลอโรฟิล ช่วยบำรุงธาตุ แก้จุกเสียด แต่ถ้ากินมากๆ (แทบทุกมื้อ) แคลเซียมที่มีในใบชะพลูจะเปลี่ยนเป็นแคลเซียมออกซาเลท หากสะสมมากๆ อาจกลายเป็นนิ่วในไตได้ นายวิวัฒน์ หนูมาก ผู้รับผิดชอบโครงการเพลงบอกอนุรักษ์พันธุ์ไม้พืชผักท้องถิ่นรู้จักกินรู้จักใช้ เพื่อสุขภาพ บอกว่า สำหรับใบชะพลูที่จังหวัดพัทลุง ปัจจุบันเริ่มหายากแล้ว เพราะไม่มีการปลูกอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ส่วนใหญ่จะขึ้นตามยถากรรมในธรรมชาติทำให้เหลือน้อยลงเพียงแค่ไม่ถึง 1 ไร่ ด้วยประโยชน์ที่มากมายเราจึงควรเร่งอนุรักษ์ไว้ตั่งแต่ตอนนี้ อย่างในโครงการได้มีการนำพืชสมุนไพรชนิดต่างๆ มาบอกเล่าสรรพคุณและชวนคนในสังคมหันกลับมาให้ความสำคัญกับพืชเหล่านี้ผ่านเพลงบอก เพลงพื้นบ้านที่คนในภาคใต้ต่างรู้จักกันดี เป็นการรณรงค์และเพิ่มความน่าสนใจและหันกลับมาเห็นคุณค่าของพืชผักเหล่านี้มากขึ้น และเร็วๆ นี้จะมีการนำบทเพลงบอกดังกล่าวมาเผยแพร่อย่างกว้างขวางขึ้น ซึ่งไม่นานนี้จะได้ฟังกันแน่นอน... ติดตามได้ที่ www.artculture4health.or.th หากเรารู้จักกิน รู้จักใช้ และอนุรักษ์ให้คงอยู่ สิ่งเหล่านี้ก็คงจะกลับมา “สร้างสุข” สร้างสุขภาพที่ดีให้กับคนไทยตลอดไป