happy on May 16, 2012, 07:49:59 PM
สภาหอการค้าฯ-สภาอุตสาหกรรมฯ-สถาบันอาหาร
คาดส่งออกไตรมาสสุดท้ายปี 55.... เข้าเป้า 1 ล้านล้านบาท


                3 องค์กรเศรษฐกิจด้านธุรกิจเกษตรและอาหาร โดยสภาหอการค้าฯ สภาอุตสาหกรรมฯ และสถาบันอาหาร เผยการส่งออกอาหารไทยในไตรมาสแรกของปี 2555 มีมูลค่า 234,288 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 คาดแนวโน้มส่งออกอาหารไตรมาส 2/2555 มีมูลค่า 249,692 ล้านบาท    หดตัวร้อยละ 2.3 ตามภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะ ข้าว กุ้งแช่แข็ง ทูน่าแปรรูป รวมทั้งกลุ่มผักผลไม้แปรรูป ทั้งมีแนวโน้มหดตัวลงในไตรมาสที่ 2 ไปจนถึงไตรมาสที่ 3 ก่อนจะฟื้นตัวในไตรมาสสุดท้ายของปี ดันเป้าส่งออกทั้งปี 2555 ให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 มูลค่าทะลุ 1 ล้านล้านบาทได้ในที่สุด ด้านกลุ่มข้าวและเครื่องปรุงรส ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจลดลง ชี้ต้นทุนผลิตเพิ่มขึ้นแต่ในภาพรวมร้อยละ 75.9 ยังคงตรึงราคาสินค้าที่ระดับเดิม แนวโน้มในอีก 3 เดือนข้างหน้า  ร้อยละ 38.0 อาจพิจารณาปรับขึ้นราคาสินค้า  เผยผลสำรวจผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่ยังไม่พร้อมรับมือตลาด AEC  ที่ผ่านมามีเพียงร้อยละ 34.6 ที่ได้ใช้สิทธิประโยชน์




                16 พฤษภาคม 2555/การแถลงข่าวร่วม 3 องค์กร โดยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย  สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องภาวะอุตสาหกรรมอาหารไทยในไตรมาสที่ 1/2555   การคาดการณ์แนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารไทยในไตรมาสที่ 2/2555 และภาพรวมปี 2555มีตัวแทนหลักของทั้ง 3 องค์กร ประกอบด้วยนายพรศิลป์  พัชรินทร์ตนะกุลประธานคณะกรรมการธุรกิจเกษตรและอาหาร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยนายวิศิษฎ์  ลิ้มประนะประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายเพ็ชร  ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร ร่วมให้รายละเอียดและรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้น


                นายเพ็ชร  ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหารกล่าวว่า ในการประสานความร่วมมือของ 3 องค์กร ในส่วนของสถาบันอาหารจะทำหน้าที่เป็นองค์กรในการรวบรวมข้อมูลจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร หรือ Food Intelligence Center
              สำหรับภาคการผลิตอุตสาหกรรมอาหารไทยไตรมาสแรกของปี 2555 หดตัวลงร้อยละ 1.6 เป็นผลมาจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในตลาดส่งออกหลักๆ ของไทย เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ส่งผลกระทบต่อ 2 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำ และผักผลไม้แปรรูป ที่ผลผลิตลดลงร้อยละ 13.0 และร้อยละ 3.3 ตามลำดับ ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมนมหดตัวลงร้อยละ 43.3 เพราะยังไม่ฟื้นตัวจากภาวะน้ำท่วม
              ขณะที่ภาคการส่งออกอาหารไทยในไตรมาสแรกของปี 2555 มีมูลค่า 234,288 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 สินค้าที่มีปริมาณส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่น น้ำตาลทราย ไก่และสัตว์ปีก แป้งมันสำปะหลัง และเครื่องปรุงรส ส่วนสินค้าที่มีปริมาณลดลง เช่น ข้าว กุ้ง ทูน่า ปลาแปรรูป ผักผลไม้แปรรูป เป็นต้น

              โดยแนวโน้มในไตรมาสที่ 2/2555 คาดว่าจะชะลอตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้ภาคการผลิตมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นอย่างช้าๆ ตามสถานการณ์ส่งออกที่ยังมีแนวโน้มชะลอตัวต่อไปตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก คาดว่าการส่งออกจะมีมูลค่า 249,692 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 2.3 สินค้าที่คาดว่าจะมีการส่งออกลดลงในไตรมาสนี้ อาทิ ข้าว กุ้งแช่แข็ง ทูน่าแปรรูป รวมทั้งกลุ่มผักผลไม้แปรรูป เพราะได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นจากราคาพลังงานและค่าจ้างงานที่เพิ่มขึ้นก่อนหน้า
              “อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมการผลิตในภาคอุตสาหกรรมอาหารในปี 2555 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียง   ร้อยละ 1.3 แต่ระดับราคาสินค้าอาหารโดยทั่วไปยังอยู่ในระดับสูงตามภาวะต้นทุนการผลิต  โดยในปีนี้หลายสินค้ามีปริมาณส่งออกลดลง แต่ราคาจำหน่ายยังมีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้ภาพรวมการส่งออกอาหารไทยปี 2555 มีมูลค่าเกิน 1 ล้านล้านบาท  หรือราว 1,013,250 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 โดยการส่งออกมีแนวโน้มหดตัวลงในไตรมาสที่ 2 ไปจนถึงไตรมาสที่ 3 ก่อนที่จะฟื้นตัวในไตรมาสสุดท้ายของปี 2555”  
              สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาวะอุตสาหกรรมอาหารในเดือนเมษายน 2555 พบว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นว่าภาวะอุตสาหกรรมโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดีขึ้น โดยมีค่าความเชื่อมั่นอยู่ที่ระดับ 55.0 ขณะที่ความเชื่อมั่นใน 3 เดือนข้างหน้ามีค่าเท่ากับ 58.4 ซึ่งยังอยู่ในระดับดีขึ้นเช่นกัน โดยต้นทุนวัตถุดิบเป็นองค์ประกอบหลักที่ภาคธุรกิจมองว่าเป็นอุปสรรคต่อธุรกิจทั้งปัจจุบันและในอนาคต หากพิจารณารายกลุ่มอุตสาหกรรมพบว่า กลุ่มข้าวและเครื่องปรุงรส มีความเชื่อมั่นทางธุรกิจลดลง ทำให้การส่งออกข้าวไทยตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก ขณะที่เครื่องปรุงรสก็ประสบปัญหาวัตถุดิบมีราคาสูงขึ้นเช่นกัน ส่วนกลุ่มแปรรูปสัตว์น้ำมีความเชื่อมั่นทรงตัว เนื่องจากผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของตลาดส่งออก
              “สำหรับสถานการณ์การปรับค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศขึ้นอีกร้อยละ 40 ในเดือนที่ผ่านมา ที่มีการเกรงกันว่าจะส่งผลกระทบกับภาคธุรกิจ ทำให้มีการจ้างงานลดลง ผลสำรวจพบว่ามีผู้ประกอบการส่วนน้อยเพียงร้อยละ 5.1   ที่มีการปรับลดการจ้างงาน ขณะที่ส่วนใหญ่ร้อยละ 86.1 ยังจ้างงานในปริมาณเท่าเดิม

      
               ในด้านต้นทุนการผลิตพบว่า ในเดือนเมษายน ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีภาระต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ร้อยละ 75.9 ยังคงตรึงราคาสินค้าที่ระดับเดิม มีเพียงร้อยละ 20.3 ที่มีการปรับราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น ส่วนแนวโน้มในอีก 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการร้อยละ 38.0 อาจพิจารณาปรับขึ้นราคาสินค้า ส่วนอีกร้อยละ 59.5 จะตรึงราคาสินค้าไว้ระดับเดิม” นายเพ็ชรกล่าว






               นอกจากนี้ สถาบันอาหารได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมอาหารไทยในประเด็น “ความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ปี 2558” เพื่อให้ทราบสถานการณ์การรับรู้และเข้าใจ รวมถึงความพร้อมในการรับมือกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งการสำรวจดังกล่าวอยู่ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2555  โดยสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างที่
              เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่ในภาคอุตสาหกรรมอาหาร พบว่าการรับรู้และความเข้าใจ AEC ของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมอาหารมีมากถึงร้อยละ 86.7 แต่การใช้สิทธิประโยชน์จาก AEC ในช่วงที่ผ่านมา ยังถือว่าน้อยคือเพียงร้อยละ 34.6  สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้ประกอบการบางส่วน ไม่ได้มีตลาดสินค้าอยู่ใน
ภูมิภาคอาเซียนขณะเดียวกันก็ไม่ได้พึ่งพิงการนำเข้าวัตถุดิบจากอาเซียนจึงไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิทธิประโยชน์จาก AEC เท่าใดนัก ซึ่งการชี้ให้เห็นถึงความสำคัญโดยเฉพาะข้อมูลเชิงลึกของตลาดอาเซียนที่ในอนาคตจะกลายเป็นตลาดการค้าขนาดใหญ่ มีศักยภาพที่จะพัฒนาไปสู่การเป็นฐานการผลิตที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกได้ จะมีส่วนทำให้ผู้ประกอบการเห็นความสำคัญในการขยายการค้า และการลงทุนไปสู่ประเทศในอาเซียนมากขึ้น
              ขณะที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่คือ 2 ใน 3 มองว่า AEC ส่งผลด้านบวกต่อธุรกิจของตนมากกว่าด้านลบ แต่ธุรกิจที่มีความพร้อมในการรับมือ AEC กลับมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 37.0 ชี้ให้เห็นว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่ได้มีมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการรับมือ AEC แนวทางแก้ไขต้องย้อนกลับไปที่สาเหตุของความไม่พร้อมอันเนื่องมาจากการมีข้อมูลที่ไม่เพียงพอ ตลอดจนความยุ่งยากในการใช้ประโยชน์จาก AEC ประเด็นเหล่านี้สอดคล้องกับแนวทางที่ผู้ประกอบการร้องขอการสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งก็ได้แก่การให้ความรู้ ข้อมูลข่าวสารในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ AEC ให้เพียงพอและทั่วถึง นอกจากนี้ การปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ ให้เอื้อต่อการแข่งขัน พร้อมๆกับยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะระบบขนส่งและโลจิสติกส์ให้เชื่อมโยงกับโครงข่ายการค้าในภูมิภาคตามข้อเสนอของผู้ประกอบการ ก็เป็นสิ่งที่ควรดำเนินการให้เป็นรูปธรรม เพื่อให้ภาคธุรกิจมีศักยภาพในการแข่งขันสูงขึ้น มีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถปรับตัวให้สอดรับกับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่ใกล้เข้ามาทุกขณะ
« Last Edit: May 16, 2012, 07:56:14 PM by happy »