บทสัมภาษณ์ “คนเลี้ยงยักษ์ จิก ประภาส ชลศรานนท์” ใน ภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่อง “ยักษ์”
คือ ครีเอทีฟ นักคิด นักเขียน กวี นักแต่งเพลง ผู้สร้างสรรค์บทเพลงวรรณกรรม อันหลากหลาย
คือ หัวกะทิ มือเขียนบท หัวโจก ผู้ก่อตั้ง พลิกโฉมหน้าวงการเพลง โทรทัศน์ ละคร ภาพยนตร์ ค่ายเพลง ให้กำเนิด ปลุกปั้นศิลปินบุคลากรระดับคุณภาพทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังในแวดวง บันเทิงศิลปวัฒนธรรมนับร้อยนับพัน
ณ วันนี้ในวัยขึ้นเลขต้นด้วย 5 ด้วยระยะเวลากว่า 6 ปีผู้ชายที่ชื่อ จิก ประภาส ชลศรานนท์พร้อมแล้วที่จะชวนทุกคนร่วมเดินทางไปกับฝันครั้งล่าสุดที่ใช้เวลา บ่มเพาะมากกว่า 10 ปี กับภาพยนตร์
แอนิเมชั่นเต็มรูปแบบที่มีชื่อสั้นๆ ว่า “ยักษ์”
Q. เอ่ยชื่อพี่จิก ประภาส ชลศรานนท์ ที่คนทั่วไปรู้จักกันดีในฐานะนักคิดนักเขียนนักแต่งเพลง ฯลฯ ผ่านประสบการณ์ทำนั่นโน่นนี่มาทั้งชีวิต แต่อยู่ๆ ทำไมถึงลุกขึ้นมาทำแอนิเมชั่นในตอนที่อายุขึ้นเลขห้า
J. อย่าขำผมนะถ้าผมจะบอกว่าผมไม่เคยคิดว่าตัวเองแก่เลย ก็แค่อายุมากขึ้น (หัวเราะ) โดยส่วนตัวแล้วอันนี้ เป็นวิถีทางนะไม่เกี่ยวกับหนังนะ คือตัวผมเป็นคนที่ทำอะไรไปเรื่อยๆ ผมชอบทำงานแบบวิ่งเหยาะ งานที่ทำทั้งทำทั้งแอบทำคือคนทั่วไปไม่รู้มีเยอะแยะ โชคดีที่ผมเป็นคนทำอะไรหลายอย่างได้พร้อมๆ กัน ถ้าถามว่าเรื่องการทำการ์ตูนแอนิเมชั่นเป็นสิ่งที่อยากทำมานานหรือยัง ต้องบอกว่าอยากทำมามากกว่าสิบปีแล้ว แต่ใจอย่างเดียวมันไม่พอ มันต้องพร้อมทั้งฟ้าดินและคน คนก็คือทีม ดินก็คือทรัพยากรทั้งหลาย อุปกรณ์ทั้งหลายส่วนฟ้าก็คือโอกาสและจังหวะ
เมื่อก่อนแอนิเม ชั่นมันต้องวาดทีละภาพใช้คนวาดเป็นโรงงานเลย ฝรั่งญี่ปุ่นเขาต้องจ้างข้ามประเทศจ้างไต้หวันจ้างอินเดีย คือรู้ว่าถ้าทำไปก็คงได้ประมาณหนึ่งที่ไม่ได้ดังใจทั้งหมด จนกระทั่งวันหนึ่งได้เจอเอ็กซ์ (ชัยพร พานิชรุทติวงศ์) ก็น่าจะตอนที่เขากลับมาจากอเมริกาใหม่ๆ ก่อนที่จะเอ็กซ์เขาไปทำปังปอนด์อีกนะ ณ วันนั้นด้วยโปรแกรมทำแอนิเมชั่นมันได้มีการพัฒนากันไปเยอะแล้ว มีคนทำกันอยู่เยอะแยะแต่ก็ยังแข็งๆ กันอยู่ วันแรกที่เจอเอ็กซ์เรานัดกันไปเจอกันที่ร้านกาแฟแถวๆ ถนนพระอาทิตย์ เรานั่งคุยกันหลายเรื่อง คุยเรื่องแอนิมชั่นที่เราชอบเขาชอบ คุยแล้วมันรู้เลยว่าคอเดียวกัน เขาเอางานสมัยเป็นนักศึกษามาให้ดู ผมก็เล่าความคิดของผมให้เขาฟังว่าผมมองเห็นแอนิมชั่นที่จะทำมันเคลื่อนไหว ยังไง คุยกันจบก็ยังไม่ได้ทำอะไรกันต่อ ผมก็ไปทำงานของผม ตัวเอ็กซ์เองเขาก็ไปทำหนังโฆษณาทำอะไรของเขาไปเรื่อยๆ เปื่อย แล้วก็ไปทำปังปอนด์ ผมก็ได้เห็นอยู่ ก็มีทั้งชอบและไม่ชอบ มันเป็นโปรดักชั่นระดับทีวีไม่ใช่หนังใหญ่ ผมก็ไม่ได้คิดอะไรเพราะผมก็มีงานอะไรให้ทำอยู่ตลอดเวลา เขียนหนังสือไป แต่งเพลงบ้าง ทำทีวีไป
Q. ตอนแรกที่ที่พี่จิกบอกคิดอยากทำการ์ตูน ตอนนั้นมีพล็อตเรื่องอยู่แล้วเลยรึเปล่า
J. ก็มีอยู่เยอะแยะ แม้กระทั่งที่คุยกับเอ็กซ์วันแรกยังนั่งเล่าพล็อตให้ฟังตั้งหลายเรื่อง
Q. พวกเรื่องพล็อตที่คิดอยากจะทำตั้งใจทำออกมาเป็นแอนิเมชั่นเลยอย่างเดียวเลยรึเปล่า
J. ใช่ครับ เรื่องบางเรื่องมันเหมาะที่จะเป็นแอนิเมชั่นเท่านั้น เพราะแอนิเมชั่นมันมีเสน่ห์ตรงมันโลดโผนได้มากกว่าคนแสดง
Q. หมายความว่า ไอเดียของพี่จิกเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วที่คิดฝันอยากทำการ์ตูน พี่จิกเองก็มองไปด้วยถึงความเป็นไปได้ขององค์ประกอบและเทคโนโลยีต่างๆ ในการเกิดขึ้นของการ์ตูนว่าที่จะเกิดขึ้นได้จริงว่าอยู่ในสเกลไหน เพราะฟังจากพล็อตหรือไอเดียที่คิดจะทำกับการ์ตูนในยุคนั้น มองว่าคงต้องเป็นการ์ตูนที่เป็นลักษณะของการวาดด้วยมือ เป็นภาพๆหรือ เป็นcellบนแผ่นใสหรือฟิล์ม ที่ยังไม่ได้วาดบนคอมพิวเตอร์ด้วยซ้ำ
J. ใช่ๆ ตอนนั้นที่คิดๆ อยู่ก็รู้นะถึงความเป็นไปได้ แต่ก็มีความฝันว่าอยากทำนะยังเคยคิดว่าจะรวมมือดีๆที่วาดดีๆ ที่มีสไตล์แม้กระทั่งเพื่อนกันหรือแม้แต่รุ่นน้องกันมาทำได้ไหม คือผมคิดอยู่ตลอด ถึงผมไม่ได้ทำวันนี้ วันหน้าถ้ามีโอกาสผมก็จะทำอีก หาช่องทางทำไปเรื่อยๆ อย่างที่บอกผมชอบวิ่งเหยาะ วิ่งแข่งร้อยเมตรไม่ชอบ เหนื่อยแล้วหมดแรงเลย
Q. แต่ก็ยังคงเก็บไอเดียความฝันลงในลิ้นชักทางความคิดที่จะทำการ์ตูนไว้รอวันเวลาที่ทุกอย่างพร้อม
J. ก็มีอยู่ โปรเจ็คต์มีอยู่ในหัวเต็มไปหมดเลย ผมคิดง่ายๆ เมื่อมีโอกาสทำก็ทำ นี่ยังอยากทำหนังคนอีกเรื่องหนึ่งเป็นหนังไซไฟเกี่ยวกับวิถีพุทธ คิดไว้ในหัวแล้ว เขียนบทไปบ้าง จะกำกับเอง แล้วมันต้องใช้แอนิเมชั่นช่วยแยะมากหนังเรื่องนี้ ผมรอเวลารออะไรบางอย่างอยู่
Q. พูดได้ว่าจุดเริ่มต้นมาจากการที่ตัวเราเองก็เป็นคนที่ชื่นชอบและดูแอนิเม ชั่นมาก่อน จนเกิดเป็นแรงบันดาลใจให้เราคิดฝันอยากทำการ์ตูน
J. ต้องเรียกว่าเป็นคนชอบดูแอนิเมชั่นตั้งแต่เด็ก และโตแล้วก็ยังชอบอยู่ ดูหมดทุกสไตล์ ไม่ว่าจะดิสนี่ย์ พิกซ่าร์ สตูดิโอ GHIBLI หรือทางฝั่งยุโรป แบบเป็นหนังเงียบๆ ก็ชอบนะ ดูแล้วก็รู้สึกตลอดว่าวันหนึ่งเราต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับมันแน่ๆ เพราะมันดึงดูดเราตลอดเวลา เวลาเดินผ่านของพวกนี้ ผมไม่เคยแม้แต่สักครั้งเดียวที่จะไม่เหลียวไปมอง
Q. อย่างนี้พูดได้ไหมว่าการ์ตูนมีอิทธิพลต่อชีวิตของผู้ชายที่ชื่อประภาส ชลศรานนท์
J. พูดอย่างนี้ดีกว่า ทุกอย่างที่อยู่รอบตัวผมมีอิทธิพลต่อผม ดิอิมพอสสิเบิ้ล เดอะบีทเทิ้ล โมสาร์ท สุนทราภรณ์ ไอ้มดแดง หน้ากากเสือ ผมเป็นเด็กบ้านนอกที่เขาเรียกว่าอะไรละ มันชอบอ่าน อยากรู้อยากเห็น แล้วก็จะมีนิตยสารอยู่เล่มหนึ่งที่มาในช่วงวัยเด็กนั่นคือชัยพฤกษ์การ์ตูน นิตยสารเล่มนั้นมีอิทธิพลกับผมมากนะ ต้องเรียกว่ามากถึงขั้นลากผมเข้ามาเรียนกรุงเทพฯ สอบเข้าเรียนเตรียมอุดม สอบเข้าสถาปัตย์ ในนิตยสารเล่มนั้นมีนักวาดการ์ตูนท่านหนึ่งนามปากกาคือ รงค์ (ณรงค์ ประภาสะโนบล) ผมชอบเส้นสายของท่าน เส้นสั่นๆ น่ารักเป็นทั้งสากลและมีความเป็นไทย ผมชอบนะแต่ไม่เคยเขียนตามเพราะเส้นคนละทางกัน เส้นผมมันเป็นแบบเส้นสถาปัตย์เป็นเหลี่ยมๆ ที่น่าแปลกใจคืออารงค์ที่เขียนในชัยพฤกษ์การ์ตูนเขาก็เป็นไอดอลของเอ็กซ์ เหมือนกัน คือพอได้มาเจอกันแล้วคุยกันเลยรู้ แสดงว่าเอ็กซ์กับผมโตมาด้วยอิทธิพลของศิลปินคนเดียวกัน และถ้าสังเกตดีๆ ลายเส้นของเอ็กซ์จะคล้ายอารงค์เลยละ
Q. แล้วทำไมต้องรามเกียรติ์ ทำไมต้องยักษ์
J. ก็พอเริ่มมาหาเรื่องที่จะทำกัน ก็คิดกันอยู่ว่าจะทำเรื่องอะไรกันก็นั่งคุยหนักกับๆ ทีม ทีแรกเลยคิดเล่นๆ ง่ายๆ ก่อน คิดแบบตื้นๆ เลยนะ คิดว่าจะเอารามเกียรติ์มาทำสัก EPISODE หนึ่ง คิดแค่นั้นจับนางสีดาไป คิดแบบสนุกๆ ง่ายๆ มีแปลงร่างมีแปลงเป็นกวาง คือก็ตีความจากการกลายเป็นกวางคือการทรานสฟอร์มเมอร์ คิดไปเรื่อยๆ คิดจนถึงกระทั่งว่าเราจะสะกดว่ารามเกียรติ์เป็นรามเกียร์ รามเกียร์คือเฟืองของรามก็คือหุ่นยนต์คิดไปเรื่อยว่ารามเราไม่ต้องเขียนรามา (RAMA) ตามแบบวิธีสะกดที่ถูกต้องหรอกที่เราจะเขียนรามเป็น “RAM” = แรม เป็นแรมของคอมพิวเตอร์หรืออย่างพระลักษณ์ก็ให้เป็น LUX ลักซ์ที่เป็นหน่วยความสว่างของแสง CDR ซีดีอาร์พ้องเสียงกับคำว่าสีดาเครื่องไร้ท์แผ่นซีดี ก็พยายามตีความจากรามเกียรติ์แท้ๆ เลยฉบับของไทยนะ
ทีนี้พอ เริ่มนั่งคุยกันไปเรื่อยๆ มันก็มีความคิดหนึ่งเกิดขึ้นว่ามันน่าจะมีเรื่องของยุคสมัยนี้ในแง่ของ ปรัชญาชีวิตมนุษย์ทุกวันนี้เข้าไปเกี่ยว พอเราไปศึกษาเรื่องว่ารามเกียรติ์มีหลายอวตารมากแต่ละประเทศก็ไม่เหมือนกัน นะ มีหลายอย่างแตกต่างกัน วิธีออกแบบไม่ต้องพูดถึงนะต่างกันลิบลับเลยไม่ว่าจะมาจากอินโดนีเซีย เขมร ลาว หรือว่าทางทิเบต อินเดียนี่ไม่เหมือนกัน แต่ทั้งนี้มีสิ่งหนึ่งที่อยู่ในรามเกียรติ์ที่พูดมาตลอดแล้วที่ฤาษีวาลมิกิ (ชาวอินเดียผู้ประพันธ์มหากาพย์รามายณะขึ้นเป็นภาษาสันสกฤตเมื่อกว่า 2,400 ปีก่อน) พูดเอาไว้ก็คือว่ามันเป็นการอวตารมาเกิดใหม่หลายชาติหลาย มีประโยคหนึ่งน่าสนใจมาก เพราะมันทำให้ผมคิดเนื้อเรื่องออกมาทันที ท่านบอกว่า ‘มีรามเกียรติ์เกิดขึ้นตลอดเวลาในโลกใบนี้ในชีวิตของมนุษย์เรา’ ผมนำประโยคนี้มาตีความต่อเลย ในกรุงเทพก็มีรามายนะ ในนิวยอร์ก ก็มี
ราม มายณะ ในโรงเรียน ในที่ทำงาน แม้แต่ในหัวของเราเอง ผมคิดเรื่องขึ้นใหม่เดี๋ยวนั้นว่า อวตารที่ผมจะทำ ผมจะไม่ให้เขาเป็นศัตรูกันแล้วสองตัวเอกหนุมานกับทศกัณฐ์ แล้วก็เริ่มตั้งคำถาม เรื่องจะเดินอย่างไรให้ไม่รบกัน นี่คือจุดเริ่มต้น แล้วก็คิดต่อว่าจะเอาจุดเด่นบางอย่างในรามเกียรติ์ที่ผู้คนคุ้นเคยมาใช้เช่น ตัวละคร,ฉากที่คนจำได้ ฉากที่เด็กๆ พวกเราจำได้เอามา REVERSE ใหม่ ใครโดนหอกโมกศักดิ์นะคราวนี้เราจะเปลี่ยนตัวคนโดน นี่คือต้นที่มาของความคิดที่เราจะทำเรื่องนี้
Q. พอฟังอย่างนี้แสดงว่าตัวพี่จิกเองหลงใหลหรือสนใจอะไรในเรื่องราวของ รามเกียรติ์อยู่แล้วเป็นทุนเดิมเยอะทีเกียว กลับกันในโปรเจ็คต์ในลิ้นชักความคิดที่จะทำแอนิเมชั่นก็มีอยู่ตั้งเยอะแยะ แต่ต้องมีอะไรดีในมหากาพย์รามายณะนี้ถึงโดนใจให้เราตัดสินใจหยิบมาทำเป็นแอ นิเมชั่นเรื่องแรก
J. รามายณะเป็นมหากาพย์ของชาวเอเชีย ผมใช้คำว่าเอเชียนะเวลาเราจะพูดถึงรามเกียรติ์ เราจะพูดว่ามันคือมหากาพย์ของเอเชียนะไม่ใช่ของไทยอย่างเดียว เพราะว่ารามเกียรติ์ของไทยนี่ก็แปลงมาจากฮินดูนะ เพราะฉะนั้นพอเราชอบประเด็นและภาพในหัว มันก็เกิดขึ้นว่าเราจะเล่าอย่างไร เพราะรามายณะนี่ยอมรับเลยว่ามีความครีเอทีฟสูงมากในเนื้อเรื่องและตัวละคร แต่ว่าเวลาเราเล่าให้ใครฟังว่าเราจะทำรามเกียรติ์คนก็ถามว่าจะแบบทำแบบโบราณ เลยหรือ เราก็ไม่รู้จะบอกอย่างไรดีเลยบอกตรงๆ ว่ามันเป็นเรื่องของหุ่นยนต์ พอบอกหุ่นยนต์ทุกคนจะสนใจ แสดงว่าการที่รามเกียรติ์เป็นหุ่นยนต์นี่คนทั่วไปเขารู้สึกว่ามันไม่โบราณ
Q. แล้วทำไมต้องเป็นหุ่นยนต์
J. จะบอกอะไรให้ ระหว่างที่ผมทำหนังเรื่องนี้อยู่ ผมเคยคิดนะว่าหนังเรื่องยักษ์เรื่องนี้ถ้าสร้างให้เป็นหนังคนแสดงจะได้ไหม แล้วก็ตอบตัวเองว่าได้เพราะเนื้อเรื่องมันเป็นแบบทำให้ผู้ใหญ่ดูก็ได้ แต่ถ้าเป็นแอนิเมชั่นเรื่องนี้มันควรเป็นหุ่นยนต์ มันมีสองเหตุผลคือ หนึ่ง มันเขียนบทได้โลดโผนกว่า รุนแรงได้โดยที่ไม่รู้สึกว่ารุนแรง มันอาจจะแค่รู้สึกว่ามันน่ารักหรือมันเด๋อเท่านั้นเอง ที่น่าสนใจคือมันมี MOVEMENT ของความเป็นแอนิเมชั่นสูง
สอง ความเป็นหุ่นยนต์มันทำให้อวตารครั้งนี้ประหลาดกว่าครั้งอื่นๆ สมกับเป็นอวตารครั้งล่าสุด แม้เราจะคงไว้ซึ่งพระเจ้าผู้สร้างอย่างเดิม อย่างเราก็เคยได้ยินอยู่แล้วว่ามีคนคิดรามเกียรติ์เป็น
เวอร์ ชั่นต่างๆ หรือแม้แต่ว่าพระอภัยมณีซึ่งอันนี้ก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ การที่รามเกียรติ์เป็นหุ่นยนต์ก็เคยมีคนคิด แต่พอเราเริ่มออกแบบก็รู้สึกสนุกดี หนุมานจะเป็นยังไงทศกัณฐ์จะเป็นยังไง แล้วเราจะแต่งเรื่องขึ้นใหม่อย่างไรให้ไม่เหมือนเดิมแต่มีเค้าเดิม แต่งอย่างไรให้สมัยใหม่และยังมีขนบ เพราะเรื่องมันก็เกิดเรื่องใหม่ขึ้นมา เมื่อคิดสะระตะเสร็จก็ตั้งชื่อเรื่องว่า “ยักษ์” เลย เพราะตั้งใจจะเล่าตัวนี้เป็นตัวเอกไม่เคยคิดเป็นชื่ออื่นเลย
Q. นี่แสดงว่าพี่จิกพุ่งเป้าตรงไปที่จะเล่าเรื่องตัวทศกัณฐ์เป็นตัวแรกเลย
J. ตัวแรกเลย
Q. ทำไมถึงชอบตัวนี้
J. มันเป็นตัวละครที่น่าสนใจมากนะในแง่ของความคิดสร้างสรรค์ คนคิดนี่สุดยอดครีเอทีฟเขาออกแบบมาให้มีสิบหน้า วิธีคิดแบบครีเอทีฟแบบนี้ไม่ง่าย ต้องบอกว่าตอนเด็กๆ พออ่านถึงทศกัณฐ์แล้วชอบมาก ยิ่งของรามเกียรติ์ไทยนี่สุดยอด ออกแบบให้หัวอีกเก้าหัวเรียงบนกระหม่อม ไม่เหมือนชาติอื่นเลย เท่มาก ต้องบอกว่าผมชอบทศกัณฐ์จนถึงขั้นเอามาตั้งชื่อรายการทีวีเลยนะ
Q. อย่างนี้ไปๆ มาๆ ความลุ่มหลงสนใจในยักษ์ทศกัณฐ์ของพี่จิกที่กลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้เกิด เป็นแอนิเมชั่นเรื่องแรกคงไม่ใช่แค่6ปีแล้วละมั้ง
J. ว่านับเอาความชอบทศกัณฐ์ด้วยน่าจะเกินครึ่งชีวิตนะ ผมชอบทศกัณฐ์และหลงเสน่ห์หนุมานด้วยนะ ตัวละครในรามเกียรติ์แต่ละตัวครีเอทีฟทั้งนั้น เช่นหนุมานหาวเป็นดาวเป็นเดือน คิดได้ไงหรือหางหนุมานที่พันรอบภูเขาได้ ผมว่าฝรั่งมาได้ยินรามเกียรติ์อาจลอกเอาไปใช้แล้วไม่บอกใครเลยละ หลายอย่างที่เราคุ้นเคยในรามเกียรติ์ผมเอามาเขียนเลย แล้วก็บิดให้คนดูตกใจ