มจธ. แนะปรับตัวรับมือน้ำท่วม
ดึงชุมชนเฝ้าระวัง-ตั้งศูนย์ดูแลผู้สูงอายุมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)
มจธ.ชี้ วิธีรับมือน้ำท่วมควรดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นหูเป็นตาในการเฝ้าระวังระดับน้ำพร้อมใช้ประสบการณ์ที่ผ่านมาเป็นข้อมูลอ้างอิง เพื่อให้ทุกฝ่ายเตรียมตัวได้ทันท่วงที ผ่านการสื่อสารทุกช่องทาง แนะตั้งศูนย์ดูแลผู้สูงอายุที่ไม่ยอมย้ายหนี ความเสียหายที่เกิดขึ้นในวงกว้างจากอุทกภัยเมื่อปลายปี 2554 ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อการบริหารประเทศ และความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนเป็นอย่างมาก คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ ร่วมกับภาควิชาวิศวกรรมโยธา สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และโครงการมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ คลัสเตอร์การคำนวณทางวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม และเทคโนโลยีสารสนเทศจัดเสวนา เรื่อง “บทบาทของชุมชนในการมีส่วนร่วมบริหารจัดการน้ำและการแจ้งเตือนภัยน้ำท่วมเพื่อเพิ่มคุณภาพชุมชนและผู้สูงวัย”ขึ้น ณ ห้องประชุมจำรัส ฉายะพงศ์ อาคารเรียนรวม 2 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เมื่อเร็วๆ นี้โดยมีผู้อำนวยการเขต สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร สมาชิกสภาเขตและผู้นำชุมชนและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมให้ความสนใจเข้าร่วมเสวนาจำนวนมากดร.นิพนธ์
รศ.ดร.นิพนธ์ เจริญกิจการ คณบดี คณะเทคโนโลยีสารสนเทศเปิดเผยถึงการจัดเสวนาในครั้งนี้ว่า การขาดการเตรียมการ และขาดความรู้ ความเข้าใจสถานการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา ประชาชนไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่เพียงพอ การจัดเสวนานี้เพื่อเผยแพร่ความรู้ ให้กับประชาชนที่มีถิ่นฐานทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเชื่อว่าผู้เข้าร่วมเสวนาจะได้รับข้อมูลความรู้ ความเข้าใจและแนวทางในการรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมได้ดีกว่าเดิม รวมทั้งคณะฯ ยินดีเป็นศูนย์กลางนำเสนอข้อมูลการแจ้งเตือนผ่านเว็บไซต์หากต้องการศ.ดร.ชัยยุทธ
ศ.ดร.ชัยยุทธ ชินณะราศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมน้ำ และรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาอุทกภัย 2554 วุฒิสภากล่าวถึงวัฏจักรของน้ำและปริมาณน้ำในประเทศไทย ต้นเหตุที่ทำให้น้ำไหลท่วมหลายพื้นที่อย่างรวดเร็วนั้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของป่าไม้ที่เสื่อมลง ทำให้เกิดการกัดเซาะพัดพาตะกอนไหลมาตามน้ำอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันปัญหาการรุกล้ำและการตื้นเขินของคลองในกรุงเทพมหานครเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในปีที่ผ่านมา การป้องกันที่แท้จริง คือ ทุกภาคส่วนได้แก่ หน่วยงานภาครัฐ เอกชนและประชาชนในชุมชนต้องร่วมมือช่วยเหลือกัน ต้องมีการขุดลอกคูคลอง ห้ามทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล ลงแม่น้ำลำคลอง ซึ่งเป็นการเพิ่มพื้นที่ลำคลองได้มากขึ้นในการรองรับน้ำ และการสร้างระบบการระบายน้ำตามโครงสร้างของผังเมืองเพื่อเป็นการป้องกันน้ำท่วม รวมถึงการแจ้งเตือนภัย ที่ต้องมีการพยากรณ์ที่ทำนายได้แม่นยำ และ มีข้อมูลสนับสนุนอ้างอิงอย่างมีประสิทธิภาพโดยใช้ระบบการสื่อสารทุกช่องทางในการแจ้งเตือนแก่ประชาชนดร.ดุษฏี
ดร.ดุษฎี ศุขวัฒน์ผู้เชี่ยวชาญด้าน พยากรณ์อากาศด้านการคำนวณ คณะวิทยาศาสตร์ กล่าวในหัวข้อ “การคาดการณ์สภาพอากาศที่เกี่ยวข้องกับน้ำท่วม” กล่าวว่าการพยากรณ์อากาศ ต้องมีสถานีพยากรณ์อากาศ การตรวจอากาศ การวิเคราะห์ลมฟ้าอากาศปัจจุบัน การคาดหมายลมฟ้าอากาศในอนาคต และการสื่อสารข้อมูลระหว่างประเทศที่เพียงพอ ซึ่งประเทศไทยมีอุปกรณ์ และเครื่องมือไม่เพียงพอในปัจจุบัน เนื่องจากขาดงบประมาณและเครื่องมือที่จำเป็นในการพยากรณ์อากาศ อันเป็นข้อจำกัดของการพยากรณ์อากาศ ปัญหาถัดมาคือสภาพท้องฟ้าอากาศในเขตร้อนที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทำให้การพยากรณ์ไม่ทั่วถึงในระดับท้องถิ่นดร.นครินทร์
ดร.นครินทร์ สัทธรรมนุวงศ์วิศวกรโยธาสำรวจ คณะวิศวกรรมศาสตร์กล่าวถึง “ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการน้ำ” ว่าประเทศไทยแบ่งลุ่มแม่น้ำออกเป็น 25 ลุ่มน้ำ สาเหตุน้ำท่วมเนื่องจากต้องเก็บกักน้ำเพื่อการเกษตร และมีเหตุการณ์พายุฝนตกหลายครั้ง และปริมาณน้ำมากทำให้ไม่สามารถระบายน้ำได้ทันน้ำจึงท่วมบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา
การทำระบบเตือนภัยต้นน้ำทำได้ยากและใช้งบประมาณมาก การร่วมมือของประชาชนในการแจ้งข้อมูล สภาพคูคลอง และปริมาตรน้ำ ในรูปแบบระบบโทรมาตรวัดน้ำภาคประชาชนในพื้นที่ชุมชนจะเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ดร.วีระพันธุ์ ชินวัตร คณบดี และดร.วรสิทธิ์ ตันตินิพันธุ์กุล ผู้เชี่ยวชาญด้านผังเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ และ นายวศิน แก้วอำไพ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) กล่าวถึง “รูปแบบชุมชนเมืองกับการบริหารจัดการน้ำและบทบาทของประชาชน” โดย ดร.วีระพันธุ์ กล่าวว่า ปรากฎการณ์น้ำท่วมขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมีมาตั้งแต่ปลายสมัยอยุธยา แต่ในอดีต มีการจัดชุมชนที่สามารถรองรับน้ำและสามารถดำรงวิถีชีวิตอยู่ได้ โดยใช้ทางน้ำเป็นทางสัญจรและขวางทางน้ำ แต่การขยายตัวของกรุงเทพฯ ทำให้มีพื้นที่ที่ขวางทางน้ำไหลหลายพื้นที่ ไม่สามารถระบายน้ำได้อย่างเต็มที่ ซึ่งควรศึกษารูปแบบงผังเมืองที่สามารถรองรับการระบายน้ำอย่างมีประสิทธิภาพขณะที่ ดร.วรสิทธิ์กล่าวว่า หลายประเทศมีสถานการณ์น้ำท่วมขนาดใหญ่เหมือนประเทศไทย รวมทั้ง ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา การสร้างพนังคันกั้นน้ำจะไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมได้ จึงต้องมีหน่วยงานกลางในการแจ้งข้อมูลให้แก่ประชาชนเพื่อรับมือสถานการณ์จากน้ำท่วม สร้างเครือข่ายการสื่อสารเพื่อสามารถแจ้งข้อมูลให้แก่ประชาชนให้ได้รวดเร็ว ทันเหตุการณ์ ด้านนายวศิน กล่าวถึงกลไกอัตโนมัติการป้องกันน้ำท่วมของโครงการแก้มลิงที่สามารถประตูเปิดปิดประตูเพื่อระบายน้ำลงสู่ทะเลได้อย่างทันการณ์ โครงการสำรวจทางอากาศโดยใช้เครื่องบินที่ไม่มีนักบินสำรวจเพื่อตรวจสอบสภาพคูคลอง ซึ่งจะทำให้เห็นความเป็นจริงของลำคลอง ผศ.ดร.วชิรศักดิ์ วานิชชา ผู้เชี่ยวชาญด้าน VoIP คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ และนายวุฒิชัย วิศาลคุณา สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) กล่าวถึง แนวทางการดูแลผู้สูงอายุในสถานการณ์อุทกภัยโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ โดยเสนอให้มีการตั้งศูนย์เป็นรูปธรรมและมีระบบสื่อสารกับผู้สูงอายุแบบอัตโนมัติซึ่งสามารถใช้ระบบโทรศัพท์พื้นฐานหรือโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ เพื่อเก็บข้อมูลความช่วยเหลือ ซึ่งศูนย์ต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนและชุมชนสำหรับการแจ้งข้อมูลสู่ระบบ และความช่วยเหลือจากหน่วยงานช่วยเหลือต่าง ๆ โดยนายวุฒิชัยเสนอระบบเตือนภัยแบบกำหนดจุดพิกัดบนโทรศัพท์มือถือ โดยมีศูนย์กลางรับข้อมูลข่าวสารเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบน้ำท่วมที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น บทสรุปของการเสวนาเชื่อว่า การเตรียมความพร้อมในการป้องกันภัยน้ำท่วมต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคประชาชนเพื่อช่วยลดผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ชุมชน ซึ่งเป็นงานเดียวที่ช่วยให้การบริหารจัดการในการรับมือกับอุทกภัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทันต่อเหตุการณ์//////////////////////////////////////////////////////////////////