happy on September 20, 2012, 01:32:11 PM
สถาบันอาหาร - ตลาดหลักทรัพย์ฯ - สภาอุตฯ
ระดมสมองกูรูเศรษฐกิจ “ตีแตก...จุดอ่อนอุตสาหกรรมอาหารไทยในตลาด AEC”





               สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดเวทีเสวนา Top Executive Seminar for Food Sector “ตีแตก...จุดอ่อนอุตสาหกรรมอาหารไทยในตลาดAEC” ยันไทยมีศักยภาพเป็นศูนย์กลางระบบเศรษฐกิจในภูมิภาค ชี้ต้นทุนแรงงาน พลังงาน และโลจิสติกส์ ยังเป็นอุปสรรคที่ต้องรีบปลดล็อค เตรียมดันไทยให้เป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าอาหารแปรรูป การวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารครบวงจรในภูมิภาคเอเชีย เชื่อช่วงแรกจะมีเม็ดเงินลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 ล้านบาทต่อปี คาดตลาดในประเทศแข่งรุนแรง แต่ส่งออกขยายตัวดี ประเมินว่าจะมีมูลค่าส่งออก 1.6 ล้านล้านบาทในอีก 5 ปีข้างหน้า แบ่งเป็นตลาดอาเซียนมูลค่า 388,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 24.3% เพิ่มขึ้นจาก  22.4%  ในปี 2555 ไทยควรเข้าไปลงทุนและสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นด้านเกษตรกรรมและแปรรูปขั้นต้นในประเทศเพื่อนบ้าน ก่อนนำกลับมาเพิ่มมูลค่าในไทยเพื่อส่งออก เผยปัจจุบันมีอุตสาหกรรมอาหารที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 42 บริษัท มีมูลค่าตลาดรวม ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 700,000 ล้านบาทเศษ    มีการระดมเงินทุนเพิ่มเติมในปีนี้กว่า 10,000 ล้านบาท  แนะรายที่ต้องการใช้ประโยชน์จากตลาด AEC ควรเพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนระยะยาว


ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์

               ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ยุทธศาสตร์ภาครัฐเพื่อผลักดันอุตสาหกรรมอาหารไทยก้าวสู่ผู้นำอาเซียน” ว่าได้มีการกำหนดทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทย เพื่อให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกไว้ดังนี้ 1)ไทยจะเป็นประเทศที่นักลงทุนต่างชาติเข้ามาตั้งฐานการผลิตอาหารแปรรูปโดยใช้วัตถุดิบในประเทศไทย 2)มีแหล่งวิจัยและพัฒนาอาหารให้หลากหลายและรองรับความต้องการของผู้บริโภคแต่ละกลุ่ม 3) มีการควบคุมมาตรฐานสินค้าทั้งระดับในประเทศและส่งออกเป็นมาตรฐานเดียว และเทียบเท่าระดับสากล 4)มีระบบตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของทุกองค์ประกอบที่นำมาผลิตสินค้าตั้งแต่วัตถุดิบ บรรจุภัณฑ์ และทรัพยากรอื่นๆ 5)มีตราสัญลักษณ์รับรองอาหารปลอดภัยที่เป็นที่ยอมรับ ขณะเดียวกันก็ผลักดันให้ผู้บริโภคเกิดค่านิยมในการเลือกซื้ออาหารที่มีตราสัญลักษณ์รับรองอาหารปลอดภัยและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ทั้งนี้เพื่อให้ทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทยระยะยาว เป็นอุตสาหกรรมอาหารที่มีระบบการผลิตอย่างยั่งยืนภายในปี 2593 โดยเป็นระบบการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งจะต้องมีการควบคุมคุณภาพสร้างมูลค่าเพิ่มและเพิ่มช่องทางการตลาด และมีการวางแผนในหลายระยะทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยจะผลักดันให้มีการกำหนดตำแหน่งบทบาทของประเทศไทยสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารในประชาคมอาเซียน โดยให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าอาหารแปรรูป และเป็นศูนย์กลางในการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารครบวงจรในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งจะเป็นแหล่งรวมนักวิจัยด้านอาหารที่ศึกษาวิจัยและพัฒนาสินค้าตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปรวมถึงการดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนร่วมกับผู้ประกอบการในประเทศจ้างผลิตและส่งออกสินค้าอาหารโดยมี Hyper market เป็นตลาดสำรองในการกระจายสินค้าจากประเทศไทยไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก

               “หากมองในภาพรวมของการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประเทศไทยก็มีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางของระบบเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ เนื่องจากหลายปัจจัย อาทิ ตำแหน่งที่ตั้งของประเทศที่อยู่กึ่งกลางภูมิภาค และมีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านมากกว่าทุกประเทศใน AEC ระดับการพัฒนาเศรษฐกิจสูงกว่าประเทศส่วนใหญ่ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ คุณภาพของผู้ประกอบการ นอกจากนี้ เงินบาทยังได้รับการยอมรับในการซื้อขายในหลายประเทศ อย่างไรก็ตาม อุปสรรคที่อาจทำให้ไทยไม่ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่หรือเสียโอกาส คือ ขาดความรู้และความตระหนักถึงความสำคัญ ผลกระทบ และความจำเป็นในการเตรียมความพร้อม อุปสรรคอีกประการหนึ่งคือ ต้นทุนการทำธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนแรงงาน ต้นทุนด้านพลังงาน และต้นทุนโลจิสติกส์ การที่อาเซียนจะรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน คงมีผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งในด้านบวกและด้านลบ จึงทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องมีการเตรียมตัวรองรับ ควบคู่ไปกับการดำเนินการเชิงรุกเพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากการรวมตัวนี้ให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะในเรื่องของการใช้โอกาสจากตลาดทุนในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร  อันจะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้การดำเนินงานบรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ซึ่งนำมาสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ” ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ กล่าว


ดร.โอฬาร ไชยประวัติ

               โอฬาร ไชยประวัติ ประธานผู้แทนการค้าไทย ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “วิกฤต และโอกาสของอุตสาหกรรมอาหารไทยภายใต้ AEC” ว่า ไทยเป็นประเทศที่มีผลผลิตอาหารมากกว่าการบริโภคในประเทศและส่งออกข้าว มัน ยาง มากเป็นอันดับหนึ่งของโลก อ้อยเป็นอันดับสองของโลก ไก่อันดับต้นๆของโลก แม้ในอนาคตจะมีผู้ผลิตที่มีศักยภาพในการเพิ่มปริมาณผลผลิตและคุณภาพมากขึ้น เช่น เวียดนาม พม่า กัมพูชา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าปริมาณจะล้นตลาด เพราะมีสาเหตุที่จะทำให้หลายประเทศต้องการนำเข้าอาหารโดยเฉพาะอาหารที่มีคุณภาพมากขึ้น

               “บทบาทของไทยในฐานะผู้นำในการผลิตอาหารของโลก จะต้องมีสต็อกอาหารที่เพียงพอและการบริหาร สต็อกที่มีประสิทธิภาพสำหรับการบริโภคในประเทศและเพียงพอต่อการช่วยเหลือเพื่อนบ้านในยามวิกฤต โดยไทยจะต้องเข้าไปลงทุนและสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในการปลูกพืชเกษตร การทำปศุสัตว์ และการประมงรวมถึงแปรรูปขั้นต้นในประเทศเพื่อนบ้าน และนำกลับมาเพิ่มมูลค่าให้เป็นสินค้าคุณภาพสูงในประเทศไทยเพื่อบริโภคในประเทศหรือส่งออก ไทยจะต้องเป็นตลาดกลางสินค้าโภคภัณฑ์ คือ ข้าว มันสำปะหลัง ยาง อ้อย ของโลก เพื่อลดความเสี่ยงจากราคาสินค้าผันผวน” นายโอฬาร กล่าว


คุณจรัมพร โชติกเสถียร

               นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกล่าวว่า   การเติบโตของอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารที่เข้าระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ(mai) ปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียนในธุรกิจนี้รวม 42 บริษัท มีมูลค่าตลาดรวม ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 700,000 ล้านบาทเศษ  เพิ่มขึ้น 29%  จากปี 2554 โดยผลประกอบการในครึ่งแรกของปี 2555 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 29,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน  และระดมเงินทุนเพิ่มเติมผ่านกลไกของตลาดหลักทรัพย์ในปีนี้กว่า10,000 ล้านบาท แสดงให้เห็นถึงศักยภาพการเติบโตของผู้ประกอบการไทยเป็นอย่างดี

               นอกจากประโยชน์ของการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุนระยะยาว และช่วยให้บริษัทสามารถบริหารเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว  การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์  ยังเป็นการส่งเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดี ในเรื่องระบบการบริหารจัดการที่มีมาตรฐาน และมีความโปร่งใส ส่งผลให้บริษัทเป็นที่ยอมรับในสายตาของลูกค้าและคู่ค้าทั้งในประเทศ และต่างประเทศอีกด้วย


คุณเพ็ชร ชินบุตร

               นายเพ็ชร  ชินบุตร  ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การเปิด AEC ที่จะถึงในปี 2558 จะส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมอาหารไทยใน 2 ประเด็นใหญ่ๆ คือ    1)อุตสาหกรรมอาหารภายในประเทศไทยมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นจากการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ ทั้งนักลงทุนในและนอกภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากประเทศไทยมีศักยภาพและปัจจัยดึงดูดการลงทุนที่เหนือกว่าประเทศคู่แข่งหลายด้าน อาทิ ทำเลที่ตั้งเหมาะสม ตลาดที่มีขนาดใหญ่ กฎระเบียบรวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานอยู่ในเกณฑ์ดี ปัจจัยการผลิตมีศักยภาพ (แรงงาน วัตถุดิบ อุตสาหกรรมสนับสนุน) ต้นทุนทางธุรกิจที่ได้เปรียบประเทศอาเซียนจากการลดอัตราภาษีนิติบุคคลมาอยู่ในอัตราต่ำที่ 20% ในปี 2556 ซึ่งตลาดอาหารภายในประเทศจะมีการแข่งขันรุนแรงขึ้น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเตรียมการรับมือ

               ทั้งนี้คาดว่าในช่วงที่จะเปิด AEC จะมีเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารของไทยรวมทั้งอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องเพิ่มขึ้นเกินกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี จากเดิมที่มีเม็ดเงินลงทุนเฉลี่ยกว่า 9,000 ล้านบาทต่อปี ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และมีการจ้างงานเกือบ 6,000 คนต่อปี โดยการเข้ามาลงทุนของต่างชาติส่วนหนึ่งจะส่งผลทำให้การส่งออกอาหารของไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งในตลาดอาเซียนและนอกอาเซียน โดยสถาบันอาหารคาดว่าการส่งออกอาหารของไทยในอีก 5 ปีข้างหน้า (ปี 2560) จะมีมูลค่า 1.6 ล้านล้านบาท โดยเป็นการส่งออกไปอาเซียนมูลค่า 388,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 24.3% เพิ่มขึ้นจาก 22.4% ในปี 2555

               นอกจากนี้ 2) อุตสาหกรรมอาหารไทยที่มีศักยภาพ จะขยายการค้าการลงทุนไปสู่ประเทศอาเซียนเพิ่มขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ถือเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพ จะเน้นเข้าไปลงทุนในต่างประเทศ (Outward Foreign Direct Investment: Outward FDI) โดยการตั้งโรงงานผลิตและจัดจำหน่ายเอง ในช่วงที่ผ่านมา Outward FDI ในธุรกิจอาหารยังมีไม่มากนัก โดยมีมูลค่าหลักร้อยล้านบาทหรือพันล้านบาทต่อปีเท่านั้น ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ผู้ประกอบการมักเข้าไปลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในธุรกิจน้ำตาล อาหารแปรรูป เกษตรและอาหารสัตว์ เป็นต้น อย่างไรก็ตามภายใต้ AEC อุตสาหกรรมอาหารของไทยจะเข้าไปมีสัดส่วนในห่วงโซ่การผลิตระดับภูมิภาคและระดับโลกมากขึ้น นั่นหมายความว่า หากอุตสาหกรรมอาหารของอาเซียนเติบโต ไทยซึ่งเป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานก็จะมีแนวโน้มเติบโตตามไปด้วย จากข้อมูลล่าสุดในปี 2553 อาเซียนส่งออกสินค้าอาหารไปยังตลาดโลกมูลค่า 93,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 9.2% ของมูลค่าการค้าอาหารโลก เพิ่มขึ้นจากสัดส่วนประมาณ 7% ในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา
« Last Edit: September 20, 2012, 01:50:02 PM by happy »