happy on October 13, 2012, 06:04:12 PM
สทป. จัดค่าย“จรวดประดิษฐ์” ครั้งแรก
ปูทางสู่นักวิจัยเทคโนโลยีป้องกันประเทศ  


               สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) จัดโครงการ “ค่ายวิทยาศาสตร์จรวดประดิษฐ์” ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย  เรียนรู้พร้อมลงสนามปฏิบัติจริง หวังจุดประกายความคิดวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจรวดแก่เยาวชน  ปูทางสู่การเสริมสร้างศักยภาพเป็นนักวิจัยยุทโธปกรณ์ป้องกันประเทศของไทยในอนาคต


อบรม



ทำกิจกรรม




ประดิษฐ์จรวด

               ปิดฉากไปแล้วสำหรับ “ค่ายวิทยาศาสตร์จรวดประดิษฐ์” จำนวน 3 วัน 2 คืน ตั้งแต่วันที่ 28 - 30 กันยายน ที่ผ่านมา ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร (สวทช.) จ.ปทุมธานี และศูนย์การทหารปืนใหญ่ จ.ลพบุรี จัดขึ้นโดยสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทป.โดยมีเยาวชนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 สายวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ ทั่วประเทศที่ได้รับการคัดเลือก 100 คน จากใบสมัครและคะแนนผลการเรียนที่ผ่านมา พร้อมบทเรียงความในหัวข้อ “วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีกับการดำเนินชีวิต” ซึ่งกิจกรรมครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์วิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการบินและอวกาศ กระทรวงกลาโหม  ศูนย์การทหารปืนใหญ่ จ.ลพบุรี  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ  และองค์กรเอกชนอีกหลายแห่ง โดยบรรยากาศการอบรมทั้ง 3 วัน เป็นไปอย่างเข้มข้นทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ


พลอากาศเอกพงศธร บัวทรัพย์

               พลอากาศเอกพงศธร บัวทรัพย์ ประธานกรรมการบริหาร สทป. เปิดเผยว่า โครงการค่ายวิทยาศาสตร์จรวดประดิษฐ์ เป็นโครงการเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจรวด  ซึ่งเป็นการจัดอบรมให้ความรู้และสอนการประดิษฐ์จรวดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย   เพื่อจุดประกายความคิดเป็นนักวิทยาศาสตร์ให้แก่เยาวชน โดยเฉพาะในด้านการวิจัยค้นคว้าจรวด ซึ่งเป็นยุทโธปกรณ์ป้องปรามที่สำคัญในการสร้างความมั่นคงแก่ประเทศ  นำไปสู่การวิจัยพัฒนาเพื่อพึ่งพาตนเองทดแทนการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากต่างประเทศ  โดยใช้องค์ความรู้สะสมและบุคลากรในประเทศมาถ่ายทอดแก่เยาวชน

               “ในอนาคตถ้าเรามีเยาวชนที่มีความรักทางด้านวิทยาศาสตร์ สนใจทางด้านเทคโนโลยีจะช่วยให้ประเทศชาติพัฒนาเทคโนโลยีได้ดีขึ้น ทัดเทียมกับประเทศที่เขาเจริญแล้วหลายๆประเทศ และเราจะได้สู้กับหลายๆประเทศได้นับจากนี้ไป เราจะพยายามจัดกิจกรรมอย่างนี้ให้มากขึ้น และจัดทุกปีโดยครั้งหน้าอาจไม่ใช่เรื่องของจรวดอย่างเดียว อาจจะทำอย่างอื่น เช่น เรื่องของการประหยัดพลังงาน การคอนโทรลหรือนำวิถี นอกจากจะปลูกฝังให้รักด้านวิทยาศาสตร์แล้ว การเข้าค่ายในลักษณะนี้จะสร้างความรัก ความสามัคคี การทำงานเป็นทีมให้กับเด็กๆได้เป็นอย่างดี”

               น.ส.นันท์กาญ แสงเรือน และ น.ส.อัจฉรา รัตนสุวรรณ อาจารย์จากโรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ จ.เชียงใหม่ กล่าวถึงการพาลูกศิษย์หญิงล้วนทั้ง 5 คนมาเข้าค่ายครั้งนี้ว่า ทุกคนรู้สึกสนุกกับการมาร่วมทำกิจกรรมครั้งนี้มากเพราะเป็นค่ายที่ไม่น่าเบื่อ และเด็กได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมทุกคน โดยจากการมาสังเกตการณ์การจัดค่ายจรวด จะกลับไปจัดตั้งชมรมหรือชุมชนุมวิทยาศาสตร์สิ่งประดิษฐ์ขึ้นมา และให้เด็กที่มาอบรมครั้งนี้เป็นพี่เลี้ยงให้กับนักเรียนที่สนใจ

               “อยากให้จัดค่ายลักษณะนี้ต่อไปเรื่อยๆ เพราะเป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับสังคมไทย ถ้าเด็กได้รับการปลูกฝังส่งเสริมเรื่อยๆอีกไม่นาน เชื่อว่าเด็กไทยจะหันมาชอบและสนใจวิทยาศาสตร์มากขึ้น”

               นายจรูญ ดำแดง ผู้ปกครอง กล่าวขณะเดินทางมาเยี่ยมลูกที่เข้าร่วมกิจกรรมกับค่ายฯว่า กิจกรรมนี้น่าสนับสนุนให้จัดต่อไปเรื่อยๆ เพราะเด็กได้รับความรู้ใหม่ๆโดยเฉพาะในด้านอวกาศเพราะได้สัมผัสได้สร้างได้หยิบจับ และตนเชื่อว่าค่ายนี้จะจุดประกายให้เด็กหันมาตั้งคำถามกับตัวเองว่าอยากเป็นอะไร


กลุ่ม ไวไว

               ทั้งนี้ การประดิษฐ์จรวดของเยาวชนที่มาเข้าค่ายฯในครั้งนี้ มีทั้งหมด 20 กลุ่ม ประดิษฐ์จรวดขึ้นมา 2 แบบ 2 ลูก รวมทั้งสิ้น 40 ลูก ซึ่งผลปรากฏว่า ทีมไวไว ซึ่งมีสมาชิก ได้แก่ นายต้นเพชร พงษ์วัฒนา จากโรงเรียนลาซาล , นายดนุนัย ตรีนุช จากโรงเรียนบดินทร์เดชา,นายวิทูรทัศน์ จันทร์แสนวิไล จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และน.ส.ศิริพิชชา เจริญสุข จากโรงเรียนสุไหงโก-ลก จ.นริวาส สามารถประดิษฐ์จรวดได้สมบูรณ์แบบที่สุดโดยสามารถส่งจรวดทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าประสบความสำเร็จทั้ง 2 ครั้ง และร่มกางออกโรยตัวลงสู่พื้นดินอย่างสง่างาม


นายต้นเพชร พงษ์วัฒนา จากโรงเรียนลาซาล

               นายต้นเพชร พงษ์วัฒนา โรงเรียนลาซาล ตัวแทนจากทีมไวไว หนึ่งในเยาวชนที่เข้าร่วม“ค่ายวิทยาศาสตร์จรวดประดิษฐ์” เปิดเผยว่า รู้สึกดีใจที่ได้เข้าร่วมการอบรมในครั้งนี้ เพราะตนใฝ่ฝันอยากทำงานด้านจรวดและอวกาศ เมื่อทราบข่าวว่า สทป.จัดค่ายนี้ขึ้นจึงรีบเขียนใบสมัครเข้าร่วมทันที ขณะเดียวกันรู้สึกประทับใจที่ได้ประดิษฐ์จรวดซึ่งทีมของตนสามารถยิงจรวดได้สูงที่สุดและสมบูรณ์แบบที่สุด

               “รู้สึกประทับใจมากโดยเฉพาะตอนที่จรวดของเราถูกยิงขึ้นไปบนฟ้า พี่ในค่ายให้โจทย์มาว่าจรวดมีขนาด 50 ซม. หวังผลที่ระยะ 100 เมตร ทีมเราก็ทำตามสูตรที่อบรมมา ปรากฏว่าจรวดของทีมเราทั้ง 2 ลูก สามารถพุ่งได้สูงและประสบผลสำเร็จทั้ง 2 ครั้ง พอจรวดพุ่งขึ้น รู้สึกภูมิใจว่ามันสำเร็จ วินาทีนั้นตื้นตันมาก มีความรู้สึกว่าเราทำได้ และสิ่งที่ได้รับจากการเข้าค่ายครั้งนี้คือได้เจอเพื่อนใหม่ ได้องค์ความรู้ใหม่ๆเพิ่มเติมโดยเฉพาะในด้านจรวดและอวกาศที่มีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญมาอบรมให้ครับ”


น.ส.ศิริพิชชา เจริญสุข จากโรงเรียนสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส

               น.ส.ศิริพิชชา เจริญสุข จากโรงเรียนสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เล่าว่า เธอนั่งรถไฟจากจังหวัดบ้านเกิดเกือบ 12 ชั่วโมงเพื่อมาเข้าค่ายฯ และสิ่งที่ได้รับจากค่ายฯในครั้งนี้คือความสนุกและการจุดประกายความคิดให้เธออยากเป็นนักบินหญิง

               “มาเข้าค่ายครั้งนี้ไม่ผิดหวัง ได้ทำจรวดเองทุกขั้นตอน เรียนรู้ตั้งแต่ประวัติ การออกแบบตลอดจนวิธีการทำจรวดที่ช่วยกันทำกับเพื่อนในทีมอีก 5 คน โดยมีพี่วิทยากรคอยให้คำแนะนำ ทำให้เกิดแรงบันดาลใจว่าอยากเรียนด้านนี้ เพราะไม่ยากเกินความสามารถ และตั้งใจว่าจะเป็นนักวิจัยเพื่อป้องกันประเทศเพราะอาจจะนำความรู้ไปป้องกันจังหวัดของเราได้ด้วยค่ะ”

               นายรัชชานนท์ จำปา โรงเรียนฟากกว๊านวิทยาคม จ.พะเยา เล่าว่า เขาเดินทางมากับรถโรงเรียนและอาจารย์ที่ปรึกษา ค่ายนี้น่าสนใจเพราะเป็นของใหม่ และเป็นครั้งแรกที่จัด

               “พอมาทำจรวดก็ยากนิดหน่อย เพราะต้องคำนวณเยอะ ต้องเอาฟิสิกส์มาใช้ต้องใช้เวลาทำทั้งวันเหมือนกันกว่าจะเสร็จ ผมชอบเรื่องจรวดและเครื่องบินบังคับอยู่ก่อนแล้ว พอมาเข้าค่ายยิ่งทำให้อยากเป็นทหารอากาศทำงานด้านการบิน”

               อย่างไรก็ตาม “ค่ายวิทยาศาสตร์จรวดประดิษฐ์” ถือเป็นอีกก้าวที่สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) ให้ความสำคัญแก่เยาวชนรุ่นใหม่ เนื่องจากการพัฒนายุทโธปกรณ์นั้นต้องใช้เวลาและการสะสมองค์ความรู้ด้วยการวิจัยค้นคว้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปพัฒนาและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ  ซึ่งเยาวชนเหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญในอนาคตที่จะพัฒนาให้วงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศของไทยเป็นไปอย่างก้าวกระโดด
« Last Edit: October 13, 2012, 06:07:03 PM by happy »