ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ชุดปัจจุบัน และจัดอันดับหุ้นกู้ไม่มีประกันวงเงินไม่เกิน 5,000 ล้านบาท “บ. พฤกษา เรียลเอสเตท” ที่ระดับ “A” แนวโน้มเปลี่ยนเป็น “Stable” จาก “Negative”
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของ บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) เป็น “Stable” หรือ “คงที่” จาก “Negative” หรือ “ลบ” โดยทริสเรทติ้งยังคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดเดิมของบริษัทที่ระดับ “A” เช่นเดิม ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 5,000 ล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “A” ด้วย โดยเงินจากการออกหุ้นกู้ดังกล่าวจะนำไปชำระคืนหนี้เงินกู้ระยะสั้น อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะความเป็นผู้นำของบริษัทในตลาดทาวน์เฮ้าส์ระดับราคาปานกลางถึงต่ำ ตลอดจนผลงานที่เป็นที่ยอมรับในตลาดที่อยู่อาศัยระดับกลางถึงล่าง ความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุน และยอดขายรอการส่งมอบจำนวนมากที่ช่วยประกันรายได้ของบริษัทในอนาคต อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวลดทอนลงบางส่วนจากอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนที่ค่อนข้างสูง ต้นทุนค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และลักษณะของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นวงจรขึ้นลง ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิตปรับเป็น “Stable” หรือ “คงที่” จาก “Negative” หรือ “ลบ” สะท้อนถึงการฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ของบริษัทจากเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปีที่แล้ว ตลอดจนผลการดำเนินงานของบริษัทในครึ่งแรกของปี 2555 ที่ฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทจะสามารถรักษาผลประกอบการที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้ในระยะปานกลาง และหวังว่าบริษัทจะสามารถส่งมอบยอดขายที่รอการรับรู้รายได้จำนวนมากได้ตามแผน ซึ่งจะทำให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนลดลงและเสริมฐานะทางการเงินของบริษัทให้แข็งแกร่งขึ้นได้ในระยะสั้นถึงปานกลาง
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทพฤกษา เรียลเอสเตทเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยชั้นนำของประเทศซึ่งก่อตั้งในปี 2536 โดยนายทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในเดือนธันวาคม 2548 ณ เดือนมีนาคม 2555 กลุ่มตระกูลวิจิตรพงศ์พันธุ์ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทในสัดส่วน 74% ของหุ้นทั้งหมด บริษัทมีโครงการที่อยู่อาศัยระหว่างการพัฒนาอยู่เป็นจำนวนมากถึง 163 โครงการ ณ เดือนมิถุนายน 2555 โครงการที่อยู่อาศัยของบริษัทประกอบด้วยทาวน์เฮ้าส์ซึ่งคิดเป็น 41% ของมูลค่าโครงการทั้งหมด บ้านเดี่ยว (33%) คอนโดมิเนียม (25%) และโครงการในต่างประเทศ (1%) โดยที่อยู่อาศัยของบริษัทมีราคาขายเฉลี่ย 2.3 ล้านบาทต่อยูนิต ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2555 โครงการของบริษัทมีมูลค่าเหลือขายรวมทั้งสิ้นประมาณ 56,000 ล้านบาท และมียอดขายที่รอรับรู้รายได้ประมาณ 34,000 ล้านบาท
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ข้อได้เปรียบในการแข่งขันของบริษัทพฤกษา เรียลเอสเตทมาจากการใช้เทคโนโลยีชิ้นส่วนคอนกรีตเสริมเหล็กสำเร็จรูปและการบริหารจัดการงานก่อสร้างโครงการทาวน์เฮ้าส์และบ้านเดี่ยวโดยบริษัทเอง ทั้งนี้ ปริมาณการผลิตชิ้นส่วนคอนกรีตเสริมเหล็กสำเร็จรูปจำนวนมากช่วยให้บริษัทสามารถควบคุมต้นทุนและลดระยะเวลาการก่อสร้างลงได้ จึงมีผลทำให้บริษัทสามารถกำหนดราคาขายที่ได้เปรียบคู่แข่ง
ยอดขายของบริษัทพฤกษา เรียลเอสเตทในปลายปี 2554 ได้รับผลกระทบจากวิกฤตอุทกภัยในหลายพื้นที่รอบกรุงเทพฯ ยอดขายของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 7,000-9,000 ล้านบาทต่อไตรมาสในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 ก่อนที่จะลดลงเหลือเพียง 235 ล้านบาทในไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 ดังนั้น ยอดขายทั้งปี 2554 จึงลดลง 34% เป็น 25,554 ล้านบาท จาก 38,753 ล้านบาทในปี 2553 ยอดขายของบริษัทฟื้นตัวเป็น 5,669 ล้านบาท และ 7,019 ล้านบาทในไตรมาสแรกและไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 ดังนั้น ยอดขายในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 จึงเท่ากับ 12,688 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 50% ของยอดขายในปี 2554) ลดลง 28% จากช่วงเดียวกันของปี 2554 ในไตรมาสแรกและไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 ยอดขายของโครงการแนวราบในเขตน้ำท่วมฟื้นตัว 28% และ 56% ของยอดขายในไตรมาสแรกและไตรมาสที่ 2 ของปีที่แล้ว การฟื้นตัวของยอดขายและแผนการเปิดโครงการใหม่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 คาดว่าจะทำให้ยอดขายของทั้งปี 2555 ยังคงน่าพอใจ
แม้ว่าวิกฤตอุทกภัยจะกระทบต่อยอดขายของบริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท แต่บริษัทก็ยังคงสามารถบริหารการโอนที่อยู่อาศัยได้อย่างน่าพอใจ รายได้ของบริษัทในปี 2554 เท่ากับ 23,263 ล้านบาท เกือบเท่ากับระดับสูงสุดที่ 23,307 ล้านบาทในปี 2553 รายได้ในครึ่งแรกของปี 2555 ลดลงเพียง 6% เป็น 11,469 ล้านบาท ซึ่งเกือบ 90% ของรายได้รวมมาจากโครงการที่อยู่อาศัยในแนวราบ อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทลดลงเป็น 35% ของรายได้ในครึ่งแรกของปี 2555 จาก 37% ในปี 2554 และ 38% ในช่วงปี 2551-2553 เนื่องมาจากต้นทุนค่าที่ดินและค่าก่อสร้างที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารของบริษัทลดลงเหลือ 16%-ของรายได้ใน 6 เดือนแรกของปี 2555 จาก 20% ในปี 2554 ดังนั้น อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อยอดขายจึงเพิ่มขึ้นเป็น 20.11% ในครึ่งปีแรกของปี 2555 จาก 18.16% ในปี 2554 ทั้งนี้ การขยายธุรกิจเชิงรุกและการซื้อที่ดินจำนวนมากในปี 2553 ทำให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนสูงขึ้น โดยอัตราส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 49.03% ในปี 2553 และ 54.92% ในปี 2554 จาก 15.84% ในปี 2552 ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2555 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทลดลงเล็กน้อยเป็น 52.03% ความสามารถในการทำกำไรที่ลดลงและภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นมีผลให้กระแสเงินสดของบริษัทอ่อนลง โดยอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมลดลงเป็น 13.55% ในปี 2554 และ 7.52% (ยังไม่ได้ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปี) ใน 6 เดือนแรกของปี 2555 จาก 22.13% ในปี 2553 ทริสเรทติ้งกล่าว