happy on June 26, 2012, 06:35:48 PM
สถาบันอาหาร - ม.หอการค้าไทย ติวเข้มเอสเอ็มอี เปิดตลาด AECดันครัวไทยสู่ครัวโลก


                สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม จับมือคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเปิดเวทีระดมสมอง จัดสัมมนา "ตลาด ASEAN : พม่า เวียดนาม และอินโดนีเซีย กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารและสินค้าเกษตรแปรรูปให้โดนใจลูกค้า" เมื่อวันที่ 25-26 มิ.ย.ที่ผ่านมา ณ โรงแรม    มิราเคิล แกรนด์  เร่งอัดฉีดกลุ่มเอสเอ็มอีให้รู้เท่าทันสถานการณ์เศรษฐกิจ กฎ กติกา และแนวทางปฏิบัติ เมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างสมบูรณ์ในปี 2558 หวังช่วงชิงโอกาสทางธุรกิจ ดันผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปเข้าตลาด AEC เพิ่มมูลค่าส่งออก อีกหนึ่งภารกิจของสถาบันอาหารเพื่อผลักดันโครงการครัวไทยสู่ครัวโลก

                เผยบทบาทสถาบันอาหารต่อ AEC หนุนตั้ง AEC Food Industry Center  และระบบเฝ้าระวังอาหารนำเข้า ระบุผลสำรวจภาพรวมผู้ประกอบการส่วนใหญ่ร้อยละ 55.2 ไม่พร้อมเข้าสู่ AEC โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยร้อยละ 83.3 ไม่พร้อมอย่างแรง โดยกลุ่มผู้ประกอบการค้าข้าว ผู้ผลิตน้ำมันพืช  มีสัดส่วนความไม่พร้อมรับมือ AEC มากที่สุด เท่ากันคือร้อยละ 80.0 ขณะที่กลุ่มธุรกิจเนื้อสัตว์ และเครื่องปรุงรส ขานรับ AEC มีความพร้อมในสัดส่วนร้อยละ 62.5 และ 60.0 ตามลำดับ


                นางอรวรรณ แก้วประกายแสงกูล รองผู้อำนวยการสถาบันอาหารเผยถึงบทบาทและหน้าที่ของสถาบันอาหารที่มีต่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)ในงานสัมมนาเรื่อง "ตลาด ASEAN : พม่า เวียดนาม และอินโดนีเซีย กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารและสินค้าเกษตรแปรรูปให้โดนใจลูกค้า"  ที่สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดขึ้นเมื่อวันที่ 25-26 มิถุนายน ณ โรงแรม  มิราเคิลแกรนด์ ที่ผ่านมา โดยมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารเข้าร่วมราว 100 ราย ว่า สถาบันอาหารได้มีการเตรียมพร้อมในการเข้าสู่ AEC โดยกำหนดแผนการดำเนินงานของสถาบันอาหารแบ่งออกเป็น 3 ประเด็น ได้แก่ 1)เพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจเชิงลึกด้านการค้าและการผลิตอาหารให้แก่บุคลากรในภาคอุตสาหกรรมอาหาร โดยการวิจัยแนวทางการเข้าสู่ AEC ของอุตสาหกรรมอาหารของไทย 2)ขยายโอกาสและลดผลกระทบทางการค้าของอุตสาหกรรมอาหาร โดยวิจัยแนวทางขยายการค้าและวิจัยเชิงลึกในด้านต่างๆ  การสร้างเครือข่ายความร่วมมือในกลุ่มประเทศ AEC  การให้บริการแก่อุตสาหกรรมอาหารในกลุ่มประเทศ AEC ในด้านต่างๆ เช่น การจัดสัมมนา เวิร์คช็อปจับคู่ธุรกิจ และศึกษาดูงาน ณ ประเทศในกลุ่ม AEC   3)ปรับปรุงห่วงโซ่รองรับการเปลี่ยนแปลง อาทิ สนับสนุนให้มีการจัดตั้ง AEC Food Industry Center การเตรียมจัดตั้งระบบเฝ้าระวังอาหารนำเข้า และการพัฒนาสู่ technical arms ของกลุ่มประเทศด้อยพัฒนาทางเศรษฐกิจ(ลาว กัมพูชา พม่า)

                นอกจากนี้ยังเผยผลสำรวจความพร้อมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารไทยในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ซึ่งสถาบันอาหารได้ทำการสำรวจในช่วงระหว่างวันที่ 8-25 พฤษภาคม 2555 โดยมีกลุ่มตัวอย่างประกอบด้วยผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมอาหารจำนวน 78 ราย ประกอบด้วย ธุรกิจขนาดเล็กจำนวน 15 ราย (ร้อยละ 19) ธุรกิจขนาดกลางจำนวน 17 ราย (ร้อยละ 22)  และธุรกิจขนาดใหญ่จำนวน 46 ราย

                จากผลการสำรวจพบว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารส่วนใหญ่ร้อยละ 55.2 ยังไม่พร้อมในการรับมือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ส่วนผู้ประกอบการที่พร้อมรับมือ AEC มีเพียงร้อยละ 44.8 หากจำแนกธุรกิจตามขนาดกิจการ พบว่า กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดกลาง มีความพร้อมในการรับมือ AEC ในสัดส่วนใกล้เคียงกันอยู่ที่ร้อยละ 51.2 และ 50.0 ตามลำดับ ส่วนอีกประมาณครึ่งหนึ่งคือร้อยละ 48.8 และ 50.0 ตามลำดับ ยังไม่พร้อมรับมือ ซึ่งแตกต่างมากเมื่อเทียบกลุ่มธุรกิจขนาดย่อมที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 83.3 ตอบว่ายังไม่พร้อมรับมือ AEC ส่วนที่พร้อมรับมือมีเพียงร้อยละ 16.7  หากจำแนกธุรกิจตามตลาดสินค้า คือ กลุ่มที่ผลิตเพื่อการส่งออกเป็นหลัก กับกลุ่มที่มีตลาดหลักอยู่ในประเทศ พบว่า ผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจที่มีตลาดหลักอยู่ในประเทศส่วนใหญ่ร้อยละ 63.9 ไม่พร้อมรับมือ AEC ตรงข้ามกับกลุ่มธุรกิจที่ผลิตเพื่อการส่งออกเป็นหลักที่ส่วนใหญ่ร้อยละ 54.8 ตอบว่าพร้อมรับมือ AEC

                อย่างไรก็ตามเมื่อแยกตามกลุ่มธุรกิจพบว่า กลุ่มที่ผู้ประกอบการมีสัดส่วนความพร้อมมากกว่าไม่พร้อม มีจำนวน 2 สาขา ได้แก่ กลุ่มธุรกิจเนื้อสัตว์ และเครื่องปรุงรส โดยกลุ่มผู้ประกอบการเนื้อสัตว์มีสัดส่วนความพร้อมมากที่สุดที่ร้อยละ 62.5 รองลงมา คือ กลุ่มเครื่องปรุงรสที่มีสัดส่วนความพร้อมที่ร้อยละ 60.0

                ขณะที่กลุ่มที่ผู้ประกอบการมีสัดส่วนความไม่พร้อมมากกว่าความพร้อม มีจำนวน 5 สาขา ได้แก่ กลุ่มผู้ประกอบการค้าข้าว ผู้ผลิตน้ำมันพืช กลุ่มแปรรูปผักผลไม้ กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่ม และกลุ่มอาหารทะเลแปรรูป โดยกลุ่มผู้ประกอบการค้าข้าว และผู้ผลิตน้ำมันพืช เป็นอุตสาหกรรมสาขาที่มีสัดส่วนความไม่พร้อมรับมือ AEC มากที่สุด มีสัดส่วนร้อยละ 80.0 เท่ากันทั้งสองสาขา ส่วนกลุ่มแปรรูปผักผลไม้ กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่ม และกลุ่มอาหารทะเลแปรรูป มีจำนวนผู้ที่ไม่พร้อมรับมือ AEC รองลงมา คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 60.0, 60.0 และ 54.5 ตามลำดับ

                สำหรับผลการสำรวจด้านการใช้สิทธิประโยชน์จาก AEC ของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมอาหาร ในช่วงที่ผ่านมา พบว่า มีเพียงร้อยละ 28.4 ขณะที่ผู้ประกอบการอีกร้อยละ 71.6 ยังไม่เคยใช้สิทธิประโยชน์จาก AEC โดยผู้ประกอบการที่ใช้ประโยชน์จาก AEC ในการขอการรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าเพื่อให้ได้สิทธิยกเว้นภาษี หรือลดอัตราภาษีสำหรับสินค้าส่งออก มีสัดส่วนมากที่สุดที่ร้อยละ 47.4 ส่วนการขอรับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีนำเข้าสินค้า และการใช้สิทธิประโยชน์ทั้งสองทางมีสัดส่วนเท่ากันที่ร้อยละ 26.3

                นางอรวรรณกล่าวสรุปว่า “การใช้สิทธิประโยชน์จาก AEC ในช่วงที่ผ่านมา ยังถือว่าน้อยเพียงร้อยละ 28.4 สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้ประกอบการบางส่วนไม่ได้ทำการค้าอยู่ในภูมิภาคอาเซียน ทั้งในด้านการส่งออกหรือการนำเข้าวัตถุดิบ ดังนั้น การขอรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าเพื่อขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้ AEC จึงยังมีน้อย ประกอบกับอัตราภาษีที่ลดต่ำลงมากจนเป็น 0% เกือบหมดแล้วในปัจจุบัน จึงทำให้การใช้สิทธิประโยชน์จาก AEC มีสัดส่วนไม่มาก ขณะที่ผู้ประกอบการมากกว่าร้อยละ 60.0 มองว่า AEC ส่งผลด้านบวกต่อธุรกิจของตนมากกว่าด้านลบ แต่ผลสำรวจความคิดเห็นในประเด็นความพร้อมในการรับมือ AEC กลับมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 37.0 ชี้ให้เห็นว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่ได้มีมาตรการใดๆ ในการรับมือ AEC ทั้งนี้เนื่องจากเหตุผลหลายประการ






                ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับแนวทางที่ผู้ประกอบการอยากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อช่วยในการปรับตัว ซึ่งได้แก่การให้ความรู้ ข้อมูลข่าวสารในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ AEC ให้ฉับไว เพียงพอและทั่วถึง การปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ โครงสร้างภาษีให้เอื้อต่อการแข่งขัน พร้อมๆ กับยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะระบบขนส่งและโลจิสติกส์ ให้เชื่อมโยงกับการเปิดเสรีการค้าในภูมิภาค ตลอดจนจัดทำรายงานและเผยแพร่งานวิจัย บทวิเคราะห์ตลาดอาหารในอาเซียน รวมทั้งกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าและการลงทุนในกลุ่มประเทศสมาชิก AEC ประเด็นเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ควรพิจารณาดำเนินงานให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ภาคธุรกิจมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้นภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่ใกล้เข้ามาทุกขณะ”


                นายอัทธ์  พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยกล่าวถึงสถานการณ์ปัจจุบันในการทำธุรกิจด้านผลิตภัณฑ์อาหารของไทยในตลาด AEC ว่า “เป็นที่ทราบดีว่าสินค้าอาหารของไทยนั้นมีคุณภาพและมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในตลาดอาเซียน แต่สำหรับกลุ่มเอสเอ็มอีมักมีปัญหาด้านการทำตลาด เนื่องจากขาดข้อมูลในเชิงลึก โดยเฉพาะเรื่องรสนิยมของผู้บริโภคในแต่ละกลุ่มสินค้าแบบเจาะลึกในตลาดรายประเทศที่เป็นสมาชิก AEC นอกจากนี้ยังขาดความเข้าใจเรื่องกฎหมายที่ดีพอ ทั้งที่เป็นมาตรการด้านการภาษี และมาตรการที่มิใช่ภาษี ซึ่งแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน จำเป็นต้องศึกษาอย่างละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุนหรือดำเนินธุรกิจ ขณะเดียวกันผู้ประกอบการต้องมีความเข้าใจในสถานการณ์การแข่งขันในตลาดประเทศนั้นๆ ด้วยว่า เรากำลังทำธุรกิจแข่งอยู่กับใครบ้าง เป็นนักลงทุนจากประเทศใด มีศักยภาพอยู่ในระดับใด เพื่อเตรียมพร้อมรับมือหรือปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์”


                นายพรศิลป์  พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานกรรมการ หอการค้าไทยกล่าวว่า “ในภาพรวมแล้วควรต้องทำความเข้าใจว่าในกลุ่มประเทศ AEC แต่ละประเทศนั้นดำเนินนโยบายการเมืองการปกครองเป็นแบบใด เช่นเดียวกับการคำนึงถึงการจัดกลุ่มประเทศด้านการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยว่าเป็นประเทศพัฒนาแล้ว กำลังพัฒนา  หรือด้อยพัฒนา เพื่อการใช้ประโยชน์สูงสุดด้านการลงทุนและการส่งออก

                สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารแล้วขอยืนยันว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความน่าเชื่อถือมากที่สุดในกลุ่ม AEC ถือว่าอยู่ในขั้นที่มีการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานในระดับสูง แต่เท่าที่พบมักมีปัญหาความเข้าใจเรื่องข้อมูลที่ไม่ตรงกัน ที่อยากเน้นก็คือเราต้องรู้ว่าเราอยู่ช่วงไหนของห่วงโซ่ผลิตภัณฑ์ เราไม่สามารถดำเนินทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิตได้ด้วยตัวเอง จึงต้องมีความเชื่อมโยงของธุรกิจเข้าด้วยกัน ต้องมาพูดคุยกันเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันในสายการผลิตผลิตภัณฑ์ของตนเอง ส่วนในการทำตลาดนั้น อยากแนะนำให้เดินทางไปดูด้วยตัวเอง ไปศึกษาความต้องการของตลาดในประเทศที่สนใจ เพื่อนำมาปรับปรุงพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์อย่างตรงจุดที่สุด และควรมีคู่ค้าในประเทศนั้นๆ ร่วมดำเนินธุรกิจด้วย อย่างไรก็ตามในที่สุดแล้วผู้ประกอบการควรมีความรู้ความเข้าใจและพัฒนาธุรกิจของตนเองอย่างสม่ำเสมอโดยรวม 6 ด้านด้วยกันได้แก่ สารสนเทศ เทคโนโลยี การเงิน กฎหมาย โลจิสติกส์ และทรัพยากรมนุษย์ เพื่อผลักดันให้ผลิตภัณฑ์อาหารของไทยสามารถแข่งขันในตลาด AEC ได้ในระยะยาว”