happy on July 29, 2012, 07:22:33 PM

ชื่อไทย      พารานอร์แมน สยบคำสาปหมู่บ้านต้องมนตร์
วันที่เข้าฉาย      4 ตุลาคม 2555
จัดจำหน่าย      บริษัท ยูไนเต็ด อินเตอร์เนชั่นแนล พิคเจอร์ส (ฟาร์อีสต์)
เว็บไซต์      www.paranorman-movie.com

ทีมนักพากย์

โคดี้ สมิท-แม็คฟีย์ (Kodi Smit-McPhee)   พากย์เสียง         นอร์แมน แบ็บค็อก
ทัคเกอร์ อัลบริซซี (Tucker Albrizzi)    พากย์เสียง          นีล
แอนนา เคนดริค (Anna Kendrick)      พากย์เสียง          คอร์ทนีย์
เคซีย์ แอฟเฟล็ค (Casey Affleck)      พากย์เสียง          มิทช์
คริสโตเฟอร์ มินท์-แพลซ (Christopher Mintz-Plasse)พากย์เสียง          อัลวิน
เลสลีย์ แมนน์ (Leslie Mann)      พากย์เสียง          แซนดร้า แบ็บค็อก
เจฟฟ์ การ์ลิน (Jeff Garlin)       พากย์เสียง          เพอร์รี แบ็บค็อก
อีเลน สตริทช์ (Elaine Stritch)      พากย์เสียง          คุณยาย
เบอร์นาร์ด ฮิล (Bernard Hill)      พากย์เสียง          ผู้พิพากษา
โจเดลล์ เฟอร์แลนด์ (Jodelle Ferland)    พากย์เสียง          แอ็กกี้
เทมเพสท์ เบลดโซ (Tempestt Bledsoe)   พากย์เสียง          นายอำเภอฮูเปอร์
อเล็กซ์ บอร์สไตน์ (Alex Borstein)                    พากย์เสียง          คุณนาย เฮนส์เชอร์
จอห์น กู๊ดแมน (John Goodman)      พากย์เสียง         มิสเตอร์เพรนเดอร์แกสท์
   
ทีมผู้สร้าง
   แซม เฟล (Sam Fell)—ผู้กำกับ
   คริส บัตเลอร์ (Chris Butler)—ผู้กำกับ บทภาพยนตร์
   เอรีแอนน์ ซุทเนอร์ (Arianne Sutner)—ผู้อำนวยการสร้าง



ข้อมูลงานสร้าง

เรื่องย่อ

                เมื่อเมืองเล็กๆ ถูกกองทัพซอมบี้บุก พวกเขาจะเรียกหาใครได้ล่ะ? “นอร์แมน!”
   โฟกัส ฟีเจอร์สและไลก้า บริษัทที่อยู่เบื้องหลังภาพยนตร์อนิเมชั่นที่ได้รับการเสนอชื่อชิงอคาเดมี อวอร์ด Coraline ภูมิใจนำเสนอ คอเมดีทริลเลอร์ Paranorman หลังจาก Coraline ภาพยนตร์เรื่อง ParaNorman เป็นภาพยนตร์อนิเมชั่นสต็อป โมชันเรื่องที่สองที่ไลก้าสร้างขึ้นในรูปแบบ 3D ด้วยการผสมผสานศิลปะที่น่าทึ่งสองรูปแบบเข้าด้วยกันเพื่อบอกเล่าเรื่องราวสยองขวัญสุดฮา ประทับใจอย่างวิเศษสุดและสนุกสนานเคล้าสยดสยองใหม่เอี่ยมเรื่องนี้
   เรื่องราว ParaNorman เกิดขึ้นในเมืองบลิธ ฮอลโลว์ ที่ซึ่งชาวเมืองสร้างรายได้จากการหาประโยชน์จากประวัติศาสตร์ของเมือง ที่เคยเกิดการล่าแม่มดอันลือลั่นเมื่อ 300 ปีก่อน นอร์แมน แบ็บค็อก (พากย์เสียงโดยโคดี้ สมิท-แม็คฟีย์ จาก Let Me In และ The Road) เด็กชายวัย 11 ขวบ ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการชื่นชมข้อดีของภาพยนตร์สยองขวัญและศึกษาตำนานผีสาง จริงๆ แล้ว นอร์แมนมีพรสวรรค์ในการมองเห็นและพูดกับวิญญาณได้ เหมือนกับคุณยายที่เขารัก (อีเลน สตริทช์) ส่วนใหญ่แล้ว เขาชื่นชอบที่จะใช้เวลาอยู่กับวิญญาณมากกว่าพ่อผู้หงุดหงิด (เจฟฟ์ การ์ลิน), แม่ผู้ใจลอย (เลสลีย์ แมนน์) และคอร์ทนีย์ (แอนนา เคนดริค) พี่สาวสุดเฟคของเขา เมื่ออยู่ที่โรงเรียน นอร์แมนต้องคอยหนีจากอัลวิน (คริสโตเฟอร์ มินท์-แพลซ) เด็กเกเร ปรับทุกข์กับนีล (ทัคเกอร์ อัลบริซซี) ผู้ประทับใจในตัวเขาและพยายามปล่อยให้เสียงของครูเฮนส์เชอร์ (อเล็กซ์ บอร์สไตน์) เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา
   จู่ๆ นอร์แมนก็ได้รับการติดต่อจากเพรนเดอร์แกสท์ (จอห์น กู๊ดแมน) ลุงนิสัยพิลึกของเขา ผู้ทำให้เขาประหลาดใจด้วยความลับที่ว่าคำสาปหลายร้อยปีของแม่มดเป็นของจริงและมันก็กำลังจะกลายเป็นจริง มีเพียงนอร์แมนเท่านั้นที่จะหยุดยั้งคำสาปนี้ไม่ให้มันเกิดขึ้นและทำร้ายชาวเมืองได้ เมื่อกองทัพซอมบี้ ที่นำทีมโดยผู้พิพากษา (เบอร์นาร์ด ฮิล) โผล่ขึ้นมาจากหลุมโดยไม่คาดฝัน นอร์แมนร่วมกับคอร์ทนีย์, อัลวิน, นีลและมิทช์ (เคซีย์ แอฟเฟล็ค) พี่ชายร่างใหญ่ของนีลต้องรีบเร่งแข่งกับเวลาขณะเดียวกับที่นายอำเภอฮูเปอร์ (เทมเพสท์ เบลดโซ) ไล่ล่าตัวพวกเขา ซ้ำร้าย คนทั้งเมืองต่างก็พากันหยิบจับอาวุธกันทั้งเมืองเพื่อเตรียมทำสงคราม
   นอร์แมนต้องดึงเอาคุณสมบัติทั้งหมดของวีรบุรุษออกมา ทั้งความกล้าหาญและความเมตตา เมื่อเขาพบว่ากิจกรรมที่ไม่ธรรมดาของเขาถูกผลักดันไปจนถึงขีดจำกัดสุดขอบโลก
   โฟกัส ฟีเจอร์ส ภูมิใจเสนอ ParaNorman ผลงานสร้างโดยไลก้า นำแสดงโดยโคดี้ สมิท-แม็คฟีย์, ทัคเกอร์ อัลบริซซี, แอนนา เคนดริค, เคซีย์ แอฟเฟล็ค, คริสโตเฟอร์ มินท์-แพลซ, เลสลีย์ แมนน์, เจฟฟ์ การ์ลิน, อีเลน สตริทช์, เบอร์นาร์ด ฮิล, โจเดลล์ เฟอร์แลนด์, เทมเพสท์ เบลดโซ, อเล็กซ์ บอร์สไตน์และจอห์น กู๊ดแมน ออกแบบเครื่องแต่งกายโดยเด็บราห์ คุ้ก ดนตรีโดยจอน ไบรอัน ลำดับภาพโดยคริสโตเฟอร์ เมอร์รีย์, เอซีอี ออกแบบงานสร้างโดยเนลสัน โลว์รี กำกับภาพโดย ทริสแทน โอลิเวอร์ อำนวยการสร้างโดยเอรีแอนน์ ซุทเนอร์, ทราวิส ไนท์ เขียนบทโดยคริส บัตเลอร์ กำกับโดยแซม เฟล, คริส บัตเลอร์ จัดจำหน่ายโดยโฟกัส ฟีเจอร์ส


« Last Edit: July 29, 2012, 07:51:05 PM by happy »

happy on July 29, 2012, 07:29:16 PM

ประวัติฉบับย่อของสต็อป โมชัน

                ทีละเฟรมๆ ภาพยนตร์สต็อป โมชันถึงโลดแล่นมีชีวิตขึ้นมา
              ผู้อำนวยการสร้างเอรีแอนน์ ซุทเนอร์ตั้งข้อสังเกตว่า มันเป็นศิลปะที่ซึ่ง “ตัวละครเป็นจริงอย่างสัมผัสได้ ฉากรอบตัวพวกเขาถูกสร้างขึ้นด้วยมือ และคุณก็จินตนาการถึงทุกอย่างในสามมิติ”
   ผู้อำนวยการสร้างทราวิส ไนท์กล่าวเสริมว่า “มันเป็นกระบวนการที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เกิดหนังถือกำเนิดขึ้นใหม่ๆ ด้วยเสน่ห์ ความอบอุ่นและความงามที่อนิเมชั่นรูปแบบอื่นไม่มี ไม่ว่ามันจะวิเศษซักแค่ไหน และด้วยความที่คุณมีโอกาสเดียวที่จะทำมันให้ถูกต้อง ทุกช็อตก็เลยมีความเสี่ยงสูงครับ”
   “อนิเมเตอร์ที่ทะเยอทะยานรุ่นแล้วรุ่นเล่าได้ทดลองสร้างอนิเมชั่นแบบนี้ขึ้นในห้องใต้ดินหรือโรงรถของพ่อแม่ มันเป็นช่วงเวลามหัศจรรย์สำหรับคุณในตอนที่บางสิ่งมีชีวิตขึ้นมาน่ะครับ”
   แบรด ชิฟฟ์ ซูเปอร์ไวเซอร์ฝ่ายอนิเมชั่น ตั้งข้อสังเกตว่า “กระบวนการสต็อป โมชันมีจิตวิญญาณบางอย่างที่พิเศษสุด มันเกิดขึ้นจากสัมผัสของสิ่งที่คุณทำงานด้วยครับ”
   สำหรับผู้ชมและทีมงาน กระบวนการอนิเมชั่นสต็อป โมชันเคยเป็น เป็นและมักจะเป็นสิ่งที่มีเสน่ห์น่าหลงใหลอย่างพิเศษสุดเสมอ ทีละเฟรมๆ (มี 24 เฟรมต่อวินาทีในภาพยนตร์) อนิเมเตอร์จะบรรจงควบคุมวัตถุที่จับต้องได้ (ตัวละคร อุปกรณ์ ฉาก ฯลฯ) ในสเตจการทำงาน แต่ละเฟรมจะถูกถ่ายรูปไว้สำหรับกล้องภาพยนตร์ ในตอนที่เฟรมที่ถูกถ่ายรูปไว้เป็นพันๆ ภาพถูกเรียงตามลำดับ ตัวละครและสิ่งแวดล้อมก็จะเคลื่อนไหวในลักษณะลื่นไหลและต่อเนื่อง มันเป็นเวทมนตร์ภาพยนตร์ที่ถูกเนรมิตขึ้นด้วยมือ
   ตัวละครใน ParaNorman มีชีวิตขึ้นมาได้ด้วยรูปแบบศิลปะที่โดดเด่น ภาพยนตร์สต็อป โมชันสามารถเทียบได้กับภาพยนตร์ไลฟ์แอ็กชันตรงที่จะต้องมีการสร้างและตกแต่งฉากจริงๆ และมีตัวละครที่จะถูกจัดแต่งทรงผม หาเสื้อผ้าให้ ผ่านการจัดแสง และกำกับ
   แต่โลกของภาพยนตร์ทั้งเรื่องผุดขึ้นมาจากจินตนาการล้วนๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากความคิดสร้างสรรค์ของอนิเมเตอร์ ผู้ขยับตัวละครในระยะหน่วยเป็นมิลลิเมตรสำหรับแต่ละเฟรม ในการเคลื่อนไหวนี้เองที่ศิลปะที่โดดเด่นไม่เหมือนใครได้ก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างขึ้น
   ตัวอย่างแรกของสต็อป โมชันในภาพยนตร์คือในภาพยนตร์ขนาดสั้นปี 1898 เรื่อง The Humpty Dumpty Circus ซึ่งชาวอังกฤษ อัลเบิร์ต อี. สมิธและเจมส์ สจวร์ต แบล็คตัน ได้ใช้เทคนิคใหม่ในการเนรมิตชีวิตให้กับตัวตุ๊กตุ่นสัตว์และนักกายกรรมในสวนสัตว์
   อนิเมเตอร์ชาวยุโรปเป็นคนกลุ่มแรกที่ใช้หุ่นเชิดและวัตถุอื่นๆ ในการเล่าเรื่องราวต่อเนื่อง แต่วิลลิส ฮาโรลด์ โอ’ ไบรอัน ชาวแคลิฟอร์เนีย เป็นผู้ที่ทำให้มันกลายเป็นศิลปะมากขึ้นด้วยการขัดเกลามันตลอดเวลาหลายสิบปี ผลงานของโอ’ ไบรอันรวมถึงภาพยนตร์ขนาดสั้น, ภาพยนตร์ปี 1925 เรื่อง The Lost World และ King Kong ต้นฉบับ (1933) (ร่วมกับประติมากร มาร์เซล เดลกาโด้) หุ่นกลไกที่ถูกสร้างขึ้นสำหรับภาพยนตร์เรื่องหลังได้กลายเป็นต้นแบบที่ยังคงใช้มาจนถึงทุกวันนี้ โอ’ ไบรอันได้รัรบรางวัลออสการ์จากผลงานของเขาใน Mighty Joe Young (1949)
   ลูกศิษย์คนหนึ่งของโอ’ ไบรอันในภาพยนตร์เรื่องหลังนี้คือเรย์ แฮร์รีเฮาเซน ผู้ต่อยอดเทคนิคของอาจารย์เขาและผู้ซึ่ง “ไดนาเมชัน” ของเขาจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับอนิเมเตอร์รุ่นแล้วรุ่นเล่า แฮร์รีเฮาเซนได้ผสมผสานไลฟ์แอ็กชันและอนิเมชั่น สต็อป โมชันเข้าด้วยกันอย่างประณีตเพื่อทำให้มนุษย์และสิ่งที่เขาสร้างขึ้นสามารถมีปฏิสัมพันธ์กันได้ในภาพยนตร์แฟนตาซีอย่าง The Beast from 20,000 Fathoms (1953), 20 Million Miles to Earth (1957), The 7th Voyage of Sinbad (1958) และ Jason and the Argonauts (1963)
   อนิเมเตอร์ชาวฮังกาเรียน จอร์จ แพล (จอร์จี้ แพล มาร์คซินแซ็ค) ได้เดินทางมายังฮอลลีวูดในช่วงต้นยุค 40s ที่ซึ่งเขาได้อำนวยการสร้างซีรีส์ภาพยนตร์ขนาดสั้น “Puppetoon” ให้กับพาราเมาท์ พิคเจอร์ส แตกต่างจากเทคนิคของโอ’ ไบรอันและแฮร์รีเฮาเซน ทีมงานของแพลใช้อนิเมชั่นตัวแทน ซึ่งอาศัยหุ่นเชิดหรือชิ้นส่วนที่สลักด้วยมือมากถึง 9,000 ชิ้น ซึ่งแต่ละชิ้นแตกต่างกันเล็กน้อย สำหรับการถ่ายทำทีละเฟรมๆ เพื่อสร้างภาพลวงตาของการเคลื่อนไหวขึ้นมา
   ภาพยนตร์ขนาดสั้นหลายเรื่องของแพลได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลอคาเดมี อวอร์ดและตัวแพลเองก็ได้รับรางวัลออสการ์เกียรติยศในปี 1944 ผู้กำกับ/ผู้อำนวยการสร้างผู้นี้ยังคงใช้อนิเมชั่นหุ่นเชิดในงานสร้างภาพยนตร์ขนาดยาวอีกหลายเรื่องเช่น The Great Rupert (1950), tom thumb (1958) และ The Wonderful World of the Brothers Grimm (1962)
   ผู้ใหญ่และเด็กหลายล้านคนจากสองรุ่นคุ้นเคยกับผลงานของอาร์เธอร์ แรนคิน จูเนียร์ และจูลส์ แบสเป็นอย่างดี ในการใช้กระบวนการหุ่นเชิดสต็อป โมชันที่พวกเขาเรียกว่า “อนิเมจิค” แรนคิน/แบสได้ทำให้ผู้ชมจอแก้วได้ชื่นชมกับรายการพิเศษที่แสนคลาสสิกในช่วงวันหยุดอย่าง Rudolph the Red-Nosed Reindeer (1964) และ Santa Claus is Comin’ to Town (1970) แบสได้กำกับภาพยนตร์เรื่อง The Daydreamer (1966) และ Mad Monster Party? (1967) ซึ่งใช้กระบวนการเดียวกัน
   หลายปีให้หลัง อาร์ดแมน อนิเมชั่นส์จากอังกฤษ ถูกก่อตั้งโดยปีเตอร์ ลอร์ดและเดวิด สปร็อกซ์ตัน บริษัทนี้ ที่มีนิค ปาร์คร่วมงานด้วย ได้สร้างมาตรฐานใหม่ขึ้นมาด้วยภาพยนตร์อนิเมชั่นขนาดสั้นสต็อป โมชัน/”เคลย์เมชัน” ที่ได้รับรางวัลออสการ์ของพวกเขาอย่าง Creature Comforts และA Close Shave และ The Wrong Trousersที่มีวอลเลซและโกรมิทเป็นตัวเอกก่อนหน้าที่พวกเขาจะสานต่อความสำเร็จนั้นในแวดวงภาพยนตร์
   ในปี 1982 ทิม เบอร์ตัน นักวาดภาพคอนเซ็ปต์ของดิสนีย์ได้สร้างภาพยนตร์ขนาดสั้นเรื่อง Vincent กับริค ไฮน์ริคส์ อนิเมเตอร์จากดิสนีย์ ภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่ถ่ายทำในสีขาวดำแบบเอ็กซ์เพรสชันนิสต์และบรรยายโดยวินเซนต์ ไพรซ์ ถูกถ่ายทำในรูปแบบสต็อป โมชัน
   สิบปีให้หลัง เบอร์ตันได้เลือกทีมนักวาดภาพและอนิเมเตอร์ให้สร้างสิ่งที่จะกลายเป็นมิวสิคัลสต็อป โมชัน ที่แปลกใหม่ The Nightmare Before Christmas จากเรื่องราวดั้งเดิมของเขา และเขาก็ได้ทาบทามเฮนรี เซลิค เพื่อนร่วมชั้นจากแคลิฟอร์เนีย อินสติติวท์ ออฟ ดิ อาร์ตส์ (หรือแคลอาร์ตส์) และเพื่อนร่วมงานจากดิสนีย์ให้มากำกับภาพยนตร์เรื่องนี้
   ในศตวรรษที่ 21 มีการก่อตั้งไลก้า, อิงค์. เพื่อนำเสนอผลงานของผู้กำกับ นักออกแบบ และอนิเมเตอร์ที่ได้รับรางวัลในสายงานอนิเมชั่นและโฆษณา ไลก้ามีพนักงาน 550 คนและมีชื่อเสียงจากความสามารถในการเล่าเรื่องและการเคลื่อนไหวของตัวละครในสื่ออนิเมชั่นที่หลากหลาย ซึ่งรวมถึง 2D, CG และสต็อป โมชัน
   แม้ว่าก่อนหน้านี้ไลก้าจะมีส่วนร่วมในการทำงานในภาพยนตร์สต็อป โมชันที่ได้รับการเสนอชื่อชิงออสการ์เรื่อง Corpse Bride (2005) ที่กำกับโดยทิม เบอร์ตันและไมค์ จอห์นสัน ซึ่งถูกสร้างขึ้นในอังกฤษ แต่ตัวบริษัทนั้นตั้งอยู่ในโอเรกอน สหรัฐอเมริกา ที่นั่นเองที่ไลก้าได้สร้างมิติใหม่ด้วย Coraline ภาพยนตร์สต็อป โมชันเรื่องนี้ที่กำกับโดยเฮนรี เซลิคเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ถูกคิดและถ่ายทำในระบบสเตอริโอสโคปิค 3D ทำให้มันแตกต่างจากทุกเรื่องที่คอหนังเคยสัมผัสมาก่อน Coraline ซึ่งเป็นตัวจุดประกายกระแสสต็อป โมชันให้กลับมาอีกครั้ง เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ถูกสร้างขึ้นที่ฮิลส์โบโร, โอเรกอนสตูดิโอส์ของไลก้า และ ParaNorman ก็เป็นเรื่องที่สอง
   ทราวิส ไนท์ ซีอีโอของไลก้า ผู้ควบหน้าที่ผู้อำนวยการสร้างและอนิเมเตอร์หลักใน ParaNorman ให้ความเห็นว่า “สต็อป โมชันเป็นกระบวนการที่เรียบง่ายมากๆ แต่การสร้างมันให้ออกมาดีเป็นหนึ่งในเรื่องที่ยากที่สุด อนิเมชั่นรูปแบบอื่นๆ เป็นการทำซ้ำ แต่สต็อป โมชันเป็นกระบวนการที่เคลื่อนไหว คุณจะเริ่มต้นที่หนึ่งและลงเอยที่อีกที่หนึ่งครับ”
   ผู้อำนวยการสร้างเอรีแอนน์ ซุทเนอร์จาก ParaNorman กล่าวว่า “มันมีความรู้สึกที่ว่า ขณะนี้ ในศตวรรษที่ 21 สต็อป โมชันได้รับความนิยมกว่าแต่ก่อน ตอนนี้ ด้วยความสามารถของเราในการสร้างหนังพวกนี้ได้ตั้งแต่ต้นจนจบใน 3D ผู้ชมก็สามารถถูกดึงเข้าสู่เรื่องราวได้อย่างแท้จริงค่ะ”
   ผู้กำกับแซม เฟลจาก ParaNorman กล่าวว่า “ในหนังเรื่องหนึ่งที่ผมกำกับก่อนหน้านี้ ผมอยากที่จะสร้างมันออกมาเป็นสต็อป โมชัน แต่ผมต้องทำให้มันเป็น CG แทน เครื่องมือที่ผมใฝ่ฝันถึงในตอนนั้นกลายเป็นความจริงแล้วที่ไลก้า ที่ซึ่งเทคโนโลยีใหม่ๆ ถูกหลอมรวมเข้ากับกระบวนการสต็อป โมชันแบบดั้งเดิมน่ะครับ”
   “สำหรับหนังเรื่องนี้ ไลก้าได้ก้าวพ้นขอบเขตของสิ่งที่คุณนึกถึงว่าเป็นอนิเมชั่น สต็อป โมชันแบบดั้งเดิม” ผู้กำกับคริส บัตเลอร์จาก ParaNorman กล่าว “แต่หนึ่งในเหตุผลที่เราสร้างหนังเรื่องนี้ให้เป็นสต็อป โมชันตั้งแต่ทีแรกเพราะธรรมเนียมที่เรย์ แฮร์รีเฮาเซนกำหนดไว้เมื่อหลายปีก่อน เขามีสัตว์ประหลาดของเขา และเราก็มีซอมบี้ของเราครับ
« Last Edit: July 29, 2012, 07:41:12 PM by happy »

happy on July 29, 2012, 07:30:22 PM

จากอังกฤษสู่นิวอิงก์แลนด์ และโอเรกอน

                “ในการสร้างอนิเมชั่นสต็อป โมชัน หรือที่เราเรียกกันในอังกฤษว่าอนิเมชั่นสต็อปเฟรม คุณจะต้องรักมัน…มาเป็นปีๆ ครับ” ผู้กำกับแซม เฟล ผู้มีประสบการณ์มากมายและสอนตัวเองในศิลปะแขนงนี้กล่าว “ใน ParaNorman เราอยากจะลองวิธีการสร้างอนิเมชั่นที่แปลกใหม่ ที่ให้ความรู้สึกแบบละครน้อยลงและให้ความรู้สึกแบบหนังมากขึ้น ParaNorman มีอะไรหลายอย่างเกิดขึ้นมากมายจนคุณไม่น่าจะสร้างมันแบบสต็อป โมชัน มันมีฉากฝูงชนที่มีตัวประกอบ การไล่ล่า ไดอะล็อคทับซ้อนกัน ช็อตโคลสอัพและช็อตปฏิกิริยา โดยที่สองในสามของฉากพวกนี้เกิดขึ้นกลางแจ้ง”
   คริส บัตเลอร์ ผู้กำกับ ParaNorman เล่าว่า “มีมาตรฐานบางอย่างที่เรากำหนดไว้สำหรับตัวเอง คุณจะรู้สึกถึงความทะเยอทะยานของโปรเจ็กต์นี้ในทุกวัน แต่คุณก็จะลืมตัวไปกับโลกแฟนตาซีใบนั้น ในตอนที่คุณทำงานในหนังสต็อป โมชัน คุณจะได้ทำในสิ่งที่พิเศษสุดที่คุณหวังว่าจะมีผู้ชมไปอีกหลายสิบปีน่ะครับ”
   “ผมทำงานอนิเมชั่นมาโดยตลอด นอร์แมนเป็นเด็กที่ชอบแต่งเรื่อง และผมเองก็เหมือนกัน ตอนที่ผมอายุ 8 ขวบ ผมรู้ว่าผมอยากเล่าเรื่องด้วยอนิเมชั่น ด้วยตัวละครและภาพวิชวล ผมไล่ตามความฝันนั้นและมันก็กลายเป็นความจริงสำหรับผม”
   ก่อนหน้าที่บัตเลอร์จะเริ่มทำงานในไลก้า และทำหน้าที่ซูเปอร์ไวเซอร์ฝ่ายสตอรีบอร์ดในภาพยนตร์ของบริษัทเรื่อง Coraline เขามีไอเดียสำหรับภาพยนตร์อนิเมชั่นออริจินอล ที่เขาเริ่มต้นเขียนบท เขาตั้งข้อสังเกตว่า “มีธรรมเนียมที่นักวาดภาพสตอรีบอร์ดและซูเปอร์ไวเซอร์จะกลายเป็นผู้กำกับหนังอนิเมชั่น ก่อนอื่นคุณจะสร้างหนังด้วยภาพวาด แล้วคุณค่อยสร้างมันขึ้นมาจริงๆ ผมอยากเห็นเรื่องราวของผมเป็นภาพจริงๆ ขึ้นมาในรูปแบบสต็อป โมชันครับ”
   “การเขียน ParaNorman เป็นงานแห่งรัก ผมอยากจะสร้างหนังซอมบี้สำหรับเด็กๆ เป็นการนำปริศนาแบบสกู๊ปปี้ดูไปสู่บทสรุปที่สมเหตุสมผล แทนที่จะหักล้างความเชื่อนั้นๆ และมันก็มีไอเดียที่ว่า ‘จะเกิดอะไรขึ้นถ้า’ ที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างผมกับยายผมด้วย ผมก็เลยจับมันใส่ลงในบทที่จะแสดงความเคารพต่อเรื่องนั้นและเต็มไปด้วยการผจญภัย ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวตนของเราด้วย หนึ่งในธีมหนังของเราคือ ‘คุณจะตัดสินหนังสือจากปกไม่ได้’ น่ะครับ”
   เขาขยายความต่อว่า “ผมใช้เวลา 10 ปีกว่าจะเขียนบทเสร็จ ผมจะเขียนๆ หยุดๆ เช่นว่าผมจะทำงานในหนังของคนอื่นทั้งวัน แล้วก็กลับมาบ้าน รีแล็กซ์ด้วยการเขียนบท ดังนั้น ParaNorman ซึ่งตอนแรกยังไม่มีชื่อ เป็นแค่หนังซอมบี้ซักเรื่อง ก็ใช้เวลาถือกำเนิดนานมากครับ”
   ผู้อำนวยการสร้างเอรีแอนน์ ซุทเนอร์มาร่วมงานนี้ตั้งแต่เริ่มแรก ก่อนหน้าที่บทจะเขียนเสร็จเสียอีก เธอเล่าว่า “เรื่องราวเกี่ยวกับเด็กนอกกลุ่มและเรื่องราวเกี่ยวกับสัตว์ประหลาดมีเสน่ห์ที่มีความเป็นสากลและอมตะ แต่เรื่องนี้จะแตกต่างจากเรื่องอื่นๆ ที่เราเคยดูมา สิ่งที่ทำให้ฉันประทับใจเกี่ยวกับบทของคริสคือการที่เขาคิดหนังเรื่องนี้ว่าเป็นหนังสำหรับเด็กและเกี่ยวกับเด็ก โดยไม่ได้ดูถูกพวกเขา และการที่หนังเรื่องนี้ได้พูดกับคนเป็นพ่อแม่อย่างฉันด้วย คริสแสดงให้เห็นว่านอร์แมนเผชิญหน้ากับความกลัวและยอมรับพรสวรรค์พิเศษที่เขามีอย่างไร”
   “คริสทำงานอย่างหนักเพื่อผสมผสานตัวละครเยี่ยมๆ เรื่องอบอุ่นหัวใจ ซีเควนซ์แอ็กชัน/ผจญภัยที่น่าตื่นตาตื่นใจ และคอเมดี ที่ไม่ได้เป็นแค่แก๊ก แต่เป็นอารมณ์ขันจริงๆ ด้วยค่ะ”
   สิ่งหลังนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญเสมอเพราะบัตเลอร์ตระหนักตั้งแต่เริ่มแรกแล้วว่า “เรื่องน่ากลัวไม่ใช่สิ่งที่พาคุณไปได้ตลอดเรื่อง แต่มันเป็นอารมณ์ขันที่เกิดจากตัวละครต่างหาก”
   ซุทเนอร์ ผู้ซึ่งประสบการณ์สต็อป โมชันของเธอรวมถึงการร่วมมือกับเฮนรี เซลิค ผู้กำกับ Coraline มากว่าสิบปี ได้ร่วมงานกับบัตเลอร์เพื่อพัฒนาบทภาพยนตร์เรื่องนี้ต่อ เธอตั้งข้อสังเกตว่า “สต็อป โมชันเป็นวิธีการสร้างหนังที่งดงาม และเป็นวิธีการที่พัฒนามาเป็นกระบวนการการร่วมมือกันที่แท้จริง แม้แต่ในระหว่างการพัฒนาบท เพราะเรื่องของสื่อและประสบการณ์ในแผนกเรื่องราวของคริส เราก็เลยโฟกัสไปที่การสำรวจด้านวิชวลเพิ่มเติมจากเรื่องของจังหวะและโครงสร้าง”
   ที่ไลก้า ผู้อำนวยการสร้างทราวิส ไนท์ได้อ่านบทภาพยนตร์ที่ยังไม่สมบูรณ์ เขายอมรับว่า “ได้เห็นหลายส่วนของตัวเองและลูกๆ ของผมในนอร์แมน” ดังนั้น เขาก็เลยอยากรู้ว่าเรื่องราวจะลงเอยอย่างไร ดังนั้น ระหว่างการถ่ายทำ Coraline เรื่อง ParaNorman จึงถูกเพิ่มเข้ามาในตารางการพัฒนางานของไลก้า ก่อนจะถูกขยับเลื่อนมาอยู่แถวหน้าอย่างรวดเร็ว
   ซุทเนอร์รำพึงว่า “ในโลกอนิเมชั่น ไม่มีอะไรเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่การผลักดันหนังเรื่องนี้ให้เข้าสู่ตารางการทำงานเกิดขึ้นได้เร็วมากเลยค่ะ!”
   บัตเลอร์เล่าว่า “หน้าท้ายๆ ซึ่งรวมถึงตอนไคลแม็กซ์ ถูกกำหนดเอาไว้แล้วทั้งหมด ด้วยความที่ตัวผมเองก็มาจาก [แผนกที่ไลก้า] เรื่องราวอยู่แล้ว ผมก็รู้ดีว่ามันสำคัญขนาดไหน แต่มันก็ถูกเขียนขึ้นระหว่างที่เราทำงานใน Coraline พอหนังเรื่องนั้นเสร็จ เราก็ไปวางแผน ParaNorman กันต่อ จริงๆ แล้ว ผมยังไม่ได้พักผ่อนจริงๆ จังๆ ตั้งแต่ Coraline แล้วนะครับเนี่ย…!”
   ซุทเนอร์ตั้งข้อสังเกตว่า “คริสรู้ว่าเขาอยากให้สิ่งที่เขาเขียนลงบนกระดาษไปโลดแล่นบนหน้าจออย่างไร ฉันบอกได้ว่าเขามีความเข้มแข็งพอสำหรับการเป็นผู้กำกับตามศักยภาพของเขา และฉันก็บอกให้เขาเชื่อในสัญชาตญาณตัวเอง”
   “ไลก้าไม่ใช่สตูดิโออนิเมชั่นแห่งแรกที่มีผู้กำกับมาจากแผนกเรื่องราว แต่สิ่งที่ทำให้พวกเขาแตกต่างคือในตอนที่พวกเขาเชื่อใจผู้กำกับ พวกเขาเชื่อใจวิสัยทัศน์ของผู้กำกับ พวกเขาศรัทธาในคริสเพราะเขาเป็นนักเล่าเรื่องด้วยภาพอยู่แล้วค่ะ”
   บัตเลอร์เล่าว่า “สตูดิโออื่นคงอยากจะเปลี่ยนแปลงมันและสร้างหนังเรื่องนี้โดยตัดองค์ประกอบที่ท้าทายออกไป แต่ทราวิสมองความท้าทายเหล่านี้ว่าเป็นโบนัส และนั่นก็คือสิ่งที่ทำให้ไลก้าพิเศษสุด ที่นี่ เราอยากจะสร้างเนื้อหาที่ผิดจากธรรมดา เหมือนตัวนอร์แมนเอง และทุกย่างก้าวที่ไลก้าแห่งนี้ ทราวิสก็ได้สนับสนุนผมและวิสัยทัศน์ของผมครับ”
   ในส่วนตัวเขา เฟลรู้สึกมั่นใจพอที่จะเข้าร่วมโปรเจ็กต์นี้ในปี 2009 เขาตั้งข้อสังเกตว่า “ผมเพิ่ง่ได้ดู Caroline และคิดว่างานสร้างของไลก้าทั้งน่าทึ่งและทะเยอทะยาน มันคงจะเกิดขึ้นที่อื่นไม่ได้ ผมอยากจะมาร่วมงานกับคนพวกนี้ ที่สร้างมิติการทำงานใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นน่ะครับ”
   “ความเฉียบคมแบบอังกฤษในบทของคริสมีเสน่ห์สำหรับผม แต่สิ่งที่โดนใจผมจริงๆ คือนอร์แมน ตัวละครหลักของเรื่องและลักษณะที่เขาเติบโตและเปลี่ยนแปลง ผมเชื่อว่าเป็นเรื่องดีที่เด็กๆ จะได้รู้ว่า การเป็นคนแตกต่าง และโดดเด่นเป็นเรื่องที่โอเคน่ะครับ”
   ซุทเนอร์ตั้งข้อสังเกตว่า “แซมสามารถผลักดันไอเดียของคริสให้ไปไกลกว่าเดิม แต่ก็ยังชี้ให้เห็นถึงวิธีการสร้างเนื้อหานี้ให้เป็นจริงขึ้นมาค่ะ”
   เฟลถูกใจคอนเซ็ปต์ของบัตเลอร์ในเรื่อง “จอห์น คาร์เพนเตอร์ปะทะจอห์น ฮิวจ์” และเขาก็ชื่นชอบไอเดียของการที่คนนอกกลุ่มเบรคฟาสต์ คลับของฮิวจ์ต้องรับมือกับคำสาปของพวกซอมบี้ที่เหมือนกับหมอกด้วย
   เฟลกล่าวว่า “กลายเป็นเราทำงานร่วมกันเพื่อถ่ายทอดจิตวิญญาณดังกล่าว คริสเปิดกว้างต่อไอเดียของผมเกี่ยวกับการคิดโครงสร้าง เราอยากจะสร้างสิ่งที่ครอบครัวจะชอบดู และได้เล่นกับแนวหนังที่เป็นที่รัก ผมกับคริสรู้ว่าเรากำลังถ่ายทอดกลิ่นไอของยุค 80s ไม่ได้ทำงานผสมผสานศิลปะ และเราก็คงจะนำทางภาพไปยังแนวทางนั้น ไปสู่เมืองอเมริกันเล็กๆ แม้ว่าเราจะเป็นคนอังกฤษก็ตามที!”
   บัตเลอร์ให้ความเห็นว่า “มันต้องเป็นนิวอิงก์แลนด์ครับ นั่นเป็นส่วนสำคัญของเรื่องราว ผมเคยใช้เวลาอยู่ที่นั่น และมันก็เหมือนกับการอยู่กับบ้านที่มีขอบประตูบิดเบี้ยวและรั้วโทรมๆ น่ะครับ…”
   ไนท์ตั้งข้อสังเกตว่า “ผมคิดว่าศิลปินทุกคนจะดึงแรงบันดาลใจมาจากสามแหล่ง คือประสบการณ์ส่วนตัวหรือความทรงจำ, สิ่งที่พวกเขาสังเกตหรือค้นคว้าและสุดท้ายคือจินตนาการครับ ถ้าคุณดึงอะไรจากสองแหล่งแรกไม่ได้ จินตนาการก็จะต้องถูกใช้อย่างหนัก และมันก็จะประสานร้อยเรียงทุกอย่างที่กล่าวถึงข้างต้น และอื่นๆ เข้าด้วยกันครับ”
   “ParaNorman มีภาพที่น่าทึ่งและเป็นการแสดงความเคารพที่น่าตื่นเต้นสำหรับสิ่งบันเทิงต่างๆ ที่เราโตขึ้นมากับมัน แต่มันยังกระตุ้นความประทับใจและความสงสารที่ลึกซึ้งด้วย แม้กระทั่งในช่วงเวลาขำขันและที่ไร้สาระที่สุด เราก็ยังปฏิบัติต่อประเด็นต่างๆ อย่างจริงจังครับ”
   บัตเลอร์เล่าว่า “หนังที่แอมบลินอำนวยการสร้างจากยุค 80s อย่าง The Goonies มีประกายวูบวาบ ความอบอุ่นและความน่าเอ็นดู และพวกเขาก็ไม่ได้ดูแคลนเด็กๆ ในหนังที่สนุกสนานตื่นเต้นเรื่องนี้ มันจะมีสิ่งที่เด็กๆ ต้องเจอในชีวิตประจำวันของโลกแห่งความเป็นจริง เช่นการเข้ากลุ่ม การเผชิญหน้ากับอันธพาล รวมถึงสิ่งที่พวกเขาไม่เคยเจอในสถานการณ์ปกติ อย่างเช่นการโจมตีของซอมบี้น่ะครับ”
   เฟลเล่าว่า “ผมเองก็เคยดูหนังพวกนั้นเหมือนกัน ตอนที่ผมเป็นวัยรุ่น พวกมันมีความพิเศษ และกล่าวถึงประเด็นต่างๆ แม้ว่าจะมีเรื่องของบ้านผีสิงก็จริง แต่ ParaNorman ก็พูดถึงการกลั่นแกล้ง แต่ไม่ใช่ในเชิงสั่งสอน และบทของคริสก็นำเรื่องราวของนอร์แมนและผู้ชมไปสู่ตอนจบที่แข็งแรงจริงๆ ครับ”
   “หนังเรื่องนี้มีหัวใจครับ มันทั้งดรามา ทั้งสะเทือนอารมณ์ เต็มไปด้วยคอเมดี แอ็กชันและการผจญภัย นอกจากนี้ เรายังตื่นเต้นที่จะผลักดันให้มันยิ่งใหญ่ขึ้นในทิศทางต่างๆ เหล่านี้ รวมถึงในทั้งสองฟากฝั่งของสเกลสต็อป โมชันในแง่ของสโคปและการเคลื่อนไหวด้วยครับ”
   ทริสแทน โอลิเวอร์ ผู้กำกับภาพสต็อป โมชันชื่อดังประทับใจกับบทภาพยนตร์เรื่องนี้และมุมมองทะเยอทะยานที่ผู้กำกับมีต่อเนื้อหานี้ ทั้งสามคนร่วมกันระดมความคิดสำหรับสิ่งที่ซุทเนอร์กล่าวชื่นชมว่าเป็น “มุมกล้องและการเคลื่อนไหวที่มีชีวิตชีวา ซึ่งจะผลักดันขอบเขตของสต็อป โมชันออกไปอีก”
   โอลิเวอร์กล่าวอธิบายว่า “สำหรับผม ในการถ่ายทำหนัง ผมจะต้องมีวิสัยทัศน์จากบนลงล่างเพื่อให้ทุกอย่างสอดคล้องต่อเนื่อง รวมถึงผมต้องร่วมงานกับผู้กำกับด้วย หนังเรื่องนี้ใหญ่กว่าทุกเรื่องที่ผมเคยทำมาแต่ผมมาถึงจุดๆ นี้ในอาชีพของผม ที่ผมมองหาสิ่งที่แตกต่างในหนังทุกเรื่อง ภาพอาร์ตเวิร์คคอนเซ็ปต์ของ ParaNorman ที่ผมได้ดูทำให้ผมประทับใจ ผมรู้จักแซมมากว่า 20 ปีแล้ว และผมก็ชื่นชอบความกระตือรือร้นของคริสในทันที บทของเขาเป็นบทที่สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่ผมเคยทำงานมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในองก์ที่สามน่ะครับ”
   “ตอนที่ผมนั่งคุยกับคริสและแซมในช่วงเริ่มแรก เราได้คุยกันว่าลุคหลักๆ ของ ParaNorman จะเป็นอย่างไร รวมทั้งแรงบันดาลใจและข้อมูลอ้างอิงสำหรับหนังเรื่องนี้ด้วย ผมนำ ‘รีลมู้ด’ จากคลิปหนังและภาพถ่ายจากหนังเรื่องต่างๆ มาให้พวกเราดู และพวกเขาก็สนใจ เราทุกคนมาจากอังกฤษ เราก็เลยพูดภาษาเดียวกันครับ!”
   เขาเล่าว่า “มันไม่แปลกที่มีผู้กำกับสองคนอยู่ในอนิเมชั่น ผมเคยทำงานในโปรเจ็กต์แบบนั้นมาแล้ว และมันก็เวิร์คมากสำหรับ ParaNorman คริสและแซมเติมเต็มช่องว่างของกันและกันในกระบวนการนี้ได้เป็นอย่างดีครับ”
   เฟลเล่าว่า “อนิเมชั่นแบบนี้เหมาะกับการมีผู้กำกับสองคน ผมกับคริสดูเหมือนจะคลิกกัน และเติมเต็มกันและกัน หนังเรื่องนี้เป็นหนังฟอร์มยักษ์ที่เราต้องควบคุมให้อยู่ แต่เราก็มีวิสัยทัศน์เหมือนๆ กันและเราก็ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กันครับ”
   “เราตัวติดกันเลยครับ” บัตเลอร์กล่าวเสริม “การไม่แบ่งแยกงานเป็นสิ่งสำคัญ ในตอนเริ่มต้น เราพยายามที่จะคิดไปในทางเดียวกัน และโดยส่วนใหญ่แล้ว เราก็ดูทุกอย่างด้วยกัน คุยกัน และเราก็จะคิดให้ได้เหมือนกันก่อนที่จะเดินหน้า เรารู้ว่า ParaNormann คืออะไรและทุกช่วงเวลาของมันควรจะเป็นอย่างไร แต่บางครั้ง เราก็ต้องคุยถึงวิธีการต่างๆ ในการนำเสนอสิ่งเหล่านั้น ระหว่างการถ่ายทำ เราอาจจะไปเยี่ยมส่วนต่างๆ หรือพูดคุยกับอนิเมเตอร์ แต่ทุกช็อตจะถูกตรวจสอบและพูดคุยจากเราทั้งคู่ก่อนครับ”
   “แม้ว่าเราจะไม่เคยพบกันมาก่อน เราต่างก็เคยทำงานในหนังเรื่องเดียวกันมาเมื่อหลายปีก่อน แต่ในช่วงเวลาต่างกัน ผมวาดภาพสตอรีบอร์ดของ The Tale of Despereaux ในช่วงสั้นๆ ก่อนที่แซมจะมารับหน้าที่ผู้กำกับ ตอนนี้ เราก็เลยมาชดเชยเวลาที่ขาดหายไปครับ!”
   ประสบการณ์ในอดีตของทั้งคู่ในแวดวงอนิเมชั่น สต็อป โมชันหมายถึงว่าพวกเขารู้ว่าจะต้องใช้อะไรถึงจะสร้างและเติมเต็มโลกของเด็กผู้ชายและซอมบี้ผู้รุกราน ซึ่งบ่อยครั้งจะอยู่ในลักษณะจำลอง ขึ้นมาได้
   บัตเลอร์ตั้งข้อสังเกตว่า สุนทรียศาสตร์และกระบวนการสต็อป โมชันเองยังต้องอาศัย “การบันทึกความเป็นธรรมชาติ ไม่ใช่ความสมจริง ในการแสดง ในอนิเมชั่นและการดีไซน์”
   “สำหรับผู้ชม มุมมองแรกสู่โลกของนอร์แมนคือการที่วิญญาณมีเวลาให้กับเขามากกว่า พวกเขามีเวลาชั่วกาลนานเลยนี่ครับ แล้วเขาก็สามารถสื่อสารกับพวกวิญญาณได้ดีกว่าด้วย เขามีพรสวรรค์พิเศษที่แบ่งแยกเขาจากคนอื่นๆ แต่พรสวรรค์ของเขานั่นแหละที่สามารถปกป้องเมืองจากคำสาป 300 ปีได้ หัวใจของเรื่องราวนี้คือการที่เขาเกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้งขึ้นกับทั้งคนที่มีชีวิตอยู่และวิญญาณ รวมถึงการที่ครอบครัวของเขาเองยอมรับและรับรู้ว่าเขาไม่เหมือนใครด้วย”
   ในช่วงการเตรียมงานสร้าง การกำกับศิลป์และการวาดสตอรีบอร์ดเกิดขึ้นก่อน เพราะผู้สร้างภาพยนตร์ทุกคนรู้ดีจากประสบการณ์ถึงความสำคัญของนักวาดภาพสตอรีบอร์ดในการวาดภาพทุกฉากและทุกตัวละครขึ้นมา “มันทำให้ผู้กำกับมีอำนาจควบคุมเหนือรายละเอียดมากมายที่จะเกิดขึ้นตามมาได้มากขึ้นค่ะ” ซุทเนอร์กล่าว
   แม้ว่ากระบวนการนี้จะสำคัญต่อภาพยนตร์ไลฟ์แอ็กชันขนาดไหน มันก็สำคัญยิ่งกว่าสำหรับภาพยนตร์อนิเมชั่น บัตเลอร์อธิบายว่า “มันไม่เหมือนไลฟ์แอ็กชัน ที่คุณสามารถใช้กล้องหลายตัวหรือเทคใหม่ได้ อนิเมเตอร์ขยับทีละเฟรมๆ ดังนั้น คุณก็ต้องรู้ว่าคุณจะได้ช็อตอะไรก่อนที่คุณจะลงมือทำเสียอีก ประโยชน์ของการทำสตอรีบอร์ดคือการสามารถวาดภาพหนังทั้งเรื่องขึ้นจากบท ซึ่งบ่อยครั้งก็จะมีการใส่ภาพไอเดียใหม่ๆ เข้าไปด้วย และงานที่ได้ก็จะถูกส่งตรงไปให้กับแผนกกล้องครับ”
   “มันเกือบจะเหมือนกับหนังสือการ์ตูนขนาดยักษ์ และแน่นอนว่า นักวาดภาพเรื่องราวก็จะต้องวาดภาพได้ และบอกเล่าเรื่องราวได้ ถ้าจะให้ดี พวกเขาควรจะมีทักษะในการใส่มุขด้วยนะครับ!”
   เฟลเล่าว่า “ทั้งคริสและผมต่างก็เคยวาดภาพสตอรีบอร์ดมาก่อน และเราก็จะลงมือสเก็ตช์บางฉากด้วยตัวเอง เราจะลองไอเดียของกันและกันและดูว่าอันไหนที่เวิร์ค อันไหนไม่เวิร์ค ด้วยความรู้สึกที่ไม่กดดัน เราก็จะทำงานได้อย่างรวดเร็ว เราเป็นคนที่พูดถึงทุกอย่างตั้งแต่การเล่าเรื่อง จนถึงงานกล้องและงานแสดง การวาดภาพสตอรีบอร์ดเป็นสิ่งที่ผมพบว่ามีค่ามาก และเป็นหนึ่งในตอนที่ผมชอบที่สุดในการสร้างหนังอนิเมชั่นด้วย”
   บัตเลอร์พบด้วยว่า “บางสิ่งที่นักวาดภาพใส่เข้ามาอาจเป็นแรงบันดาลใจให้ผมเปลี่ยนแปลงตัวละครหรือโลเกชัน โดยผมจะกลับไปรีไรท์บทใหม่ครับ”
   “ผมเคยร่วมงานกับทีมงาน ParaNorman หลายคนใน Coraline เราก็เลยมีวิธีการสื่อสารกันทางลัด นี่เป็นทีมงานที่สนิทกันมาก และพวกเขาก็มีประสบการณ์คร่ำหวอดในด้านสต็อป โมชัน พวกเราบางคนเคยร่วมงานกันมาก่อนหน้า Coraline ด้วยซ้ำไป เราโตขึ้นมาในวงการนี้ครับ”
   ในกระบวนการนี้ ทุกคนที่ไลก้าทำงานกับมอนิเตอร์ LCD จอแบนซินทิคของวาคอม ซึ่งทำให้พวกเขาสามารถใช้ปากกาอินเตอร์แอ็กทีฟวาดลงบนหน้าจอได้โดยโดยตรง บนปลายปากกาและยางลบมีจุดรองรับแรงกดถึง 1,000 ระดับ เพื่อให้ได้การควบคุมภาพที่แม่นยำ ในขณะที่หน้าจอจะมีสแตนด์ที่ปรับระดับได้ เพื่อให้ได้มุมการทำงานที่เหมาะสมที่สุด
   บัตเลอร์ตั้งข้อสังเกตว่า “ด้วยซินทิค เราสามารถสสร้างหนังทั้งเรื่องจากพาเนลสตอรีบอร์ด พร้อมด้วยเสียง ดนตรีและไดอะล็อค เราสามารถดูมันเพื่อทำให้แน่ใจว่ามันจะออกมาดีน่ะครับ”
   เฟลกล่าวชื่นชมว่า “ในการมาทำงานใน ParaNorman ที่ไลก้า ผมประทับใจกับโครงสร้างและการดำเนินงานของที่นี่นมาก มันอยู่ในที่ห่างไกลอย่างโอเรกอน ห่างจากกระแสเมนสตรีม และอุดมไปด้วยเทคโนโลยีเก่าและใหม่ นี่เป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นสำหรับอนิเมชั่น โดยเฉพาะในสถานที่ที่มีความคิดก้าวหน้าแบบนี้ครับ”
« Last Edit: July 29, 2012, 07:40:19 PM by happy »

happy on July 29, 2012, 07:43:09 PM

ขั้นตอนการพูด

               การนำเสนอตัวละครในอนิเมชั่นเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบด้านการแสดงหลายอย่าง และงานพากย์ก็เป็นส่วนหนึ่ง ตรงข้ามกับความเชื่อส่วนใหญ่ เสียงพากย์จะถูกบันทึกไว้ก่อน แล้วอนิเมเตอร์ถึงค่อยนำผลงานของพวกเขามาผสมผสานกับเสียงพากย์ สำหรับ ParaNorman งานพากย์ส่วนใหญ่ถูกบันทึกเสียงในปี 2010 ช่วงกลางปีแรกของการถ่ายทำ
   เช่นเดียวกับในภาพยนตร์ไลฟ์แอ็กชัน ทีมงานสร้างเริ่มระดมความคิดเกี่ยวกับนักพากย์และตัวผู้กำกับก็เป็นผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้าย แบบดีไซน์ตัวละครจะถูกวางไว้ระหว่างที่พวกเขาฟังเสียงนักพากย์ผู้มีโอกาสได้รับเลือก ผู้อำนวยการสร้างเอรีแอนน์ ซุทเนอร์ให้ความเห็นว่า “เราไม่ได้เลือกนักพากย์จากรูปร่างหน้าตา แต่จากเสียงของพวกเขา มันแตกต่างจากงานสร้างหนังทั่วๆ ไปตรงที่เราพยายามไม่มองภาพเฮดช็อตน่ะค่ะ”
   ผู้กำกับคริส บัตเลอร์ตั้งข้อสังเกตว่า “โดยรวมแล้ว เราต้องการได้เสียงที่มีเอกลักษณ์ที่สามารถเข้ากันได้ มันจะต้องมีความเป็นเสียงดนตรี...”
   “...หรือการผสมผสานกันของเสียง” ผู้กำกับแซม เฟลกล่าวเสริม “มันเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องหานักแสดงที่สามารถรับมือกับเรื่องราวที่มีระดับหลากหลายนี้ได้ ทั้งส่วนที่ตลก แสบซ่าส์ รวมถึงส่วนที่อ่อนไหวและสะเทือนอารมณ์ด้วย หนังทั้งเรื่องจะต้องมีเสียงที่ใช่ เราก็เลยใช้เวลาพักใหญ่เพื่อเลือกคนที่เราต้องการ ซึ่งเราก็ได้ทุกคนตามที่เราต้องการครับ”
   ซุทเนอร์กล่าวว่า “ก่อนหน้าที่นักพากย์จะถูกเลือกมา เราได้ทดลองอ่านบทกัน ซึ่งบางส่วนก็ถูกคริสแต่งเติมให้ตลกมากขึ้น ดังนั้น พอเราได้ตัวนักพากย์มาแล้ว เราก็เลยรู้ว่าเราต้องการอะไรจากเสียงของพวกเขาน่ะค่ะ”
   “ในบรรดานักแสดงเด็ก เราต้องการคนที่จะทำตัวเป็นธรรมชาติ แบบไม่สะทกสะท้านกับอะไร เหมือนในรายการพิเศษ Charlie Brown ในยุค 70s ที่เด็กก็คือเด็ก ซีรีส์ใหม่ๆ ที่เรานึกถึงก็มี Freaks and Geks อัลลิสัน โจนส์เป็นผู้กำกับฝ่ายคัดเลือกนักแสดงในเรื่องนั้น ฉันก็เลยเขียนจดหมายหาเธอ ขอให้เธอมาทำงานกับเรา และเราก็โชคดีที่ได้ตัวเธอมาค่ะ”
   ตัวละครทั้งหมดจะต้องถูกแบกรับโดยนอร์แมน และเฟลก็ตั้งข้อสังเกตว่า “เป็นเรื่องยากที่จะเจอเด็กที่มีทั้งความสามารถและความอ่อนไหว”
   “แต่เราได้เห็นการแสดงที่น่าอัศจรรย์ของโคดี้ สมิท-แม็คฟีย์ใน The Road แล้ว และเราก็รู้สึกว่า เขาสามารถแบกรับหนังเรื่องได้ เพื่อที่ผู้ชมจะได้สนใจติดตามการเดินทางของเด็กชายคนนี้น่ะครับ”
   เมื่อถูกทาบทามสำหรับ ParaNorman สมิท-แม็คฟีย์ก็ทึ่งกับข้อคิดของเรื่องที่ต่อต้านการกลั่นแกล้ง เขาตั้งข้อสังเกตว่า “นี่คือเด็กที่ถูกเด็กคนอื่นๆ ล้อ แม้กระทั่งพี่สาวของเขาเอง แต่เขากลับเป็นคนที่พยายามกอบกู้เมืองแห่งนี้และนำทุกคนมาร่วมแรงร่วมใจกัน เจ๋งไปเลยครับ!”
   “ซอมบี้มีแนวหนังของตัวเอง ซึ่ง ParaNorman ก็ตระหนักถึงเรื่องนี้ดี ผมชอบความรู้สึกน่าขนลุกโดยรวมของเรื่องครับ”
   เทมเพสท์ เบลดโซ ผู้มีผลงานแสดงตั้งแต่เด็กๆ ต้องการจะเป็นส่วนหนึ่งของทีมพากย์เพราะเธอ “เป็นแฟนพันธุ์แท้ของหนังสยองขวัญ และฉันก็ชื่นชอบเรื่องน่าขนลุกตั้งแต่เด็กๆ แล้วค่ะ ฉันเองเคยเจอกับเรื่องผีมาแล้วด้วยตัวเอง ในโรงแรมในอัลบูเคอร์คี ที่ใช้ถ่ายทำน่ะค่ะ...”
   “ตอนเป็นเด็ก ฉันเป็นเด็กแบบที่คนจะเรียกว่าจิตวิญญาณเก่าแก่ และชื่อของฉันก็ไม่เหมือนคนอื่น ถ้าคุณไม่เหมือนกับคนอื่นๆ คุณก็จะโดนล้อบ่อยๆ แต่ฉันรู้สึกว่าทุกคนต่างก็เคยอยู่ในตำแหน่งแห่งที่พวกเขารู้สึกว่าตัวเองแตกต่างและอึดอัด ดังนั้น ในเรื่องนี้ คุณก็จะรู้สึกว่าตัวเองเป็นนอร์แมนทันทีค่ะ”
   นักแสดงหญิงที่มีความเห็นใจนอร์แมนมากกว่าตัวละครของเธอเองตั้งข้อสังเกตว่า “นายอำเภอฮูเปอร์ ตัวละครของฉันมั่นใจกับอำนาจของตัวเองมากเกินไปน่ะค่ะ”
   “ฉันดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโลกที่น่าอัศจรรย์ใจนี้ ที่เกิดขึ้นจากความคิดสร้างสรรค์ของสต็อป โมชันสำหรับเรื่องราวที่น่าติดตามนี้”
   เบลดโซและนักแสดงคนอื่นๆ เป็นส่วนหนึ่งของโลกใบนั้นมากกว่าที่พวกเขาคาดคิดไว้เสียอีก ในตอนที่พวกเขาบันทึกเสียงไดอะล็อคสำหรับ ParaNorman เซสชันของพวกเขาก็จะถูกบันทึกในรูปแบบดิจิตอล และภาพเหล่านั้นก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลอ้างอิงสำหรับช่างปั้นและอนิเมเตอร์ที่จะใช้ทำงานกับหุ่นเชิด ด้วยความที่คิวและแรงบันดาลใจไม่ได้เกิดขึ้นจากการอ่านบทอย่างเดียว แต่จากการออกท่าทางด้วยเช่นกัน
   ซุทเนอร์ตั้งข้อสังเกตว่า “มันเต็มไปด้วยตัวละครมากมาย ไม่เพียงแต่สำหรับนักพากย์เท่านั้น แต่สำหรับอนิเมเตอร์ด้วย เรื่องนี้มีศักยภาพมากมายสำหรับเรื่องตลกและเรื่องสะเทือนอารมณ์ค่ะ”
   แบรด ชิฟฟ์ ซูเปอร์ไวเซอร์ฝ่ายอนิเมชั่นให้ความเห็นว่า “วิธีการทำงานของอนิเมเตอร์คือคุณจะนั่งฟังแทร็คเสียงซ้ำแล้วซ้ำอีก คุณจะอยากได้ยินทุกจังหวะของเสียงนั้น รวมทั้งโทนของเสียงด้วยเพราะมันช่วยเราในการหาคำตอบว่าตัวละครพวกนี้เป็นใครน่ะครับ”
   “แล้วก็มี ‘ข้อมูลอ้างอิง’ ซึ่งก็คือฟุตเตจไลฟ์แอ็กชันที่บันทึกภาพอนิเมเตอร์ที่ตีความตัวละครนั้นๆ บางครั้งที่คุณมอง คุณอาจนึกว่า ‘ทำไมมันไม่เหมือนกับที่ฉันคิดเอาไว้เลยล่ะ’ แล้วคุณก็จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการของคุณเสียใหม่ บางอย่างที่เราทำก็มีประโยชน์ แต่ภาพออกมาไม่สวยซักเท่าไหร่ จนคุณได้แต่หวังว่ามันคงจะไม่ปรากฏในวิดีโอเบื้องหลัง...”
   บัตเลอร์กล่าวว่า “เมื่อคุณรู้สึกถึงน้ำหนักของการเคลื่อนไหว คุณจะรู้สึกถึงน้ำหนักของอารมณ์ด้วยเช่นกัน ถ้าตัวละครตกอยู่ในอันตราย คุณจะรู้สึกว่าพวกเขาอยู่ในอันตรายจริงๆ”
   หนึ่งในแรงบันดาลใจ “อ้างอิง” ที่ชิฟฟ์ชื่นชอบมากที่สุดใน ParaNorman คือ “การที่อนิเมเตอร์คนหนึ่งมัดไม้กวาดไว้กับขาเพื่อที่เขาจะได้รู้สึกว่าซอมบี้เดิน หรือลากขายังไง ด้วยความความหนักอึ้งน่ะครับ สำหรับแอ็กชันของมิทช์ ผมได้ดูฟุตเตจของการปล่อยบอลลงและเตะลูก และการที่ขาของผู้เล่นจะลอยขึ้นไปเตะบอลอย่างแรง ภาพของคอร์ทนีย์ [พี่สาวนอร์แมน] ยืนอยู่ตรงประตูมองดูมิทช์ [ที่เธอหลงรัก]ที่ [อนิเมเตอร์] เจสัน สตอลแมนได้สร้างขึ้นมาเป็นอะไรที่งดงามมาก คุณจะเห็นอะไรหลายๆ อย่างในดวงตาของเธอครับ”
   สตอลแมน ผู้แสดงตามฉากนั้นประกบอนิเมเตอร์อีกคนหนึ่งที่ยืนตรงหน้ามิทช์กล่าวยืนยันว่า “คุณจะต้องเข้าถึงสิ่งที่อยู่ในดวงตาครับ มีอารมณ์มากมายแค่เพียงสบตาครั้งเดียว ในฐานะอนิเมเตอร์ คุณก็เหมือนนักแสดงสมทบท ผมพบว่ากระบวนการ ‘อ้างอิง’ ที่ผมได้สัมผัสเป็นครั้งแรกระหว่างการทำงานในหนังสวิสเมื่อหลายปีก่อน เป็นผลดีกับงานของผม มันทำให้อนิเมเตอร์เข้าถึงรูปแบบของฉากนั้นๆ เราเข้าถึงจินตนาการของตัวเองแล้ว และกระบวนการนี้ก็ช่วยผลักดันมันยิ่งขึ้นไปอีก มันเป็นการย้อนกลับไปเป็นเด็กและเล่น ‘ติ๊งต่าง’ น่ะครับ”
   “ใน ParaNorman ผมคิดว่าอนิเมเตอร์ทุกคนต่างก็อินกับการแสดง สำหรับช็อตที่คอร์ทนีย์ห้อยขาตรงขอบโซฟาและคุยโทรศัพท์ไปทาเล็บไป ผมต้องเห็นว่าผมจะเน้นส่วนต่างๆ ของไดอะล็อคด้วยการเคลื่อนไหวของขาเธอได้อย่างไร เพราะเราได้ยินเสียงของเธอ [ที่บันทึกไว้เรียบร้อยแล้วโดยแอนนา เคนดริค] แต่ไม่เห็นหัวหรือใบหน้า เราจะเห็นแค่ขาของเธอเท่านั้น ดังนั้น ขาที่เต็มไปด้วยขนของผมก็เลยไปปรากฏในวิดีโอที่สตูดิโอของไลก้า ผมฟังเสียงพากย์ของแอนนาซ้ำแล้วซ้ำอีก เธอทำงานได้อย่างดีมากๆ จนผมต้องให้แน่ใจว่าจะทำงานที่ดี ‘กลับไป’มันเป็นการร่วมมือกันครับ แม้ว่าผมจะไม่เคยพบแอนนาก็ตาม การที่ผมขยับนิ้วหัวแม่เท้าและเท้าของผมเข้ากันได้ดีกับไดอะล็อค ผมต้องคำนึงว่าขาของคอร์ทนีย์จะยาวกว่า และแสงก็จะแตกต่างออกไป แต่สตาฟลำดับภาพให้ผลิตสิ่งที่ช่วยจับคู่การเคลื่อนไหวของผมกับเสียงพากย์ และผมก็ใช้มันเป็นตัวนำอนิเมชั่นสำหรับช็อตนั้นของผมครับ”
   สตาฟฝ่ายลำดับภาพและผู้กำกับยังมุ่งมั่นที่จะดูฟุตเตจ “อ้างอิง” ที่ถูกลำดับภาพรวมกันและถูกใส่เสียงพากย์ประกอบเข้าไปด้วย เนื่องด้วยนี่เป็นโอกาสที่จะก้าวข้ามสตอรีบอร์ดไปสู่เทคสุดท้ายได้อย่างสบายๆ และได้มีการปรับเปลี่ยนตามความจำเป็นสำหรับกับกันและกันและอนิเมเตอร์ด้วย มีการพูดถึงจุดมุ่งหมายและการจัดฉากของช็อตนั้นๆ รวมถึงแรงจูงใจของตัวละครเช่นเดียวกับภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ด้วย หลังจากนั้น ซีเควนซ์นั้นๆ ถึงจะเดินหน้าต่อไปตามกระบวนการงานสร้าง ในขณะที่ผู้กำกับจะไปทำงานในซีเควนซ์อื่นๆ และกลับมาเมื่อจำเป็น
   การเพิ่ม “ข้อมูลอ้างอิง” ในโลกอนิเมชั่นสอดรับกันดีกับธรรมเนียมอนิเมชั่นที่สืบทอดผ่านกาลเวลาของการที่นักพากย์จะเป็นเหมือนประตูเข้าไปสู่ตัวละคร ด้วยการที่ผลงานของพวกเขาจะเกิดขึ้นก่อนอนิเมเตอร์ด้วยซ้ำไป ผู้อำนวยการสร้างและอนิเมเตอร์หลัก ทราวิส ไนท์เล่าว่า “สำหรับอนิเมเตอร์ เสียงพากย์ที่ถูกบันทึกไว้ก่อนเป็นสิ่งที่เราฟัง และดู อย่างละเอียดเพื่อมองหาสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่จะทำให้ตัวละครมีบุคลิกมากขึ้น จากนั้น เราถึงค่อยพยายามใส่เสียงลงไปในการเคลื่อนไหวของตัวละครของเราครับ”
   “ในหนังเรื่องนี้ ไอเดียของเราก็คือการสร้างการเคลื่อนไหวที่จะให้ความรู้สึกที่เป็นธรรมชาติมากขึ้น เราเรียกสไตล์อนิเมชั่นของเราว่า ‘ความเป็นธรรมชาติที่บิดเบี้ยว’ ที่เกิดขึ้นจากรายละเอียดสมจริงที่เกิดจากการสังเกตการณ์อย่างดี เราต่างก็ตั้งใจที่จะสร้างตัวละครของคริสให้เป็นคนที่คุณแคร์ และทำให้ ParaNorman เป็นหนังที่น่าตื่นเต้นและมีความสำคัญครับ”
   ในทำนองเดียวกัน บัตเลอร์รายงานว่าเขา “ชื่นชอบเซสชันบันทึกเสียงกับนักพากย์ของเรา พวกเขาให้อะไรกับกระบวนการนี้มากเหลือเกินและทำให้มุขของผมตลกขึ้นด้วย สิ่งที่การออกเสียงของพวกเขามีผลต่อบททำให้ผมทึ่งมากครับ”
   “เราเรียนรู้ที่จะไม่ให้ทัคเกอร์ อัลบริซซี [ผู้พากย์เสียง นีล เพื่อนของนอร์แมน) ได้เตรียมตัวมากเกินไป แต่เราจะเซอร์ไพรส์เขาด้วยบท ซึ่งก็จะทำให้การอ่านบทและปฏิกิริยาตอบสนองของเขาเป็นเรื่องสดใหม่ครับ”
   เฟลเล่าว่า “ทัคเกอร์เป็นการค้นพบสำหรับเราครับ ตอนที่เราได้ยินเสียงของเขา เราก็บอกว่า ‘นั่นล่ะ นีล’ ในตอนที่บันทึกเสียงด้วยกัน เขาและโคดี้มีปฏิกิริยาเคมีที่ดีร่วมกันเพราะทัคเกอร์อายุน้อยกว่าน่ะครับ”
   อัลบริซซี ผู้ยังไม่ก้าวเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นดี พูดถึงตัวละครของเขาว่า “ซื่อสัตย์กับเพื่อน และคึกคักด้วยพลังงานเปี่ยมล้น ในการพากย์เสียงเขา ผมจะต้องมีพลังงานเยอะมาก และพยายามทำให้บทพูดปกติออกมาตลกจริงๆ มันเจ๋งมากที่ได้เห็นเสียงของผมออกมาจากตัวละครน่ะครับ!”
   “ผมคิดว่าผมก็เหมือนนีลครับ เพราะเราทั้งคู่ต่างก็พิลึกนิดๆ มีกระเหมือนกันและผมแดงเหมือนกัน เพียงแต่ผมของผมไม่ได้หยักศก พี่ชายผมก็เหมือนนอร์แมน เพราะเขาขี้อายและมีผมแบบเดียวกันครับ”
   แอนนา เคนดริคและอีเลน สตริทชพากย์เสียงพี่สาวและยายของนอร์แมน ตามลำดับแม้ว่าคุณยายของเขาจะล่วงลับไปแล้ว แต่นอร์แมนก็ยังคงติดต่อกับเธออย่างใกล้ชิด ซุทเนอร์กล่าวอย่างตื่นเต้นว่า “ด้วยเสียงที่อบอุ่นและเหลือเชื่อของอีเลน คุณจะรู้สึกถึงชีวิตที่เคยผ่านมาของเธอ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งสำคัญต่อฉากของเธอมากๆ ด้วยจังหวะที่ไม่มีใครเทียบ เธอได้ทำให้ตัวละครของเธอเป็นคนที่น่าเห็นใจแต่ก็ไม่ได้หวานเลี่ยนเกินไปเลยค่ะ”
   ด้วยความที่ตัวละครทั้งสองไม่ได้อยู่ในมิติเดียวกัน เคนดริคและสตริทช์เลยไม่ได้บันทึกเสียงด้วยกัน แต่นักแสดงหญิงทั้งคู่เคยมีความเชื่อมโยงกันด้วยผลงานที่ใช้เสียงมาก่อน โดยในปี 1970 สตริทช์เคยร้องเพลงคลาสสิกของสตีเฟน ซอนด์เฮม “The Ladies Who Lunch”จากละครเรื่อง Company ของเขา และมีความเกี่ยวพันกับเพลงนั้นตั้งแต่นั้นมา ในขณะที่การแสดงแจ้งเกิดของเคนดริคในภาพยนตร์ปี 2003 เรื่อง Camp ก็รวมถึงการร้องเพลงเดียวกันนี้ในภาพยนตร์ด้วย
   ผู้ที่ทำงานเดี่ยวสลับกับทำงานร่วมกับนักพากย์คนอื่นๆ คือคริสโตเฟอร์ มินท์-แพลซ บทอัลวิน ผู้คุกคามนอร์แมนที่โรงเรียน คือบทที่เขาอยากเล่นเพราะด้วยความที่ “ผมเคยถูกแกล้งที่โรงเรียน ในการพากย์เสียงบทนี้ ผมก็เลยนึกถึงเด็กที่ผมรู้จัก”
   “ในเรื่องการพากย์ แรงบันดาลใจสำหรับอัลวินของผมก็คือเสียงของแอนดี้ แซมเบิร์กใน Cloudy with a Chance of Meatballs เขาเป็นวายร้ายสุดฮาครับ”
   เฟลตั้งข้อสังเกตว่า “การเลือกคริสเป็นเรื่องแปลกตรงที่คนจะนึกถึงเขาในบทเด็กเนิร์ด แต่การให้เขาใช้เสียงตลกที่เปราะบางในร่างของขาใหญ่ประจำโรงเรียนแสดงให้เห็นว่าอัลวินคิดว่าเขาเป็นคนแกร่งแต่เขาก็ยังเป็นเด็กที่ตื่นกลัวอยู่ดีนั่นเองครับ”
   ในลักษณะคล้ายคลึงกัน เลสลีย์ แมนน์ ผู้ได้รับการทาบทามให้พากย์เสียงแม่ของนอร์แมน ตอบสนองต่อคำอธิบายถึงลูกชายของตัวละครของเธอ “เพราะตอนเป็นเด็ก ฉันรู้สึกเสมอว่าตัวเองเป็นคนนอกกลุ่ม รู้สึกเหมือนถูกกีดกันเสมอ แต่ในเกรดสี่ ฉันบอกว่าฉันจะเป็นนักแสดง และตอนนี้ มันก็ตลกดีนะคะที่ฉันสามารถใช้เสียงสูงของฉัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนเคยล้อเลียนฉันได้น่ะค่ะ”
   “ฉันได้ดูและรัก Caroline และไลก้าก็ส่งภาพตัวละคร ParaNorman มาให้ฉันดู เพื่อที่ฉันจะได้รู้ว่าฉันจะได้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างสรรค์กับอนิเมเตอร์ทั้งหมดเหล่านี้ แล้วฉันก็มีความสุขที่ได้มาทำงานโดยดูเหมือนยายเพิ้งด้วยค่ะ...”
   ผู้ที่ได้รับการทาบทามให้พากย์เสียงประกบแมนน์ในบทพ่อของนอร์แมน เจฟฟ์ การ์ลิน ผู้ซึ่งผลงานพากย์เสียงของเขารวมถึงภาพยนตร์อนิเมชั่นที่ได้รับรางวัลออสการ์สองเรื่องด้วย “ตอบตกลงที่จะทำงานในหนังเรื่องนี้เพราะผมสนใจเรื่องวิญญาณและตอนที่ผมเป็นเด็ก ผมก็ชื่นชอบหนังสยองขวัญด้วยครับ”
   “แต่พอคนบอกว่า ‘แหม การทำงานหนังอนิเมชั่นง่ายนะ’ ผมก็บอกพวกเขาว่า ‘ไม่เลย มันเข้มข้นมาก’ เพราะในหนังไลฟ์แอ็กชัน ระหว่างเทค คุณก็สามารถไปนั่งโต๊ะ ระหว่างที่พวกเขาจัดฉากใหม่โน่นนี่ มันผ่อนคลายครับ แต่ในหนังอนิเมชั่น คุณจะต้องใช้จินตนาการตัวเองเสมอ และคุณก็อาจต้องพากย์ฉากนั้นซ้ำแล้วซ้ำอีกได้”
   เคนดริคพูดถึงความลังเลที่จะมาพลิกบทบาทพากย์เสียงคอร์ทนีย์เพราะ “การพากย์เสียงทำให้ฉันทั้งตื่นเต้นและตื่นกลัวค่ะ  ฉันปลื้มมากที่ถูกทาบทามแม้ว่าฉันจะคิดว่า ‘แล้วถ้าฉันห่วยล่ะ’ แต่คอร์ทนีย์เป็นตัวละครที่งี่เง่า อารมณ์แปรปรวนและน่าทึ่งสำหรับฉัน จนฉันอยากจะรับบทนี้ค่ะ”
   เฟลตั้งข้อสังเกตว่า “แอนนามีอารมณ์ขันที่วิเศษสุดที่ทำให้เรารู้ว่าเธอจะถ่ายทอดความเปลี่ยนแปลงของคอร์ทนีย์ และแสดงให้เห็นว่าเชียร์ลีดเดอร์ในชุดกีฬาคนนี้มีอะไรมากกว่าที่เห็น และนำเสนอธีมของหนังเรื่องนี้ที่ว่า คนเราไม่ได้เป็นอย่างที่คุณคิดเสมอไปหรอกครับ”
   นักแสดงผู้ได้รับการเสนอชื่อชิงอคาเดมี อวอร์ดเล่าว่า “มันกลายเป็นการออกกำลังกายด้านการแสดงที่แท้จริง ตอนที่ฉันเริ่มทำงาน ฉันกังวลว่าฉันจะรู้สึกอึดอัดเมื่อยืนอยู่หน้าไมโครโฟน แต่มันตรงข้ามเลยค่ะ ฉันรู้สึกเหมือนฉันไม่มีขีดจำกัด ฉันไม่กังวลเกี่ยวกับเรื่องหน้าหรือตัวฉัน หรือการต้องไปให้ถึงจุดๆ นั้น พอฉันได้รับคำสั่งมา แล้วฉันก็จะพูดบทออกมาโดยไม่ต้องคิดอะไรมากเกินไปค่ะ”
   “อย่างไรก็ดี ด้วยความที่เราถูกบันทึกเทปไว้ พวกเขาก็ต้องยืนยันกับฉันว่า ฟุตเตจนี้จะไม่ถูกแพร่ออกไปเพราะบางครั้ง ฉันก็รู้สึกเหมือนตัวเองเป็นคนโง่ยังไงไม่รู้ วันหนึ่ง เคซีย์ แอฟเฟล็ค [ผู้พากย์เสียง มิทช์ คนที่คอร์ทนีย์แอบปิ๊ง] และฉันกำลังบันทึกเสียงด้วยกัน เขาก็พูดว่า ‘เบนกล้องไปที่เท้าของแอนนาสิ’ ฉันกำลังขยับเท้าท่าแปลกๆ น่ะค่ะ แต่ฉันก็ไม่รู้ตัวเลย ดังนั้น ฉันก็หวังว่าฉันจะถ่ายทอดเรื่องแบบนั้นในหนังที่ไม่ใช่อนิเมชั่นด้วย...”
   ไอเดียของการเลือกเคนดริคมาประกบแอฟเฟล็ค นักแสดงผู้ได้รับการเสนอชื่อชิงออสการ์อีกคนหนึ่ง เกิดขึ้นจากการจับคู่เสียงของพวกเขาด้วยกันของทีมงาน ก่อนหน้าที่นักพากย์ทั้งคู่จะเซ็นสัญญาด้วยซ้ำไป “วิธีการของพวกเขาเป็นวิทยาศาสตร์มากๆ ค่ะ” เคนดริคกล่าวชื่นชม
   เช่นเดียวกับเพื่อนร่วมเรื่องของเขา ตอนแรก แอฟเฟล็คก็รู้สึกหวั่นใจหน่อยๆ ก่อนที่จะพบว่ากระบวนการพากย์เสียง “เป็นอิสระมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การไม่ต้องกังวลว่าผมดูเป็นยังไง ผมไม่เคยทำงานในหนังอนิเมชั่นมาก่อน ปกติแล้ว เมื่อคนได้ยินเสียงผม พวกเขาจะไล่ผมออก ดังนั้น นี่ก็เป็นครั้งแรกเลยนะครับ!”
   “กลายเป็นว่ามันสนุกมาก ทุกคนทำให้ผมผ่อนคลาย มันเป็นประโยชน์มากในการได้ร่วมงานกับแอนนาและนักพากย์คนอื่นๆ ในห้องเดียวกัน ในเวลาเดียวกัน ผมทุ่มเทสมาธิให้กับการพากย์เสียงมิทช์ให้ออกมาใช่ และให้มันเกิดพร้อมกับสิ่งที่ผมได้ยินจากคนอื่นๆ”
   เฟลเล่าว่า “เคซีย์มีอารมณ์ขันแบบเจ้าเล่ห์ เขาก็เลยมีแอดลิบที่น่าประหลาดใจให้เรา แต่ก็เป็นไปตามบุคลิกตัวละครของเขาเสมอครับ”
   “เราพยายามจะรวมนักพากย์ให้อยู่ด้วยกันให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้” ซุทเนอร์กล่าว “ไม่ใช่แค่สำหรับการบันทึกเสียงเท่านั้น แต่เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครที่มีอยู่ก่อนแล้วให้ชัดเจนขึ้น เมื่อเจฟฟ์และเลสลีย์มารวมตัวกันเพื่อรับบทพ่อแม่ เราก็คาดหวังว่าจะมีการอิมโพรไวส์ และเราก็ไม่ผิดหวังเลยค่ะ”
   ไม่ว่าจะเป็นการทำงานแบบเดี่ยวหรือกลุ่ม เสียงพากย์ก็จะถูกบันทึกในอังกฤษ ลอสแองเจลิส แวนคูเวอร์และนิวยอร์ก ซิตี้ นักพากย์บางคนได้เยี่ยมชมสตูดิโอไลก้าเพื่อมองดูกระบวนการงานสร้างที่เปี่ยมด้วยความคิดสร้างสรรค์ เมื่อถึงเวลาที่แอฟเฟล็คพร้อมกับลูกๆ ของเขามาเยี่ยมชม ตารางการถ่ายทำก็ใกล้จะมาถึงบทสรุปและงานพากย์ทั้งหมดก็เสร็จสมบูรณ์กว่าหนึ่งปีก่อนหน้าที่การถ่ายทำจริงๆ จะสิ้นสุดลง
   แม้ว่าตารางการทำงานนั้นจะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการงานสร้างในภาพยนตร์อนิเมชั่นหลายเรื่อง แต่มันก็มีอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มันเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับ ParaNorman “เสียงของผมเริ่มเปลี่ยนครับ” สมิท-แม็คฟีย์เล่า “ในเซสชันสุดท้าย ผมทำเสียง [ที่ฟังดูเด็กๆ] ของนอร์แมนไม่ได้อีกแล้ว”
   เฟลตั้งข้อสังเกตว่า “เราทำงานทันเวลา หลังจากที่ย้อนกลับไปหาโคดี้ครั้งแล้วครั้งเล่า บทภาพยนตร์ยังอยู่เหมือนเดิม และเราก็ไม่ได้ต้องการจะเสริมเรื่องราว แต่เสียงของนอร์แมนได้พัฒนาขึ้น และเราก็ได้เปลี่ยนแปลงและขยับบางฉาก สำหรับหนังเรื่องนี้ มันเวิร์คที่เสียงของโคดี้ชัดเจนขึ้น เพราะเสียงของนอร์แมนก็เป็นเหมือนกัน”
   บัตเลอร์กล่าวว่า ความเสี่ยงนี้คุ้มค่าเพราะ “เสียงนั้นจะต้องให้ความรู้สึกสมจริง เพราะนี่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการเดินทางของเด็ก ที่เขียนและสร้างโดยคำนึงถึงเด็กๆ ครับ”

happy on August 06, 2012, 03:08:52 PM
 :) ::)