สปิตไฟร์ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นเครื่องบินของพลเรือน บินเหนือกลูเชสเตอร์เชียร์ในเทศอังกฤษ ในช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 บริษัทซูเปอร์มารีนในเซาแธมป์ตัน ผลิตเครื่องบินชนิดนี้ออกมาราว 40 รุ่น กว่า 20,000 ลำและเป็นกำลังหลักสำคัญในการปกป้องประเทศให้พ้นจากการยึดครองของนาซีเยอรมัน เกษตรกรชาวอังกฤษกลุ่มหนึ่งสืบเสาะอย่างลับๆ มานาน 15 ปี ค้นหาสปิตไฟร์ 20 ลำ ที่ถูกฝังเอาไวในพม่าตั้งแต่สงครามยุติลงและหาทางขุดขึ้นมาเพื่อนำกลับไปทำให้ใช้ได้อีก ปัจจุบันมีสปิตไฟร์ที่ยังบินได้เพียง 30 ลำเท่านั้น.-- ภาพ: Wikipedia.
ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- เกษตรกรอังกฤษคนหนึ่งใช้เวลาตลอด 15 ปีที่ผ่านมาค้นหาเครื่องบินรบฝูงหนึ่งที่ถูกฝังเอาไว้ในพม่าตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงและกำลังเข้าใกล้เป้าหมายไปทุกที โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนายกรัฐมนตรีอังกฤษ นายเดวิด คาเมรอน ไปเยือนพม่าอย่างเป็นทางการ ในสัปดาห์แห่งเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ซึ่งมีการหยิกเรื่องนี้ขึ้นมาหารือ
ทุกฝ่ายได้แต่หวังว่า ประธนาธิบดีเต็งเส่งของพม่าจะอนุญาตให้ขุดเครื่องบินทั้งหมดขึ้นมาได้และนำกลับไปยังเกาะอังกฤษบ้านเกิด เพื่อฟื้นชีพให้ขึ้นบินได้อีกครั้งหนึ่ง
นายเดวิด คัลดอล (David Culdall) วัย 62 ปี จากลินคอล์นเชียร์ใช้เงินไปราว 200,000 ดอลลาร์ เดินทางเข้าออกพม่ามาแล้ว 12 ครั้ง นับตั้งแต่ได้รับทราบข่าวคราว เกี่ยวกับเรื่องฝูงบินสปิตไฟร์ (Spitfire) จำนวน 20 ลำ จากนายจิม เพียร์ซ (Jim Pierce) เพื่อนคนหนึ่งซึ่งเป็นนักโบราณคดีด้านการบิน ที่ไปได้ยินเรื่องนี้จากทหารผ่านศึกชาวอเมริกันมาอีกทอดหนึ่ง
นายคัลดอล พยายามอย่างยิ่งในการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับระบอบทหารในพม่า เพื่อให้เจ้าหน้าที่เชื่อถือและไว้วางใจ และ เรื่องนี้เป็นความลับมาข้ามทศวรรษ จนถูกเปิดเผยออกมาในช่วงที่นายกฯ อังกฤษไปเยือน ทั้งนี้เป็นรายงานของหนังสือพิมพ์เดลีเทเลกราฟ ในกรุงลอนดอน
นายคัลดอลเปิดเผยกับหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ว่า เขาเริ่มต้นโดยลงประกาศแจ้งความในหนังสือพิมพ์และนิตยสารในพม่า เพื่อหาอดีตทหารสักคนที่ทราบข่าวคราวเกี่ยวกับแหล่งที่ฝังเครื่องบินเอาไว้
"แต่ความยุ่งยากก็คือ พวกเขาจำนวนมากกำลังสิ้นชีวิตลงเพราะความชรา" ถึงกระนั้น ความพยายามก็ประสบความสำเร็จในที่สุด ด้วยความร่วมมือช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ทางการ ปัจจุบันเขายังปกปิดแหล่งที่พบเครื่องบินเป็นความลับ
"เราเจาะส่งท่อลงไปเบื้องล่างสำรวจดูลังบรรจุ ทุกอย่างยังอยู่ในสภาพดี" นายคัลดอลกล่าว
ตามข้อมูลที่ทราบมาก่อนหน้านี้ ในเดือน ส.ค. 2488 หรือเมื่อ 67 ปีก่อน กองทัพอังกฤษใช้เรือบรรทุกเครื่องบินสปิตไฟร์ (Spitfire) เพื่อไปประจำการในพม่า โดยแต่ละลำถูกแยกออกเป็นชิ้น ชิ้นส่วนต่างๆ ห่อหุ้มด้วยกระดาษชุบขี้ผึ้งกันน้ำกันสนิม ข้อต่อต่างๆ หล่อลื่นด้วยจาระบีและบรรจุในลังเหล็ก
แต่เมื่อเครื่องบินไปถึงพม่าสงครามได้สงบลงแล้ว จึงไม่เคยได้นำออกมาใช้ และเมื่ออังกฤษจะต้องถอนตัวออกไป ทำให้จะต้องฝังเครื่องบินเหล่านั้นไม่ให้ตกถึงมือฝ่ายตรงข้าม
นายคัลดอลกล่าวว่า สปิตไฟร์ 12 เครื่องถูกฝังก่อน อีก 8 เครื่องฝังในเดือน ธ.ค.2488 การสำรวจโดยใช้เครื่องสแกนบนพื้นพบว่า ลำตัวกับปีกของแต่ละลำบรรจุในลังเหล็กและฝังไว้ด้วยกันอย่างเป็นระเบียบ
ตัวเขาเองกับเพื่อนๆ ในอังกฤษพยายามอย่างยิ่งที่จะนำสปิตไฟร์ทั้งหมดกลับสู่ถิ่นเดิมของมัน และทำให้ขึ้นบินได้อีกครั้งหนึ่ง แต่ก็ติดปัญหาทางการเมือง การคว่ำบาตรพม่าทำให้ไม่สามารถเคลื่อน "อาวุธ" เข้าออกประเทศนี้ได้
ระหว่างนายกฯ คาเมรอนไปเยือน ฝ่ายอังกฤษได้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นหารือกับประธานาธิบดีเต็งเส่ง และสถานการณ์กำลังเปลี่ยนไป อังกฤษกำลังจะเริ่มผ่อนคลายการคว่ำบาตรในวันที่ 23 เม.ย.นี้ ทำให้ความหวังเรื่องรองขึ้นมาว่า
เครื่องบินขับไล่สปิตไฟร์ เป็นกำลังสำคัญในการป้องกันเกาะอังกฤษให้พ้นจากการถูกยึดครองโดยนาซีในช่วงที่เรียกว่า "สงครามเกาะอังกฤษ" (The Battle of Britain) ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาไม่กี่เดือนระหว่างวันที่ 10 ก.ค.- 31 ต.ค.2483 ซึ่งนาซียึดครองภาคพื้นยุโรปและพยายามยึดเกาะอังกฤษให้ได้เป็นเป้าหมายต่อไป
สปิตไฟร์ยังคงเป็นเจ้าเวหามานานอีกหลายปีต่อมาหลังสงครามโลกยุติลง แต่เมื่อเครื่องยนต์เจ็ตเริ่มเข้ามีบทบาท สปิตไฟร์จึงลดความสำคัญลงเรื่อยๆ และกลายสภาพเป็นเพียงเครื่องบินฝึก จากที่เคยผลิตออกมามีที่นั่งเดียว ก็กลายเป็นสองที่นั่ง
สปิตไฟร์ออกแบบโดยอาร์ เจ มิตเชล (Reginald Joseph Mitchell) และผลิตโดยบริษัทซูเปอร์มารีน เครื่องแรกขึ้นบินในวันที่ 5 มี.ค.2479 ฝูงแรก และรุ่นมาร์ค 1 (MK1) เข้าประจำการกองทัพอากาศสหราชอาณาจักรในเดือน ส.ค.2482
ในช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการผลิตสปิตไฟร์ออกมานับหมื่นลำ กระจายออกไปประจำการในกองกำลังทางอากาศของฝ่ายพันธมิตรหลายประเทศ
8
ตามประวัติอย่างเป็นทางการ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ก็ยังมีการผลิตสปิตไฟร์ต่อมาอีกหลายปีรวมเป็นประมาณ 40 รุ่น เป็นจำนวนทั้งสิ้น 20,351 ลำ ลำสุดท้ายถูกส่งไปประจำการในกองทัพอากาศฮ่องกงเมื่อวันที่ 20 ก.พ. ปีเดียวกัน
สปิตไฟร์ 20 ลำที่ส่งไปพม่าเป็นรุ่นมาร์คโฟร์ (MK4) ใช้เครื่องยนต์โรลสรอยซ์ แทนเครื่องยนต์มาร์ลินในรุ่นก่อนๆ และ ประสิทธิภาพสูงกว่า
หน้าที่หลักของสปิตไฟร์ในช่วงเดือนแห่งวิกฤตคือ โจมตีทำลายเครื่องบินทิ้งระเบิดของนาซี ซึ่งจะต้องต่อกรกับแมสเซอร์ชมิต (Messerschmitt) ที่ทำหน้าที่คุ้มกันและนำทาง
นี่คือเครื่องบินรบที่ผลิตออกมาใช้งานมากที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยมีความโดดเด่นในการออกแบบและติดเครื่องยนต์ที่มีสมรรถนะสูง มีความเร็วเหนือกว่าแมสเซอร์ชมิต ซึ่งเป็นเครื่องบินขับไล่ประสิทธิภาพสูงที่สุดของฝ่ายนาซี
ความเร็วที่เหนือกว่าทำให้ได้เปรียบในการหลบหลีกและการเข้าจู่โจมพันตู ซึ่งทำให้สปิตไฟร์เป็นเจ้าเวหาเหนือช่องแคบอังกฤษในที่สุด
ปัจจุบันทั่วโลกมีสปิตไฟร์ที่ยังขึ้นบินได้เพียง 30 ลำเท่านั้น ถ้าหากการขุดค้นและฟื้นฟูฝูงบินมาร์คโฟร์ในพม่าประสบความสำเร็จ เป็นความภาคภูมิใจของชาวอังกฤษนับล้านๆ ที่รู้สึกเป็นหนี้บุญคุณสปิตไฟร์มาชั่วอายุ.