happy on July 13, 2012, 03:38:17 PM
สถาบันอาหาร จับมือกับ JCCU LAB สหกรณ์ญี่ปุ่น
ยกระดับมาตรฐานห้องแล็ปเพื่อผู้ส่งออกอาหารไทย


               สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ลงนามบันทึกความร่วมมือกับ JCCU LAB ของกลุ่มสหกรณ์ผู้บริโภคจากประเทศญี่ปุ่น แลกเปลี่ยนด้านวิชาการ ข้อมูล ศึกษา วิจัย พัฒนาบุคลากร และยกระดับห้องแล็ปเป็นหน่วยตรวจสอบและวิเคราะห์สินค้าเกษตรและอาหารเพื่อการส่งออกไปญี่ปุ่นตามมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยที่กำหนด หวังสร้างความมั่นใจ และรองรับความต้องการของผู้บริโภคญี่ปุ่นซึ่งมีแนวโน้มนำเข้าอาหารเพิ่มขึ้นทุกปี






               นายเพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหารเผยว่า ในนามของสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรมได้ทำพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ (JOINT  DECLARATION OF COOPERATION)  กับมร.อิชิโระ วาดะ ผู้แทนจากศูนย์ห้องปฏิบัติการของกลุ่มสหกรณ์ผู้บริโภคประเทศญี่ปุ่น หรือ Japanese Consumers’ Co-operative Union Laboratory (JCCU Laboratory) ซึ่งดำเนินงานในรูปแบบของสหกรณ์ผู้บริโภคที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 26 ล้านคนทั่วประเทศญี่ปุ่น และมีสหกรณ์ (Co-ops) ที่เป็นสมาชิกของ JCCU  รวมทั้งสิ้น 619 แห่ง มียอดขายรวม 3 แสนล้านเยนต่อปี โดยทั้ง 2 ฝ่ายตกลงที่จะร่วมมือกันใน 3  ด้านได้แก่ 1)การวิจัย  การตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ  การ Inspection และความร่วมมือทางด้านวิชาการอื่นๆ 2)การแลกเปลี่ยนการศึกษาดูงานของนักวิจัย นักวิชาการและนักวิทยาศาสตร์ระหว่าง JCCU กับสถาบันอาหาร  และ      3)การแลกเปลี่ยนข้อมูลการศึกษาวิจัยและข้อมูลการจัดอบรมทางวิชาการที่เป็นการส่งเสริมงานด้านความปลอดภัยอาหาร  โอกาสทางการค้าสินค้าอาหารระหว่างประเทศไทยกับญี่ปุ่น และกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องระหว่างกัน

                ปัจจุบัน JCCU นำเข้าทั้งสินค้าเกษตร เช่น  ผักสดแช่แข็ง และผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น Tokoyaki, กุ้งและไก่แปรรูป จากบริษัทที่ผลิตอาหารในไทยประมาณ 20 ราย  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่มีการร่วมทุนกับประเทศญี่ปุ่น เช่น เครืออายิโนะโมะโต๊ะ  โดย JCCU จะเป็นผู้ตรวจวิเคราะห์สินค้าเกษตรและอาหารด้วยห้อง Lab ของตนเอง   มีผู้ตรวจสอบทาง JCCU เดินทางมาตรวจสอบระบบการผลิตในสถานที่ผลิตของประเทศไทย  ส่วนการตรวจวิเคราะห์จะส่งเข้าไปตรวจวิเคราะห์ในห้อง Lab ของ JCCU  ในประเทศญี่ปุ่น  อย่างไรก็ตามในอนาคตทาง JCCU มีแนวโน้มจะนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารจากไทยเพิ่มมากขึ้น  ดังนั้นจึงมองหาหน่วยงานในประเทศไทยที่จะสามารถทำหน้าที่เป็นหน่วยตรวจสอบและวิเคราะห์สินค้าของไทยที่ญี่ปุ่นต้องการนำเข้าไปใช้เป็นส่วนประกอบ อาหาร โดยที่ไม่ต้องส่งสินค้าดังกล่าวเข้าไปตรวจสอบในห้องปฏิบัติการของ  JCCU ในประเทศญี่ปุ่น

                “ในระยะแรกฝ่ายบริการห้องปฏิบัติการ(แล็ป)ของสถาบันอาหาร จะได้รับการพัฒนาศักยภาพด้านการตรวจวิเคราะห์สารเคมีตกค้างและจุลินทรีย์ปนเปื้อนในสินค้าอาหารให้มีความสามารถเทียบเท่ากับห้องปฏิบัติการของ JCCU  โดยคาดว่าในอนาคตฝ่ายห้องแล็ป ของสถาบันอาหารจะเป็นหน่วยที่สามารถรองรับการตรวจวิเคราะห์ยาฆ่าแมลงตกค้างในสินค้าเกษตร  สารอาหารในผลิตภัณฑ์อาหาร และจุลินทรีย์ปนเปื้อนในสินค้าสัตว์น้ำที่ JCCU นำเข้าจากไทยไปจำหน่ายในตลาดญี่ปุ่นได้ โดยต้องมีการปรับตัวในด้านการพัฒนาความสามารถในการตรวจวิเคราะห์ดังกล่าว ซึ่งทาง JCCU จะให้ความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพของนักวิทยาศาสตร์  เทคนิควิธีการตรวจวิเคราะห์  และการควบคุมคุณภาพการตรวจวิเคราะห์ดังกล่าวให้แก่สถาบันอาหาร  นอกเหนือไปจากเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและอุปกรณ์ต่างๆ ที่สถาบันอาหารมีความพร้อมอยู่แล้ว”

                นอกจากฝ่ายบริการห้องปฏิบัติการ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงในด้านการตรวจวิเคราะห์สินค้าเกษตรและอาหาร เพื่อเป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยสำหรับการส่งออกไปญี่ปุ่นแล้ว    ด้านการวิจัยโดย ฝ่ายวิจัยและข้อมูล ด้านการตรวจรับรองระบบของโรงงานในไทยโดยส่วนงานตรวจรับรองระบบ ก็เป็นความร่วมมือที่ทั้งสองฝ่ายจะได้มีการหารือในรายละเอียดกันต่อไป

                 นายเพ็ชร กล่าวต่อว่า สำหรับความร่วมมือทางการค้าระหว่างกันนั้นอาจเป็นในแนวทางที่สถาบันอาหารจัดหาแหล่งสินค้าหรือบริษัทผู้ผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่ผลิตสินค้าตามที่ JCCU ต้องการนำเข้าไปจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่นให้  รวมทั้งสถาบันอาหาร เข้าไปช่วยพัฒนาและยกระดับระบบคุณภาพการผลิตรวม และตรวจวิเคราะห์คุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าทางห้องปฏิบัติการ เพื่อให้บริษัทผู้ผลิตดังกล่าวมีระบบคุณภาพการผลิตตรงตามมาตรฐานของ JCCU  และผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัยเป็นไปตามข้อกำหนดของ JCCU โดยในเบื้องต้นทาง JCCU ให้ความสำคัญกับสินค้าเกษตรที่ทางญี่ปุ่นนำเข้าไปเป็นส่วนประกอบหรือส่วนผสมอาหาร และสินค้าสัตว์น้ำ

                 “ความร่วมมือดังกล่าวนี้จะทำให้เกิดการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานการผลิต คุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหารของไทยให้ตรงกับความต้องการของผู้นำเข้าในตลาดญี่ปุ่น อีกทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับประเทศคู่ค้าสินค้าอาหารที่สำคัญของไทยที่จะทำให้เกิดการพัฒนาบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้เข้มแข็งด้วย นอกจากนี้การที่สถาบันอาหารได้รับการยอมรับจาก JCCU ให้เป็นหน่วยตรวจสอบและวิเคราะห์สินค้าเกษตรและอาหารที่ JCCU นำเข้าไปจำหน่ายในตลาดญี่ปุ่น  ยังเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า  JCCU ให้ความไว้วางใจและมั่นใจต่อคุณภาพและความสามารถของสถาบันอาหารเป็นอย่างมาก  ซึ่งนับว่าส่งผลดีต่อลูกค้าในอนาคตของสถาบันอาหารและอาจเป็นไปได้ว่าผู้นำเข้ารายอื่นๆ ของญี่ปุ่นอาจให้ความสนใจร่วมมือกับสถาบันอาหาร โดยให้สถาบันอาหารเป็นหน่วยวิเคราะห์สินค้า และตรวจสอบรับรองระบบการผลิตสินค้าที่ทางผู้นำเข้าจะนำเข้าไปจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่นในอนาคตได้” นายเพ็ชร กล่าว

                 ทั้งนี้ในปี 2554 ญี่ปุ่นมีการนำเข้าอาหารจากไทย มูลค่ารวม 4,451 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 31.7 ถือเป็นตลาดส่งออกอาหารของไทยเป็นอันดับ 2 รองจากตลาดอาเซียน และช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้(2555) ญี่ปุ่นนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 โดยสินค้าที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นได้แก่ ไก่แปรรูป เนื้อปลาปรุงแต่ง อาหารทะเลแปรรูป และเนื้อปลาแช่เย็น/แช่แข็ง ส่วนสินค้าที่มีการนำเข้าชะลอตัวลงอาทิ น้ำตาล กุ้งสดแช่เย็น/แช่แข็ง บะหมี่สำเร็จรูป และอาหารแปรรูปอื่นๆ ผลไม้กระป๋อง เป็นต้น
« Last Edit: July 13, 2012, 03:42:01 PM by happy »