ทีดีอาร์ไอเสนอ 3 ชุดทางเลือกสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
ทีดีอาร์ไอศึกษาประมาณการงบประมาณสำหรับผู้สูงอายุและแหล่งที่มาของเงิน เสนอ 3 ชุดทางเลือกสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ และประมาณการค่าใช้จ่ายดูแลผู้สูงอายุได้อย่างทั่วถึง ยั่งยืน และไม่ซ้ำซ้อน เน้นสวัสดิการพื้นฐานเพียงพอต่อการดำรงชีพและเพิ่มเติมพิเศษให้กลุ่มยากจนและ/หรืออยู่ในภาวะพึ่งพิง ระบุใช้เงินเพียงร้อยละ 1.6-2.4 ของรายได้ประชาชาติหรือเท่ากับเพิ่มขึ้นจากสวัสดิการที่ให้อยู่ในปัจจุบันเพียงร้อยละ 0.07-0.22 ของรายได้ประชาชาติ โดยเสนอแนวทางการสร้างความยั่งยืนของการจัดสวัสดิการผู้สูงอายุ ด้วยการหาแหล่งเงินเพิ่มเติมจากการปฏิรูประบบภาษี ปรับปรุงการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ และเปิดโอกาสให้ภาคีภายนอกภาครัฐเข้ามามีบทบาทร่วมด้วยนายยศ วัชระคุปต์ นายยศ วัชระคุปต์ นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เปิดเผยว่า ในปัจจุบันประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และมีสัดส่วนจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2553 ประเทศไทยมีสัดส่วนผู้สูงอายุ(60 ปีขี้นไป) ร้อยละ 12 และจะเพิ่มถึงร้อยละ 25 ในปี 2573 หรือเท่ากับคนไทยทุก ๆ 4 คน จะมีผู้สูงอายุอยู่ 1 คน ผลของการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจะยิ่งทำให้รัฐต้องจัดหาสวัสดิการเพิ่มเติมทั้งในรูปของปริมาณและคุณภาพเพื่อรองรับจำนวนผู้สูงอายุที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งทำให้รัฐมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นตาม จึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องภาระค่าใช้จ่าย และแหล่งเงินทุนสำหรับการจัดหาสวัสดิการผู้สูงอายุที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ตลอดจนการหาแนวร่วมที่จะเข้ามาช่วยในด้านสวัสดิการผู้สูงอายุ ทั้งนี้จากการศึกษาเรื่อง การประมาณการงบประมาณสำหรับผู้สูงอายุและแหล่งที่มาของเงิน ซึ่งทีดีอาร์ไอได้รับมอบหมายจากสำนักส่งเสริมและพิทักษ์ผู้สูงอายุ สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ (สท.) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทำการศึกษา พบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่อยากอยู่กับครอบครัวจึงควรจัดสวัสดิการที่เอื้อให้อยู่กับครอบครัวได้ โดยรัฐดูแลผู้สูงอายุที่ไม่มีครอบครัว ไม่อยากอยู่หรือครอบครัวไม่พร้อม การจัดสวัสดิการผู้สูงอายุควรมีการดูแลทั้งในด้านจิตใจและร่างกาย ในภาพรวมแม้สวัสดิการที่ผู้สูงอายุได้รับจะดีขึ้นจากการแจกเบี้ยยังชีพ และการรักษาพยาบาล แต่ยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำซ้ำซ้อนของการได้รับสวัสดิการซึ่งต้องแก้ไขและกระจายให้เกิดความเสมอภาคและขยายประโยชน์เพิ่มเติมให้กับกลุ่มผู้สูงอายุที่ยากจนและ/หรืออยู่ในภาวะพึ่งพิงให้สามารถดำรงชีพขั้นพื้นฐานได้ โดยปัจจุบันมีผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิงราว 1-1.4 แสนคน การจัดสวัสดิการสังคมจะต้องคำนึงถึงความเพียงพอและความซ้ำซ้อน โดยเป็นระดับสวัสดิการที่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ ส่วนความซ้ำซ้อนเกิดจากการออกแบบโครงการมากกว่าหนึ่งโครงการ แต่มีกลุ่มเป้าหมายเดียวกันหรือทับซ้อนกัน ทำให้ประชาชนบางกลุ่มสามารถรับสวัสดิการได้มากกว่าหนึ่งโครงการจนเกิดความไม่เท่าเทียมกัน จึงเป็นสิ่งที่ควรป้องกันและแก้ไข การศึกษาได้เสนอชุดทางเลือกของสวัสดิการผู้สูงอายุ เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการผู้สูงอายุได้มากขึ้น อันได้แก่ ชุดสวัสดิการรูปแบบที่ 1 ตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานประกอบด้วย เบี้ยยังชีพสูงอายุ สวัสดิการหลักประกันสังคม (บำเหน็จ บำนาญปกติ และ กบข. ประกันสังคมกรณีชราภาพ) สถานสงเคราะห์คนชรา เงินสงเคราะห์จัดการศพ กองทุนผู้สูงอายุ และกองทุนการออมแห่งชาติ ชุดสวัสดิการรูปแบบที่ 2 ปรับเพิ่มจากชุดแรก โดยเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ยากจน (ให้เท่ากับเส้นความยากจน) และ/หรืออยู่ในภาวะพึ่งพิง (ประมาณเดือนละ 4,085 บาท) ชุดสวัสดิการรูปแบบที่ 3 เพิ่มระบบสวัสดิการที่มีภาคีส่วนร่วมอื่น ๆ เช่น กองทุนยุวชนจิตอาสา และการส่งเสริมสังคมสวัสดิการและส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม เมื่อพิจารณาถึงภาระด้านงบประมาณของแต่ละชุดโครงการนั้น ประมาณการว่าในช่วงปี 2555-2564 ค่าใช้จ่ายของสวัสดิการผู้สูงอายุ สำหรับชุดสวัสดิการรูปแบบที่ 1 มีจำนวน 1.7-4.6 แสนล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 1.7-5.0 และ 1.7-5.1 แสนล้านบาท ในรูปแบบที่ 2 และ 3 ตามลำดับ การดำเนินการในระยะเริ่มแรกรัฐควรจัดสรรสวัสดิการในรูปแบบที่ 1 ก่อนเพราะเป็นสิ่งที่ช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถดำรงชีพได้ในระดับพื้นฐาน และหากรัฐมีรายได้มากเพียงพอจึงค่อยขยับเพิ่มสวัสดิการในรูปแบบที่ 2 และ 3 ในภายหลัง ทั้งนี้ภาระค่าใช้จ่ายของชุดสวัสดิการผู้สูงอายุเมื่อเทียบกับรายได้ของภาครัฐหรือเทียบกับรายได้ประชาชาติ พบว่า หากเศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวเฉลี่ยถึงร้อยละ 7 ต่อปี (ในรูปตัวเงิน) งบประมาณสวัสดิการผู้สูงอายุจะคิดเป็นร้อยละ 7.9-10.2 ของรายได้ภาครัฐและร้อยละ 1.6-2.4 ของรายได้ประชาชาติ แล้วแต่จะใช้ชุดสวัสดิการรูปแบบที่ 1 หรือ 2 หรือ 3 โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามช่วงเวลา ตามการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนของผู้สูงอายุในโครงสร้างประชากร ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าหากรัฐจัดสรรสวัสดิการให้แก่ผู้สูงอายุแบบเต็มรูปแบบแล้ว (รูปแบบที่ 3) รัฐจะมีภาระค่าใช้จ่ายสวัสดิการผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันร้อยละ 0.3-0.9 ของรายได้ภาครัฐและร้อยละ 0.03-0.22 ของรายได้ประชาชาติในช่วงปี 2555-2564 การศึกษายังได้เสนอแนวทางการสร้างความยั่งยืนของการจัดสวัสดิการให้แก่ผู้สูงอายุ จากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจ และนโยบายประชานิยมหรือโครงการเร่งด่วนของรัฐบาล ด้วยมาตรการ 3 แนวทาง คือ 1.มาตรการในการหารายได้มารองรับภาระงบประมาณที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี ผ่านการปฎิรูประบบภาษี ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ภาครัฐแล้ว ยังช่วยสร้างความเป็นธรรมด้านภาษีได้อีกด้วย 2. การปรับปรุงการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และ 3. การสร้างภาคีสังคมนอกเหนือจากภาครัฐให้เข้ามามีบทบาทในการให้สวัสดิการผู้สูงอายุอันเป็นการแบ่งเบาภาระให้กับภาครัฐได้ นักวิจัยอาวุโส ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า การปฎิรูประบบภาษีนั้นจะช่วยให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยการสร้างฐานข้อมูลผู้เสียภาษีเพื่อช่วยตรวจสอบและติดตามการเสียภาษี ซึ่งสามารถดำเนินการร่วมกับฐานข้อมูลบัตรประชาชน และควรมีการสร้างแรงจูงใจและบทลงโทษด้วย (เช่น ผู้ที่ไม่ยอมให้ข้อมูลรายได้อาจพิจารณาในเรื่องการต่ออายุบัตรประจำตัวประชาชน เป็นต้น) การขยายฐานภาษีให้ครอบคลุมผู้ที่สมควรเสียภาษีแต่ยังไม่ได้เสียภาษี โดยมีระบบการประเมินภาษีที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม นอกจากนี้ควรทบทวนการลดหย่อนและยกเว้นภาษี การเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม และระบบภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ส่วนการบริหารจัดการที่ดีจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการและลดค่าใช้จ่ายได้ ซึ่งประกอบด้วยการบริหารจัดการเพื่อป้องกันความซ้ำซ้อนของสิทธิสวัสดิการ การบริหารจัดการเพื่อเข้าถึงผู้สูงอายุกลุ่มเป้าหมายอย่างเหมาะสม และการบริหารจัดการกองทุนผู้สูงอายุ สำหรับการสร้างภาคีด้านสวัสดิการผู้สูงอายุนั้น สามารถทำผ่านความร่วมมือกับองค์กรอิสระและองค์กรภาครัฐอื่น ๆ คณะผู้วิจัยได้ประมาณการรายได้ของรัฐที่จะเพิ่มขึ้นจากการปฏิรูประบบภาษีพบว่า การเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มกลับไปสู่อัตราปกติที่ร้อยละ 10 จะส่งผลต่อการเพิ่มของรายได้รัฐมากที่สุด และเพียงแค่รายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มรายการเดียวก็สามารถนำไปจัดสรรให้แก่สวัสดิการผู้สูงอายุได้เกือบทั้งหมด แต่ในทางปฏิบัติคงทำได้ยาก จึงควรเพิ่มเติมด้วยมาตรการอื่นเช่นจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามหลักความเสมอภาคทางภาษีและมาตรการอื่น ๆ รวมทั้งทบทวนการลดหย่อนและยกเว้นภาษีอย่างเป็นระบบซึ่งมองว่าปัจจุบันเป็นการลดหย่อนมากเกินไปและล้วนเป็นการลดขนาดของฐานภาษีทำให้รัฐเก็บภาษีได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะค่าลดหย่อนหลายประการที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้มีรายได้สูง เช่น การซื้อกองทุน RMF และ LTF ควรพิจารณาลดผลประโยชน์ส่วนนี้ให้เหลือเท่าที่จำเป็น นักวิจัยอาวุโส ทีดีอาร์ไอ ย้ำว่า สิ่งที่น่ากังวลสำหรับคนวัยทำงานปัจจุบันซึ่งมีภาวะอยู่ตัวคนเดียวมากขึ้นและในอีก 10-20 ปีข้างหน้าจะกลายเป็นผู้สูงอายุ ควรเตรียมความพร้อมด้วยการเก็บออมเพื่อนำมาใช้จ่ายเพิ่มเติมจากสวัสดิการพื้นฐานจากรัฐให้ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเพียงพอตามที่ต้องการในวัยสูงอายุ.