happy on October 28, 2012, 06:48:36 PM
ศิลปินดังและทุกฝ่ายในวงการศิลปะย้ำ อย่าพลาดชมนิทรรศการ “ไทยเท่ จากท้องถิ่นสู่อินเตอร์”

               ใกล้ถึงวันสุดท้ายที่สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร (กทม.) จะจัดนิทรรศการ “ไทยเท่ จากท้องถิ่นสู่อินเตอร์” ศิลปะในสมัยรัชกาลที่ 9 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพ มหานคร (BACC) ในวันที่ 4 พฤศจิกายนนี้แล้ว  ศิลปินดังและบุคคลสำคัญของวงการศิลปะต่างชื่นชมและ  เชิญชวนให้คนไทยมาร่วมชมปรากฏการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ในรอบ 70 ปีแห่งประวัติศาสตร์ศิลปะไทยที่ยกระดับสู่มาตรฐานสากลอย่างสมบูรณ์แบบเป็นครั้งแรก   โดยจัดแสดงผลงานของศิลปินเกือบ 300 คน ที่คัดสรรโดยทีมภัณฑารักษ์ชั้นนำ คือ ศ. ดร. อภินันท์ โปษยานนท์ คุณลักขณา คุณาวิชยานนท์, คุณเสริมคุณ คุณาวงศ์, คุณกฤติยา กาวีวงศ์, คุณปกรณ์  กล่อมเกลี้ยง และ คุณนิกันต์ วะสีนนท์ นำเสนอใน 9 แนวเรื่อง (Theme) ได้แก่ การแสวงหาความเป็นไทย, แรงบันดาลใจจากพุทธศาสนา, พื้นที่ทางสังคมและการอุปถัมภ์ศิลปะ, จินตนาการกับความเหนือจริง, นามธรรมและปัจเจกชน, การต่อสู้ทางการเมืองและสังคม, เพศสภาพและความเป็นชายขอบ, จากท้องถิ่น สู่อินเตอร์, และ ศิลปะทดลองและสื่อทางวัฒนธรรม มีทั้งงานจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ ภาพถ่าย งานจัดวาง และศิลปะแนวทดลอง  โดยมีองค์ประกอบเบื้องหลังที่น่าสนใจมากมายที่ทุกฝ่ายเห็นว่าเป็นนิทรรศการครั้งสำคัญที่คนไทยไม่ควรพลาด


อ. ถวัลย์ ดัชนี

               อ. ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ กล่าวว่า “ไทยเท่ฯ ได้รวบรวมเอางานศิลปกรรมหลายหลากสาขามารวมเข้าไว้ด้วยกันในรูปแบบ   และมีเนื้อหาที่สื่อถึงความคิดของศิลปินที่มีการแสดงออกและนำเสนออย่างหลากหลาย นิทรรศการนี้เปรียบเหมือนกระจกที่สะท้อนให้เห็นสัจจะภาวะหน้าตาของสังคมไทยร่วมสมัยในช่วง 7 ทศวรรษที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ผ่านการคัดกรองจากศิลปิน ซึ่งผมถือว่าเป็นงานสำคัญไม่เพียงแค่กรุงรัตนโกสินทร์เท่านั้น แต่ถือว่าเป็นหน้าตาของสังคมตะวันออกทั้งหมด ผมขอแสดงความคารวะชื่นชมทั้งรูปแบบและเนื้อหาของการจัดไทยเท่ และหวังว่าจะมีไทยที่เท่ๆๆ มากขึ้น”


อ. เฉลิมชัย  โฆษิตพิพัฒน์

               ในขณะที่ อ. เฉลิมชัย  โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ ให้ข้อคิดว่า “ในฐานะที่เป็นคนวาดรูป หากมีองค์กรใดจัดนิทรรศการแบบนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีสำหรับวงการศิลปะ งานไทยเท่ฯ นี้ถือว่าเป็นงานที่ใหญ่ที่สุดงานหนึ่งที่คนไทยไม่ควรพลาด เป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ศิลปะที่ให้การศึกษาแก่เยาวชนและคนไทยให้เห็นว่าศิลปะของเรามีพัฒนาการเป็นอย่างไร โดยส่วนตัวคิดว่าคงต้องใช้งบประมาณเยอะ เพราะเชื่อว่าของดีต้องแพง ต้องใช้การค้นคว้า การดำเนินการต่างๆ ที่มีรายละเอียดมาก นอกจากนี้งานศิลปะยังต้องการความช่วยเหลือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในการสนับสนุนให้ประชาชนสนใจ-เข้าใจในงานต่อไป ศิลปินจึงควรช่วยกันทำให้งานศิลปะได้รับการส่งเสริมจากฝ่ายต่างๆ ด้วย”


ดร. อภินันท์ โปษยานนท์

               ในส่วนของกระบวนการจัดนิทรรศการนั้น ศาสตราจารย์ ดร. อภินันท์ โปษยานนท์ กรรมการมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร นักวิชาการประวัติศาสตร์ศิลป์ และเป็นหัวหน้าภัณฑารักษ์ของนิทรรศการนี้ ให้รายละเอียดว่า “คณะทำงานทุกฝ่ายร่วมช่วยกันทำให้ ‘ไทยเท่ฯ’ เป็นนิทรรศการที่มีความสมบูรณ์แบบในทุกกระบวนการตั้งแต่ขั้นเตรียมงาน ค้นคว้าหาข้อมูล วางกรอบความคิดกำหนดแนวเรื่อง  คัดเลือกผลงาน  สร้างสรรค์วิธีการนำเสนอหรือการเล่าเรื่องให้น่าสนใจ   การบริหารจัดการพื้นที่จัดแสดง  จัดทีมนำชมทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ พร้อมทั้งเตรียมจัดทำหนังสือเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ต่อไป ฯลฯ เป็นงานใหญ่ที่ กทม. จัดสรรงบประมาณทั้งหมดเพื่อให้จัดได้อย่างเป็นระบบและมีคุณภาพในมาตรฐานสากล ซึ่งเมืองไทยไม่มีงานระดับนี้มากนัก และผลที่ได้รับคือความสำเร็จตามวัตถุ ประสงค์ที่วางไว้อย่างน่าภาคภูมิใจ โดย กทม. ได้นำเสนอสิ่งที่ดีให้สังคมด้วยการเปิดพื้นที่จัดแสดงงานของ กทม. ให้สาธารณชนได้รับทั้งความรู้เชิงวิชาการและความงดงามทางศิลปะ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสังคมไทยมีสุนทรียภาพ และมีพัฒนาการทางศิลปะที่กล่อมเกลาสังคมมาตลอดระยะเวลาอันยาวนาน”


คุณลักขณา

               นิทรรศการ “ไทยเท่ จากท้องถิ่นสู่อินเตอร์” ศิลปะในสมัยรัชกาลที่ 9 ได้รับความสนใจจากผู้ชมมากเป็นประวัติการณ์ โดย คุณลักขณา คุณาวิชยานนท์ ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพ มหานคร (BACC) และเป็นหนึ่งในภัณฑารักษ์ของงานนี้ ให้ข้อมูลว่า “งานนี้นับว่าใหญ่ที่สุดที่เคยจัดมาสำหรับการนำเสนองานศิลปะร่วมสมัยของไทย โดยสามารถรวบรวมศิลปินได้มากที่สุดเท่าที่แต่ละแนวเรื่องจะเอื้ออำนวย เป็นงานที่มีจำนวนผู้ชมมากถึงประมาณ 60,000 คนในแต่ละเดือน ไม่นับรวมถึงหมู่คณะจากโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาต่างๆ และโรงเรียนนานาชาติ  ตลอดจนโรงเรียนในเครือข่าย กทม.   โดยการประชาสัมพันธ์งานนี้ทำให้ BACC เป็นที่รู้จักมากขึ้น ทั้งยังส่งผลให้มีผู้เข้ามาใช้บริการมากขึ้นเป็นจำนวนถึงแสนกว่าคนในเดือนกันยายนและตุลาคม ซึ่งมากที่สุดตั้งแต่ต้นปี  และมีการตอบรับที่ดีมาก   ทาง BACC ได้เตรียมงานกันอย่างเต็มที่ตั้งแต่กลางปีที่แล้ว โดยมีองค์ประกอบและรายละเอียดเบื้องหลังอีกมากมาย นอกเหนือจากกระบวนการทำงานของทีมภัณฑารักษ์แล้ว ยังมีเรื่องที่เราต้องคิดและดูแลอีกหลายเรื่อง เช่น  โครงสร้างที่ต้องปรับเปลี่ยนหรือทำขึ้นใหม่สำหรับการจัดแสดงผลงานกว่า 300 ชิ้น ติดตั้งระบบไฟเพิ่มนับร้อยจุด วางโทนสีและการทาสีใหม่สำหรับแต่ละแนวเรื่อง  การจัดเส้นทางให้ชมได้อย่างทั่วถึง   นอกจากนี้ยังต้องมีระบบขนส่ง ระบบประกันภัยที่ดี และต้องเพิ่มเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเพิ่มอีกเท่าตัว เพราะผลงานส่วนใหญ่ มีมูลค่าสูง ซึ่งคงไม่บ่อยนักที่จะจัดนิทรรศการในระดับนี้”


คุณสุริยา

               ด้าน คุณสุริยา  นามวงษ์ ภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย (MOCA) ที่ให้ยืมผลงานมาร่วมจัดแสดง กล่าวว่า “เป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้ครอบครองงานจะรักและหวงแหนงาน ห่วงกังวลว่าถ้าให้ยืมไปแล้วจะเสียหายหรือไม่  แต่สำหรับนิทรรศการนี้นับเป็นรูปแบบพิเศษจริงๆ ที่รวมผลงานรวมศิลปินได้มากมายซึ่งไม่ค่อยมีโอกาสให้จัดได้มากนัก วางกรอบความคิดและจัดหมวดหมู่ประเภทงานชัดเจน มีข้อความ Wall Text ให้ความรู้อย่างเหมาะสม ที่สำคัญคือมีการทำงานในมาตรฐานสากลที่ทำให้ผู้ครอบครองงานสบายใจโดยเฉพาะเรื่องการดูแล ขนส่ง รักษาความปลอดภัย จึงยอมให้ยืมงาน โดยได้เห็นความตั้งใจทุ่มเทของทีมงานซึ่งงานระดับนี้จะจัดขึ้นไม่ได้ถ้าคนทำงานไม่มีจิตสาธารณะ  ซึ่งผมชื่นชมและเป็นกำลังใจให้ทำสิ่งดีๆ อย่างนี้ในบ้านเมืองของเราอีก เพราะศิลปะเป็นเกียรติภูมิ เป็นความสง่างามของประเทศชาติ”


อ.วุฒิกร.

               และอีกผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญของงานนี้ คือ ผศ. วุฒิกร คงคา สาขาวิชาศิลปกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า “ทางลาดกระบังได้ประสานงานกับ กทม. ตั้งแต่แรกที่เตรียมจัดโครงการนี้ เพราะเป็นเรื่องที่สนใจอยู่แล้ว ยินดีที่จะได้ทำงานสำคัญเพื่อสร้างองค์ความรู้ที่ยิ่งใหญ่ พร้อมทั้งสื่อสารให้สาธารณชนได้ทราบถึงที่มาที่ไป และวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์ศิลปะของไทยที่จัดทำอย่างเป็นระบบ ทั้งยังรวมถึงเหตุการณ์สำคัญในบริบทของซีกโลกตะวันออกและตะวันตก นอกจากนี้ยังได้เชิดชูครูบาอาจารย์ของเราด้วย เพราะอาจารย์ของลาดกระบังส่วนใหญ่จบจากศิลปากร ได้ร่วมงานอย่างใกล้ชิดกับทีมภัณฑารักษ์ชั้นนำที่มีความรอบรู้เชี่ยวชาญและเป็นผู้มีความสำคัญระดับนานาชาติ ซึ่งต่างก็มีแนวคิดที่สอดคล้องกันและช่วยเติมเต็มให้การดำเนินงานสมบูรณ์แบบทุกขั้นตอน ได้รวบรวมงานแทบครบทุกหัวข้อและทุกรูปแบบที่ศิลปินไทยทำขึ้น  โดยทีมงานและผู้ชมได้มีโอกาสเห็นผลงานศิลปะชิ้นสำคัญๆ ที่เป็น ‘ของจริง’ มากที่สุด  ยิ่งเมื่อได้เรียนรู้ถึงวิธีการจัดวางผลงานของภัณฑารักษ์ที่ทำให้งานศิลปะส่วนใหญ่เกิดปฏิสัมพันธ์กัน ราวกับมีบทสนทนาระหว่างกัน ก็ยิ่งสนุก ทีมนักศึกษาทั้งปริญญาตรีและปริญญาโทที่นำชมก็ได้เพิ่มพูนความรู้ไปด้วย”

              พร้อมกันนี้ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ยังได้รับมอบหมายจาก กทม. ให้ดำเนินการจัดทำหนังสือปกแข็งขนาด 250 หน้า  พิมพ์สี่สีตลอดเล่ม จำนวน 1,500 เล่ม รวบรวมผลงานศิลปะในยุคสมัยของรัชกาลที่ 9 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะ “อัครศิลปิน” และเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านศิลปะในวงกว้าง โดยนำเสนอ 9 แนวเรื่องในลักษณะเดียวกันกับการจัดทำนิทรรศการครั้งนี้ อันเป็นการต่อยอดขยายผลให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน ประกอบด้วยบทความของนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ ภัณฑารักษ์ และศิลปินระดับแนวหน้าของเมืองไทยผู้มีผลงานเป็นที่ยอมรับในเรื่องที่เกี่ยวข้อง โดยถ่ายทอดความคิดเกี่ยวกับงานแต่ละแนวเรื่องได้อย่างชัดเจนเหมาะสม พร้อมรายละเอียดของผลงานศิลปะต่างๆ และส่วนที่เป็นเรื่องของ Timeline  ซึ่งจะเป็นผลงานที่มีคุณค่าทางวิชาการอีกเล่มหนึ่งของวงการศิลปะร่วมสมัยของไทย  มีกำหนดจัดพิมพ์แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคมนี้ โดยหน่วยงาน องค์กร หรือสถาบันการศึกษาที่สนใจ สามารถติดต่อขอรับหนังสือได้ที่สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว  กรุงเทพมหานคร


ปกหนังสือผลงานศิลปะสมัยรัชกาลที่ 9


ชาวต่างชาติสนใจชมงาน


อีกมุมหนึ่งของนิทรรศการ


แรงบันดาลใจจากพุทธศาสนา จัดแสดงที่ ชั้น7


จินตนาการกับความเหนือจริง จัดแสดงที่ชั้น 8


แสวงหาความเป็นไทย


จากท้องถิ่นสู่อินเตอร์ จัดแสดงที่ชั้น 9.


โปสเตอร์ศิลปะ

              นิทรรศการ “ไทยเท่ จากท้องถิ่นสู่อินเตอร์” ศิลปะในสมัยรัชกาลที่ 9 จัดที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ชั้นที่ 3, 4, 5, 7, 8 และ 9 จนถึงวันที่ 4 พฤศจิกายน ศกนี้  ตั้งแต่เวลา 10.00 – 21.00 น. (หยุดวันจันทร์)  ผู้สนใจสามารถเข้าชมงานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
« Last Edit: October 28, 2012, 07:11:23 PM by happy »