happy on August 29, 2012, 06:41:11 PM

Painted Skin: The Resurrection
โปเยโปโลเย ศึกรักหน้ากากทอง

6 กันยายนนี้ เฉพาะเครือ SF

               จากเรื่องเล่าที่กล่าวไว้ในตำนาน ต้องใช้เวลานานหลายร้อยปี ที่ปิศาจจะกลายร่างเป็นมนุษย์ได้ ถึงกระนั้นพวกมันก็มิได้มีหัวใจเหมือนมนุษย์ ปิศาจไม่สามารถรู้รสความเจ็บปวด หรือสัมผัสความสุขสมของการมีลมหายใจ เฉกเช่นมนุษย์ทั่วไป อย่างไรก็ตาม ตำนานได้กล่าวเพิ่มเติมว่า หากปิศาจตนใดได้รับมอบหัวใจอันบริสุทธิ์จากมนุษย์ พวกมันจะมีชีวิตที่แท้จริง และเป็นนิรันดร์”

             ปิศาจจิ้งจอก เซี่ยวเหวย (โจวซุน) ถูกกักขังไว้ในทะเลสาบน้ำแข็งมานานหลายศตวรรษ เพื่อเป็นการลงโทษที่เธอละเมิดกฎของโลกปิศาจ ทว่าวันหนึ่ง ปิศาจนก เชียะเอ๋อ (หยางหมี่นี่) ก็ฝ่ากำแพงน้ำแข็งเข้ามาช่วยเธอจนได้ เพื่อความอยู่รอดต่อไป เซี่ยวเหวยจำต้องหาหนทางที่จะเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง เธอได้รับมอบหัวใจจากชายแปลกหน้าผู้หนึ่ง ซึ่งทำให้เธอกลายร่างเป็นหญิงสาวแสนสวย โดยหารู้ไม่ว่าชายแปลกหน้าคนนั้นคือเจ้าชายแห่งอาณาจักรเถียนเลี่ยง ระหว่างนั้นเอง เจ้าหญิงฉิง (จ้าวเว่ย) ธิดาองค์ที่ 14 ของกษัตริย์ราชวงศ์หัน ถูกจับคู่อภิเษกสมรสกับเจ้าชายแห่งเถียนเลี่ยง เพื่อเป็นการสร้างไมตรี ซึ่งจะก่อให้เกิดความปลอดภัยแก่อาณาจักรของราชวงศ์หัน แต่การวิวาห์ครั้งนี้ แท้จริงคือเล่ห์กลของราชินี (เฉินถิงเจี่ย) และพ่อมดแห่งเถียนเลี่ยง (เฟ่ยเสียน) ผู้ร่วมกันวางแผนชุบชีวิตเจ้าชาย ให้ฟื้นจากความตาย โดยการทำพิธีของหมอผีผาง ซึ่งต้องอาศัยเลือดและหัวใจที่ยังไม่หยุดเต้นของเจ้าหญิง
             แม้ว่าเจ้าหญิงฉิงคือสตรีผู้งดงามที่สุดแห่งราชอาณาจักร แต่เธอต้องสวมหน้ากากทองคำครึ่งเสี้ยวเพื่อปกปิดใบหน้า จากรอยแผลเป็นที่ถูกหมีทำร้ายจนเสียโฉมตอนอายุ 15 เรื่องนี้ทำให้นายพลหัวชิน (เฉินคุน) ราชองค์รักษ์ เนรเทศตัวเองไปอยู่ชายแดนตะวันตก เพราะความเสียใจที่ไม่อาจปกป้องเธอ แต่แล้วเจ้าหญิงก็ขัดคำสั่งของบิดา โดยการหนีพิธีแต่งงาน ไปตามหานายพลหัวชินผู้เป็นรักแท้ของเธอ โชคชะตานำพาให้เจ้าหญิงเดินทางมาพบเซี่ยวเหวย ปิศาจจิ้งจอกรู้ทันทีว่าหัวใจอันบริสุทธิ์ของเจ้าหญิง คือทางเลือกที่ดีที่สุดที่จะทำให้เธอกลายเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์แบบ เซี่ยวเหวยแกล้งหลอกให้เจ้าหญิงตายใจ ด้วยการเป็นเพื่อนร่วมเดินทางไปยังเมืองที่หัวชินประจำการอยู่
             แม้เวลาผ่านไปหลายปี หัวชินก็ยังไม่ยอมให้อภัยตัวเอง ด้วยความละอาย เขาจึงไม่กล้ารับรักจากเจ้าหญิง แต่กลับต้องมนต์เสน่ห์ความงามลึกลับของเซี่ยวเหวย ในเวลาไม่นาน เมื่อเถียนเลี่ยงส่งกองทัพมาล้อมเมืองไว้ ผู้หญิงทั้งสองจึงทำสัญญาต่อกัน หากเจ้าหญิงต้องการใบหน้างดงามหมดจดของเซี่ยวเหวย เพื่อทำให้หัวชินหลงรัก ก็ต้องยอมมอบหัวใจตัวเองให้เซี่ยวเหวย แต่เจ้าหญิงไม่รู้ว่าใบหน้างดงามที่เธอได้มานั้น ต้องแลกกับความเป็นมนุษย์ที่กำลังจะสูญสิ้นไปในเวลาไม่นาน













เบื้องหลังงานสร้าง

                ผู้กำกับ หวูอ้ายซัน เคยร่วมงานกับผู้กำกับศิลป์ เหาหยี่ ใน The Butcher, the Chef and the Swordsman ซึ่งผลงานเรื่องนี้ส่งให้ผู้กำกับศิลป์หนุ่มไฟแรง ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลม้าทองคำในปี 2010 ด้วยความที่ทั้งคู่ทำงานเข้าขารู้ใจกัน หวูอ้ายซันจึงเลือกเหาหยี่มารับหน้าที่กำกับศิลป์ใน Painted Skin: The Resurrection โดยตั้งโจทย์ไว้ว่า เขาอยากสร้างโลกแบบที่ไม่มีใครเคยเห็นมาก่อนในภาพยนตร์แฟนตาซี ทั้งจากฝั่งตะวันออกหรือตะวันตก เมื่อรู้เช่นนี้ เหาหยี่จึงออกเดินทางไปค้นหาแรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมที่หลากหลายทั่วเอเชีย เขาไปญี่ปุ่น, อินเดีย, ทิเบต, ตุรกี และจีนโบราณ ด้วยความหวังที่จะลบภาพความทรงจำเก่าๆ ที่ผู้ชมเคยเห็นในภาพยนตร์แนวนี้ให้ได้ เขาสร้างโลกที่แสนพิเศษขึ้นมา โดยได้แรงบันดาลใจจากดินแดนภูเขาหิมะในทิเบต ซึ่งมีท้องฟ้าสีครามสดใส และอากาศเย็นยะเยือกจนแม่น้ำกลายเป็นน้ำแข็ง ดังจะเห็นได้ในฉากเมืองปราสาทขาวที่นายพลหัวชินประจำการอยู่ อย่างไรก็ตาม เหาหยี่ก็ไม่ยอมละเลยแม้แต่รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เพื่อทำให้ฉากที่ปรากฏบนจอมีความถูกต้องสมจริงตามประวัติศาสตร์ แม้ภาพยนตร์จะไม่ระบุหรือทำให้เห็นเด่นชัดว่าเรื่องราวเกิดขึ้นในยุคสมัยใดก็ตาม

อาณาจักรเถียนเลี่ยง

                ใน Painted Skin: The Resurrection เรื่องท้าทายอย่างยิ่งสำหรับผู้กำกับศิลป์คือ การสร้างอาณาจักรเถียนเลี่ยงซึ่งไม่เคยมีอยู่ในประวัติศาสตร์จริง หรือประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ ให้ออกมาเป็นภาพที่ดูน่าเชื่อถือที่สุด ชาวเถียนเลี่ยงเป็นกลุ่มชนที่นับถือภูตผีและเชื่อเรื่องไสยศาสตร์อย่างแรงกล้า ดังนั้น อาณาจักรแห่งนี้จึงเป็นสถานที่ซึ่งเต็มไปด้วยกลิ่นอายแปลกประหลาด ที่จะสร้างความหวาดหวั่นและไม่น่าไว้ใจแก่ผู้ชม ผู้กำกับศิลป์ เหาหยี่ นำวัฒนธรรมฮั่นทางเหนือ, ตุรกีทางตะวันตก และทิเบตกับอินเดียทางใต้ จากหลากกลุ่มหลายยุคมาผสมผสานเข้าด้วยกัน จนเกิดเป็นผลงานชั้นเยี่ยมที่จะจับตาจับใจผู้ชมภาพยนตร์ไปอีกนาน

เครื่องแต่งกาย

                เสื้อผ้าชุดแต่งกายในภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นอีกหนึ่งงานออกแบบอันโดดเด่น ที่ใช้แสดงบุคลิกลักษณะของตัวละครได้เป็นอย่างดี ตัวอย่างเช่น ชุดของเซี่ยวเหวยซึ่งดูคล้ายคลึงกับชุดเกอิชาญี่ปุ่น หรือชุดแต่งงานของเจ้าหญิงฉิงที่เป็นการผสมผสานรูปแบบเครื่องแต่งกายของจีนและอินเดียเข้าด้วยกัน ส่วนราชินีแห่งเถียนเลี่ยงก็สวมเสื้อผ้าที่ประกอบด้วยขนสัตว์ ซึ่งชวนให้นึกถึงชุดของชนเผ่าพื้นเมืองอเมริกา ในขณะที่ชุดของพ่อมดแห่งเถียนเลี่ยง จะถูกประดับประดาด้วยแมลงสีดำ ทำให้ดูไม่เป็นมิตร นอกจากนี้เหาหยี่ยังใช้สีสันเป็นตัวบอกอุปนิสัยของตัวละครด้วย สีม่วงคือสีประจำตัวของเซี่ยวเหวย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความร้ายกาจและการหลอกลวง เจ้าหญิงฉิงสวมชุดสีแชมเปญผสมสีทอง ซึ่งดูกลมกลืนกับหน้ากากทองคำครึ่งเสี้ยวบนใบหน้า ส่วนนายพลหัวชินผู้เป็นตัวแทนของมนุษย์ปกติ ที่มักตกเป็นเหยื่อของกิเลสตัณหา เสื้อผ้าที่เขาสวมใส่จึงเป็นสีแดง

เทคนิคพิเศษด้านภาพ

                กวนฮุ่ย ผู้เชี่ยวชาญเทคนิคพิเศษด้านภาพ ได้รับมอบหมายให้แปรเปลี่ยนอารมณ์ตึงเครียดและซับซ้อนของ Painted Skin: The Resurrection ให้กลายเป็นภาพที่สามารถบอกเล่าเรื่องราวได้อย่างแจ่มชัด และที่สำคัญกว่านั้น ด้วยความที่ผลงานเรื่องนี้มีฉากแอ็คชั่นอยู่มากพอสมควร จึงเป็นหน้าที่ของกวนฮุ่ย ที่จะต้องค้นหาจุดสมดุลย์ในการทำให้ผู้ชมไม่มัวสนใจอยู่กับฉากต่อสู้ตื่นเต้นหรือฉากที่นำเสนอภาพตื่นตาตื่นใจ จนลืมความดื่มด่ำจากฉากดรามาหมดสิ้น เทคนิคพิเศษด้านภาพที่ปรากฏแก่สายตาผู้ชมทั้งหมด เป็นฝีมือของทีมงาน VFX ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากอามาโนะ โยชิทากะ ศิลปินชาวญี่ปุ่นระดับตำนาน ซึ่งเป็นผู้ออกแบบแนวคิดด้านภาพให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ การถ่ายทำหลายๆ ฉากเต็มไปด้วยความยากลำบากอย่างที่สุด ไม่ว่าจะเป็นฉากหิมะ, ฉากยอดเขา (ซึ่งไปถ่ายทำที่เทือกเขาแอลป์), ฉากใต้น้ำ รวมถึงฉากในแผ่นน้ำแข็ง และผลลัพธ์ที่ได้คือการผสมกลมกลืนกันเป็นอย่างดีระหว่างภาพและเนื้อหา ที่จะทำให้ผู้ชมได้สัมผัสกับเรื่องราวสุดประทับใจ ซึ่งถูกถ่ายทอดออกมาเป็นภาพในแบบที่พวกเขาไม่เคยเห็นมาก่อนจากภาพยนตร์เรื่องอื่น

ฉากแอ็คชั่น

                เช่นเดียวกับทีมงานฝ่ายอื่น ตงเหว่ย ผู้กำกับฉากแอ็คชั่น ต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ กับการใส่ฉากต่อสู้ลงไปใน Painted Skin: The Resurrection โดยต้องไม่ให้ฉากตื่นเต้นเหล่านั้นกลบเรื่องราวดรามาของภาพยนตร์ ผู้กำกับ หวูอ้ายซัน และตงเหว่ย เห็นพ้องต้องกันว่า การต่อสู้แบบกังฟูไม่ใช่เป้าหมายหลัก สิ่งที่พวกเขาต้องการคือฉากแอ็คชั่นที่ช่วยเสริมให้ฉากดรามามีความเข้มข้นยิ่งขึ้น ทั้งคู่ตกลงว่าฉากแอ็คชั่นควรเป็นการต่อสู้ในหมู่มนุษย์เท่านั้น ไม่ควรมีการต่อสู้ระหว่างมนุษย์กับปิศาจ การออกแบบฉากแอ็คชั่นไม่ได้เน้นเฉพาะลีลาท่าทางด้านกายภาพ แต่ต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเสื้อผ้า, อาวุธ, ฉาก และตัวละครด้วย ยกตัวอย่างเช่น ฉากต่อสู้ระหว่างเจ้าหญิงฉิงและนายพลหัวชิน ที่ฝ่ายหญิงใช้ดาบเข้าฟาดฟันฝ่ายชายที่ไร้อาวุธ แสดงให้เห็นว่าทั้งคู่สนิทสนมกันมากแค่ไหน และซ่อนความรู้สึกอะไรไว้ในใจ อีกตัวอย่างหนึ่งคือ เมื่อหัวชินต่อสู้กับทหารเถียนเลี่ยงนายหนึ่ง ซึ่งสูงถึงสองเมตร สวมเสื้อเกราะน่าเกรงขาม และถือขวานเป็นอาวุธ ฉากนี้แสดงถึงความกล้าหาญของหัวชิน ผู้พร้อมเผชิญอุปสรรคยิ่งใหญ่ ที่เขามองไม่เห็นทางที่จะเอาชนะได้