happy on May 16, 2012, 07:27:45 PM
สถาบันอาหาร เจาะลึกตลาดเกษตร-อาหารไทยในพม่ามูลค่า 2 หมื่นล้าน

               สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เผยข้อมูลโอกาสและอุปสรรคการเจาะตลาดเกษตร-อาหารของไทยในพม่า เฉพาะปี 2554 ไทยส่งออกอาหารไปพม่ามูลค่าราว 2 หมื่นล้านบาท มีอัตราเติบโตร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับปี 2553 ขณะที่มีมูลค่านำเข้าราว 2 พันล้านบาท แนะผู้ประกอบการไทยใช้ประโยชน์จากการเปิดเสรีการค้าอาเซียน(AEC)ในพม่าอย่างเต็มศักยภาพ ในฐานะศูนย์กลางการค้าเชื่อมกับมหาสมุทรอินเดีย ตะวันออกกลาง ยุโรป และแอฟริกา


               นายเพ็ชร  ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหารเปิดเผยว่า สถาบันอาหาร โดยศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ทำการศึกษาข้อมูลเชิงลึกจากหน่วยงานภาครัฐของพม่า และผู้มีประสบการณ์เชี่ยวชาญด้านการค้าในพม่า ณ เมืองเมียวดี และ อ.แม่สอด จ.ตาก เมื่อต้นเดือนเมษายน ที่ผ่านมา พบว่าภาคเกษตรของพม่าเป็นแหล่งรายได้หลักของประชากรในประเทศ คิดเป็นร้อยละ 59.1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ(GDP) และก่อให้เกิดการจ้างงานสูงถึงร้อยละ 67.1 ของประชากรทั่วประเทศ  ผลผลิตเกษตรหลักของพม่า คือ ข้าวเปลือก หรือข้าวที่ยังไม่ผ่านการกะเทาะเอาเปลือกออก(Paddy Rice) เนื้อไก่ ถั่วแห้ง ผัก เมล็ดงา เนื้อหมู และถั่วลิสง
             สินค้าเกษตรที่พม่านำเข้าหลัก คือ น้ำมันปาล์ม อาหารสำเร็จรูป น้ำมันพืช เครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ และข้าว โดยค่าเฉลี่ยของการนำเข้าในช่วง 10 ปี (2542-2552) เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4 ต่อปี ขณะที่การส่งออกค่าเฉลี่ยในช่วง 10 ปี (2542-2552) เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.4 ต่อปี โดยถั่วแห้งเป็นผลิตภัณฑ์ส่งออกหลักรองลงมาคือ เมล็ดงา ถั่วเจี๊ยบหรือถั่วลูกไก่(Chick peas) ข้าวโพด และข้าว
             โดยนโยบายด้านเกษตรที่สำคัญ คือ การขยายระบบชลประทานของภาครัฐ และการส่งเสริมให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชเกษตร ตลอดจนการส่งเสริมให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในทุกด้านเกี่ยวกับภาคเกษตร สำหรับอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปในพม่านั้นแม้มีโรงงานผลิตในพม่า แต่ก็พบว่าสินค้ายังมีคุณภาพไม่ดีนัก เพราะเทคโนโลยีการผลิตไม่ทันสมัย ทั้งขาดแคลนโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่สำคัญ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลพม่ากำลังเปิดโอกาสให้นักลงทุนที่สนใจเข้ามาลงทุนและพัฒนาในด้านนี้ให้มากขึ้น
             สภาพแวดล้อมในการลงทุนที่สำคัญได้แก่ พม่ากำลังปฏิรูปนโยบายด้านต่างๆ เพื่อส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ อาทิ ร่างพ.ร.บ.การลงทุนฉบับใหม่ที่จะให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนโดยยกเว้นภาษีเงินได้ 8 ปี จากเดิม 3 ปี และการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 ของกำไรที่ได้จากการส่งออก  นอกจากนี้พม่ายังมีแผนการลงทุนในการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่
             สำหรับโอกาสทางการค้าและการลงทุนในธุรกิจเกษตรและอาหารในพม่าที่ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญ คือการเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าบริโภคไปยังพม่า  โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวกับอาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค ตลอดจนสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น หมากพลู และควรเป็นสินค้าที่ราคาไม่แพง รวมทั้งการเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องมือ เครื่องจักรและเทคโนโลยีเกี่ยวกับการเกษตรและการแปรรูปอาหาร ซึ่งตลาดมีศักยภาพสูง ขณะที่โอกาสทางด้านการลงทุนที่น่าสนใจ อาทิ ธุรกิจบริการอาหาร ร้านอาหารและร้าน น้ำชา ซึ่งชาวพม่าให้ความนิยมสูง รวมทั้งธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารแปรรูป  ธุรกิจผลิตผลผลิตเกษตรและแปรรูปสินค้าเกษตรขั้นต้น เป็นต้น


              นายเพ็ชรกล่าวว่า “ในปี 2554 ที่ผ่านมาไทยนำเข้าสินค้าอาหารจากพม่ามีมูลค่าราว 2,454 ล้านบาท ลดลงจากปี 2553 ที่นำเข้า 3,121 ล้านบาท โดยนำเข้าปลาทะเลสดแช่แข็ง  ร้อยละ 61.76 ถั่วเขียวผิวดำ  ร้อยละ 7.15 ถั่วเขียวผิวมัน  ร้อยละ 6.39 หมึกกล้วยแช่เย็น ร้อยละ 5.28 และ กุ้งอื่นๆ แช่แข็ง ร้อยละ 3.13 เป็นต้น
             ขณะที่ไทยส่งออกสินค้าอาหารไปพม่าสูงเป็นอันดับ 4 เมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียนอื่นๆ กล่าวคือรองจากอินโดนีเซีย  มาเลเซีย  และกัมพูชา โดยมูลค่าส่งออกใกล้เคียงกับเวียดนาม คือราว 20,824 ล้านบาทในปี 2554 เติบโตจากปี 2553 ที่ส่งออกราว 15,829 ล้านบาท หรือมีอัตราเติบโตร้อยละ 30.64 ต่อปี โดยสินค้าส่งออกสำคัญได้แก่ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 12.26  น้ำมันปาล์ม ร้อยละ 6.69 วิสกี้ ร้อยละ 5.97 ครีมเทียม ร้อยละ 5.62 ของปรุงแต่หรือหัวเชื้อเข้มข้น-กาแฟสำเร็จรูป ร้อยละ 4.38 เป็นต้น”


               กล่าวว่า ประเทศพม่าตั้งอยู่ในภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมในการทำการค้า สามารถเชื่อมโยงการขนส่งกับต่างประเทศได้สะดวก ในอนาคตหากโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายแล้วเสร็จ จะทำให้เมืองทวายของพม่ากลายเป็นศูนย์กลางการค้าเชื่อมกับมหาสมุทรอินเดีย ตะวันออกกลาง ยุโรป และแอฟริกา ประกอบกับแรงงานภายในประเทศมีค่าจ้างแรงงานต่ำ หากได้รับการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน จะเอื้อให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้แรงงานเข้มข้นได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานทักษะไม่สูงมาก เช่น อุตสาหกรรมอาหาร
              ทั้งนี้ผู้ประกอบการการค้าชายแดนไทย-พม่าบริเวณ อ.แม่สอด จ.ตาก ที่มีประสบการณ์ได้ให้ข้อเสนอ แนะที่น่าสนใจว่า กลยุทธ์ในการเจาะตลาดพม่าสำหรับสินค้าใหม่ที่ทำกันมาจนถึงปัจจุบัน คือการฝากขายและบอกต่อ เพราะผู้บริโภคชาวพม่ามักจะยึดติดสินค้าที่ตนเองใช้เป็นประจำ และไม่นิยมทดลองสินค้าใหม่ที่ไม่คุ้นเคย อย่างไรก็ตามโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ เป็นสื่อประชาสัมพันธ์ที่ได้ผลในการแนะนำสินค้าใหม่เข้าสู่ตลาดพม่า ซึ่งปัจจุบันสื่อดังกล่าวมีราคาถูกกว่าในประเทศไทยอย่างมาก
              ส่วนการเข้าไปลงทุนตั้งโรงงานอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูปในพม่านั้น แม้ว่าไทยจะมีความได้เปรียบกว่าประเทศอื่นในหลายด้าน อาทิ การใช้สิทธิประโยชน์จากการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) การได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(GSP) หรือการยกเว้นหรือลดหย่อนอัตราภาษีศุลกากรที่ประเทศพัฒนาแล้วให้สำหรับสินค้านำเข้าจากประเทศที่สาม หรือการใช้ประโยชน์จากสถานะการเป็นประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดหรือ Least Developed Countries(LCDs) หากไทยใช้พม่าเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก แต่มีข้อควรต้องพิจารณาถึงอุตสาหกรรมสนับสนุนที่สำคัญและขาดไม่ได้ที่จะมารองรับด้วยว่าเพียงพอหรือไม่ อาทิ วัตถุดิบ เครื่องจักรในการผลิต บรรจุภัณฑ์ ช่องทางการกระจายสินค้าทั้งในพม่าและส่งออก ระบบและต้นทุนด้านโลจิสติกส์ เป็นต้น
              อย่างไรก็ตามก่อนเข้าไปลงทุนทำการค้าในระบบควรต้องศึกษากฎระเบียบต่างๆ ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ อาทิ กฎการลงทุน อัตราภาษี(การเสียและการขอคืน) อัตราแลกเปลี่ยน เพราะกฎระเบียบค่อนข้างมีรายละเอียด ค่อนข้างมาก และมีการเปลี่ยนแปลงบ่อย และอาจเกิดขึ้นโดยทันทีแบบไม่รู้ตัว
              “ทิศทางการเปิดประเทศของพม่าน่าจะส่งผลด้านบวกต่อไทยมากกว่าด้านลบ ซึ่งจุดแข็งในภาคอุตสาหกรรมอาหารของพม่าคือมีผลผลิตทางการเกษตรจำนวนมากรองรับ ประกอบกับแรงงานภายในประเทศมีอัตราค่าจ้างที่ต่ำ หากได้รับการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน จะทำให้สินค้าที่ผลิตได้มีต้นทุนต่ำ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสินค้าไทยในตลาดโลกได้ อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวไม่น่าห่วงนัก โดยเฉพาะในช่วง 5 ถึง 10 ปีข้างหน้า เชื่อว่าอุตสาหกรรมอาหารของพม่าจะยังไม่สามารถยกระดับการผลิตเทียบกับไทยได้ ในระหว่างนี้สินค้าออกของพม่าน่าจะยังคงเป็นสินค้าขั้นปฐม เช่น ข้าว พืชผักสด สินค้าประมงสด/แช่แข็งเป็นหลัก ส่วนสินค้าแปรรูป และสินค้ามูลค่าเพิ่มต่างๆ ยังต้องได้รับการพัฒนาทั้งในแง่คุณภาพและมาตรฐานความปลอดภัย

               ในระหว่างนี้ ไทยควรใช้จุดแข็งของพม่าโดยเฉพาะด้านวัตถุดิบรวมทั้งค่าจ้างแรงงานที่ต่ำ รวมทั้งใช้โอกาสจากนโยบายการเปิดประเทศของพม่า การปรับตัวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในการนำเข้าวัตถุดิบรวมทั้งการเข้าไปลงทุนในพม่า ซึ่งจะช่วยเสริมศักยภาพการค้าการลงทุนของผู้ประกอบการไทยให้ดียิ่งขึ้น”นายเพ็ชรกล่าว