happy on October 23, 2012, 06:40:31 PM
เครือข่ายศิลปินฯ จับมือ แพรวสำนักพิมพ์ เปิดตัว “รหัสลับคอร์รัปชั่น”
สร้างจิตสำนึกใหม่ “คนไทย...ไม่โกง” 22 ผลงานจากนักเขียนรางวัลซีไรท์-ศิลปินแห่งชาติ


               วันนี้ (21 ตุลาคม 2555) คณะกรรมการเครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูป สำนักงานปฏิรูป แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย กองทุนศรีบูรพา แพรวสำนักพิมพ์ สำนักพิมพ์ในเครือบริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด(มหาชน) สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เครือข่ายสังคมคุณธรรม ศูนย์คุณธรรม และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เปิดตัวหนังสือ “รหัสลับคอร์รัปชั่น”22 ผลงานการเขียนจากนักเขียนรางวัลซีไรท์-ศิลปินแห่งชาติ และนักเขียนหน้าใหม่ เพื่อสะท้อนปัญหาการโกงของมวลมนุษยชาติ ในหลากหลายมิติ หลากหลายมุมมอง ที่มีระดับความเข้มข้นของปัญหาต่างๆ กันไป ทั้งยังหวังปลุกกระแสสังคมไม่เพิกเฉยกับเรื่องการคอรัปชั่น




               โดยนายแพทย์ วิชัย โชควิวัฒน รองประธานเครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูป กล่าวว่า ที่ผ่านมาองค์การเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ เผยดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นประจำปี ค.ศ. 2011 (พ.ศ.2554) พบว่าประเทศไทยโกงติดอันดับที่ 80 จาก 182 ประเทศ มีคะแนนอยู่ที่ 3.4 จาก 10 คะแนน และในขณะเดียวกันจากการสำรวจของศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ(เอแบคโพลล์) เกี่ยวกับการทุจริตคอรัปชั่น พบว่า คนไทยมองว่ารัฐบาลทุกรัฐบาลมีทุจริตคอร์รัปชั่นทั้งนั้น แต่ถ้าทุจริตคอร์รัปชั่นแล้วทำให้ประเทศชาติรุ่งเรืองประชาชนกินดีอยู่ดี ตนเองได้รับประโยชน์ด้วยก็ยอมรับได้สูงถึง 64.5 % ซึ่งจากผลการสำรวจดังกล่าวเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยมีความไม่เป็นธรรมและความเลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้เครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูป จึงได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทำโครงการ “เล่าเรื่องโกง” ผ่านเรื่องสั้น หนังสั้นและละครเร่ ขึ้น และหลังจากที่ได้มีหนังสันเล่าเรื่องโกงออกมารณรงค์ 22 เรื่องแล้ว ครั้งนี้เรื่องสั้นจำนวน 22 เรื่องก็ได้ถูกรวบรวมเป็นเล่มผ่านชื่อหนังสือว่า “รหัสลับคอร์รัปชั่น” โดยมีนักเขียนรางวัลซีไรท์-ศิลปินแห่งชาติ อาทิ คุณอัศศิริ ธรรมโชติ, คุณหญิงวินิตา  ดิถียนต์, คุณชาติ  กอบจิตติ, คุณประภัสสร  เสวิกุล, คุณไพฑูรย์ ธัญญา, คุณวินทร์ เลียววาริณ, คุณบินหลา สันกาลาคีรี, คุณเรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์, คุณปราบดา  หยุ่น, คุณวัชระ  สัจจะสารสิน, คุณอุทิศ เหมะมูล มาเขียนรวม 11 เรื่อง และมีนักเขียนที่มีประสบการณ์ แต่อาจจะยังไม่มีชื่อเสียงมากนัก อีก 11 คน อาทิ คุณไมเคิ้ล เลียไฮ, คุณวุฒินันท์ ชัยศรี, คุณนิธิ นิธิวีรกุล, คุณอดิศร ไพรวัฒนานุพันธ์, คุณจรัล มานตรี, คุณปองวุฒิ รุจิระชาคร, คุณวรวิช ทรัพทวีแสง, คุณแสงทิวา นราพิชญ์, คุณชุติเดช ยารังสี, คุณเกริกศิษฏ์ พละมาตร์ และคุณอนุสรณ์ ศรีคำขวัญ มาสร้างสรรค์งานเขียนร่วมกันเพื่อสร้างแรงขับเคลื่อนให้กับสังคมไทย ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าปรากฏการณ์ครั้งนี้จะสร้างแรงกระเพื่อมให้กับสังคมไทยได้ตระหนักถึงพิษภัยของการทุจริตคอร์รัปชั่น ประพฤติไม่ชอบในแวดวงต่างๆ ทั้งจากในระดับบุคคล ระดับครอบครัว ระดับชุมชน ต่อเนื่องมาถึงลักษณะของภาคนโยบายภาคสังคมที่เกี่ยวข้อง ที่จะช่วยกันขยับสังคมให้ไม่เพิกเฉยกับเรื่องนี้






                “เรื่องคอรัปชั่นเป็นเรื่องที่ใหญ่มากของสังคม ซึ่งคนทั่วไปควรเห็นเป็นเรื่องชั่วร้าย เพราะที่ผ่านมามันกัดกร่อนลึกเข้าไปถึงขั้นที่เรียกว่าทำลายวัฒนธรรมจนกลายเป็นหายนะธรรมไปแล้ว การที่ศิลปินรวมกันเขียนเรื่องสั้นครั้งนี้จึงมีส่วนสำคัญที่จะสามารถทำให้คนอ่านมองเห็นเรื่องราวการโกง และรู้ได้ว่าอะไรถูก อะไรผิด เพราะงานทางด้านศิลปะเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน และสามารถเข้าถึงจิตใจคนได้ง่ายเชื่อว่าหากใครได้อ่านน่าจะปลุกและปลูกจิตสำนึกหรือมองไปรอบๆ ตัวว่าเรื่องราวบางเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับตัวเองว่า “นั่นใช่โกงหรือเปล่า” มากขึ้น "รองประธานเครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูป กล่าว

                ซึ่งนางชมัยภร แสงกระจ่าง ที่ปรึกษาสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เรื่องสั้นทั้ง 22 เรื่องที่สร้างสรรค์โดยนักเขียนรุ่นพี่ (นักเขียนรางวัลซีไรท์-ศิลปินแห่งชาติ) 11 เรื่องและนักเขียนรุ่นน้อง (นักเขียนที่มีประสบการณ์ แต่อาจจะยังไม่มีชื่อเสียงมากนัก) 11 เรื่อง สะท้อนปัญหาทั้งที่เป็นรูปธรรมและเป็นนามธรรมของการโกง มีทั้งที่โกงกันระหว่างบุคคลต่อบุคคลหรือบุคคลต่อองค์กร หรือโกงสังคม บางเรื่องก็เป็นเรื่องเล็กๆ ที่เราคิดไม่ถึง เช่น การโกงกระดาษราชการ(ก็แค่เรื่องเล็กๆ อย่างกระดาษ ของวุฒินันท์ ชัยศรี) การโกงของที่ยึดได้จากการที่เด็กนักเรียนทำผิด (มะเหมี่ยวถุงนั้น ของอนุสรณ์ ศรีคำขวัญ) หรือบางทีก็เป็นการโกงที่มองไม่ออก ดูเป็นนามธรรม เช่น การโกงความดี (นายเหมือนวาด ของปราบดา หยุ่น)  ซึ่งทำให้คนอื่นเห็นว่าตัวเองเป็นคนดีทั้งที่ตัวเองเป็นคนเลว หรือการโกงแบบกินใต้โต๊ะ กินตามน้ำ หรือโกงแบบช่วยกันส่วนตัว (ครับผม ของ ว.วินิจฉัยกุล) หรือโกงรายวัน โกงในตลาด (สำลักสำนึก ของอุทิศ เหมะมูล) หรือโกงในการค้า โกงชาวบ้าน ตำรวจและสรรพสามิต (มันเรื่องของผม ของชุติเดช ยารังษี) หรือโกงซองกฐิน (โบสถ์สีทองของเมืองบาป ของอัศศิริ ธรรมโชติ) เป็นต้น

                “นักเขียนบางคนก็สะท้อนภาพรวมของสังคมที่คนดีอยู่ได้ยาก(แม่น้ำระหว่างภูเขา ของประภัสสร เสวิกุล) หรือบางคนก็สะท้อนอนาคตอันเลวร้ายสุดๆ เพราะการคอรัปชั่น (มหานครล่มสลาย ของไพฑูรย์ ธัญญา และองคาพยพ ของเกริกศิษฏ์ พละมาตร์) เป็นต้น ทั้งหมดนั้นชี้ให้เห็นว่า การโกงนั้นก่อให้เกิดปัญหาอย่างร้ายแรงต่อประเทศชาติบ้านเมืองอย่างยิ่ง  ซึ่งเมื่อใครได้อ่านหนังสือ “รหัสลับคอรัปชั่น” เล่มนี้แล้วอย่างน้อยก็จะได้เห็นภาพรวมของการคอรัปชั่น ว่า มีคอรัปชั่นเกิดขึ้นจริงในสังคมนี้ และส่งผลอย่างไร ทั้งได้เห็นตัวอย่างรูปธรรมของการโกงบางอย่างที่อาจไม่รู้ว่าเป็นการโกง ก็จะได้รู้ ทำให้ได้เรียนรู้และระมัดระวังไม่ตกเข้าไปเป็นเหยื่อของการโกง ไม่เป็นผู้โกงเสียเอง และเมื่อได้รู้แล้วว่าโกงเป็นอย่างไร ส่งผลอย่างไร ก็จะต่อต้านการโกง และช่วยกันขจัดโกงให้หมดไปจากสังคมไทย” นางชมัยภร แสงกระจ่าง กล่าว

                ทั้งนี้ที่ปรึกษาสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย กล่าวต่อว่า การต่อต้านการโกงไม่ใช่เรื่องที่ทำครั้งเดียวและจบกัน แต่เป็นเรื่องที่ต้องทำต่อเนื่อง จนกลายเป็นนิสัยที่ต้องต่อต้านต่อไป แน่นอนว่าทางเครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูปจะมีทำโครงการต่อต้านเรื่องการโกงหรือทุจริตคอรัปชั่นต่อเนื่องไปอีก อาจจะมีการประกวดต่อต้านการโกง หรือมีการรวมกลุ่มนักเขียนสร้างสรรค์งานเขียนประเภทอื่นๆ เพื่อเผยแพร่ต่อไปอีก เช่น เขียนเป็นนวนิยาย เขียนเป็นบทกวี นอกจากนี้อาจจะมีการดัดแปลงเป็นศิลปะแขนงอื่นได้อีก เช่น ผู้กำกับภาพยนตร์บางคนเห็นว่าเรื่องสั้นบางเรื่องเหมาะจะไปทำเป็นหนังสั้น หรือบางคนอาจได้แรงบันดาลใจไปแต่งเป็นเพลง หรือวาดเป็นรูปก็ได้ จนในที่สุดก็คาดหวังว่าตัวสื่อต่างๆ นั้นจะมีการขยายผลไปปรากฏอยู่ในสถานศึกษา ในหลักสูตรท้องถิ่น ในหนังสืออ้างอิง หรือมีการบรรจุเป็นหลักสูตรการเรียนการสอน หรือมีการขยายผลต่อโดยแวดวงสื่อมวลชนต่อไป และพิเศษในครั้งนี้ยังจัดให้มีการอ่านหนังสือเสียงจากเรื่องสั้นในหนังสือ “รหัสลับคอร์รัปชั่น” เพื่อมอบให้กับคนตาบอดได้มีโอกาสรู้เท่าทันการโกงด้วยอีกหนึ่งช่องทาง ซึ่งผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเพื่อจองคิวการอ่านได้ที่บูท “เล่าเรื่องโกง” X14 หน้าแพลนนารีฮอลล์ ศูนย์การประชุมเเห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่างวันที่ 18 - 28 ตุลาคม 2555

                ด้านนายจตุพล บุญพรัด รองบรรณาธิการอำนวยการและบรรณาธิการแพรวสำนักพิมพ์ กล่าวว่า เป็นที่รับรู้กันมานานแล้วว่า มะเร็งร้ายที่กัดเกาะกินเลือดเนื้อจนร่างกายอันคือประเทศชาติของเราต้องผอมแห้งแรงน้อยลงไปทุกวันนั้น คือมะเร็งร้ายแห่งการโกงกิน คือมะเร็งแห่งการคอร์รัปชั่นที่แพร่ระบาดไปทุกหย่อมหญ้าสาธารณ์ มะเร็งอันนี้ได้ลุกลามอยู่ทุกเวลานาที ทุกๆ วินาที ไม่ว่ายามที่เราหลับหรือตื่น มันทั้งโกงทั้งกิน สวาปามกันซึ่งๆ หน้า โดยไม่กลัวเกรงอะไรทั้งสิ้น ไม่ว่าบาปบุญคุณโทษ นรกสวรรค์ คุณธรรมจริยธรรม และอาญาบ้านเมือง มันยิ่งกว่าปีศาจใดๆ และระบัดเปลวไฟไหม้ลามยิ่งเสียกว่าไฟไหม้ประเทศชาติครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ มากกว่าครั้งคราวที่พม่าบุกเผากรุงศรีอยุธยาเสียอีก การรวมเล่มหนังสือ “รหัสลับคอร์รัปชั่น” นี้ จึงเป็นการรวมตัวกันครั้งใหญ่ที่มีนักเขียนถึง 22 คน มาสร้างสรรค์งานศิลปะที่ดีงามให้มีส่วนร่วมในการสร้างกระแส สร้างจิตสำนึกใหม่ให้เกิดขึ้นแก่ผู้อ่าน กระทั่งนำไปสู่การต่อต้านการไม่เห็นด้วยกับการโกงในทุกๆ รูปแบบที่จะนำมาซึ่งการไม่โกง ไม่กิน ไม่สิ้นชาติ ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถหาซื้อหนังสือรวมเรื่องสั้น “รหัสลับคอร์รัปชั่น” ได้ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ และสำหรับภายในงานงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 17 สามารถหาซื้อได้ที่บูทนายอินทร์ บริเวณโซนซี ชั้น2
« Last Edit: October 23, 2012, 06:45:37 PM by happy »