พพ. ระดมศูนย์ทดสอบ เตรียมรองรับการทดสอบอุปกรณ์ เพื่อการอนุรักษ์พลังงานกว่า 45 ชนิด
วันที่ 18 พ.ค. 55 ที่ผ่านมา นายประมวล จันทร์พงษ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดงาน โครงการเครือข่ายศูนย์ทดสอบเครื่องจักรอุปกรณ์ และวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ณ โรงแรมเดอะ ทวิน ทาวเวอร์ กรุงเทพฯ เปิดเผยว่า สถานการณ์การใช้พลังงานของโลก และของไทยในปัจจุบันมีแนวโน้มสูงขึ้น ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อัตราการใช้พลังงานของประเทศไทยเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด และมีแนวโน้มว่าจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อไป นับเป็นภาระหนักต่อการจัดหาพลังงานมาใช้ให้เพียงพอ รัฐบาลได้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จึงได้ดำเนินการโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงาน โดยเริ่มตั้งแต่มีการตราพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 และต่อมาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม ตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 ซึ่งได้กำหนดให้มีบทบัญญัติหลายมาตราเกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงาน อาทิเช่น การส่งเสริม เครื่องจักรอุปกรณ์ และวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งตาม พรบ. ในมาตรา 23 กำหนดว่า เพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์พลังงานในเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ และส่งเสริมการใช้วัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงานให้รัฐมนตรี โดยคำแนะนำของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ มีอำนาจออกกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดเครื่องจักร หรืออุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง รวมทั้งการกำหนดวัสดุเพื่อใช้ในการอนุรักษ์พลังงานตลอดจนการใช้สิทธิการส่งเสริมและช่วยเหลือด้านการเงิน และค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ประกอบการทั้งผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายเครื่องจักรหรืออุปกรณ์เพื่อใช้ในการอนุรักษ์พลังงาน
สืบเนื่องจากพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบในการส่งเสริมและช่วยเหลือปฏิบัติการอนุรักษ์พลังงานให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ โดยได้วางแผนดำเนินการจัดทำกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง ซึ่งมีการประกาศใช้แล้ว 8 ผลิตภัณฑ์ คือ 1. เครื่องปรับอากาศ 2. ตู้เย็น 3. พัดลมไฟฟ้า 4. หม้อหุงข้าวไฟฟ้า 5. เครื่องทำน้ำเย็นสำหรับระบบปรับอากาศ 6. กระจก 7. เครื่องทำน้ำอุ่นไฟฟ้า 8. กระติกน้ำร้อนไฟฟ้า และ อยู่ระหว่างการเตรียมประกาศเพิ่มเติมอีก 37 ผลิตภัณฑ์ คือ 1. หลอดฟลูออเรสเซนต์ 2. หลอดคอมแพกต์ฟลูออเรสเซนต์ 3. บัลลาสต์ขดลวด 4.บัลลาสต์อิเล็กทรอนิกส์ 5. มอเตอร์สามเฟส 6. โคมไฟฟลูออเรสเซนต์ 7. เตาแก๊ส LPG 8. อุปกรณ์ปรับความเร็วรอบมอเตอร์ 9. รถยนต์ 10. รถจักรยานยนต์ 11.โทรทัศน์ 12. คอมพิวเตอร์ 13. Multi – functions Printer 14. พริ้นเตอร์ 15. มอนิเตอร์ 16. สแกนเนอร์ 17. เครื่องเสียง 18. เตารีดไฟฟ้า 19. เตาไมโครเวฟ 20. เตาไฟฟ้า 21. เตาอบไฟฟ้า 22. กาต้มน้ำไฟฟ้า 23. กระทะไฟฟ้า 24. ฉนวนใยแก้ว 25. ตู้แช่ไฟฟ้า 26. เครื่องดูดฝุ่น 27. เครื่องสูบน้ำ 28. เครื่องซักผ้า 29. เครื่องยนต์ดีเซล 30. เครื่องยนต์แก๊สโซลีน 31. เครื่องทำน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ 32. เครื่องทำน้ำเย็น และเครื่องทำน้ำร้อน/เย็น 33. เครื่องอัดอากาศ 34. หลังคากระเบื้อง 35.แผ่นยิปซั่ม 36.ผนังสำเร็จรูป 37. อิฐมวลเบา
นอกจากนั้น ตาม พรบ. ในมาตรา 23 (4) ยังบัญญัติไว้ว่า “กำหนดให้ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายเครื่องจักร หรืออุปกรณ์ ต้องแสดงค่าประสิทธิภาพการใช้พลังงาน” ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวได้ จำเป็นต้องมีห้องปฏิบัติการทดสอบรองรับอย่างเพียงพอ ดังนั้น เพื่อเตรียมการรองรับการดำเนินงานตามกฎหมายดังกล่าวข้างต้นให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทาง พพ. จึงได้ทำจัดตั้งเครือข่ายศูนย์ทดสอบเครื่องจักรอุปกรณ์ และวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน หรือ เรียกย่อ ๆ ว่า Energy Lab Network เพื่อรองรับการทดสอบผลิตภัณฑ์อนุรักษ์พลังงาน โดยเปิดรับสมัครสมาชิดเครือข่ายจากห้องปฏิบัติการทดสอบ โรงงานผู้ผลิต ผ็จำหน่ายสินค้า สถาบันการศึกษา และสื่อมวลชน เข้าร่วมเป็นเครือข่าย โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการสมัครใด ๆ
คุณยศพงศ์ คุปตะบุตร ผู้อำนวยการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พพ. กล่าวว่า พพ. ได้ทำโครงการ เครือข่ายศูนย์ทดสอบเครื่องจักรอุปกรณ์ และวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 และได้มีพิธีเปิดเครือข่าย ฯ อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2553 โดยในปัจจุบันมีห้องปฏิบัติการทดสอบเข้าร่วมเป็นสมาชิกของเครือข่าย 55 ห้องทดสอบ และได้มีกิจกรรมสนับสนุนเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง อาทิ การจัดอบรม และสนับสนุนให้สมาชิกได้รับการรับรองตามมาตรฐาน มอก. 17025 เป็นต้น
คุณกิตติ สุขุตมตันติ ที่ปรึกษาโครงการ จาก บจก. ไดเร็คชั่น แพลน เผยว่า ได้มีการวางแผนกิจกรรมที่จะดำเนินการเพื่อสนับสนุนให้มีห้องปฏิบัติการทดสอบ พร้อมรองรับการทดสอบเครื่องจักรอุปกรณ์ และวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน เพิ่มเติมอีกหลาย ๆ กิจกรรมอย่างต่อเนื่องครบวงจรนั้น ทาง พพ. ได้จัดทำบรรจุในแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี (พ.ศ. 2554-2573) โดยมีกิจกรรม อาทิเช่น การประชาสัมพันธ์ห้องทดสอบ การสนับสนุนด้านวิชาการ การพัฒนาบุคลากร ฯลฯ เป็นต้น
ซึ่งในการสัมมนาในครั้งนี้มีผู้ให้ความสนใจแสดงความคิดเห็นต่อโครงการเข้าร่วมกว่า 100 คน โดยประมาณ 25 % มาจากห้องทดสอบของรัฐ และ 75% มาจากห้องทดสอบของภาคเอกชนและผู้ผลิต
สำหรับผู้สนใจสมัครเข้าร่วมเครือข่าย หรือ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ :
1. กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน โทร 0 2223 2593 - 5 โทรสาร 0 2225 3785
www.dede.go.th2. ที่ปรึกษาโครงการ : บริษัท ไดเร็คชั่น แพลน จำกัด โทรศัพท์ 0 2642 5241 ต่อ 133 โทรสาร 0 2247 2363 E-mail:
pichet_y@hotmail.co.th หรือ
directionplan@hotmail.com