happy on August 27, 2012, 02:44:43 PM

กรุงเทพมหานคร จัดนิทรรศการ “ไทยเท่ จากท้องถิ่นสู่อินเตอร์” ศิลปะในสมัยรัชกาลที่ ๙
ให้เป็นนิทรรศการศิลปะครั้งสำคัญที่สุดในรอบ ๗ ทศวรรษแห่งประวัติศาสตร์ศิลปะไทย





               กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร  จัดนิทรรศการ “ไทยเท่ จากท้องถิ่นสู่อินเตอร์” ศิลปะในสมัยรัชกาลที่ ๙  ให้เป็นนิทรรศการครั้งสำคัญที่มีความสมบูรณ์และยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบ ๗ ทศวรรษแห่งประวัติศาสตร์ศิลปะไทย ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๙ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ จัดแสดงที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ ๓๐ สิงหาคม – ๔ พฤศจิกายน ศกนี้

               “นิทรรศการไทยเท่ จากท้องถิ่นสู่อินเตอร์” จัดแสดงผลงานศิลปะที่โดดเด่น กว่า ๓๐๐ ชิ้น จากศิลปินเกือบ ๓๐๐ ท่าน ทั้งระดับปรมาจารย์อย่าง ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี และศิลปินทุกรุ่นที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติและศิลปินร่วมสมัย ตลอดจนศิลปินต่างชาติที่ทำงานในเมืองไทย โดยมีทั้งงานจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ ภาพถ่าย งานจัดวาง และศิลปะแนวทดลอง ที่ ศ. ดร. อภินันท์ โปษยานนท์ กรรมการมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร นักวิชาการประวัติศาสตร์ศิลป์ และภัณฑารักษ์ผู้มีชื่อเสียงในระดับสากล พร้อมทีมภัณฑารักษ์ชั้นแนวหน้า คือ คุณลักขณา  คุณาวิชยานนท์, คุณเสริมคุณ คุณาวงศ์, คุณกฤติยา กาวีวงศ์, คุณปกรณ์ กล่อมเกลี้ยง และ คุณนิกันต์ วะสีนนท์ ร่วมกันคัดสรรมาจัดแสดงโดยแบ่งตามแนวเรื่อง (Theme) ๙ กลุ่ม ได้แก่ การแสวงหาความเป็นไทย, แรงบันดาลใจจากพุทธศาสนา, พื้นที่ทางสังคม และการอุปถัมภ์ศิลปะ นำเสนอพัฒนาการของวงการศิลปะที่ได้รับการสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ ทำให้งานศิลปะและผู้เกี่ยวข้องมีพื้นที่ทางสังคมมากขึ้น,




จินตนาการกับความเหนือจริง

               แนวเรื่อง นามธรรมและปัจเจกชน เป็นผลงานแนวนามธรรม (Abstract) ที่ศิลปินมีแนวคิดและความตั้งใจที่ชัดเจนในการสื่อถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยสะท้อนถึงตัวตนหรือเอกลักษณ์ของศิลปิน แต่ผู้ชมสามารถตีความได้อย่างอิสระ, การต่อสู้ทางการเมืองและสังคม แสดงออกถึงความรู้สึกนึกคิดจากมุมมองด้านสังคมและการเมืองของไทย, เพศสภาพและความเป็นชายขอบ นำเสนอเกี่ยวกับเพศและบุคคลหรือกลุ่มคนที่ศิลปินจัดว่าคนเหล่านั้นอยู่ในพื้นที่ชายขอบของสังคม โดยเป็นงานที่มีความน่าสนใจแต่ไม่ค่อยมีการกล่าวถึง, จากท้องถิ่น สู่อินเตอร์ จัดแสดงผลงานของศิลปินไทยที่สร้างชื่อเสียงในระดับนานาชาติ, และ ศิลปะทดลองและสื่อทางวัฒนธรรม เป็นแนวคิดใหม่ในการทดลองสร้างสรรค์ผลงานทางศิลปะที่ท้าทาย ซึ่งเป็นความแปลกใหม่อย่างน่าทึ่ง

               นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการเล่าถึงประวัติศาสตร์การพัฒนาศิลปะของไทย เปรียบเทียบกับศิลปะนานาประเทศ รวมถึงนิทรรศการโปสเตอร์ศิลปะที่หาดูได้ยากกว่า ๑๐๐ แผ่น


นางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

               นางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า “นิทรรศการ ไทยเท่ จากท้องถิ่นสู่อินเตอร์ ศิลปะในสมัยรัชกาลที่ ๙ นี้มีความเป็น ‘ที่สุด’ ของการจัดนิทรรศการศิลปะในเมืองไทยในหลายด้าน โดยมีจำนวนและประเภทของชิ้นงานมากที่สุด  มีจำนวนศิลปินเจ้าของผลงานมากที่สุด  ใช้พื้นที่ในการจัดแสดงผลงานมากที่สุด และเป็นโอกาสดีที่สุดที่จะได้ชื่นชมงานศิลปะร่วมสมัยที่มีคุณค่าของศิลปินชั้นนำของเมืองไทย ที่อยู่ในความครอบครองขององค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน หรือเป็นของสะสมส่วนบุคคล  ซึ่งไม่ค่อยได้นำออกมาจัดแสดงให้สาธารณชนได้ชม  โดยทีมภัณฑารักษ์มีบทบาทสำคัญที่ทำให้นิทรรศการนี้มีความสมบูรณ์และยิ่งใหญ่  เป็นงานสำคัญที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของ กทม.  ในการก่อตั้งหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และเผยแพร่ผลงานด้านศิลปวัฒนธรรมแก่ประชาชนทุกเพศ ทุกวัย รวมถึงการสร้างเครือข่ายศิลปินและความร่วมมือด้านศิลปะด้วย”


ศ. ดร.อภินันท์ โปษยานนท์

               ด้าน ศ. ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ซึ่งให้เกียรติเป็นหัวหน้าภัณฑารักษ์ของนิทรรศการในครั้งนี้ ให้ความเห็นว่า “ผู้ชมจะได้เรียนรู้ถึงประวัติศาสตร์และพัฒนาการในแง่มุมต่างๆ ของศิลปะไทยตลอดช่วง ๗ ทศวรรษในรัชสมัยของรัชกาลที่ ๙  ได้เห็นฝีมือของศิลปินที่มีชื่อเสียง ประทับใจกับงานศิลปกรรมที่ให้สัมผัสได้ทั้งกว้างและลึก ด้วยความหลากหลายและมีรายละเอียดมากมาย ได้เรียนรู้ถึงมิติทางความคิด ได้เห็นที่มาที่ไปจากรูปแบบดั้งเดิมสู่ความร่วมสมัย และเป็นผลงานในระดับที่ทัดเทียมกับต่างประเทศ  ทำให้ภาคภูมิใจในคนไทย ในความเป็นไทย และสร้างแรงบันดาลใจในการสืบสานและผลักดันศิลปะที่ทรงคุณค่าของไทยให้ก้าวไกลต่อไป”


คุณนิกันต์ วะสีนนท์,คุณลักขณา  คุณาวิชยานนท์, คุณเสริมคุณ คุณาวงศ์






               นิทรรศการ “ไทยเท่ จากท้องถิ่นสู่อินเตอร์” ศิลปะในสมัยรัชกาลที่ ๙ จัดที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ชั้นที่ ๓, ๔, ๕, ๗, ๘ และ ๙  ระหว่างวันที่ ๓๐ สิงหาคม - ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ตั้งแต่เวลา ๑๐.๐๐ - ๒๑.๐๐ น. (หยุดวันจันทร์)  นอกจากนี้ ยังมีการจัดเสวนาพูดคุยกับนักวิชาการและศิลปินที่มีชื่อเสียงทุกวันเสาร์ ตั้งแต่วันที่ ๘ กันยายนเป็นต้นไป ตลอดระยะเวลาการจัดงาน (ยกเว้นวันเสาร์ที่ ๑๕ กันยายน เลื่อนเป็นวันอาทิตย์ที่ ๑๖ กันยายน)  เพื่อเรียนรู้แนวโน้มต่างๆ ของศิลปะไทยในจุดเปลี่ยนของช่วงเวลาสำคัญต่างๆ  โดยผู้สนใจสามารถเข้าชมงานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
« Last Edit: August 27, 2012, 03:17:16 PM by happy »

happy on August 27, 2012, 03:18:48 PM